ในยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน การทำงานในสายเทคโนโลยีดูจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และเป็นที่ต้องการทั่วโลก
ด้วยประสบการณ์การทำงานกว่า 20 ปี ทำให้ ‘จิรัฐิ ภู่ม่วง’ ขยับตำแหน่งของตนเองมาสู่รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของบริษัท Zendesk - บริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีเพื่อการบริการลูกค้า พวกเขาทำงานกับบริษัทมากมายทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสายธุรกิจ การเงิน การศึกษา วงการบันเทิง หรือการท่องเที่ยว เช่น Lonely Planet, Daniel Wellington, Uber, Airbnb และ Foodpanda
แต่กว่าจิรัฐิจะพาตัวเองมาสู่สายบริหารในช่วง 10 ปีให้หลัง และได้ทำหน้าที่ดูแลทีมให้คำปรึกษาในการนำเทคโนโลยีของ Zendesk ไปใช้งาน เขาเป็นอีกหนึ่งคนไทยมากความสามารถที่ไม่ปิดโอกาสตัวเอง นำมาสู่การเดินทางไปทำงานใน 18 ประเทศทั่วโลก ก่อนจะตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์อีกครั้ง
[caption id="attachment_34187" align="aligncenter" width="994"]
Marketing Event ที่ประเทศอินโดนีเซีย[/caption]
เดินทางทำงานรอบโลก
“เมื่อ 20 กว่าปีก่อนตอนเริ่มอาชีพใหม่ ๆ เป็นโปรแกรมเมอร์ เริ่มจากทำระบบควบคุมรถไฟอัตโนมัติในสวีเดนประมาณ 2-3 เดือน ตอนนั้นได้ทำงานร่วมกับวิศวกรที่สวีเดน แล้วก็กลับมาทำกับโปรแกรมเมอร์ที่ประเทศไทย หลังจากนั้นก็ไปที่สิงคโปร์ เสร็จแล้วก็กลับไทยอีก ก่อนจะไปอยู่ที่อังกฤษหลายปี”
แต่หลังจากกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง จิรัฐิก็เริ่มมองหาอนาคตที่ให้เสรีภาพทางความคิดแก่ลูกสาว เขาจึงเลือกย้ายมาที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 2015 ประกอบกับการเดินทางไปทำงานในหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย ออสเตรเลีย ทำให้เขามองเห็นระบบสวัสดิการ และชีวิตความเป็นอยู่ที่มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปกับเอเชีย
“ในยุโรปมีสวัสดิการที่ดีกว่าสิงคโปร์มาก แต่ภาษีก็แพง ที่อังกฤษเราเหลือเงินกลับบ้านไม่ถึงครึ่ง แม้กระทั่งมีโทรทัศน์อยู่ที่บ้านก็ต้องเสียภาษีโทรทัศน์ แต่เขามีข้อดีคือเรียนฟรี หาหมอฟรี มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้ชีวิตแบบไหน ส่วนเหตุผลที่เราเลือกกลับมา เพราะช่วงนั้นมีวิกฤตในยุโรป และมีกระแสต่อต้านผู้อพยพที่อังกฤษ เราอยู่อังกฤษในฐานะคนทำงานที่มีทักษะและประสบการณ์สูง (highly skilled migrants) เราได้สิทธิ์อยู่ที่นั่นถาวรได้ถ้าต้องการ แต่พอเขาต่อต้านก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเขาไม่ต้อนรับ เราไปก็ได้ เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องการ”
หลังจากนั้นจิรัฐิจึงย้ายกลับมาที่เอเชียและได้เริ่มงานที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนความแตกต่างของภาษีระหว่างที่อังกฤษกับสิงคโปร์ จิรัฐิเล่าว่าแท้จริงแล้วภาษีที่สูงที่สุดของสิงคโปร์ไม่ได้แตกต่างจากภาษีของอังกฤษ แต่ที่สิงคโปร์จะมีเพียงภาษีรายได้ ไม่มีภาษียิบย่อย เช่น ภาษีโทรทัศน์ (TV Licence) ภาษีบ้านที่อยู่ (council tax) หรือสมัยก่อนจะมีภาษีหน้าต่าง ยิ่งมีหน้าต่างมากยิ่งเสียภาษีเยอะ (ปัจจุบันอังกฤษยกเลิกไปแล้ว)
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังส่งเสริมให้กลุ่มคนที่ตนเองต้องการย้ายมาอยู่ในประเทศสิงคโปร์ด้วยนโยบายที่ทำให้เห็นว่า แม้จะไม่มีสัญชาติสิงคโปร์ก็สามารถลงทุนและซื้อบ้านในประเทศได้ รวมไปถึงในช่วงที่สิงคโปร์เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ชาวต่างชาติก็สามารถรับสิทธิ์การฉีดวัคซีนได้ในแถวเดียวกับคนสิงคโปร์ ต่อจากนี้จิรัฐิจึงได้เล่าให้ฟังถึง 5 เหตุผลในการเลือกมาทำงานที่ดินแดนเมอร์ไลออน รวมไปถึงการส่งลูกสาวมาเรียนที่นี่
[caption id="attachment_34192" align="aligncenter" width="993"]
สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสีเขียวของประเทศสิงคโปร์[/caption]
5 เหตุผลที่เลือกสิงคโปร์
“ลูกสาวผมเดินไปเรียนเอง ขากลับก็กลับเอง จะ 6 โมงเย็น หรือทุ่มสองทุ่ม เราก็ไว้ใจให้เขาอยู่นอกบ้าน เนื่องจากที่นี่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าคุณทำผิด ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นผู้พิพากษา หรือเป็นประชากรของประเทศอื่น คุณก็จะโดนลงโทษในแบบเดียวกัน” นั่นคือเหตุผลด้าน ‘ความปลอดภัย’ ที่จิรัฐิยกตัวอย่างให้ฟัง
ในส่วนของ ‘การลงทุน’ สิงคโปร์มีการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายย่อย โดยจิรัฐิเล่าว่า เขาสามารถเปิดพอร์ตซื้อหุ้นในอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือในประเทศหลัก ๆ จากธนาคารของประเทศสิงคโปร์ได้ ทั้งยังสามารถมีเงินฝากเป็นสกุลเงินอื่น ๆ นอกจากดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ และการที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ยังทำให้ประเทศมีปริมาณเงิน (money supply) เยอะ และมีผู้บริหารกองทุนผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก นั่นทำให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น (passive income) แต่หากไม่ต้องการบริหารเงินด้วยตัวเอง และมีสถานะเป็นประชากรของประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จะหักเงินเพื่อนำไปลงทุนให้
“แต่ถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง รัฐบาลจะมีกฎหมายควบคุม ใช้วิธีให้ตอบคำถาม หรือทดสอบความรู้ในบางเรื่องก่อน ถ้าคุณมีความรู้ด้านการเงินไม่เพียงพอ รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้คุณลงทุน แต่ถ้าอยากลงทุน เขาก็จะบอกเลยว่าต้องไปเรียนอะไรมาก่อน แล้วคุณค่อยส่งเอกสาร เพื่อขอลงทุนในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้” จิรัฐิเล่าให้ฟังถึงความใส่ใจของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ประชาชนรับความเสี่ยงจากการลงทุน รัฐบาลจึงทำหน้าที่เป็นตัวกรองในการลงทุนให้แทน
ส่วนเหตุผลข้อที่ 3 เนื่องจากสิงคโปร์ใช้ ‘เทคโนโลยี’ ผลักดันประเทศ ทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกิดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่าง วิกฤตโควิด-19 สิงคโปร์สามารถนำระบบติดตามผู้ติดเชื้อขึ้นใช้งานได้ภายในเวลา 6 อาทิตย์โดยที่ระบบไม่ล่ม ตามด้วยสร้างระบบดูแลเรื่องวัคซีน และการจ่ายเงินชดเชยโดยไม่ต้องให้ประชาชนเดินทางไปติดต่อที่ธนาคารด้วยตนเอง รวมไปถึงพัฒนาระบบการจ่ายเงินในชีวิตประจำวัน ซึ่งจิรัฐิเล่าว่า เขาไม่ได้ใช้เงินสดมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว เนื่องจากมีช่องทางการจ่ายเงินมากมายถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
จิรัฐิเล่าต่อถึงเหตุผลข้อที่ 4 ว่า สิงคโปร์ยังเป็น ‘Hub of Asia Pacific’ ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็สะดวก ทั้งยังมีการทำข้อตกลงทางการค้า (free trade agreement) ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง
และเหตุผลสุดท้ายคือ ‘การศึกษา’ ซึ่งจิรัฐิเห็นว่า ในการสอบวัดผลตามมาตรฐานสากล โดยมากสิงคโปร์มักจะเป็นที่หนึ่ง แต่ด้วยความที่สิงคโปร์เองยังมีความเป็นเอเชียสูง คือเน้นวิชาการเป็นหลัก เรียนหลายวิชา ทำให้เวลาเล่นของเด็กน้อยลง ซึ่งเวลาเล่นนี้เองที่ถูกแลกมากับผลลัพธ์ทางวิชาการที่สูงขึ้น
“แต่การเรียนเก่ง ได้เกรดสูง ไม่ได้แปลว่าคุณจะทำงานประสบความสำเร็จ มันอาจจะมีโอกาสสำเร็จเยอะขึ้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะจินตนาการและความกล้าคิดนอกกรอบมันก็สำคัญ ซึ่งสิงคโปร์อาจจะให้ความกล้าในการคิดนอกกรอบน้อยกว่ายุโรป และอเมริกา”
จิรัฐิยังเล่าเพิ่มเติมว่า ความหนักของการเรียนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน รวมไปถึงความกดดันจากผู้ปกครอง แต่กระนั้นรัฐบาลสิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญ และเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่น เวลาผลสอบกำลังจะออก ทางรัฐบาลจะส่งจดหมายแนะนำให้ผู้ปกครองว่าควรจะพูดอย่างไรกับลูก ให้กำลังใจอย่างไร นั่นทำให้ตัวเขาเองเลือกพาลูกสาวเข้ามาสัมผัสข้อดีทางการศึกษาเหล่านี้
การศึกษาที่เข้มข้นและอิงมาตรฐานสากล
แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศเกิดใหม่ แต่รากฐานด้านการศึกษาได้ถูกวางให้เป็นมาตรฐานสากลมานานแล้ว โดยในยุคแรกเริ่มที่เศรษฐกิจยังไม่ดีมาก และประเทศขาดทรัพยากร สิงคโปร์ได้เริ่มพัฒนาคนและลงทุนเรื่องคนมากขึ้นผ่านการออกนโยบายส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อมให้คนอยากพัฒนาตนเอง ยกตัวอย่าง การจัดหาแฟลตที่พักให้กับประชาชน ทำให้คนไม่ต้องกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย และสามารถใช้เวลากับการศึกษาได้มากขึ้น
ในด้านภาษา โรงเรียนที่สิงคโปร์มีสอนภาษาจีนตั้งแต่ในระดับประถมศึกษา ทำให้นักเรียนเหล่านั้นสามารถติดต่อสื่อสารหรือทำธุรกิจกับประเทศจีนในอนาคตได้ เช่นเดียวกับภาษาอินเดีย ภาษาสเปน ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษามาเลเซีย ที่มีสอนในระดับมัธยมศึกษา ทำให้นักเรียนสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่คนสิงคโปร์บางส่วนสามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา
แต่ถึงอย่างนั้นการพาลูกหลานมาเข้าเรียนที่สิงคโปร์ก็ยังมีอุปสรรคให้พิจารณา ซึ่งจิรัฐิยกตัวอย่างในด้านวัฒนธรรมว่า เด็กที่สิงคโปร์จะต้องกล้าแสดงออก เพราะการถามหรือพูดจะทำให้ครูรู้จักเด็กมากขึ้นและรู้ว่าจะต้องสอนอะไร ซึ่งอาจตรงข้ามกับวัฒนธรรมไทยที่เด็กหลายคนจะไม่ค่อยกล้าถามครู ส่วนเรื่องความหลากหลายของสิ่งที่ต้องเรียน ที่สิงคโปร์อาจต้องเรียนภาษากว่า 3 ภาษา หากเด็กไทยมาเรียนที่สิงคโปร์ช้า หรือมาเรียนตอนอายุเยอะอาจจะมีความยากมากขึ้น
“ยิ่งมาตอนอายุน้อยยิ่งดี แต่ก็จะมีข้อเสียที่ตามมาคือ ถ้าเด็กมาคนเดียว เด็กจะคิดถึงพ่อแม่มาก อย่างเราคือใช้วิธีมากับลูกเลย แต่ถ้าไม่ได้ ที่นี่จะมีระบบหาผู้ปกครองให้ ส่วนในเมืองไทยเองก็มีคุณครูแนะแนวที่แนะนำเด็กไทยให้มาเรียนที่สิงคโปร์อยู่”
ด้านการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จิรัฐิเล่าว่าระบบการเรียนของที่สิงคโปร์สามารถนำผลการเรียนไปใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบอังกฤษ อเมริกา หรือออสเตรเลีย โดยไม่ต้องไปสอบเพิ่มเติม ทั้งข้อสอบของสิงคโปร์ยังเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว
หลังจากที่จิรัฐิและลูกสาวตัดสินใจย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ลูกสาวของจิรัฐิก็ได้ค้นพบความสนุกในการเรียนและการพัฒนาตนเอง ถึงแม้แรกเริ่มจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่การปรับตัวก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของเธอ ส่วนเส้นทางการทำงานของจิรัฐิ เขาก็ได้เปลี่ยนมาทำงานสายบริหารและให้คำปรึกษาในช่วง 10 ปีให้หลัง แต่นอกเหนือจากสายอาชีพของเขาที่เป็นที่ต้องการแล้ว ประเทศสิงคโปร์ยังเปิดรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ อีก
[caption id="attachment_34185" align="aligncenter" width="995"]
จิรัฐิ ภู่ม่วง และครอบครัว[/caption]
สายอาชีพที่สิงคโปร์มองหา
จิรัฐิได้พบกับแพทย์ชาวไทยจำนวนมาก เพราะแพทย์เป็นอาชีพที่กำลังขาดแคลน ประกอบกับสิงคโปร์เองได้ตั้งเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวไว้เหมือนกับประเทศไทย คือการเป็น Healthcare Tourism Hub ของเอเชีย (ศูนย์กลางการให้บริการด้านสุขภาพ) ทำให้อาชีพด้านการดูแลสุขภาพเป็นที่ต้องการสูง
นอกจากนี้ยังมีสายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่เป็นที่ต้องการ หากเป็นสายโปรแกรมเมอร์ทั่วไปที่สิงคโปร์อาจมีความต้องการน้อยกว่า แต่หากเป็นสายปัญญาประดิษฐ์ (AI) Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิทัล) หรือสาย Robotics จะมีความต้องการมากกว่า
“อย่างเวลาเราทำซอฟต์แวร์ที่จะถูกใช้งานจากคนเป็นล้าน ๆ คนพร้อมกันทั่วโลกมันยากมาก ที่สิงคโปร์ต้องการโปรแกรมเมอร์ระดับนี้เยอะมาก รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีประสบการณ์เป็นสิบปีขึ้นไปในสายวิศวกรรม เพื่อบริหารโปรแกรมเมอร์เหล่านั้น รู้ว่าโปรแกรมเมอร์น้องใหม่ต้องเจออะไร ต้องพัฒนาเขายังไง เพราะฉะนั้นสิงคโปร์จึงมองหาคนที่จะมาดูแลโปรแกรมเมอร์เป็น 10 คน 100 คนนี้ด้วย”
ทั้งนี้ จิรัฐิได้แสดงความเห็นถึงข้อดีของการทำงานสายเทคโนโลยีที่สิงคโปร์ว่า สิงคโปร์สามารถเปลี่ยนงานวิจัยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และส่งออกได้ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในวงการที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในอนาคต นอกจากนี้สิงคโปร์ยังสามารถดึงดูดคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในสาขาที่ต้องการเข้ามาร่วมทำงานในประเทศได้ และที่สำคัญคือ สิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่สนับสนุนการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างเต็มที่
[caption id="attachment_34190" align="aligncenter" width="993"]
วัฒนธรรมการทำงานที่สิงคโปร์สามารถสวมกางเกงขาสั้นได้[/caption]
เขายังเล่าเพิ่มเติมว่า อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สถาปัตยกรรม วิศวกรรม อาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนอาชีพแม่บ้าน และงานบริการอื่น ๆ ก็เป็นที่ต้องการเช่นเดียวกัน ส่วนสายงานด้านไอทีและซอฟต์แวร์ยังถือเป็นอันดับหนึ่งในส่วนที่คนไทยสามารถทำได้ และตัวเขาเองมองเห็นความเติบโตในอนาคต
“เมืองไทยก็มีเสน่ห์ของตัวเองที่อยากให้กลับไป เพียงแค่ในสายงานของเรามันยังไม่มีโอกาสเติบโตมากนัก ดังนั้นวันหนึ่งเราอาจจะอยากกลับไปเกษียณที่เมืองไทยก็ได้ เพียงแค่ตอนนี้ยังไม่อยากทิ้งโอกาสในการทำงานไป”
ส่วนคนที่อยากลองมาหาโอกาสที่ประเทศสิงคโปร์ จิรัฐิแนะนำให้เริ่มจากการถามตนเองว่าต้องการอะไร และสิงคโปร์ตอบโจทย์ในส่วนนั้นหรือไม่ หากยังอยู่ในจุดที่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองได้ก็ควรหมั่นหาความรู้ และลองมองสายงานที่ขาดแคลน เพราะสิงคโปร์เองก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี