read
history
08 ก.ค. 2564 | 23:05 น.
อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน
Play
Loading...
ศึกนัดที่สองระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ในเรื่อง มหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok) คือการปะทะกันระหว่างสองผู้มีนามกรอันยิ่งใหญ่ในบันทึกโบราณของมนุษยชาติ ทั้งสองมีประวัติเป็นทั้ง ‘ไอ้ลูกไม่รักดี’ และเป็น ‘มหาบิดา’ ในคนคนเดียวกัน
นั่นคือศึกระหว่าง เทพซุส (Zeus) แห่งโอลิมปัส และ อาดัม (Adam) มนุษย์คนแรกตามความเชื่อของกลุ่มศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions อันได้แก่ ยิว คริสต์ อิสลาม) และแนวคิดไญยนิยม (Gnosticism - กลุ่มความเชื่อศาสนายิวและคริสต์นอกกระแสหลัก ที่เชื่อว่าโลกวัตถุถูกสร้างและปกครองโดยเทพผู้สร้างระดับที่ต่ำลงมากว่าพระเจ้าสูงสุด)
ที่ว่าเป็น ‘ไอ้ลูกไม่รักดี’ ก็คือ เทพซุสนั้นโค่นบัลลังก์ของโครนอส บิดาของตน (เป็นไปเพื่อช่วยเหลือพี่ ๆ ที่ถูกพ่อจับกลืนลงท้อง) ทางอาดัมนั้นฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า (ที่เป็นผู้สร้างและมอบชีวิต) กินผลไม้ต้องห้าม ส่วนสำหรับความเป็น ‘มหาบิดา’ นั้น ซุส คือพ่อของเทพและคนกึ่งเทพจำนวนมาก และอาดัมนั้นคือบรรพบุรุษคนแรกของมนุษยชาติ
ในศึกนัดนี้ อาดัมปรากฏตัวด้วยรูปลักษณ์เป็นหนุ่มรูปงาม ร่างเปลือย มีเพียงใบไม้ปิดของสงวน นั่งอยู่บนก้อนหินในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ก้อนหินวางอยู่บนแท่นสูงคล้ายบัลลังก์ และมาพร้อมกับบรรดาส่ำสัตว์ทั้งสัตว์บก สัตว์ปีก ประหนึ่งว่าเป็นราชาผู้ปกครองสรรพสัตว์ ซึ่งฉากเปิดตัวนี้สะท้อนเนื้อความในพระคัมภีร์ ปฐมกาล 1:26 “แล้วพระเจ้าตรัสว่า ‘ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในท้องฟ้าและฝูงสัตว์ใช้งาน ให้ปกครองแผ่นดินโลกทั้งหมด และสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดบนแผ่นดินทั้งหมด’”
รูปลักษณ์และกิริยาของอาดัมที่ปรากฏออกมานี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะและบันทึกโบราณไม่มากก็น้อย อาทิ ความงามและท่านั่งของอาดัมในฉากเปิดตัวนั้นเหมือนกับในภาพวาด The Creation of Adam (c.1512) ของ มีเกลันเจโล (Michelangelo - ผู้ปรากฏตัวออกมาในบริเวณที่นั่งผู้ชมด้วย) และอากัปกิริยาของการที่วัลคีรีเข้าไป ‘ประสานเป็นหนึ่ง’ กับอาดัมเพื่อมอบอาวุธเทพนั้น ก็เป็นการล้อภาพที่ว่าอย่างชัดเจน ส่วนใบไม้ปิดหว่างขานั้นก็น่าจะเป็นใบมะเดื่อตามที่ระบุในพระคัมภีร์ ส่วนแอปเปิลที่เขาถือก็คือผลไม้ต้องห้ามที่ถูกตีความในกระแสหลักว่าเป็นแอปเปิล (ถึงขนาดมีศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Adam’s Apple ที่หมายถึงลูกกระเดือก ก็คือแอปเปิลที่อาดัมกินเข้าไปแล้วติดที่คอมาจนถึงลูกหลาน แต่อีกบางการตีความก็บอกว่าผลไม้ต้องห้ามน่าจะเป็นลูกมะเดื่อ เพราะหลังจากกินผลไม้ต้องห้ามจนรู้สึกได้ว่าตนกำลังเปลือยกาย เขาก็ดึงใบมะเดื่อมาปกปิดร่างกาย)
อาดัมในเรื่องนี้ถูกอรรถาธิบายว่าเป็นผู้เกลียดชังเทพเจ้า พลังของเขาที่ใช้สู้กับ ซุส นั้นคือความสามารถในการใช้ ‘เนตรเทพลักษณ์’ (Eyes of the Lord) คือพลังในการมองและเลียนแบบท่าทางของคู่ต่อสู้ (ในมังงะตีความความสามารถในการเลียนแบบว่า เป็นสิ่งที่ได้มาจากการที่อาดัมถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า เขาจึงมีสภาพเป็นของเลียนแบบ และมีพลังแห่งการเลียนแบบ)
ส่วนภูมิหลังของอาดัมถูกเล่าว่า สาเหตุที่เขา (และ อีฟ ผู้เป็นภรรยา) ได้ออกมาจากสวรรค์นั้น เป็นเพราะว่า เทพนาคาผู้ชั่วร้ายต้องการสมสู่กับอีฟ แต่อีฟไม่ยอม เทพนาคาจึงได้ใส่ร้ายว่าอีฟกินผลไม้ (แอปเปิล) ต้องห้ามของพระเจ้าเข้าไป อีฟจึงถูกเรียกมาพิพากษาในศาลของบรรดาเทพเจ้า ซึ่งในระหว่างไต่สวนนั้นเอง อาดัมได้บุกเข้ามาพร้อมตะกร้าแอปเปิล พร้อมกับกัดกินแอปเปิลหลายลูกต่อหน้าเทพทั้งปวง เขาบอกว่าถ้าอีฟต้องออกจากสวรรค์ ตนก็จะไปด้วย เป็นตอนนั้นเองที่เทพนาคาเข้าจู่โจมอาดัม เขาจึงใช้ความสามารถ ‘เนตรเทพลักษณ์’ ในการจู่โจมกลับแล้วชนะเทพนาคา จากนั้นทั้งสองก็จูงมือกันออกจากสวรรค์ไปด้วยกัน
หากอ่านภูมิหลังการออกจากสวรรค์ในมังงะเรื่องนี้แล้ว ผู้อ่านอาจจะรู้สึกได้ว่าเป็นการตีความที่ ‘เลยเถิด’ เกินกว่าเนื้อหาดั้งเดิมในพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่า ซึ่งงูเป็นคนมาล่อลวงอีฟให้กินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว (แล้วอีฟก็กิน จากนั้นก็ส่งให้อาดัมกิน ตามมาด้วยการถูกพระเจ้าลงโทษและขับออกจากสวนแห่งเอเดน) หรืออย่างการที่อีฟถูกพิพากษาต่อหน้าเทพจำนวนมาก (ทั้ง ๆ ที่บางคนเชื่อว่าควรจะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียว) หรือการที่อาดัมมากินผลไม้เพื่อช่วยอีฟนั้น ดูขัดกับเนื้อเรื่องในปฐมกาลจนดูยากจะเชื่อการตีความของผู้เขียนมังงะ
เช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนบทความนี้จะขอลองพยายามอธิบายที่มาที่ไปและความเป็นไปได้ของภูมิหลังแห่งอาดัมที่ถูกเล่าในมหาศึกฯ ซึ่งในการสืบสาวราวเรื่อง (แล้วย่อยเนื้อหาอันมากมายให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัด) นี้ เราจะลองอ่านและสำรวจตัวบทในปฐมกาล (Genesis) โดยอ่านทั้งตัวประโยคและตีความช่องว่างระหว่างบรรทัด พร้อม ๆ กันนั้น เราจะอ่านมันโดยวางเคียงคู่กับเอกสารแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ไบเบิล อาทิ อัลกุรอาน คัมภีร์โทราห์ (Torah) บทตีความของรับบี (Rabbi) ไปจนถึงกลุ่มเอกสารนอกระบบ (Apocrypha) อาทิ Life of Adam and Eve หรือเอกสารไญยนิยมอย่าง The Secret Revelation of John ความเชื่อของลัทธิคับบาลาห์ (Kabbalah) ไปจนถึงมหากาพย์ที่นำเหตุการณ์ในสวนเอเดนมาเล่าอย่างโลดโผนโจนทะยานอย่าง Paradise Lost (1667) ของ จอห์น มิลตัน (John Milton) รวมทั้งตำนานของอารยธรรมบ้านใกล้เรือนเคียงกับแหล่งกำเนิดพระคัมภีร์ อาทิ เมโสโปเตเมีย อียิปต์ และกรีก เป็นต้น
กำเนิดมนุษย์คนแรก
เป็นเรื่องถกเถียงกันมานมนานถึงการที่ใน ปฐมกาล มีเรื่องการสร้างมนุษย์ที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน คือในบทที่ 1 เป็นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกในเจ็ดวัน ซึ่งหลังจากที่สร้างฟ้า น้ำ แผ่นดิน พืช สัตว์ พระเจ้าก็สร้างมนุษย์ขึ้นมาในวันที่หก ซึ่งการสร้างทั้งปวงใช้วิธีการ ‘พูด’ คำออกมา ส่วนในบทที่ 2 เล่าเจาะจงเฉพาะการสร้างมนุษย์ โดยพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินแล้วพ่นลมหายใจเข้าไปเพื่อให้ชีวิต ซึ่งความแตกต่างของสองบทปฐมกาลนี้ก็ถูกผู้คนอ่านผ่านความเป็นไปได้หลาย ๆ แบบ ตั้งแต่ว่าบทที่สองคือการมองย้อนกลับเข้าไปสำรวจจำเพาะเหตุการณ์สร้างมนุษย์ในบทแรก ไปจนถึงการมองผ่านทฤษฎี Documentary Hypothesis (ซึ่งมองว่าพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าเกิดจากการรวมเอกสารจากต่างแหล่งเข้าไว้ด้วยกัน) ว่าบทที่หนึ่งกับสองมาจากต้นฉบับคนละชุดกันที่ถูกนำมารวมภายหลัง
ไม่ว่าจะอย่างไร เป็นที่น่าสนใจว่า การสร้างคนขึ้นมาจากดิน/โคลน นั้นก็พบในเรื่องเล่าและเอกสารโบราณของวัฒนธรรมบ้านใกล้เรือนเคียงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมโสโปเตเมีย (ในเรื่อง Atra-Hasis เทพีมามิ นำเอาดินมาผสมกับเลือดเนื้อของเทพที่ถูกสังหาร) อียิปต์ (เทพคนุม ปั้นคนจากดินด้วยเครื่องปั้นหม้อ) กรีก (เทพปั้นคนขึ้นมาจากดิน แล้วเทพีอาธีนาพ่นลมหายใจเข้าไป)
ความสัมพันธ์ระหว่างคนและดินนี้ สะท้อนออกมาในคำว่า ‘อาดัม’ (אָדָם) ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานกันมายาวนานว่า น่าจะสัมพันธ์กับคำว่า อาดามาห์ (אדמה) ที่แปลว่า ผืนดิน ความสัมพันธ์นี้ถูกเน้นย้ำชัดเจนในพระวจนะของพระเจ้าถึงจุดเริ่มต้นและจุดจบของอาดัม “เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้าจนเจ้ากลับไปเป็นดิน เพราะเจ้าถูกนำมาจากดิน และเพราะเจ้าเป็นผงคลีดิน และเจ้าจะกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม” (ปฐมกาล 3:19) นอกจากนี้ยังเป็นไปได้สูงมากว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาอาจจะเพื่อปลูกและดูแลสวน “เมื่อยังไม่มีต้นไม้ตามทุ่งบนแผ่นดิน และพืชตามทุ่งก็ยังไม่งอกขึ้นเลย เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้ายังไม่ได้ทรงให้ฝนตกบนแผ่นดิน ทั้งยังไม่มีมนุษย์เพาะปลูกบนดิน” (ปฐมกาล 2:5) และ “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปลูกสวนแห่งหนึ่งไว้ในเอเดนทางทิศตะวันออก และทรงกำหนดให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงปั้นอยู่ที่นั่น” (ปฐมกาล 2:8) ซึ่งการสร้างมนุษย์ให้มาดูแลเพาะปลูกเรือกสวนไร่นานี้ได้ปรากฏอยู่ในตำนานสร้างมนุษย์ของเมโสโปเตเมีย/บาบิโลนเช่นเดียวกัน (ดูเรื่อง Enuma Elish และ Atra-Hasis)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือคำว่า ‘อาดัม’ ที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงแรกของปฐมกาลนั้นเป็นคำที่มีความหมายรวม ๆ หมายถึง ‘มนุษย์’ จนเมื่อเข้าบทต่อมา ‘อาดัม’ จึงหมายถึงมนุษย์ผู้ชายคนที่พระเจ้าสร้างและก่อเรื่องผลไม้ต้องห้าม และเมื่อสุดท้ายเข้าปฐมกาล 5:1 “ต่อไปนี้เป็นหนังสือลำดับพงศ์พันธุ์ของอาดัม” อาดัมจึงกลายเป็นชื่อบุคคลอย่างเต็มตัว เช่นนั้นเอง เรื่อง ปฐมกาล 1:27 “พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ (Adam) ขึ้น และทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” จึงเปิดช่องว่างไปสู่การอ่านและการตีความอีกหลายแบบ
มนุษย์ถูกแบ่งร่าง
ในปฐมกาล 2:18 “พระยาห์เวห์พระเจ้าตรัสว่า ‘การที่ชายผู้นี้จะอยู่แต่ลำพังนั้นไม่ดี เราจะสร้างคู่อุปถัมภ์ที่เหมาะสมกับเขาขึ้น’” ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นการกำเนิดของอีฟ (สังเกตว่า นี่เป็นครั้งแรกที่พระเจ้าตรัสว่า ‘นั้นไม่ดี’ ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกอย่างที่พระเจ้าทรงสร้างนั้น ‘ดี’ ไปหมด) ใน 2:21-22 “แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าจึงทรงทำให้ชายนั้นหลับสนิท ขณะที่เขาหลับอยู่ พระองค์ทรงชักกระดูกซี่โครงซี่หนึ่งของเขาออกมา แล้วทำให้เนื้อติดกันเข้าแทนกระดูก ส่วนกระดูกซี่โครงที่พระยาห์เวห์พระเจ้าได้ทรงชักออกจากชายนั้น พระองค์ทรงสร้างให้เป็นหญิง แล้วทรงนำมาให้ชายนั้น” จากนั้นชายนั้นจึงกล่าวว่า “นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา เนื้อจากเนื้อของเรา จะเรียกคนนี้ว่าหญิง (isha) เพราะคนนี้ออกมาจากชาย (ish)” (คำว่า กระดูกชายโครง หรือ ribs ในที่นี้ ภาษาฮีบรู ‘tzeila’ แปลว่า ด้าน/ข้าง ซึ่งก็นำไปสู่การตีความต่าง ๆ ว่าทำไมต้องสร้างจาก ‘ข้าง’)
การ ‘ผ่าตัด’ (ดึงเนื้อและกระดูกออกมาแล้วปิดเนื้อกลับเข้าไป) ของพระเจ้านี้ถูกไปเปรียบเปรยกับตำนานสร้างมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Symposium ของเพลโตว่า เดิมทีมนุษย์มีสองร่างติดกัน (มีทั้ง ชาย-ชาย หญิง-หญิง ชาย-หญิง) ต่อมาโดนเทพเจ้าผ่าครึ่ง มนุษย์จึงมีสภาพกลายเป็นสิ่งไม่สมบูรณ์ และใช้ชีวิตในการตามหาอีกครึ่งที่หายไป ซึ่งการตีความมนุษย์คนแรกในปฐมกาลก็มีอยู่เรื่องราวหนึ่งที่ว่า มนุษย์นั้นแรกกำเนิดมีสองเพศ (hermaphrodite) ตามการอ่านประโยคใน 1:27 “พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” และการแบ่งหญิงออกมาจากมนุษย์คนแรก ทำให้เพศถูกแบ่งออกมา (ซึ่งการอ่านช่องว่างใน 1:27 ก็นำไปสู่เรื่องอีกว่ามนุษย์ชุดแรกในปฐมกาลบทแรกนั้นอาจจะมีหลายคนและมีทั้งชายและหญิง แต่พวกเขากระจัดกระจายอยู่บนผืนโลก ในขณะที่บทสองนั้นพูดถึงเฉพาะมนุษย์ผู้ชายคนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในสวนเอเดน)
อย่างไรก็ดี มนุษย์ผู้หญิงซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ชื่ออีฟ เนื่องจากอาดัมจะเป็นผู้ตั้งชื่อให้หลังออกจากสวนเอเดนแล้ว (อาดัมมีพลังอำนาจคล้ายคลึงกับพระเจ้าอย่างหนึ่ง คือมีอำนาจแห่งการเป็น ‘ผู้เรียกชื่อ’ หรือ Nomothete ดังเช่นที่เขาตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงเรียกมนุษย์ที่แยกออกมาจากเขาว่า ‘ผู้หญิง’) ก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าหวังให้มาเป็นผู้ช่วยเหลือมนุษย์ผู้ชาย ซึ่งชายเองก็ยอมรับว่าหญิงเป็นเนื้อเดียวกับเขา (1:23 “นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา เนื้อจากเนื้อของเรา” และ 1:24 “เพราะเหตุนั้นผู้ชายจะละจากบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน”) ซึ่งผู้หญิงคนนี้เองที่จะมีบทบาทสำคัญต่อชะตากรรมของมนุษยชาติ
อาดัมกินผลไม้ต้องห้าม
ณ กลางสวนนั้น มีต้นไม้อยู่สองต้นที่พระเจ้าสั่งห้ามอาดัมมิให้กินผลไม้จากต้นนั้น คือต้นไม้แห่งชีวิต และต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว แต่จนแล้วจนรอด เหตุการณ์มันก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้างูที่สามารถพูดภาษาคนได้มายั่วยุมนุษย์ผู้หญิงว่าให้กินผลไม้ แล้วบอกว่าไม่ต้องเชื่อพระเจ้าหรอกว่ากินแล้วเจ้าจะตาย เจ้าจะไม่ตายแน่ “เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า พวกเจ้ากินผลจากต้นไม้นั้นวันใด ตาของพวกเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น แล้วพวกเจ้าจะเป็นเหมือนอย่างพระเจ้า คือรู้ความดีและความชั่ว” (ปฐมกาล 3:5) แล้วผู้หญิงก็มอบผลไม้ให้ผู้ชายกิน ตาของทั้งสองจึงสว่างขึ้น และรู้สึกตัวว่ากำลังเปลือยกาย พวกเขาก็นำใบมะเดื่อมาปกปิดอวัยวะเพศ (ดั่งเป็นสัญลักษณ์ว่าแหล่งกำเนิดชีวิตบัดนี้ได้แปดเปื้อนบาปเสียแล้ว) ซึ่งเหตุการณ์นี้นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘การตกในบาป’ (The Fall of Man หรือสั้น ๆ ว่า The Fall) ที่มนุษย์สูญเสียสถานะความไร้เดียงสาและความบริสุทธิ์ไป
เหตุการณ์ The Fall นี้คือจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นอันสำคัญของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เรื่องราวภายในช่วงเหตุการณ์นี้ได้รับการวิเคราะห์และตีความออกมามากมายมหาศาล อาทิ เรื่องของงูว่างูตัวนี้เป็นใคร ซึ่งก็มีตั้งแต่การบอกว่าตัวตนที่แท้จริงของงูคือซาตาน ซึ่งมุมมองนี้น่าจะเกิดจากที่มีการเปรียบงูกับซาตานในพันธสัญญาใหม่ เช่น วิวรณ์ 12:9 “พญานาคใหญ่ตัวนั้นคืองูดึกดำบรรพ์ ที่เขาเรียกกันว่ามารและซาตานผู้ล่อลวงมนุษย์ทั้งโลก” ส่วนในเรื่องเล่านอกสารบบก็มีเล่าว่า ซาตานเข้าสิงงูมาล่อลวงผู้หญิง ส่วนถ้าดูอัลกุรอาน ผู้ล่อลวงให้กินผลไม้คือ ‘ชัยฏอน’ (شَيْطٰان) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ ‘ซาตาน’ (แต่ก็ต้องขออรรถาธิบายไว้หน่อยว่า คำว่าซาตานในช่วงแรกของพระคัมภีร์ดูจะมีความหมายถึงผู้เป็นปฏิปักษ์ จนเข้าช่วงต่อ ๆ มาของพระคัมภีร์ ซาตานจึงค่อยมีความหมายเจาะจงถึงเทพตกสวรรค์ผู้ชั่วร้าย)
ก่อนที่พระเจ้าจะไล่มนุษย์ทั้งสองออกไป พระเจ้าได้ตรัสว่า “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว โดยที่รู้ความดีและความชั่ว บัดนี้ อย่าปล่อยให้เขายื่นมือไปหยิบผลจากต้นไม้แห่งชีวิตมากินด้วย แล้วมีอายุยืนชั่วนิรันดร์”
เรื่องราวในตอน The Fall นี้ พบความคล้ายคลึงกันกับตำนานโบราณอื่น อาทิ มนุษย์ได้สูญเสียความเป็นอมตะ/โอกาสที่จะเป็นอมตะด้วยฝีมือของงูนั้นพบในมหากาพย์กิลกาเมช คือถูกงูขโมยพืชแห่งความอมตะไปหลังจากตามหามานานจนครอบครองไว้ได้ ส่วนความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ผู้หญิง (ปฐมกาล 3:6 “เมื่อหญิงนั้นเห็นว่าต้นไม้นั้นดีน่ากิน ทั้งเป็นต้นไม้น่าปรารถนาที่ทำให้เกิดปัญญา จึงเก็บผลไม้นั้นมากิน”) ก็เป็นเช่นเดียวกันกับการที่ แพนโดรา (Pandora) มนุษย์ผู้หญิงคนแรกในตำนานกรีก อยากรู้อยากเห็นจนเปิดกล่องต้องห้ามจนนำความตายและภัยพิบัติมาสู่โลก (เรื่องเล่าของแพนโดราอาจพบแตกต่างกันไปในต่างเวอร์ชัน)
จับแพะชนแกะวิเคราะห์อาดัมในมหาศึกฯ
จากที่สรุปเรื่องไปเบื้องต้น จะเห็นได้ว่ามีบางช่วงที่ภูมิหลังของอาดัมในมหาศึกฯ ดูพอจะเข้าเค้ากับต้นฉบับ แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ดูเลยไกลไปมาก ซึ่งเราจะมาจับแพะชนแกะ เอาช่องว่างและเรื่องเล่าจากเอกสารต่าง ๆ มาลองอธิบายดังต่อไปนี้
ขอเริ่มที่ท้ายเรื่องภูมิหลังอาดัมในมหาศึกฯ ในตอนก่อนออกจากสวรรค์นั้น อีฟถูกตัดสินอยู่ในสภาเทพที่มีเทพหลายองค์ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามองจากจักรวาลมหาศึกฯ การเห็นเทพต่างศาสนามารวมกันคงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากมองจากมุมมองพระเจ้าองค์เดียวของคริสต์ก็อาจจะดูประหลาดสำหรับบางคน ซึ่งในจุดนี้ เราจะมาพิจารณาประเด็นที่ว่า พระเจ้าใช้คำว่า ‘เรา’ ที่เป็นพหูพจน์บ่อยครั้ง (ปฐมกาล 1:26 “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา” หรือภาษาอังกฤษ “Let us make mankind in our image, in our likeness” และ 3:22 “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว”) คำถามคือ ‘เรา’ หรือ ‘พวกเรา’ นี้หมายถึงอะไร
ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐานอยู่ว่า ‘เรา’ นี้ก็คือบรรดา เทวดา (angel) ของพระเจ้านี่เอง ดังที่จะเห็นได้ว่าเทวดาต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทหลายครั้งในช่วงอื่นของพระคัมภีร์ ถ้าอ่านจากอัลกุรอาน เทวดา (มลาอิกะฮ์) ทั้งหลายได้มีบทบาทอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ตอนสร้างมนุษย์แล้ว ส่วนถ้าจะมองจากเอกสารฝั่งไญยนิยม ผู้สร้าง (demiurge) ก็เป็นเพียงหนึ่งในเทพอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว ใน Life of Adam and Eve เทวดาก็มีบทบาทอยู่มากมายในเรื่อง เช่นนั้นเอง ฉากสภาเทพจึงไม่ได้ไกลจากสิ่งที่บันทึกอยู่ในเอกสารศาสนาจากสมัยโบราณเหล่านี้เท่าใดนัก หรือถ้าจะมองในอีกแง่ เอกสารเหล่านี้ก็ได้มาช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับพหูพจน์ ‘เรา’ ที่ว่า (อันที่จริงหากอ่าน Paradise Lost ก็จะพบว่าเทวดามีบทบาทมากมายเหลือเกิน รวมทั้งมิลตันก็ได้เอ่ยชื่อเทวดาพร้อมอ้างชื่อเทพเจ้ากรีกโรมันอยู่เรื่อยไปในบทกวี ทำให้ฉากพิพากษาต่อหน้าหมู่มวลเทพจากหลากชาตินี้ดูไม่มีอะไรแปลกเลย)
ส่วนฉากเทพนาคาข่มขืนอีฟ ก็เป็นไปได้เช่นกัน ในหนังสือ Midrash Rabbah ซึ่งรวมบทตีความคัมภีร์นั้น มีข้ออธิบายว่า ซาตานต้องการให้อาดัมกินผลไม้แล้วตายเพื่อที่ตัวเองจะได้อีฟมาครอง (ก็คือต้องการตัวอีฟ) ส่วนใน The Secret Revelation of John นั้น เทพผู้สร้าง คือ ยัลดาบาออธ (Yaldabaoth) ซึ่งมีร่างเป็นงูหัวสิงโตนั้นข่มขืนอีฟได้สำเร็จ! ส่วนรูปร่างของเทพนาคาที่ดูยิ่งใหญ่กว่างูปกติ ถ้าไม่ใช่ว่าเทียบเคียงได้กับยัลดาบาออธแล้ว ก็อาจจะเป็น ซามาเอล (Samael) ที่ใน Midrash Rabbah บอกว่าเป็นปีศาจที่เป็นหัวหน้าของพวกงู หรือถ้าจะอ่าน วิวรณ์ 12:9 ก็อาจจะคือ ‘พญานาค’ (The Great Dragon)
ส่วนการที่อาดัมจงใจกินแอปเปิลเพื่อที่จะรับโทษไปพร้อมกับอีฟนั้น เป็นช่องว่างของเรื่องที่อยู่ในปฐมกาล 2:6 “จึงเก็บผลไม้นั้นมากิน แล้วส่งให้สามีที่อยู่กับเธอกินด้วย เขาก็กิน” เราไม่รู้เลยว่าอาดัมกินผลไม้ด้วยเหตุผลหรือจุดประสงค์อะไร อาจจะกินเพราะโดนหลอก หรืออาจจะรู้อยู่แล้วเต็มอก ตรงนี้เองที่ทำให้ จอห์น มิลตัน เล่าในมหากาพย์ Paradise Lost ว่า อาดัมรู้ว่าอีฟได้ตกในบาปแล้ว เขาจึงกินผลไม้เพื่อร่วมชะตากรรมไปพร้อมกับอีฟด้วย ซึ่งในมหาศึกฯ ก็สื่อความในใจของอาดัมคล้ายลักษณะนี้
ส่วนด้านพลังของอาดัมนั้น แน่นอนว่า ‘เนตรเทพลักษณ์’ นั้นน่าจะมาจากการที่เขากินผลไม้ต้องห้ามลงไป (ปฐมกาล 3:7 “ตาของเขาทั้งสองคนก็สว่างขึ้น”) และพลังที่สามารถสู้ทัดเทียมเทพนั้นก็น่าจะมาจากการกินผลไม้เช่นเดียวกัน (3:22 “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว”) หรือในทางไญยนิยมนั้นบอกว่า อาดัมเป็นผู้มีความรู้และพลังอันยิ่งใหญ่ ส่วนเรื่องพลังการเลียนแบบนั้น นอกจากเรื่องการถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้าแล้ว (ซึ่งก็มีประเด็นให้ขยายความอีกว่า ความเป็น Image of God หรือภาษาละติน Imago Dei นั้น เป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในวิญญาณ หาใช่ร่างกาย เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้ามิได้ดำรงอยู่ในรูปวัตถุ สภาพการถูกสร้างตามฉายาพระเจ้าไม่ควรจะหมายถึงรูปลักษณ์ภายนอกของมนุษย์) ในมุมของคับบาลาห์ และนักปราชญ์ไฟโล (Philo) นั้นบอกว่ามีอาดัมที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในมิติเทพ อาดัมที่อยู่บนโลกเป็นอีกร่างแยกออกมา (คล้ายทฤษฎีโลกของแบบ ของเพลโต) ส่วนทางไญยนิยมนั้น ยัลดาบาออธสร้างอาดัมบนพื้นโลกเลียนแบบอาดัมในมิติสวรรค์
จับมือกันออกจากสวรรค์
การออกจากสวนแห่งเอเดนนั้น ถูกตีความในหลายแง่มุม บ้างก็บอกว่า มันคือสัญลักษณ์ของการสูญเสียความไร้เดียงสาแบบวัยเด็กก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ (แต่เป็นการเติบโตที่ไม่ดีในสายตาของพ่อแม่สายบังคับ เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามทางที่พ่อแม่วางไว้ให้) ส่วนมุมมองจิตวิเคราะห์ก็บอกว่าคือกระบวนการกลายเป็นปัจเจก (individuation) หรือการตีความโดยอิงมุมมองจาก Wisdom of Solomon ก็ว่าพระเจ้าให้มนุษย์ทั้งสองออกจากสวนเอเดนเพื่อช่วยเหลือไม่ให้โดนพวกปิศาจซาตานมาทำร้ายและใช้เป็นเครื่องมือ ไปจนถึงการตีความสัญลักษณ์ถึงจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่าการออกจากแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ไปออกแรงออกเหงื่อเพื่ออาหารนั้นเป็นเรื่องราวสื่อถึงการปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution)
ในทันทีที่ทั้งสองเดินออกจากสวนแห่งเอเดน การแตกออกเป็นสอง ก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด และเป็นสัญญาณจุดเริ่มต้นครั้งใหม่และครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ หากสังเกตดูตั้งแต่กำเนิดโลก จะพบว่าการสร้างโลกและมนุษย์คือการแบ่งหนึ่งออกเป็นสอง คือการแตกเวลาออกจากนิรันดร์กาล แยกฟ้ากับแผ่นดิน แสงสว่างกับความมืด ฟ้ากับน้ำ แผ่นดินกับทะเล ผู้ชายกับผู้หญิง ในการสร้างมนุษย์ก็คือการใส่วิญญาณเข้าไปในสสาร และในเมื่อมนุษย์กินผลไม้ต้องห้าม พวกเขาก็รู้ดีและรู้ชั่ว เผชิญกับความเป็นและความตาย และเมื่อก้าวออกจากสวน พระเจ้าก็ทรงตั้งเครูบ (Cherubim) กับดาบเพลิงเพื่อปกป้องทางกลับเข้าสู่เอเดน เมื่อนั้นโลกมนุษย์และโลกพระเจ้าก็แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
ใน Paradise Lost เทวดามิคาเอลได้บอกอาดัมว่า “ออกจากสวรรค์นี้ แต่ครองอีกสวรรค์ภายในตัว มีสุขมากมายกว่าหลายเท่านัก” จึงเป็นการตอกย้ำการแบ่งสอง ละทิ้งโลกภายนอกและกลับเข้าหาโลกภายใน ส่วนในมหาศึกคนชนเทพ อาดัมกับอีฟจูงมือกันกลับคืนสู่ความเป็นหนึ่ง ลืมความเป็นหนึ่งของดินแดนเก่า เดินออกจากสวรรค์อย่างมั่นอกมั่นใจ ออกไปเริ่มต้นหนึ่งกับความเป็นหนึ่งอันใหม่ “เราจะออกไปสร้างสวรรค์แห่งใหม่ด้วยกัน”
และก็เป็นสวรรค์แห่งใหม่นี้ ที่ต่อมาคลี่คลายและแตกแยกออกไปจนความเป็นหนึ่งกลายเป็นเพียงตำนานให้ลูกหลานเรียนรู้และลืมเลือนจนสร้างความบัดสีและฉิบหายให้กับโลก จนกระทั่งบรรดาเทพเจ้าต้องการล้างโลก (เช่นเดียวกับในตำนานน้ำท่วมโลกต่าง ๆ ในหลายบันทึกโบราณ)
แต่คราวนี้ อาดัมผู้เป็นปฐมบิดานั้นรักลูกหลานเหลือเกิน จนต้องสู้กับเทพเจ้าจนถึงวาระสุดท้ายของสุดท้าย จนการแตกเป็นสองของตัวเองสลายหายไป
ไม่เหลือแม้เพียงหนึ่ง
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม
อรรถาธิบายพระคัมภีร์ โทราห์ และปกรณัมคติของยิว
Ariel’s Bible Commentary: The Book of Genesis ของ Arnold G. Fruchtenbaum
Asimov’s Guide to Bible ของ Isaac Asimov
Midrash Rabbah แปลโดย H. Freedman และ Maurice Simon
The Oxford’s Bible Commentary
Trees of Soul: The Mythology of Judaism
ว่าด้วยเอกสารนอกระบบและลัทธิความเชื่อต่าง ๆ
The Essence of Kabbalah ของ Brian L. Lancaster
The Kabbalistic Tradition โดย Alan Unterman
The Secret Revelation to John ของ Karen L. King
A Synopsis of the Books of Adam and Eve โดย Gary A. Anderson และ Michael E. Stone
หนังสือที่ศึกษาเรื่องปฐมกาล
The Book of Genesis: A Biography ของ Ronald Hendel
The Evolutions of Adam: What the Bible Does and Doesn’t Say about Human Origins ของ Peter Enns
The Lost World of Adam and Eve ของ John H. Walton
Out of Paradise: Eve and Adam and their Interpreters โดย Bob Becking และ Susanne Hennecke
ศาสนาและตำนานเปรียบเทียบ
The Hero with a Thousand Faces และ Thou Art That และ The Power of Myths ของ Joseph Campbell
Jung on Christianity โดย Murray Stein
ตำนานสร้างมนุษย์ในอารยธรรมโบราณ
Creation Myths of the World: An Encyclopedia ของ David Adams Leeming
Myths from Mesopotamia แปลโดย Stephanie Dalley
Theogony และ Works and Days ของ Hesiod แปลโดย M.L.West
เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์
ภาพ:
https://www.youtube.com/watch?v=pYgrhU93lJg
The Creation of Adam, 1508 - 1512 - Michelangelo - WikiArt.org
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3573
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6981
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
892
แท็กที่เกี่ยวข้อง
History
Netflix
The People
Record Of Ragnarok
มหาศึกคนชนเทพ
อาดัม