เอลซ่า: เจ้าหญิงดิสนีย์ผู้แหวกขนบเดิม กับตัวแทนผู้หญิงโสดที่มีความสุขได้แม้ไร้คู่ครอง
ในปี ค.ศ. 2013 การ์ตูน Frozen ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ ได้ฉายสู่ผู้ชมทั่วโลก ซึ่งสร้างความฮือฮาในวงกว้าง ทั้งแฟนคลับดิสนีย์หรือแม้กระทั่งขาจร สาเหตุมาจากตัวเอกอย่าง ‘เอลซ่า’ หากเทียบกับเจ้าหญิงดิสนีย์คนอื่น ๆ เธอแทบจะไม่เข้าเค้าฉบับเจ้าหญิงดิสนีย์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่เธอเป็นราชินีไม่ใช่เจ้าหญิง และลักษณะนิสัยที่ถูกถกเถียงอย่างแพร่หลายว่าเธอคือตัวร้ายของเรื่อง รวมถึงประเด็นการเป็นราชินีโดยปราศจากคู่ครอง
การสร้างคาแรกเตอร์เจ้าหญิงดิสนีย์ในยุคแรกจะเป็นลักษณะตัวละครแบบแบน (Flat Character) ที่มีเพียงด้านเดียว คือด้านอ่อนหวานและสวยงาม อาทิ ซินเดอเรลล่า (1950) มีนิสัยชอบเย็บปักถักร้อย ทำงานบ้านเสมอ ไม่สู้คนแม้ถูกแม่เลี้ยงรังแก หรือ ออโรร่า จากเรื่องเจ้าหญิงนิทรา (1959) เธอถูกคำสาปจากเครื่องปั่นด้ายและฟื้นจากการจุมพิตของเจ้าชาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหญิงยุคนั้นต้องเป็นไปตามรูปแบบของผู้หญิงในอุดมคติ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ยุคต่อมาดิสนีย์เริ่มเสนอภาพเจ้าหญิงเป็นตัวละครแบบกลม (Round Character) โดยไม่ได้มีเพียงภาพผู้หญิงในอุดมคติเพียงอย่างเดียว แต่ยังเสนอมุมที่สอดคล้องกับคนทั่ว ๆ ไป อย่างความดื้อรั้นผ่านแอเรียล จากเรื่อง The Little Mermaid (1989) เธอหนีพ่อขึ้นไปบนฝั่ง หรือการให้ผู้หญิงถ่ายทอดเรื่องราวหลักอย่างเบลล์ ในเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูร (1991) โดยตัวเบลล์มีนิสัยรักการอ่าน กล้าเจรจากับอสูร และการท่องโลกกว้างคือเป้าหมายสูงสุดของเธอ ซึ่งก็ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของการสร้างตัวละครดิสนีย์
จนมาถึงตัวละครที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่นและแตกต่างจากเจ้าหญิงดิสนีย์คนอื่น ๆ คือ ‘เอลซ่า’ ในเรื่อง Frozen ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ
เอลซ่า เป็นราชินีแห่งเมืองเอเรนเดลล์ เธอมีนิสัยเงียบขรึม สิ่งหนึ่งที่เธอแตกต่างจากเจ้าหญิงดิสนีย์คนอื่นคือ พลังวิเศษในการสร้างหิมะ แต่วันที่เธอสร้างหิมะเล่นกับ ‘อันนา’ น้องสาวของเธอ เธอเผลอเสกหิมะโดนอันนา ทำให้อันนาสลบไป และเกือบจะไม่รอดชีวิต เหตุการณ์นี้เองทำให้เอลซ่ากลายเป็นคนเก็บตัวจากคนอื่น ๆ เพราะเธอกลัวทำอันตรายต่อคนใกล้ชิด
การก้าวข้ามผ่านความกลัว
“อย่าเปิดใจไป อย่าให้เขาเห็น ต้องเป็นคนดีอย่างที่เขาสอนให้เป็น ปกปิดในใจอย่าให้เขารู้” (Don’t let them in, don’t let them see. Be the good girl you always have to be. Conceal, don’t feel, don’t let them know)
หนึ่งในท่อนร้องของเพลง ปล่อยมันไป (Let it go) แสดงถึงความกดดันและอัดอั้นของเอลซ่า เพราะเธอต้องเก็บซ่อนตัวเองจากบาดแผลในใจที่เธอเผลอทำร้ายน้องสาว ทำให้เธอคิดว่าการไม่เจอใครเลย จะช่วยให้คนอื่นปลอดภัย แต่เธอลืมคิดไปว่านี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความกลัว และศัตรูที่แท้จริงไม่ใช่พลังวิเศษที่เธอมี หากแต่เป็น ‘ความกลัว’ ภายในจิตใจของเธอเอง
“ปล่อยมันไป อย่างที่เป็น ไม่อาจจะเก็บอีกต่อไป ปล่อยออกมา เลิกซ่อนเร้น เดินกลับหลังหมดสิ้นเยื่อใย” (Let it go, let it go.
Can’t hold it back anymore. Let it go, let it go. Turn away and slam the door)
หลังจากที่เธอเผลอเสกให้ทั้งเมืองกลายเป็นน้ำแข็งโดยไม่รู้ตัว เธอก็ได้หลบหนีไปยังตอนเหนือของเมืองเอเรนเดลล์ และสร้างปราสาทหิมะของตัวเอง ในที่แห่งนี้เธอเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีอิสระในการใช้ชีวิต เธอค้นพบว่าสิ่งสำคัญในการก้าวข้ามผ่านความกลัวคือการยอมรับตัวเองว่าเธอเป็นอะไร มีพลังวิเศษแบบใด และเธอจะสามารถควบคุมมันได้อย่างไร
เอลซ่าจึงเปรียบเหมือนภาพสะท้อนของผู้คนหลากหลาย ไม่ว่าจะเพศไหน สถานะใด ต่างก็เคยทำผิดพลาดจากความกลัวของตัวเองและบางคราวก็ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความกลัว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่กล้าและโชคดีเหมือนเธอในการขจัดความกลัวเหล่านี้
กำหนดเส้นทางชีวิตเอง
“เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่ถูกทำให้เป็นหญิง” (One is not born, but rather becomes a woman)
ประโยคข้างต้นเป็นแนวคิดของ ซีโมน เดอ โบวัวร์ นักสตรีนิยมชาวฝรั่งเศส เธอกล่าวว่า การเป็นผู้หญิงถูกสร้างจากพื้นฐานภายในครอบครัวผ่านการทำงานภายในบ้าน และเมื่อโตไปก็ต้องรับบทบาทแม่และเมียตามกรอบที่สังคมกำหนด แต่น้อยคนนักที่จะกล้าฉีกกฎเกณฑ์และขนบธรรมเนียมเดิม
เอลซ่าเป็นหนึ่งในนั้น เพราะเธอมีสถานะเป็นราชินีแห่งเอเรลเดลล์ มีหน้าที่ปกครองประเทศและราษฎร รวมถึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับตำแหน่ง แต่ด้วยพลังวิเศษที่กลัวว่าจะทำร้ายคนใกล้ชิด และกลัวคนกล่าวหาว่าเป็นปีศาจร้าย ทำให้เธอเลือกสละตำแหน่งราชินี แต่ท้ายที่สุดเมื่อเธอรู้จักควบคุมพลังของตัวเองได้ เธอก็กลับมาปกครองเมืองเอเรนเดลล์ในแบบของตัวเอง
กล้าที่จะเป็นตัวเอง
นอกจากการสลัดภาพจำของผู้หญิงตามขนบธรรมเนียม เธอยังกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง เห็นได้จากฉากที่เธอหนีออกจากเมืองเพื่อไปยังตอนเหนือซึ่งเป็นสถานที่ที่จะไม่มีใครหาเธอพบ ภาพฉายระหว่างที่เธอร้องเพลง ปล่อยมันไป (Let it go) เธอได้เปลี่ยนชุดจากสีเขียวน้ำทะเลเป็นชุดสีฟ้าขาวเชื่อมโยงกับพลังวิเศษเรื่องหิมะ และเธอยังเปลี่ยนการเกล้าผมเป็นการปล่อยไว้ข้างตัว
การเปลี่ยนชุดและทรงผมสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ของเอลซ่า เธอกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยการสลัดสิ่งที่ผูกมัดเธอไว้ เธอจึงเป็นอีกแรงผลักดันที่สนับสนุนให้ทุกคนกล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง และเมื่อเราอยู่ในที่ที่เป็นตัวเอง เมื่อนั้นเราจะโดดเด่นในแบบของเราเองโดยปราศจากการปรุงแต่งจากสิ่งรอบข้าง
รักแท้อยู่ใกล้ตัว
คนเรามีความสุขได้โดยปราศจากการแต่งงานหรือการมีคู่ครองได้จริงหรือ ?
หากดูการ์ตูนดิสนีย์เรื่องอื่น คำตอบของข้อนี้คงจะ ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่องก่อนหน้ามักจะเสนอความฝันและเป้าหมายสูงสุดของเจ้าหญิง คือการได้พบความรักที่แท้จริงระหว่างเจ้าหญิงและเจ้าชาย เช่น ซินเดอเรลล่า ในตอนสุดท้ายเธอก็ได้แต่งงานกับเจ้าชาย ผู้ปลดปล่อยเธอจากแม่เลี้ยงใจร้าย
แต่เมื่อมองในการ์ตูน Frozen ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ โดยเฉพาะตัวละครเอลซ่า พบว่าเส้นเรื่องของเธอไม่มีด้านความรักกับเจ้าชายหรือหนุ่มรูปงามเมืองอื่น ซึ่งเธอก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร อีกทั้งยังมีความสุขมากกว่ามีคู่ครองเสียอีก เพราะเธอได้ใช้เวลาร่วมกับน้องสาวที่เธอรัก จึงตอบคำถามได้ว่า ไม่ว่าเอลซ่าหรือคนทั่วไปก็สามารถมีความสุขและมี ‘ความรัก’ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมี ‘คนรัก’ เสมอไป เพราะนิยามความรักของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป
การ์ตูนเรื่องนี้จึงสื่อได้ดีในประเด็น Sisterhood หรือความรักระหว่างพี่น้องที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามความรักไกลตัวเหมือนที่อันนาปรารถนาจากเจ้าชายฮานส์ ในเมื่อรักแท้สามารถหาได้จากคนใกล้ชิดอย่างครอบครัว
อาจกล่าวได้ว่าดิสนีย์พยายามสร้างตัวละครให้สอดคล้องกับบริบทสังคมในแต่ละยุค เช่นเดียวกับตัวละคร ‘เอลซ่า’ ท่ามกลางกระแส Empowering Woman ผู้หญิงกล้าตัดสินใจ กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และมั่นใจในตัวเอง ซึ่งการส่งต่อแนวคิดผ่านการ์ตูนเช่นนี้ถือว่าเป็น Soft Power รูปแบบหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับเด็ก เพราะการ์ตูนนับเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่กำหนดว่าเด็กคนนั้นจะเติบโตมาในรูปแบบไหน...
เรื่อง: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)
ที่มาภาพ Facebook