ณัฐภูมิ รัฐชยากร: ชายผู้เนรมิตเพลง ‘เชียร์ยูโร Aerosoft 2020’ ภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากความสุขที่คนไทยทั้งประเทศได้รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 อีกหนึ่งความบันเทิงที่แฟนบอลชาวไทยต่างได้รับชมและรับฟังจนติดหูกันแบบไม่รู้ตัว และเป็นที่พูดถึงในบรรดาพลเมืองชาวเน็ต คือบทเพลงคั่นเวลาโฆษณาระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020
ดนตรีสามช่าชวนขยับแข้งขา กับเสียงอันหนานุ่มของ ‘พลพล’ ที่พลิกแนวทางการร้องเพลงรักอบอุ่นที่เราเคยคุ้น บวกเนื้อเพลงอันเรียบง่ายวนซ้ำว่า
“เชียร์ยูโร... Aerosoft…เชียร์ยูโร
เชียร์ยูโร...Aerosoft…เชียร์ยูโร”
หลายคนคงคิดเห็นตรงกันว่าเป็นเพลงที่ฟังแล้วติดวนซ้ำอยู่ในหัว จนถึงขนาดมีการแสดงความเห็นทั้งหยอกล้อและแซวกันว่า “ฟังเพลงเสร็จอยากออกไปตลาดซื้อ Aerosoft มาใส่สักคู่” ขนาดนั้นทีเดียว...
อย่างที่เราทราบกันว่า หลังจากที่แทบจะไม่มีวี่แววว่าคนไทยจะได้ชมถ่ายทอดสดฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นี้ในตอนแรก แต่ก่อนที่ฟุตบอลยูโรจะเริ่มไม่กี่วัน ถึงมีประกาศว่า ถ่ายทอดสดได้แล้วจ้า
โปรเจกต์การทำเพลง ‘เชียร์ยูโร Aerosoft 2020’ ตามชื่อของแบรนด์รองเท้า ‘แอโรซอฟต์’ (Aerosoft) ผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดนี้ จึงเริ่มต้นขึ้นจนกลายเป็นโปรเจ็กต์ฟ้าแลบที่ใช้เวลา 24 ชั่วโมงเพื่อทำเพลงดังกล่าวขึ้นมา
เราจะมารู้จักกับเบื้องหลังโปรเจกต์นี้ และเรื่องราวของชายผู้เสกสร้างเพลง ‘เชียร์ยูโร Aerosoft 2020’ เพลงฮิตติดหูประจำการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 นี้ด้วยกัน
เริ่มต้นที่เรื่องของเขาคนนี้ ที่อยากทำเพลงติดหูคนไทย…ปอ-ณัฐภูมิ รัฐชยากร
จากความฝันของเด็กชายคนหนึ่งจากจังหวัดชลบุรีที่ชื่อ ณัฐภูมิ รัฐชยากร หรือ ปอ ผู้รักเสียงดนตรีและคิดอยากจะทำเพลงตั้งแต่อยู่มัธยมฯ ต้น ที่โรงเรียนสิงห์สมุทร ความคิดอ่านของเด็กชายธรรมดาทั่วไปอาจจะเพียงอยากออกเทปหรือทำเพลงและเป็นศิลปิน แต่ความฝันของปอ เขายอมรับว่า นับตั้งแต่วันที่เขายังเป็นแค่เด็กนักเรียนมัธยมฯ ตัวเล็ก ๆ อยู่ที่สัตหีบ เขามองเห็นภาพตัวเองในใจว่า สักวันหนึ่ง เขาจะต้องทำเพลงฮิตติดหูคนไทยออกมาให้ได้
เวลา 26 ปีผ่านไป ฝันของเขาก็เป็นจริงขึ้นมากับเพลง ‘เชียร์ยูโร Aerosoft 2020’
แต่เส้นทางก่อนการได้ทำเพลงนี้ เขาฝ่าฟันลองผิดลองถูกและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาจากหลากหลายที่ทำงาน ทั้งการทำงานใน เอเจนซีโฆษณา การเป็นผู้วางแผนสื่อ (Media planner) จนถึงการเปิดบริษัทออร์แกไนเซอร์เพื่อจัดทำงานอีเวนต์ด้วยตัวเอง มาจนถึงวันนี้เขาอยู่ในตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท Newspective และ Executive Producer Kit Music (ค่ายเพลงของปอที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว) ตอนนี้เขาเป็นนักธุรกิจและมีกลุ่มบริษัทที่ต้องดูแลเป็นของตัวเองมากมาย
แล้วเขามาเกี่ยวข้องกับการทำเพลง ‘เชียร์ยูโร Aerosoft 2020’ ได้อย่างไรกัน?
มันเริ่มจากการได้รับโทรศัพท์ตอนเวลาประมาณสองทุ่มของวันพฤหัสฯ ที่ 10 มิถุนายน 2564 ว่ามีลูกค้า (ซึ่งก็คือ Aerosoft นี่แหละ) ต้องการทำโฆษณาเพื่อประกอบการถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2020 ปอมีเวลาเพียง 10 นาทีเพื่อคิดคอนเซปต์เสนอลูกค้าในขณะนั้น เขาจึงคิดคอนเซปต์คร่าว ๆ และเสนอไอเดียหลักว่า ‘จะต้องทำเพลง (ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)’ ซึ่งลูกค้าก็เห็นดีด้วยกับคอนเซปต์ที่เขาเสนอ
แต่การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 คู่แรกอิตาลี - ตุรกี จะเกิดขึ้นในคืนวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 (เวลาตีสองของคืนนั้น นับเป็นเช้ามืดของวันที่ 12 มิถุนายน 2564) ก็เท่ากับว่า ‘เพลง’ ที่ปอจะทำจะต้องทำให้สำเร็จให้ออกอากาศทันภายใน 24 ชั่วโมง
คำถามสำคัญคือ ในระยะเวลาที่มีอย่างจำกัด จะทำงานนี้สำเร็จได้อย่างไร?
“ผมคิดว่าธรรมะจัดสรรให้ครับ” ปอเล่าว่าทุกสายที่เขาโทรฯ ไปหา ทั้งคุณต้น-ไตรสิทธิ์ มีสมศัพย์ คนที่เขียนเนื้อและทำนองที่ผมโทรฯ ไปหาเขาตอนตี 2 (ของวันที่ 11 มิถุนายน 2564 หรือหลังจากที่ได้รับบรีฟงานไม่กี่ชั่วโมง) ให้ลุกขึ้นมาแต่งเพลงให้ผม หรือจะเป็น แบงค์-จุฑาคุณ รังสรรค์ โปรดิวเซอร์ของเพลงนี้ที่สู้กันมาทั้งคืนจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน ทุกคนล้วนแต่เต็มที่ เต็มกำลัง พร้อมทุ่มแรงทั้งหมดที่มีสร้างเพลงนี้ออกมาให้ได้ภายในเวลาอันจำกัด”
เมื่อเนื้อร้อง ทำนอง ดนตรีพร้อม สิ่งสำคัญถัดไปคือนักร้อง ใครจะมาเป็นผู้ร้องเพลงสามช่า จังหวะโจ๊ะถึงใจ เข้าถึงได้ทุกคน (ภายในเวลาอันเร่งด่วนขนาดนี้ได้) ปอบอกว่า เขาคิดถึงหน้าคนอยู่แค่คนเดียวเท่านั้น คือ พลพล พลกองเส็ง
ไม่ถึง 20 ชั่วโมง ฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นี้กำลังจะเริ่มขึ้น เช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 ปอต่อสายตรงอย่างเร่งด่วนไปยังพลพล ซึ่งแน่นอนว่าพลพลตอบตกลง แต่ด้วยความเร่งรีบของงาน คงจะมีเซอร์ไพรส์เล็กน้อยเมื่อได้ทราบว่าเขาต้องไปอัดเพลงนี้ในบ่ายวันนั้นเลย เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันนั้น ทีมงานได้ไปเจอกันที่ห้องอัดย่านทาวน์อินทาวน์
หนึ่งชั่วโมงผ่านไป พลพลก็จัดแจงร้องเพลงนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นอย่างถูกใจทีมงาน พร้อมประโยคที่ว่า “ไม่เคยร้องแบบนี้เลยครับ” ซึ่งอาจจะหมายความถึงว่าเขาไม่เคยร้องเพลงสามช่าในแนวทางนี้มาก่อน
รับโจทย์จากลูกค้า-เขียนเนื้อ ทำนอง ร้องและเล่นดนตรีเป็นแนวทางเพื่อเป็นเดโม- ส่งไปให้ลูกค้าอนุมัติ- แก้ไขหน้างาน-ติดต่อนักร้อง-ไปร้องที่ห้องอัดจริง-ทีมงานทำภาพวิดีโอประกอบเพลง กระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นประมาณบ่ายสองโมงของวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เพื่อที่จะส่งให้ทางสถานีโทรทัศน์พิจารณาตอนบ่ายสามโมง และออกอากาศในคืนนั้น เรียกได้ว่านี่คือโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงอย่างแท้จริง
ภายใต้เวลาอันจำกัด พวกเขาทำได้!
รู้สึกอย่างไรกับกระแสตอบรับเมื่อเพลง ‘เชียร์ยูโร Aerosoft 2020’ ได้ถูกปล่อยออกไป? ปอตอบว่า
“Aerosoft เขาทำเรื่องที่ดีให้คนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุขได้ดูบอล เราเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ เท่านั้นเองครับที่จะตอบแทนเขา (Aerosoft) บ้าง”
แล้วถ้ามีคนมาจ้างให้ทำงานแบบนี้อีกภายใน 24 ชั่วโมง ยังสนใจอีกไหม?
“ถ้าใจไม่ได้ จ่ายมาอีกเป็นพันล้าน ผมก็ไม่ทำครับ”
เรื่อง: มณีเนตร วรชนะนันท์