เอสเมอรัลด้า : ความเป็นคนชายขอบของชาวยิปซีในเรื่องคนค่อมแห่งนอเทรอดาม
“ทั้ง ๆ รู้ข้าเป็นแค่ส่วนเกิน ไม่มีสิทธิ์ ไม่ควรคู่ ใจยังคงสงสัยว่าท่านนี้เคยเป็นส่วนเกินไหมอยากรู้”
(I know I’m just an outcast, I shouldn’t speak to you. Still I see your face and wonder, were you once an outcast too?)
นี่คือหนึ่งในท่อนร้องของเพลง God Help the Outcasts ที่ปรากฏในการ์ตูนดิสนีย์เรื่องคนค่อมแห่งนอเทรอดาม (The hunchback of Notre Dame-1996) ร้องโดย ‘เอสเมอรัลด้า’ หญิงสาวชาวยิปซีในเรื่องนี้ที่ตัดพ้อต่อการเป็นส่วนเกินของตนเอง และถามพระแม่มารีว่ามีสักครั้งไหมที่ท่านรู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน
หากใครเคยดูการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง The Hunchback of Notre Dame คงจะพอทราบว่าในเรื่องกล่าวถึงควอซีโมโด-ลูกบุญธรรมของบาทหลวงฟอลโล แม้จะมีสถานะเป็นลูกบุญธรรม แต่ควอซีโมโดเปรียบเสมือนลูกจ้างคนหนึ่งเท่านั้น เขามีหน้าที่ตีระฆังบนวิหารนอเทรอดาม และถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกวิหาร โดยฟอลโลให้เหตุผลว่าคนข้างนอกน่ากลัว ประกอบกับการมีรูปร่างที่ผิดปกติของควอซีโมโดอาจทำให้คนข้างนอกดูถูกได้
แต่แล้ววันหนึ่งในเทศกาลจำอวด เขาตัดสินใจหนีจากวิหารเพื่อไปชมงานเทศกาลนี้ ทำให้ได้พบกับ ‘เอสเมอรัลด้า’ สาวยิปซีนักเต้นระบำแสนสง่างาม เธอมาช่วยควอซีโมโดจากการถูกประณามรูปลักษณ์ที่ผิดปกติ ควอซีโมโดจึงตอบแทนด้วยการพาเธอและชาวยิปซีหลบหนีจากการไล่ล่าของบาทหลวงฟอลโลผู้เคร่งในความบริสุทธิ์ของคริสตจักร เพราะเกรงว่าวัฒนธรรมการใช้เวทมนตร์ของชาวยิปซีจะครอบงำและเป็นอันตรายต่อศาสนาคริสต์
การดูการ์ตูนเรื่องนี้ในแต่ละช่วงวัยจะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ในช่วงวัยเด็ก เราดูเพื่อความสนุก ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของวิหาร และแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายแค่ไหน สุดท้ายก็จะจบลงที่ตัวละครอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในขณะที่การดูในช่วงวัยรุ่น เรากลับมองเรื่องนี้แตกต่างออกไป เพราะนอกจากความบันเทิง การ์ตูนเรื่องนี้ยังสอดแทรกประเด็นคนชายขอบผ่านตัวละครเอสเมอรัลด้า
เอสเมอรัลด้า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ยิปซีในตอนเหนือของประเทศอินเดียที่ไม่ค่อยอาศัยในถิ่นกำเนิด แต่มักอาศัยอย่างกระจัดกระจายในทวีปยุโรป เหมือนที่เอสเมอรัลด้าอาศัยอยู่ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เธอใช้การเต้นระบำเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเอง และในเรื่องนี้ เธอเป็นคนเดียวที่ต่อต้านบาทหลวงฟอลโล จากการกล่าวหาว่าชาวยิปซีเป็นแก๊งโจรที่มีพิธีกรรมไม่บริสุทธิ์ แสดงให้เห็นว่าเอสเมอรัลด้าเป็นตัวละครที่แม้จะถูกกดทับจากการทำให้เป็นคนชายขอบ แต่เธอก็ไม่ย่อท้อต่อการถูกกดทับและคำกล่าวหา มิหนำซ้ำยังช่วยเป็นเสียงที่ทำให้กลุ่มของเธอลุกขึ้นมาต่อต้านเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม
แม้เราจะรู้จักพวกเขาในชื่อยิปซี แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน อาทิ gitanos ในสเปน และ gitan ในฝรั่งเศส ส่วนพวกเขาเรียกตัวเองว่า โรมา ที่แปลว่า มนุษย์ ซึ่งปัจจุบันชาวยิปซีก็ยังเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนในทวีปยุโรปประมาณ 12 ล้านคน ด้วยพื้นฐานความเชื่อเรื่องการไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว (Private property) กล่าวคือ เชื่อว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของดินแดนและสรรพสิ่งในโลก หากจะเรียกว่าการเร่ร่อนไปในดินแดนอื่นตามฤดูกาลเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของกลุ่มก็คงไม่ผิด
ดังนั้น พวกเขาจึงดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับเกวียนและม้าที่เป็นทั้งยานพาหนะและที่อยู่อาศัย ชาวยิปซีมีฝีมือในการร้องรำทำเพลงเล่นดนตรี อาชีพหลักจึงเป็นนักดนตรี เช่น ในปี ค.ศ. 2009 ชาวยิปซีเล่นดนตรีในคอนเสิร์ตมาดอนน่าที่ประเทศโรมาเนีย บ้างก็รับดูไพ่หรือที่เรารู้จักในชื่อไพ่ยิปซี บ้างก็รับจ้างรักษาม้าที่ป่วยในฟาร์มของชาวนา อย่างไรก็ดี เราสามารถพบชาวยิปซีที่ไม่ได้มีงานทำเป็นหลักแหล่ง เพราะพวกเขาคิดว่าสุดท้ายก็ต้องย้ายไปที่อื่น ๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้ เรื่องลักเล็กขโมยน้อยของชาวยิปซี สันนิษฐานว่าเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวยากหมากแพง หากไม่มีเงินก็ต้องขโมย รวมถึงการไม่เชื่อเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว หากพบเห็นของที่ผู้คนทำตกหล่นไว้ พวกเขาก็จะเก็บมาเป็นของตนเองโดยไม่เอาไปคืนหรือตามหาเจ้าของ
“อย่าเข้าไปใกล้นะลูก นั่นพวกยิปซี เดี๋ยวมันจะมาขโมยของเรา, ยิปซีหาเงินไม่เป็นหรอก, พวกแม่มด, พวกหมอผี, ปีศาจนอกศาสนา” คำพูดที่ปรากฏในเรื่องต่อเอสเมอรัลด้า สะท้อนถึงความคิดของชาวฝรั่งเศสที่มีต่อชาวยิปซี แม้เรื่องจริงจะไม่ได้เหมือนกับในการ์ตูนเสียทีเดียว แต่ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ชาวยุโรปส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเปิดรับชาวยิปซีมากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับชาติพันธุ์อื่น ๆ
หากจะย้อนถึงการเลือกปฏิบัติต่อชาวยิปซี คงจะต้องย้อนไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งในยุโรปมีการแบ่งแยกสีขาวที่แสดงถึงแสงสว่าง และสีดำที่หมายถึงซาตาน แน่นอนว่าซาตานคงหนีไม่พ้นชาวยิปซีด้วยสีผิวของพวกเขาที่แตกต่างไปจากคนยุโรป เพราะชาวยิปซีส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย นอกจากนี้ชาวยุโรปหลายคนยังไม่เข้าใจภาษายิปซี และด้วยวัฒนธรรมของพวกเขาที่เชื่อว่าสามารถทำนายอนาคตได้ คริสตจักรจึงกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะมาครอบงำความเชื่ออันบริสุทธิ์ของศาสนา ชาวยิปซีจึงตกเป็นเหยื่อในการเลือกปฏิบัติอย่างเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1554 รัฐสภาอังกฤษได้ออกกฎหมายว่า การเป็นชาวยิปซีเป็นความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษประหารชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า “Their contemporary existence is absolutely dysfunctional” แปลว่า การมีอยู่ของพวกเขา (ยิปซี) เป็นสิ่งผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม แม้ชาวยิปซีต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ แต่ในยุโรปยังมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวยิปซี ทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการพื้นฐานของรัฐ การสร้างงาน สร้างอาชีพ และที่อยู่อาศัย แต่ก็ไม่ได้ผลตามที่หวังไว้ เนื่องจากนโยบายจะสำเร็จได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งผู้ให้และผู้รับ แม้รัฐจะเสนอแนวทางแก้ไข แต่ประชาชนในประเทศยังคงไม่ยอมรับ เพราะเกรงว่าชาวยิปซีจะมาแย่งทรัพยากร และชาวยิปซีเองก็ไม่ต้องการตั้งถิ่นฐานและทำงานที่มั่นคง นโยบายนี้จึงต้องพับเก็บไปในที่สุด และแนวทางแก้ปัญหาก็ยังเป็นข้อถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในอีกมุมก็ยังมีชาวยิปซีที่ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในประเทศนั้น ๆ อย่าง Dijana Pavlovic นักเคลื่อนไหวชาวยิปซีที่อาศัยในประเทศอิตาลี เธอได้รณรงค์เพื่อสิทธิและต่อต้านการขับไล่ชาวยิปซีในอิตาลี แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นชาวยิปซีอีกคนที่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตอย่างชัดเจน
ชาวยิปซีนับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่มีวิถีชีวิตและความเชื่อที่แตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเลวร้ายหรือแปลกแยกไปจากสังคม แม้จะยากต่อการปรับตัวและหาวิธีอยู่ร่วมกันกับคนส่วนใหญ่ แต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกกีดกัน ละเลยหรือทิ้งไว้ข้างหลัง ตลอดจนถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นเอสเมอรัลด้า ชาวยิปซีในชีวิตจริง หรือใครก็ตามบนโลกใบนี้
เรื่อง: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)
อ้างอิง
https://disney.fandom.com/wiki/Esmeralda
https://www.amnesty.org/en/latest/campaigns/2015/04/roma-in-europe-11-things-you-always-wanted-to-know-but-were-afraid-to-ask/
https://www.livescience.com/64171-roma-culture.html
https://www.open.edu/openlearn/history-the-arts/history/the-historical-and-ongoing-persecution-europes-gypsies
https://www.youtube.com/watch?v=gTlQMOdeW_8&t=172s