แมรี เอนสเวิร์ธ - เมื่อการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในวันที่เติบโต
เมื่อพูดถึงความรักความสัมพันธ์ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนสร้างกำแพงเสียสูงลิ่ว บางคนกลับหึงหวง จนไม่อยากให้คนรักห่างหายแม้วินาทีเดียว บ้างก็มีความสัมพันธ์ที่เฮลตี้และมีความสุข
เคยมีนักจิตวิทยาชาวอังกฤษนามว่า ‘จอห์น โบว์ลบี้’ (John Bowlby) คิดค้น ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ (Attachment theory) ขึ้นมา โดยเสนอว่าสายสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ กับผู้ปกครองมีผลกระทบต่อตัวเด็กในระยะยาว เรียกง่าย ๆ ว่ารูปแบบความผูกพันกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลใกล้ชิดในวัยเด็ก ส่งผลต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดของพวกเขาเมื่อเติบโตขึ้น
คำถามต่อมาคือ ความผูกพันที่ว่ามีรูปแบบไหนบ้าง ?
แมรี เอนสเวิร์ธ (Mary Ainsworth) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันซึ่งเป็นลูกศิษย์ของโบว์ลบี้ ได้เริ่มค้นหาคำตอบนี้ด้วยการทดลองที่เรียกว่า ‘สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย’ หรือ ‘Strange Situation’
Strange Situation
ก่อนหน้านี้เอนสเวิร์ธทำงานร่วมกับโบว์ลบี้ที่ทวิสสต็อกคลินิก (Tavistock Clinic) ก่อนจะออกมาวิจัยเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกในยูกันดา (Uganda) แล้วเดินทางกลับมายังสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นอาจารย์พร้อมกับเริ่มการทดลอง ‘Strange Situation assessment’ อันโด่งดังในช่วงทศวรรษ 1970
เอนสเวิร์ธเริ่มจากการพาเด็ก ๆ อายุ 12-18 เดือนจากครอบครัวอเมริกันชนชั้นกลางจำนวน 100 ครอบครัว เข้าไปอยู่ในห้องที่เด็ก ๆ ไม่คุ้นเคย แล้วสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาอย่างลับ ๆ ผ่านกระจกที่มีฝั่งเดียวในห้อง ทั้งพฤติกรรมตอนอยู่กับผู้ปกครอง ตอนที่มีคนแปลกหน้าเดินเข้ามา ตอนถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังกับคนแปลกหน้า กระทั่งการอยู่ในห้องนั้นเพียงคนเดียว
4 รูปแบบความผูกพัน
ผลการทดลองปรากฏว่า เด็ก ๆ มีพฤติกรรมที่จำแนกได้ 3 รูปแบบหลัก (ก่อนจะมีคนมาเพิ่มรูปแบบที่ 4 ในภายหลัง)
แบบแรก คือ ‘ความผูกพันที่มั่นคง’ (Secure Attachment) โดยเด็กน้อยอาจมองหาหรือกังวลเล็กน้อยเมื่อผู้ปกครองออกจากห้องไป และไม่ได้เป็นมิตรกับคนแปลกหน้ามากนัก เมื่อผู้ปกครองกลับมา เด็กจะดีใจและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยตามปกติ โดยเอนสเวิร์ธคาดว่าเป็นเพราะผู้ปกครองให้ความรักความอบอุ่นและดูแลเมื่อพวกเขาต้องการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกไว้วางใจว่าอีกเดี๋ยวแม่หรือผู้ปกครองคนนั้นจะกลับมา และมีความสุขเมื่อได้พบกันอีกครั้ง
แบบที่สอง คือ ‘ความผูกพันแบบหลีกหนี’ (Avoidant Attachment) เด็ก ๆ มักจะเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ไม่งอแงหรือร้องไห้ไม่ว่าผู้ปกครองจะออกจากห้องหรือกลับเข้ามา อาจเป็นเพราะเด็กถูกละเลยมาตั้งแต่ต้น เช่น การปล่อยเด็กให้ร้องไห้ กลัว หรือหิว จนรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถพึ่งพาผู้ปกครองหรือความสัมพันธ์อื่นใด จึงไม่สนใจและปิดกั้นตัวเอง ซึ่งเอนสเวิร์ธคาดว่าพฤติกรรมนี้เป็นกลไกการป้องกันตัวเอง (Defensive Mechanism) เมื่อผู้ดูแลใกล้ชิดละเลยหรือปฏิเสธพวกเขา
แบบที่สาม คือ ‘ความผูกพันแบบสับสน’ (Ambivalent Attachment) เด็ก ๆ จะกังวลเมื่อผู้ปกครองออกจากห้องไป และจะต่อต้าน งอแง พยายามเกาะติดเมื่อผู้ปกครองกลับเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้เด็ก ๆ ไม่ได้ถูกตอบสนองความต้องการอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อร้องไห้แล้วถูกปลอบบ้าง ถูกละเลยบ้าง การตอบสนองที่ไม่แน่นอนทำให้พวกเขาเริ่มสับสน ไม่ไว้วางใจผู้ปกครองและกลัวว่าจะหายไปอีกครั้ง
และแบบที่สี่ คือ ‘รูปแบบที่ไม่แน่นอน’ (Disorganized Attachment) เป็นรูปแบบที่ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลังโดย Main และ Solomon (1986) เพื่อนิยามเด็ก ๆ ที่ไม่ใช่ทั้งสามกลุ่มข้างต้น หรือมีความผสมผสานระหว่างพฤติกรรมทั้งสามรูปแบบ
เมื่อความผูกพันวัยเด็ก ส่งผลต่อวัยผู้ใหญ่
ตามทฤษฎีของโบว์ลบี้กล่าวว่า ความผูกพันแต่ละรูปแบบจะกลายเป็นภาพจำของเด็ก ว่าผู้ดูแลใกล้ชิดสามารถพึ่งพาหรือไว้วางใจได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พวกเขามีแนวโน้มจะสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวหรือความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อในรูปแบบเดียวกันนั้น
ฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่าคนที่มีความผูกพันแบบหลีกหนี เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจจะสร้างกำแพงกับคนใกล้ชิดมากกว่าคนอื่น ๆ ขณะที่ความผูกพันแบบสับสน เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจจะกังวลอยู่บ่อย ๆ ว่าอีกฝ่ายจะทิ้งตนเองไป
สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านการศึกษาของ Hazan and Shaver (1987) ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบความผูกพัน (Attachment Styles) ในวัยเด็กและทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อความสัมพันธ์ในแง่คนรัก ซึ่งพบว่า คนที่มีรูปแบบความผูกพันแน่นแฟ้นตั้งแต่ยังเป็นทารก หรือความผูกพันแบบมั่นคง (Secure Attachment) มักมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาวและมีความสุขมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามแนวคิดที่ว่า ‘รูปแบบความผูกพันในวัยเด็กส่งผลต่อเนื่องไปจนเติบใหญ่’ นั้นถูกตำหนิอยู่ไม่น้อย เพราะมีอีกหลายเคสที่เกิดความเปลี่ยนแปลงระหว่างการเติบโต
อย่างการศึกษาในปี 2000 ที่ Waters และคณะได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมการทดลอง ‘Strange Situation’ ในวัยผู้ใหญ่ซึ่งพบว่า ผู้เข้าร่วม 72% ยังคงมีรูปแบบความผูกพันเช่นเดียวกับวัยแบเบาะ ส่วนอีก 28% มีรูปแบบความผูกพันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบางคนเล่าว่ามีสาเหตุมาจากเหตุการณ์สำคัญบางอย่างระหว่างการเติบโต นอกจากนี้ การศึกษาของ Caron และคณะ ในปี 2012 ยังพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองมีรูปแบบความผูกพัน (Attachment Styles) แตกต่างกันออกไปตามประเภทของความสัมพันธ์ เช่น เพื่อนสนิท พ่อแม่ และคนรัก
ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า รูปแบบความผูกพันในวัยเด็กอาจส่งผลต่อพื้นฐานความสัมพันธ์ในวันข้างหน้าก็จริง แต่ใช่ว่าจะ ‘ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้’
นี่จึงเป็นบทเรียนให้หลายคนได้กลับมาสังเกต ตระหนัก และเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเรามีความผูกพันในรูปแบบใด โดย ‘ความเข้าใจ’ ที่ว่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการ ‘ปรับพฤติกรรม’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ไม่เฮลตี้ อีกทั้งยังเป็นบทเรียนให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองว่า ‘ความพร้อมของการเลี้ยงดู’ ไม่ได้มีเพียงอาหาร อุปกรณ์การเรียนหรือจำนวนเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรักความอบอุ่นที่เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้เด็ก ๆ สามารถสร้างความสัมพันธ์ในอนาคตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
ที่มา:
https://www.simplypsychology.org/mary-ainsworth.html
https://www.simplypsychology.org/attachment-styles.html
https://www.verywellmind.com/mary-ainsworth-biography-2795501
https://www.verywellmind.com/what-is-attachment-theory-2795337
https://www.facebook.com/PsychologyChula/posts/957377524376661:0
https://www.youtube.com/watch?v=m_6rQk7jlrc
ที่มาภาพ
Getty Images / JHU Sheridan Libraries/Gado
https://www.youtube.com/watch?v=SFCQLshYL6w&t=152s