บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์: วีรบุรุษสงครามโลกที่ไทยไม่จดจำ แต่โลกไม่มีวันลืม
ถ้าจะกล่าวถึงบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเชลยศึกในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 บุคคลที่คอยให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรม ไม่แบ่งแยกว่าเป็นชาติใด บุคคลนั้นก็คือ ‘บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์’
เขาคืออีกหนึ่งบุคคลสำคัญของไทยที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงจากคนภายในประเทศ แต่ในทางตรงกันข้าม บุญผ่องผู้นี้กลับได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ในฐานะ ‘วีรบุรุษ’
โดยวีรกรรมที่ปรากฏเด่นชัด คือการช่วยเหลือกลุ่มเชลยสงครามที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก่อนที่บุญผ่องจะกลายมาเป็นวีรบุรุษผู้ปิดทองหลังพระ เขาเป็นเพียงพ่อค้าธรรมดาที่ดำเนินธุรกิจอยู่ภายในจังหวัดกาญจนบุรี
เส้นทางของวีรบุรุษ
บุญผ่องมีหัวด้านการค้า ทำให้เขาชื่นชอบค้าขายเป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างกับบิดาของเขาอย่างสิ้นเชิง บิดาของเขาเป็นแพทย์ที่รักษาโรคอยู่ภายในตำบลปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งบุญผ่องไม่ได้เดินตามรอยเท้าของบิดาแต่อย่างใด เขามีร้านค้าชื่อ ‘บุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์’ เป็นกิจการของครอบครัว โดยจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด และสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างครบครัน แต่นอกจากบทบาทพ่อค้าแล้ว เขายังได้ลงสมัครและดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีจังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้น ชาติอาณานิคมอย่างจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ามายังประเทศไทย และเลือกใช้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสร้าง ‘ทางรถไฟสายมรณะ’ โดยมีวัตถุประสงค์ในการขนย้ายเสบียง อาวุธ และกำลังพล เป้าหมายก็คือการบุกยึดพม่าและอินเดีย
ฝ่ายญี่ปุ่นได้ใช้กลุ่มเชลยศึกและแรงงานที่เกณฑ์มาจากต่างประเทศในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอเช่าที่ดินของบุญผ่องบริเวณช่องเขาขาด เพื่อดำเนินการสร้างทางรถไฟ รวมถึงติดต่อค้าขายกับบุญผ่องอยู่เสมอ ทำให้บุญผ่องได้ไปมาหาสู่กับฝ่ายญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งได้เห็นความโหดร้ายเกินให้อภัยด้วยตาตัวเอง
ความจริงอันโหดร้าย
การค้าระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นกับบุญผ่องดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้บุญผ่องได้เข้านอกออกในค่ายทหารญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เขาได้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณที่เชลยศึกต้องพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกดขี่แรงงานอย่างไร้มนุษยธรรม เหล่าเชลยถูกทรมานอย่างหนัก พวกเขาหลายคนขาดสารอาหาร ไม่มีอาหารกิน ไม่มีเวชภัณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นเชลยบางคนยังถูกใช้งานอย่างหนักจนเสียชีวิต
บุญผ่องที่ได้เห็นคุณภาพชีวิตอันย่ำแย่ของเหล่าเชลยสงครามด้วยตาของตัวเอง ทำให้เขาเกิดความคิดที่จะช่วยกลุ่มเชลยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวเลยแม้แต่น้อย กระนั้น การเข้าช่วยเหลืออย่างเงียบ ๆ ของบุญผ่องกลับกลายเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับเหล่าเชลย ทำให้พวกเขาสามารถมีชีวิตต่อไปได้อีกวัน
คิดการใหญ่
หลังจากนั้นมา การเข้าช่วยเหลือของบุญผ่องก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเขาต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นรับรู้ว่าเขาเป็นคนที่คอยส่งอาหารและยารักษาโรคให้แก่กลุ่มเชลย
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้ตรากฎว่า หากผู้ใดได้กระทำการช่วยเหลือเชลย ทั้งผู้ที่ให้ความช่วยเหลือและเชลยจะมีโทษถึงแก่ชีวิต ด้วยความยากลำบากดังกล่าว บุญผ่องจึงมองว่า การช่วยเหลือในครั้งต่อ ๆ ไปไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว บุญผ่องจึงเริ่มมองหาแนวร่วม โดยเขาได้เข้าร่วมกับองค์กรลับที่มีชื่อว่า ‘วี’ ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มธุรกิจต่างชาติ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเข้าช่วยเหลือกลุ่มเชลยสงคราม
ความร่วมมือระหว่างองค์กรลับและบุญผ่องถือเป็นการช่วยเหลืออย่างลับ ๆ แลกกับข่าวสารภายในกองทัพญี่ปุ่น โดยพวกเขาจะร่วมมือกันใส่อาหารและยารักษาโรคเอาไว้ภายในสินค้าของบุญผ่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการพบเห็นจากทหารญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นกำลังเกณฑ์เชลยเพื่อเร่งสร้างทางรถไฟสายมรณะ
รถไฟสายมรณะ
สงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ชัยชนะของทหารอเมริกันที่ยุทธการมิดเวย์ ทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ เริ่มเข้ามามีบทบาทในทวีปเอเชียมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กองทัพญี่ปุ่นอ่อนกำลัง และขาดแคลนเสบียง ฝ่ายญี่ปุ่นจึงต้องเร่งสร้างทางรถไฟให้เสร็จก่อนกำหนด
แต่การสร้างทางรถไฟสายมรณะไม่ต่างอะไรจากการสร้างหนทางสู่ความตาย บุญผ่องได้เห็นเชลยสงคราม รวมถึงแรงงานภายในค่ายกักกันของกองทัพญี่ปุ่นถูกบีบบังคับให้รีบดำเนินการสร้างทางรถไฟสายมรณะให้เร็วที่สุด
ความตายของเชลยที่บุญผ่องไม่อาจช่วยเหลือนั้นมากเกินจะนับได้ ทำให้มีคำกล่าวถึงทางรถไฟสายมรณะนี้ว่า “หนึ่งไม้หมอนมีค่าเท่ากับหนึ่งชีวิตของเชลย”
กระทั่งสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายชนะด้วยการปล่อยระเบิดปรมาณูใส่เกาะฮิโรชิมาและนางาซากิ ถือเป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต และกลุ่มเชลยสงครามได้รับอิสรภาพ แต่เรื่องราวในชีวิตของบุญผ่องกลับไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเขาต้องเผชิญกับวิกฤตจากการที่เข้าช่วยเหลือกลุ่มเชลย
เผชิญวิกฤตในชีวิต
หลังสงครามสิ้นสุด บุญผ่องต้องเผชิญกับการถูกลอบสังหาร เขาถูกผู้ไม่หวังดีลอบยิงบริเวณกลางอก แต่กลับรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ ทั้งนี้ ไม่มีใครสามารถหาตัวผู้กระทำความผิด และมูลเหตุจูงใจในการลอบยิงบุญผ่องได้
เมื่อบุญผ่องรักษาตัวจนหายดี เขากลับมาใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจดังเดิม แต่ก็ต้องประสบปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้เขาขัดสนเป็นอย่างมาก เงินทองที่เคยมีเก็บก็ลดน้อยถอยลง เนื่องจากนำเงินเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเชลยสงครามแทบทั้งหมด เชลยบางคนได้ใช้วิธีการแลกเปลี่ยนของมีค่าของตนกับสินค้าหรือเงินตราของบุญผ่อง ทำให้สภาวะทางการเงินและกิจการของบุญผ่องเข้าขั้นวิกฤต
บุญผ่องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมาก จนเรื่องที่บุญผ่องขัดสนรู้ไปถึงเหล่าบรรดาเชลยที่บุญผ่องเคยช่วยเหลือในระหว่างสงคราม เหล่าบรรดาเชลยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากบุญผ่องทราบเรื่องจึงรวมตัวกัน พวกเขาเรี่ยไรเงินจำนวนหนึ่งนำมาส่งมอบให้บุญผ่องเป็นการตอบแทน ทำให้ธุรกิจและการค้าของบุญผ่องอยู่รอดต่อไป
แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลง แต่วีรกรรมและสิ่งที่บุญผ่องทำไม่เคยถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของเหล่าเชลย เรื่องราวของบุญผ่องถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร จากฝีมือสหายคนหนึ่งที่พบกันภายในค่ายทหารญี่ปุ่น
สงครามสร้างวีรบุรุษ
เมื่อครั้งที่บุญผ่องเข้าออกค่ายกักกันของญี่ปุ่น เขาได้รู้จักกับ ‘เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวรี่ ดันลอป’ หรือที่บุญผ่องเรียกเขาว่า ‘เวรี่’
เวรี่คือชายผู้เขียนเล่าเรื่องราวความกล้าหาญของบุญผ่องที่คอยช่วยเหลือเหล่าเชลยสงครามด้วยมนุษยธรรมผ่านอนุทินสงครามของเขา ซึ่งภายหลังสงครามสิ้นสุด บุญผ่องได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลออสเตรเลีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ หลังจากนั้นมา บุญผ่องก็ถูกยกย่องในฐานะ ‘วีรบุรุษสยามแห่งรถไฟสายมรณะ’
ภายหลังจากที่บุญผ่องถึงแก่กรรมไปด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจพอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2525 ประเทศไทยได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดเพื่อย้อนรำลึกถึงเหล่าเชลยสงครามสัมพันธมิตร และบุญผ่อง โดยได้รับเกียรติจาก ‘จอห์น โฮวาร์ด’ นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้กล่าวเปิดพิพิธภัณฑ์ และมอบประกาศนียบัตรแก่หลานชายนายบุญผ่อง ด้วยเนื้อหาที่มีใจความว่า
“ขอให้ประกาศนียบัตรฉบับนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความสำนึกในบุญคุณอันหาที่สิ้นสุดมิได้ของเรา สำหรับการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยคุณงามความดีของบรรพบุรุษของท่าน และขอให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่นของมิตรภาพของเรา ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่สงครามเป็นต้นมา…”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความเสียสละของชายที่ชื่อ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ชายที่สังคมไทยใกล้จะลืมเลือน หากแต่เป็นวีรบุรุษเครื่องราชฯ ของนานาชาติตราบจนถึงวันนี้
เรื่อง: ยศพงศ์ ศิริวัฒนะโชติ (The People Junior)
ที่มาภาพ
https://th.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Boonpong_sirivejjabhandhu.jpg
Burma Railway - Wikipedia
อ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_1140
https://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=1338
https://www.bagindesign.com/kanchanaburi-death-railway-1/
http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2017/TU_2017_5423034338_8222_9362.pdf
http://rcst.or.th//web-upload/filecenter/2016-02-29_rgh-magazine_final_logos.pdf
https://www.dailytelegraph.com.au/news/war-hero-weary-dunlop-followed-aunts-and-uncles-into-war-service/news-story/06c947aa6afcaab415100af41fc229fd