ยังจำมื้อเที่ยงในถาดหลุมกันได้ไหม ?
ขณะที่ราคาอาหารตามสั่ง 25 บาทกลายเป็นอดีต แต่งบประมาณมื้อเที่ยงของเด็กอนุบาลจนถึงประถมศึกษาในปัจจุบัน กลับยังไม่ถึง 25 บาทต่อมื้อ ยิ่งมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนแม่ครัว ยิ่งกลายเป็นความท้าทายของการทำอาหารให้ออกมาน่าอร่อย รสชาติดี มีประโยชน์ และเมนูหลากหลายในเวลาเดียวกัน
เมื่อเห็นปัญหาบวกกับแนวคิดที่ว่า ‘อาหารให้มากกว่าความอิ่มท้อง’ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงร่วมกับ โรงเรียนต้นแบบเทศบาลบ้านโนนชัย, โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู, เชฟ, นักโภชนาการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดโครงการ พัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านประสบการณ์อาหารกลางวันโรงเรียน หรือ ‘Lunch & Learn’ ขึ้น โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาเนรมิตอาหารมื้อละ 21 บาทให้กลายเป็นเมนูในถาดหลุมที่หน้าตาดี รสชาติเด็ด และถูกหลักโภชนาการ
อะไรทำให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาปฏิวัติอาหารกลางวันในถาดหลุม ? และทำไมต้องอยู่ในงบ 21 บาท ?
ชวนมาฟังเรื่องราวเบื้องหลังผ่านบทสนทนากับ ‘สัญญา มครินทร์’ หรือ ‘ครูสอญอ’ หนึ่งในทีมงานโครงการ Lunch & Learn ในบทความนี้
เพราะเรื่องกินเรื่องใหญ่
ก่อนที่ครูสอญอจะย้ายมาสอนที่โรงเรียนสีชมพูศึกษา อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เขาคือครูศิลปะที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องของโครงการ Lunch & Learn
ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีในโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย สิ่งหนึ่งที่ครูสอญอสังเกตเห็น คือ มื้อกลางวันของนักเรียนมักจะเวียนซ้ำกลับมาเมนูเดิมอยู่บ่อย ๆ ส่วนเศษอาหารที่เหลือจากมื้อนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและกำลังคน
“หนึ่งก็คืออาหารมันน่าเบื่อ เพราะเขากินแล้วรู้สึกว่ามันวนลูปมาเร็วมาก ทั้ง ๆ ที่แม่ครัวก็มีโครงการอย่าง School Lunch Project ที่เขาจะทำอาหารให้ไม่ซ้ำกัน แต่หน้างานจริง ๆ แม่ครัวบอกว่ามันทำไม่ได้ เพราะหนึ่ง, เด็กมีจำนวนเยอะ สอง, คนทำงานครัวจริง ๆ ก็มีแค่สองคน เขาก็เลยเหนื่อยแล้วจัดการได้ยาก สมมติว่าบางวันเด็กอยากกินเนื้อ ราคาจะพุ่งสูงมาก แล้ววันต่อมาก็ต้องกินไข่ต้มธรรมดาอะไรอย่างนี้ มันไม่เสถียร สาม, คือเด็กบอกว่ามันดูไม่สะอาด นี่แหละหลัก ๆ คือหน้าตาน่าเบื่อ ไม่น่ากิน ไม่อร่อย ไม่สะอาด”
ครูสอญอเล่าถึงฟีดแบ็กจากเด็ก ๆ หลังเข้าไปพูดคุยและเก็บข้อมูล แม้จะรู้ปัญหา แต่เขาก็ยังไม่มีจังหวะและโอกาสที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง จนกระทั่งพบกับเป้ง-วัชรพงศ์ วงษ์สิม จาก CEA สาขาขอนแก่น ที่กำลังจัดงาน Isan Creative Festival 2021
“พี่เป้งมีลูกอยู่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย และสนิทกับเรา เป็นพี่เป็นน้องกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ก็เลยมาคุยว่าเรามาทำงานออกแบบร่วมกันดีไหม ถ้าจะทำ จะหน้าตาประมาณไหน แกก็เลยเอาไอเดียนี้ไปคุย แล้วทาง CEA เขาก็อยากทำเรื่องนี้อยู่แล้วด้วย ก็เลยช่วยกันพัฒนาจนกลายมาเป็นภาพ Lunch & Learn Project”
สาเหตุที่โครงการนี้มีโจทย์ว่า 21 บาทต่อมื้อ เพราะงบจากรัฐบาลที่อุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 21 บาท/วัน/คน (เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่มีงบมื้อละ 20 บาท/วัน/คน) ครูสอญอและทีมงานจึงตั้งใจให้เมนูที่ออกมา สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
“เราอยากให้คนให้ค่ากับเรื่องอาหารกลางวันว่ามันสำคัญมาก โดยเฉพาะที่เขาเลือกโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เพราะเป็นโรงเรียนคนจนเมือง พอพูด 21 บาท คนเมืองจะนึกไม่ออกเลยว่า เฮ้ย! กินอะไรได้บ้าง เพราะอาหารตามสั่ง 20 บาทก็ไม่มีขายแล้ว แต่ถ้า 21 บาทสำหรับเด็กบางพื้นที่นี่สำคัญมาก
“อย่างเด็กโนนชัย มื้อที่ดีที่สุดคือกินที่โรงเรียน เพราะมื้อเช้าหลายครอบครัวเขาจะยุ่ง ๆ ไม่ได้ดูแลลูก อย่างมากก็หมูปิ้ง ข้าวสิบบาท เราก็เลยให้คุณค่าว่าอาหารกลางวันสำคัญ ถ้าเกิดได้เงินมา ออกแบบดี ๆ อาหารกลางวันดี ๆ ก็ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียนเพราะอยากมากินอาหาร พอกินอิ่มก็จะมีสมาธิ มันก็นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีความสุข แต่ถ้าเขาอยากมาโรงเรียน เขามาเจออาหารที่มันไม่โอเค มันเหี่ยวไปเลยนะวันนั้น อาหารกลางวันเลยสำคัญมาก
“อีกเป้าหมายหนึ่ง คือเราเชื่อว่างานสร้างสรรค์ก็คืองานแก้ปัญหาแบบหนึ่ง ถ้าเราได้นักออกแบบ ได้ผู้รู้ ได้คนที่เข้าใจระบบการจัดการอาหาร ระบบการพัฒนาดี ๆ มันจะไปช่วยทุ่นแรงแม่ครัว ไปช่วยให้คุณครูได้เข้าใจความสำคัญของอาหาร เรื่องโภชนาการที่มันจัดการได้ เรื่องงบ เรื่องการบริหารจัดการ จริง ๆ แม่ครัวก็อยากทำอร่อยอยู่แล้ว ครูก็อยากให้อาหารเด็ก ๆ ออกมาดี แต่ด้วยงบ ด้วยหม้อ อะไรอย่างนี้ก็มีข้อจำกัด”
จากเวิร์กชอป สู่เมนูต้นแบบ
ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ทีมงาน CEA จึงเข้ามามีบทบาทหลักในส่วนนี้ เพราะเป็นผู้ประสานงานกับเชฟ นักโภชนาการ รวมทั้งผู้คนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เช่น เชฟป้อม ม.ล. ขวัญทิพย์ เทวกุล เชฟจากัวร์ ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ เชฟสุวิทย์ ศิระสวัสดิ์ คุณปิยะ ปุริโส (นักโภชนาการชำนาญการ)
“เริ่มต้นจากทีมมาคุยกันว่าพัฒนายังไง พอมันเป็นโปรเจกต์ที่ไปเชื่อมหลายคนก็คุยกันว่าจะเป็นใครดี บังเอิญว่า ผอ. CEA ขอนแก่น สนิทกับเชฟป้อม (หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล) เขาเลยชวนเชฟป้อมมาเป็นที่ปรึกษาเรา แล้วเราเองก็มีหน้าที่ไปประสานแม่ครัว ไปฟัง painpoint เขา แล้วก็ทำแบบสำรวจ ถามนักเรียนว่าเขามองปัญหายังไง เขาอยากเห็นอาหารกลางวันเป็นยังไง”
จิ๊กซอว์ชิ้นแล้วชิ้นเล่าค่อย ๆ ประกอบกันออกมาเป็นภาพแรกของ Lunch & Learn นั่นคือเวิร์กชอปสำหรับครูและแม่ครัวทั้ง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกี่ยวกับการให้ความรู้ทั่วไปเรื่องโภชนาการและการจัดการในครัว ส่วนครั้งที่สองคือการออกแบบเมนูร่วมกัน กลายเป็น 15 เมนู ที่พร้อมนำไปทดลองเป็นมื้อกลางวันในช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้
“หลายโรงเรียนก็ได้สูตร เอาไปจัดการในพื้นที่ของตัวเอง แล้วเราก็แบ่งปันกันว่าเจอปัญหาอะไร กับข้าวเป็นยังไง ซึ่งโรงเรียนที่เปิดเทอมก่อนในเครือข่ายเขาก็แฮปปี้มากนะ เด็ก ๆ แฮปปี้ กินข้าวเกลี้ยง จากที่กินเหลือ ตอนนี้รอลุ้นอีก 2 โรงเรียนยังไม่เปิด พอเปิดแล้วคิดว่าฟีดแบ็กคงคล้าย ๆ กัน
“จริง ๆ 21 บาทไม่ต้องเป็นอาหารพิสดารอะไรมาก คือโรงเรียนเรา ข้าวมันไก่ก็เป็นไก่ฉีกเล็ก ๆ ฝอย ๆ เพื่อให้มันได้เยอะ แล้วข้าวก็จะหุงแบบแฉะไม่น่ากิน ทำให้เด็กไม่ชอบ แต่พออันใหม่ โห...มันดูน่ากิน ไก่มันนุ่ม แล้วก็ดูใหญ่ ทั้งที่เป็นไก่ปริมาณเท่าเดิม
“หรือเมนูที่ออกแบบใหม่อย่างไก่เคเอฟซี เพราะเด็กอยากกินไก่เคเอฟซี เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นอาหารที่คนธรรมดาเข้าถึงไม่ได้ ทางโรงเรียนก็พัฒนา จริง ๆ ไก่เคเอฟซีมันคือเทคนิคการทำไก่ให้เนื้อนุ่มและหนา เลือกแป้งที่ทำให้ฟูกรอบได้ แล้วก็มีผักกาดฝอยใส่แครอท มีมายองเนส มันก็กินอร่อยเลยแหละ หรือไก่เทอริยากิที่เด็ก ๆ เขาโหวตมา แม่ครัวก็มาพัฒนาว่าทำได้จริงไหม เชฟเขาก็จะพาทำ นักโภชนาการก็จะบอกว่า มันมีแป้งนะ มันควรจะมีผลไม้แบบนี้ วันไหนมีผลไม้แล้วก็เปลี่ยนเป็นขนมหวานที่ลดน้ำตาล แต่ทำให้มันน่ากินได้ แล้วก็เติมผลไม้ในชุมชน ใช้ผักในชุมชน เพื่อลดต้นทุนนู่นนี่นั่น”
คนทำสนุก คนกินอร่อย
ครูสอญอเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่บรรยากาศในครัวไปจนถึงโต๊ะในโรงอาหารว่า
“แม่ครัวก็รู้สึกว่ามันลดปัญหาที่เขาเจอเยอะเลย เพราะเชฟก็จะมีเทคนิค มีคีย์ลับ มีการจัดการที่มันอร่อยและใช้เวลาไม่มาก
“แล้วตอนเราไปถ่ายเก็บข้อมูล หน้าตามันดูไม่น่ากิน เพราะฉะนั้นหนึ่งนี่คือหน้าตาเปลี่ยน สองก็คือนักเรียนมีความสุขมาก เขาบอกว่ามาขอเบิ้ลกันเลย แล้วก็กับข้าวจากที่เหลือเยอะ มันไม่เหลือเลยหรือเหลือน้อยมาก กับอันที่สามคือแม่ครัวมีความสุข มีกำลังใจ รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า เฮ้ย! ทำแล้วมันอร่อย แล้วมีคนชื่นชมจากเด็ก จากในกลุ่มไลน์เราเอง แล้วเชฟเขาก็คอนเฟิร์มว่าอร่อย อันที่สี่ ทีมทำงานรู้สึกดีใจนะว่างานออกแบบและการจัดงานดี ๆ มันจะแก้ปัญหาได้จริง คนทำงานก็รู้สึกว่ามีกำลังใจ”
แม้จะไม่เห็นแววตา แต่น้ำเสียงจากปลายสายได้ส่งความสุขมาถึงเราจนอดยิ้มตามไม่ได้ ซึ่งข่าวดีคือนอกจาก 5 โรงเรียนนำร่องครั้งนี้แล้ว CEA ยังมีแผนจะขยายโครงการดังกล่าวไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย
“เหมือน CEA เขาจะมีเป็นแผนของส่วนกลาง มีนโยบายเลยว่าทางใต้ก็จะทำ ทางเหนือก็จะทำ แล้วเรื่องนี้มันถูกชงไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้วว่าอยากชวนมาดู ซึ่งเขาก็รับรู้แล้ว เบื้องต้นคิดว่าน่าจะช่วยเขย่าอะไรบางอย่างอยู่”
มากกว่าอาหาร คือบทเรียนกินได้
นอกเหนือจากพาร์ต ‘lunch’ เมื่ออาหารมีมิติของการเรียนรู้ที่สามารถต่อยอดไปเป็น ‘บทเรียนกินได้’ กิจกรรมในพาร์ต ‘learn’ จึงเริ่มต้นขึ้นผ่านนิทรรศการในรูปแบบรถพุ่มพวง
“จริง ๆ ก็มีออกแบบไว้แล้วละว่านิทรรศการจะเป็นยังไง แต่ถ้ามาเป็นแปะบอร์ดในโรงเรียน เราว่ามันน่าจะไปไกลได้มากกว่านั้น ก็เลยทำเป็นรถพุ่มพวง แต่พอมันเป็นนิทรรศการ มันก็จะดูแห้ง ๆ ไป มันควรจะมีเกมให้เด็กเล่น มีอาหารให้เด็กได้กิน มีหมอลำที่เล่าวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหาร เกี่ยวกับนู่นนี่นั่นด้วย ตระเวนไปพื้นที่ที่คนจะเข้าถึงได้”
โปรเจกต์ ‘รถพุ่มพวง’ ที่ครูสอญอพูดถึง ประยุกต์มาจาก ‘รถพุ่มพวง’ ที่เคยใช้สอนเด็ก ๆ ในช่วงเรียนออนไลน์ เพราะเด็กหลายคนขาดความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่ง CEA เห็นว่าน่าจะนำมาปรับใช้กับพาร์ต learn ในโครงการฯ ได้ และกลายเป็นรถที่ให้ทั้งความรู้คู่ความอร่อยกับนักเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้ยังอยู่ในช่วงดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2021 นี้
สิ่งสำคัญคือความร่วมมือ
แม้อาหารกลางวันของเด็ก ๆ จะเป็นเรื่องของครู แม่ครัว และนักเรียน แต่ครูสอญอบอกกับเราว่าหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืนนั้น ไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงเรียน
“ปัญหาใด ๆ มันไม่ควรเป็นครู แม่ครัว นักเรียนจัดการเอง แต่เรามีเครือข่าย สร้าง ดึงผู้รู้ ดึงเอกชน หน่วยงานอะไรอย่างนี้มารับรู้ปัญหาแล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ที่สำคัญคือตัวเขาที่ได้รับผลประโยชน์ แล้วก็เต็มที่กับมัน กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักเรียนนี่แหละ อันนี้เป็นหัวใจ ฟังเสียงเขา ขอไอเดียจากเขา แล้วเราจะแก้ปัญหาได้ถูกจุดครับ”
เมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วม บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินประโยคทำนองว่า ‘การศึกษาคือปัญหาที่ต้องแก้ทั้งระบบ’ เราจึงอดถามครูสอญอไม่ได้ว่าคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ ครูสอญอหยุดคิดไปพักหนึ่งก่อนจะตอบกลับมาว่า
“เราได้บทเรียนว่าจริง ๆ มันต้องทำทั้งสองฝั่งไปด้วยกัน มีหลายที่ที่ทำเล็ก ๆ แล้วทำจากล่างไปบน อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เกิดจากตัวอย่างเล็ก ๆ ที่รัฐบาลมองเห็นแล้วก็เอาไปทำเป็นระบบ เป็นโครงสร้าง แล้วมันก็เปลี่ยนไปเลย ซึ่งเราก็เชื่อว่าวิธีนี้ต้องทำเหมือนกัน ทำจากล่างเล็ก ๆ นี่แหละ มีหลายมิติ ส่วนระบบถ้าเปลี่ยนได้มันก็จะดีมากเลย เพราะว่ามันจะเร็วจากคนที่คุมงบประมาณ นโยบายอะไรอย่างนี้ แต่บางทีคนที่มาดูแลเรื่องนี้ เขาก็ไม่มีตัวอย่าง หรือเขาก็ดูหน้างานหลายงานมากจนไม่ได้โฟกัส
“ถ้ามองในแง่ดีคือ เขาเองก็ไม่ได้เห็นว่าบ้านเรามีไอเดีย ไม่ต้องไปเอานวัตกรรมจากฟินแลนด์ จากสิงคโปร์อะไรก็ได้ มันมีคนที่ทำเรื่องการศึกษาหรือคนทำงานสร้างสรรค์เยอะ แต่ว่าระบบมันควรจะมาส่องเห็นคนตัวเล็กตัวน้อยแบบนี้ แล้วก็เอาไปเป็นนโยบาย ทำให้มันเป็นจริง เหมือนกับสิ่งที่พวกเรากำลังทำนี่แหละ ก็เริ่มจากล่าง ๆ พอทำแล้ว เราก็ต้องอาศัยคนที่มีอำนาจ เพื่อให้ปัญหามันถูกแก้ทั้งระบบเลย
“ก็คือทำหน้างานของเราให้มันเป็นตัวอย่าง แชร์ไอเดียนู่นนี่นั่น แต่ว่าเรื่องขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ทำเรื่องเรียกร้อง ตั้งคำถาม หรือไปทำงานกับคนที่มีอำนาจเพื่อให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบก็ต้องทำด้วยเหมือนกัน เพราะไม่งั้น ถ้าปล่อยให้ข้างล่างทำไป มันเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่น้อย ถ้าทำงานข้างบนด้วย มันก็จะขับเคลื่อนอย่างมีพลัง ยังเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงชีวิตเรา ก็เชื่ออย่างนั้น ก็ทำไปด้วยกัน”
หลังจบบทสนทนา ครูสอญอส่งภาพตัวอย่างเมนูมาให้เราดูอีกครั้ง อาหารธรรมดาหากสะอาดสะอ้านถูกจัดวางอยู่ในถาดหลุมสแตนเลส เมนูส้มตำไก่เคเอฟซีฉบับ lunch & learn ชวนน้ำลายสอ...ความคิดของเราเดินทางกลับไปช่วงวัยประถมฯ หากจานนี้อยู่ในมื้อกลางวัน ภาพอาหารเหลือในความทรงจำอาจมีปริมาณลดลง สวนทางกับรอยยิ้มและความสุขที่เพิ่มขึ้น และไม่แน่ว่า มื้อเที่ยงในถาดหลุมนี้อาจจะกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราอยากตื่นเช้าไปโรงเรียนก็เป็นได้