read
interview
13 ก.ค. 2564 | 17:09 น.
‘4MIX’ จากจุดเริ่มต้นเป็นเด็กคัฟเวอร์สู่เส้นทางชีวิตศิลปินหน้าใหม่ ‘วงไอดอลผู้นิยามตัวเองว่าเป็น LGBTQ แบนด์’
Play
Loading...
จากสมาชิกทีมเต้นคัฟเวอร์สู่การรวมตัวเป็นวง ‘4MIX’ วงไอดอล T-pop หน้าใหม่ที่จะเฉิดฉายไปกับภาพลักษณ์ LGBTQ แบนด์ พร้อมจะทลายกำแพงทางภาษาพาวงการเพลงไทยไปสู่ตลาดเพลงโลก
“เพลงที่เราเคยฟัง จริง ๆ บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าภาษาต่าง ๆ เขาร้องออกมาหรือว่ามันเป็นยังไง จอร์จว่าเพลงมันเหมือนทลายกำแพงของภาษาของเราออกไป”
ประโยคข้างต้นคือคำพูดของหนึ่งในสมาชิกวง 4MIX ที่ได้แสดงออกถึงความเชื่อมั่นว่าสามารถพาเพลงไทยไปเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ฟัง เดิมสมาชิกแต่ละคนมีพื้นเพมาจากการเป็นสมาชิกทีมเต้นคัฟเวอร์ ทุกคนต่างเดินทางตามหาความฝันที่อยากจะเป็นศิลปิน กล้าที่จะเผชิญและต่อสู้จนปลดล็อกตัวตน
ในที่สุดทั้งนินจา, โฟล์คซอง, แมกก้า และจอร์จ ก็ถึงจุดหมายปลายทางที่ทุกคนตามหา นั่นก็คือการได้เดบิวต์เป็นสมาชิกวง 4MIX วง LGBTQ แบนด์ที่มีทั้งความสามารถและความหลากหลาย ถึงแม้ว่าระหว่างการเดินทางเพื่อออกตามล่าหาความฝันจะมีอุปสรรคคอยขัดขวาง แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อและพยายามต่อจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่พวกเขาเฝ้ารอ
กว่าจะเป็น 4MIX เจ้าของผลงานเพลง ‘Y U COMEBACK’ และ ‘คิดผิด’ นั้นไม่ง่ายเลย พวกเขาทั้ง 4 คนต้องพบเจอกับอะไรบ้างนั้น บทสัมภาษณ์นี้จะพาผู้อ่านร่วมเดินทางไปกับพวกเขาพร้อมบอกเล่าเรื่องราวทัศนคติที่น่าสนใจของทั้ง 4 คนไปด้วยกัน
The People: อยากให้เล่าที่มาของชื่อวง 4MIX
นินจา: วง 4MIX เหมือนเป็น 4 คนมารวมกัน แต่ที่มาของชื่อนี้คือ จริง ๆ ตอนที่เรามาอยู่รวมกัน ชื่อ 4MIX เหมือนเป็นนามสมมติที่ผู้ใหญ่เรียกว่า เอ้อ เนี่ย 4 คน ก็เรียก 4MIX ไปก่อนแล้วกัน ไม่ได้จะเอาชื่อนี้ แต่สุดท้ายก็ให้ไปคิดมา จนเราก็คิดมาเป็นร้อยเป็นพันชื่อเลย สุดท้ายก็ไม่โดนสักที แต่ว่าในขณะนั้นเราก็มีเทรนร้องเทรนเต้นไป คุณครู ผู้ใหญ่ที่ค่ายก็เรียกว่า 4MIX ๆ สุดท้ายก็แบบ เอ๊ะ! ทำไมมันชินหูวะ
จอร์จ: ติดปากไปแล้ว
นินจา: ก็เลยแบบงั้นก็ 4MIX ไปเลยแล้วกัน
The People: สมาชิกแต่ละคนมารวมตัวกัน อยู่ในค่ายเดียวกันได้อย่างไร
แมกก้า: ตอนแรกมีผมครับ มีแมกก้า นินจา แล้วก็โฟลค์ซองนะครับ อยู่ทีมเต้นกันมาก่อนแล้วทางค่ายข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ทักมาทีมเต้นของเรา เขาก็แบบสนใจมาออดิชันไหม มีใครสนใจอยากเป็นนักร้องไหม ผมก็เลยหาคนที่ชอบร้องเพลงดู อยู่เป็นเพื่อนกันก็เลยรู้กันครับ เลยนัดคนที่ชอบร้องเพลงมาแล้วก็ไปออดิชันที่ค่ายข้าวสาร แล้วก็ได้เป็น 4MIX ครับ
The People: จอร์จเข้ามาเป็นสมาชิกคนสุดท้าย ในวงมีการปรับตัวเข้ากันอย่างไรบ้าง
จอร์จ: เอาจริง ๆ ก็คือทั้ง 3 คนนี้ค่อนข้างที่จะเปิดรับจอร์จมากๆ ค่อนข้างที่จะเปิดใจรับแล้วก็ที่สนิทกันได้ด้วยก็เพราะว่าช่วงอายุเราไม่ได้ห่างกันมากครับ บวกกับว่าจอร์จเป็นคนที่ชอบเล่นเกม โฟล์คซองเป็นคนที่เปิดหัวมาก่อนเลย จอร์จเล่นเกมนี้หรือเปล่า จอร์จสนใจเล่นเกมกับเราหรือเปล่า อะไรแบบนี้ครับ
นินจา: เจอกันวันแรกก็ชวนเล่นเกมเลยครับ
จอร์จ: ใช่ครับ วันแรกตอนที่เจอกันก็คือคุยถูกคอเลยครับเหมือนกับว่าทัศนคติแล้วก็ความชอบค่อนข้างที่จะตรงกันมาก ๆ ครับ
The People: ทราบว่าหลังจากเข้ารับการฝึกที่ค่าย KS GANG แล้ว มีสมาชิกถอนตัว 4MIX ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างไร
นินจา: ช่วงนั้นก็ค่อนข้างลำบากมากเลยครับ คือก่อนหน้านั้นเราโดนเลื่อนเดบิวต์มาประมาณ 3 รอบแล้วครับ ทั้งเจอโควิด-19 เจอปัญหาข้างใน สุดท้ายก็มีสมาชิกจะออก ตอนนั้นเราก็คิดว่าเราจะเอาอย่างไรกันต่อดี ทางค่ายก็คิดว่าจะไปต่อไหม จะ 3 คนหรือจะหาคนมาเพิ่ม ตอนนั้นคือแน่นอนว่ามันมีปัญหากันเรื่องการทำงานแต่ว่าบนเวที 4 คนสมาชิกเดิมอะครับ ทุกคนจะพูดเลยว่าเพอร์เฟกต์มาก ทั้งการร้องการเล่นการแร็ป แต่สุดท้ายมันก็ต้องมูฟออนออกไป
เราก็คิดนะว่าจะหาใครสุดท้าย ก็พยายามติดต่อทุกช่องทางเลยครับ หากันเองบ้าง ผู้ใหญ่ช่วยหาบ้าง หาตามรายการทีวีที่เขาหาบอยแบนด์ ก็ไปดูว่า เอ้ย! คนนี้เขาไม่เข้ารอบ แต่เขาร้องดีนะ ก็ลองทักไอจีไปว่าสนใจไหม กว่าจะผ่านมาได้ก็ยากเหมือนกันครับ เพราะว่ามันต้องหาคาแรคเตอร์ที่เราเป็น 4MIX มันต้องมีคาแรคเตอร์ที่ไม่ซ้ำกัน แล้วก็มาเติมตรงที่ขาดไปของ 3 คนนี้
The People: สมาชิกแต่ละคนมีความสนใจทางด้านดนตรี ศิลปะ หรือเริ่มอยากเป็นศิลปินได้อย่างไร
นินจา: พูดบ้าง
โฟล์คซอง: โฟล์คก่อนนะครับ ก็สนใจที่จะเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็กเลย แต่ว่ามันควบคู่มากับการอยากเป็นนักฟุตบอลด้วยครับ เลยไม่ได้ที่จะมาทางนี้เลย แต่ว่าไปเล่นฟุตบอลก่อนครับ จนกระทั่ง ม.ปลายถือว่าเริ่มมาทางนี้ ก็เลยได้มาเป็นศิลปินทุกวันนี้ครับ
แมกก้า: ตอนแรกผมก็ชอบฟุตบอลมาก ๆ ครับ แต่ว่าเหมือนที่บ้านก็ชอบดนตรีด้วย ก็จะซื้อลำโพงใหญ่ ๆ ซื้อคีย์บอร์ด ซื้อคาราโอเกะมาร้องเล่นกัน เหมือนน่าจะซึมซับจากผมนี่แหละ จนเตะบอลอยู่อะคาเดมีได้สักพักหนึ่งก็รู้สึกว่าชอบร้องเพลง ร้องตลอดเวลาครับจนเพื่อนแซว ก็เลยรู้สึกว่า เห้ย! เหมือนเราจะมาทางนี้ว่ะ
นินจา: เพื่อนแซวว่าอะไรนะ
แมกก้า: จัสติน บีเบอร์ นั่นแหละครับ ผมก็เลยออกจากอะคาเดมีมา ช่วงประมาณ ม.3 แล้วก็ย้ายมาที่กรุงเทพฯ ก็ประกวดร้องเพลง แล้วก็มาเป็นนักร้องโรงเรียน เล่นดนตรีอะไรไปครับ แล้วก็ในกรุงเทพฯ K-pop จะดังครับช่วงนั้น ก็เลยเห็นว่า เห้ย! เต้นแล้วทำไมเขาดูมีออร่าจังเลยลองเต้นดู เต้นที่บ้านครับ จนมีทีมคัฟเวอร์ทักมาเลยลองไปออดิชันแล้วก็ได้อยู่ทีมคัฟเวอร์แล้วก็ได้เจอทุกคนที่น่ารักครับ
จอร์จ: ถ้าเป็นของจอร์จเหรอครับ จอร์จเริ่มจากเด็กที่ไม่มีอะไรเลย ค่อนข้างที่จะขี้อายในระดับหนึ่ง แต่ว่าพอเหมือนเราโตขึ้นเราซึมซับจาก K-pop เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนเต้น เรารู้สึกว่ามันก็ดูมีเสน่ห์ดีครับ จอร์จก็เลยลองเริ่มเต้น หลังจากนั้นพอจอร์จเริ่มเต้น K-pop ได้สักพักหนึ่ง จอร์จรู้สึกว่ามันถึงทางตัน จอร์จก็เลยเปลี่ยนแนวไปเป็น Hip-Hop ไปเป็น Street Dance ก็ไปเจอทางใหม่ ๆ ที่ตัวเองรู้สึกว่ามันแข็งแรงขึ้น
แล้วก็เริ่มสนใจการเป็นศิลปินตั้งแต่ตอนที่เริ่มเต้น K-pop เลยครับ จอร์จเพิ่งเห็นว่า อ้าว! เราเต้นแล้วมันสามารถไปออดิชันได้ด้วยที่อยากจะเป็นศิลปิน ก็เลยลองส่งออดิชันตั้งแต่ตอนที่เริ่มเต้นเลยครับ ก็พยายามมาเรื่อย ๆ จนได้มาอยู่กับพี่ ๆ 4MIX ครับ
นินจา: ตั้งแต่เด็กจนโต นินไม่เคยมีความฝันอื่นเลยนะครับ เวลาพ่อแม่ถาม คุณครูถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ไม่เคยมีหมอ พยาบาล ตำรวจ นินบอกว่าอยากเป็นศิลปิน แต่ตอนนั้นยังไม่เรียกว่าศิลปิน เรียกว่าอยากเป็นดารา อยากอยู่ในทีวี อยากเป็นดารา ชอบร้อง ชอบเต้น พ่อแม่ก็สนับสนุนมาตลอด คือนินโตที่ต่างจังหวัด แบบโคตร ๆ ต่างจังหวัดเลยครับ ชนบทอะไรแบบนี้ มันก็เลยไม่ค่อยมีโอกาสเข้ามา
แต่ตั้งแต่เด็กจนโต ทุกครั้งเวลาที่มีประกวดอะไรพ่อกับแม่ก็จะพาไปประกวดตลอด ทั้งเต้นทั้งร้องเพลง พวกล่าฝัน สมัยก่อนเขาจะเอา 15 ขึ้นไป ตอน 13 ก็ร้องไห้แล้วอยากไปประกวด แต่อายุยังไม่ถึง พอไปประกวดก็ประกวดมาเรื่อย ๆ ก็มีตกรอบบ้าง เข้ารอบบ้างแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที จนเหมือนชอบทางด้านเต้นด้วยก็เลยพัฒนาทางด้านเต้นมาเรื่อยๆ มาเต้นคัฟเวอร์ มาเป็นแบ็กอัปศิลปิน แต่ในขณะที่ทำพวกนี้ก็ออดิชันอยู่เรื่อย ๆ เวลามีออดิชันอะไรก็ออดิชันเรื่อย ๆ จนสุดท้ายมาลงที่ตรงนี้ครับ
The People: แล้วตอนที่เป็นศิลปินฝึกหัดมีช่วงเวลาที่ยากลำบากไหม แล้วผ่านมาได้อย่างไร
โฟล์คซอง: มีเยอะมากเลยครับ แต่ว่าก็ตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน ก็คือซ้อมกันแบบว่า
จอร์จ: ซ้อมกันค่อนข้างที่จะหนักหน่วง
โฟล์คซอง: ค่อนข้างที่จะหนักเลย ใช่ครับ แล้วก็ยิ่งมีโควิด-19 อีก ก็ต้องทำให้ต้องใส่แมสก์เต้นอะไรแบบนี้ ร้องเพลงใส่แมสก์ เวลาเต้นก็คือแมสก์พรึ่บ ๆ อะไรแบบนี้ครับ
แมกก้า: แมสก์เข้าไปในปาก
นินจา: ใช่ครับ
โฟล์คซอง: ก็เลยลำบากมากครับ
นินจา: แล้วก็เหมือนเรามีแพสชันที่ต้องแรงมาก เป้าหมายเราต้องเหมือนกันว่าเราซ้อมเพื่ออะไร เรารอวันที่เราจะเป็นศิลปิน เรารอวันที่จะไปอยู่ตรงไหน เราต้องมานั่งคุยกันให้มันเป็นความคิดเดียวกันก่อน เพราะฉะนั้นพอเรามีเป้าหมายเดียวกันปุ๊บ พอมันเจอปัญหาหรือเจออะไร มันก็ชิลครับ แบบว่ามันไม่ได้ชิลตอนนั้นนะ แต่หมายถึงว่ามันไม่ได้เก็บมาคิด หรือเก็บมาเครียดจนขนาดนั้น เราก็พยายามหาทางออกไปได้ด้วยกัน
The People: ทุกคนร้องเพลงเพราะกันหมด แล้วสมาชิกแต่ละคนมีความถนัดเฉพาะด้านไหม
แมกก้า: ความถนัด
นินจา: ยกเว้นนอกจากเต้นกับร้องใช่ไหมครับ
แมกก้า: อ๋อ นอกจากเต้นกับร้องใช่ไหมครับ ก็เตะบอลครับ เล่นกีฬา แล้วก็เล่นดนตรีเบสิคทั่ว ๆ ไปครับ
จอร์จ: ความถนัดเหรอครับ หมายถึงว่าสิ่งที่ชอบเป็นงานอดิเรกหรือ?
The People: หมายถึงอาจจะเป็นถนัดแร็ปมาก ๆ ถนัดเต้นมาก ๆ อะไรแบบนี้
ทุกคน: อ๋อ...
จอร์จ: ถ้าเป็นของจอร์จจะชอบเต้นมาก ๆ ครับ จะถนัดเต้นมาก ๆ
แมกก้า: ของผมเอาใหม่แล้วกัน ผมก็ถนัดทุก ๆ อย่างเท่า ๆ กันครับ
จอร์จ: เป็นคนบาลานซ์ดี แต่ทำได้ไม่ดีนัก (หัวเราะ)
แมกก้า: แต่ว่าก็ทำได้ดี แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดครับทุก ๆ อย่าง แต่ก็พยายามจะทำให้ดีที่สุดครับ
จอร์จ: พี่นินจาล่ะ
นินจา: นินเหรอครับ นินก็ชอบทั้งร้องเพลงทั้งเต้นเลยครับ ทั้งสองอย่างเลย แต่ว่าเต้นอาจจะเคยทำงานมาบ้าง ประสบการณ์เยอะ แต่ก็ชอบทั้งสองอย่างเลยครับ
โฟล์คซอง: ส่วนโฟล์คก็ถนัดร้องเพลงมากกว่า แต่เต้นก็ถนัดนะครับ แต่ว่าร้องเพลงก็จะมากกว่า ใช่, เพราะร้องเพลงตั้งแต่เด็กเลย
นินจา: เขาร้องทุกเวลาเลยครับ (หัวเราะ)
The People: ทำไมนิยามวง 4MIX ว่าเป็นวง LGBTQ แบนด์
นินจา: น่าจะเพราะว่าพวกเรามีแฟชั่นแล้วก็สไตล์วงที่ค่อนข้าง Unisex ครับ บวกกับมีเมมเบอร์อย่างนินจาที่เป็น LGBTQ ที่เปิดตัวแล้วก็วางคาแรคเตอร์ไว้แบบนี้ ก็เลยนิยามว่าวงเราคือวง LGBTQ แบนด์ครับ
The People: คิดว่า LGBTQ ในประเทศไทยถูกยอมรับมากขึ้นไหม
จอร์จ: จอร์จว่าก็ค่อนข้างที่จะยอมรับมากในระดับหนึ่งครับ แต่ว่าอาจจะยังเป็นแค่เฉพาะกลุ่มอยู่ แต่ว่าจอร์จก็เห็นทุกคนที่ยอมรับก็ค่อนข้างมี เขาเรียกว่าอะไรนะ มีความคิด มีทัศนะที่ดีต่อ LGBTQ มาก ๆ เลยนะครับ
นินจา: ใช่ครับ เหมือนทุกวันนี้แบบโลกมันเปิดมากขึ้น ทุกอย่างมันมีสองฝั่งอยู่แล้ว มันมีทั้งคนที่ยอมรับและก็ไม่ยอมรับ แต่สำหรับตัวนินที่มาอยู่ตรงนี้แล้วได้มองจากตรงที่เห็นคอมเมนต์หรือเห็นที่คนมองเราเข้ามา เราเริ่มรู้สึกว่าจากตอนเด็ก ๆ ที่เราพยายามตามความฝันมาจนถึงตอนนี้ เรารู้สึกว่าคนเริ่มเปิดรับ LGBTQ กันมากขึ้นครับ
เหมือนที่เขาเห็นนินจา นินก็เครียดอยู่นะว่าสังคมจะเปิดรับไหม คนจะเปิดรับไหม แต่พอมาเจอกับตัวเองมันก็รู้สึกว่า เห้ย! แบบโลกวันนี้ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป แต่ก่อนนินประกวดร้องเพลง นินไม่กล้าแม้แต่จะอะไรแบบนี้เลยนะ คือต้องแบบสวัสดีครับ นินจาครับ แต่ตอนนี้คือนินเป็นนินจาแล้ว ทุกคนก็เอาอีก ๆ มันก็เลยค่อนข้างเปิดกว้างนะครับ แต่ก็ต้องเปิดกว้างมากกว่านี้เพื่อให้ทุกคนได้โชว์ความสามารถแล้วก็เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ครับ
The People: เหมือนนินจาเล่าช่วงที่ไปประกวดตอนแรกอาจจะไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นอะไร แล้วนินจาข้ามผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร
นินจา: นินจะบอกว่ามันยากมากเลยครับ เพราะว่าตั้งแต่เด็กเราไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวออกมาเลย ไม่ต้องนับถึงการประกวดเลยครับ แม้กระทั่งการเต้นคัฟเวอร์ที่เคยเต้นกันมา ตอนแรก ๆ นินก็ไม่กล้าเต้นเพลงผู้หญิงเลย ต้องเต้นแบบผู้ชายเท่านั้น บอยแบนด์เท่านั้น
แต่สุดท้ายถ้าสำหรับตัวนินสิ่งที่ปลดล็อก อันนี้ส่วนตัวนะ สิ่งที่ปลดล็อกจริง ๆ เลยคือลองเต้นคัฟเวอร์ผู้หญิงดูครั้งหนึ่ง แล้วทีนี้พอลงคลิป คลิปนั้นคนดูเกือบล้านวิว แล้วคนก็เข้ามาเมนต์ว่าชอบมากเลย ชอบจริต ชอบอินเนอร์มากเลย เราก็รู้สึกว่าแบบ เฮ้ย! คนชอบทั้งที่จริง ๆ อินเนอร์และจริตแบบนั้นมันอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่แรกแล้ว แต่เราเหมือนพยายามกดมันไว้ เพราะเราคิดว่าสังคมไม่ยอมรับ สังคมไม่ชอบ เปิดไปคนต้องไม่ชอบแน่ ๆ
แต่พอตรงนั้นมันคลายล็อกเรา มันก็เลยทำให้เราอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ลองแต่งตัว ใส่ชุดที่คนส่วนมากเรียกว่าชุดผู้หญิงดูมั้ย กระแสตอบรับก็ดี อะไรก็ดี พอตัวเรามันปลดล็อกอะครับ มันก็ผ่านทุกอย่างมาได้เลย อยากบอกทุกคนว่าจริง ๆ มันไม่ได้เริ่มที่คนรอบตัวเลยว่าฉันยอมรับเธอนะ แม่ยอมรับลูกนะลูก นินว่าอันนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะโอบอุ้มเราไว้ แต่สิ่งที่ทำให้มาถึงทุกวันนี้ได้แล้วก็ปลดล็อกจริง ๆ คืออยู่ที่ mindset แล้วก็ตัวเราเลย ถ้าเรายอมรับตัวเองแล้วกล้าที่จะทำ มันแบบ full แล้วอะ ถ้าเรายอมรับตัวเองทุกอย่างคือจบ
The People: เวลามอง 4MIX ก็จะเห็นสีสันที่มีความแตกต่างกันออกไป นอกจากเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศก็ยังมีความแตกต่างในด้านอื่นด้วย แล้ว 4MIX มีมุมมองเรื่องความแตกต่าง ความหลากหลาย อย่างไรบ้าง เรายอมรับในตัวตนของกันและกันทั้งสมาชิกในวงและคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเราอย่างไร
นินจา: หมายถึงเรื่อง เขาเรียกว่าอะไรนะ ความหลากหลายทางเพศอย่างนี้ใช่ไหมครับ
The People: ทั้งความหลากหลายทางเพศแล้วก็ความหลากหลายประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น เพื่อนอาจจะชอบไม่เหมือนเราหรือคิดไม่เหมือนเรา เรายอมรับหรือจัดการตรงส่วนนั้นอย่างไร
นินจา: ก็อย่างที่บอกไปตอนแรกครับคือการที่เราจะมาอยู่ด้วยกันเราต้องมีเป้าหมายเดียวกัน แล้วก็มี mindset ที่ไปในทางเดียวกันว่าเราต้องการอะไร เราจะทำอะไรต่อไป แต่พอเวลามันเกิดปัญหาจริง ๆ เราต้องมานั่งคุยกันครับว่าเราจะหาทางออกอย่างไร เดินหน้าต่อไปอย่างไร แล้วก็บวกกับความหลากหลายที่มาอยู่ด้วยกันคือทุกอย่างมันต้องอยู่ที่เปิดใจ เราต้องคุยกันว่า ต้องการอะไร เธอจะเอาอะไร ฉันจะเอาอะไร
จอร์จ: ด้วยหลักเหตุและผล
นินจา: ใช่, ทุกอย่างต้องอยู่ด้วยหลักเหตุและผล นินจะพูดตลอดเลยกับน้องว่า เวลาคุยกัน คุยกันด้วยเหตุผลนะ เพราะมันจบ มันมีเหตุมันมีผล แต่ถ้าอารมณ์มันไม่จบ มันแบบอย่างนี้มันก็ไม่จบสักที ถ้าเรามีเหตุมีผล ถ้าคนนี้เหตุผลไม่พอก็ต้องยอมคนที่เหตุผลเยอะกว่า เพราะว่ามันมีหลักของมันอยู่แล้วครับ
The People: คิดว่าแฟชั่นมีข้อจำกัดทางเพศไหม
แมกก้า: สำหรับผมคิดว่าเสื้อผ้าก็คือเสื้อผ้าครับ มันไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เพราะถ้าชอบอะไรก็ใส่ไปเลยครับที่มันไม่อนาจารมากเกินไป แล้วก็ยังไม่โป๊เปลือย ไม่เบียดเบียนคนอื่นครับ
นินจา: เหมือนให้มันตรงตามแบบบริบทแล้วก็กาลเทศะมากกว่า เพราะผมคิดว่าเสื้อผ้าคือแบบ เสื้อมันก็คือเสื้อเนอะ มันก็มีแขนมีอะไรเหมือนกันหมด กางเกงมันก็มีขาอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้มีใครมาบอกว่าอันนี้คือเสื้อผู้หญิงหรือเสื้อผู้ชาย มันเหมือนเรามากำหนดกรอบกันเอาเองครับ
คือบางคนอาจจะเห็นว่าเสื้อตัวนี้สวยจังเลยอะ แต่แบบเห้ย! มันเป็นเสื้อผู้หญิงนะ ทำอย่างไรดี นินอยากให้ลบไปเลย ไม่ต้องไปคิดตรงนั้น แค่สวยแค่ชอบก็ใส่ไปเลย ไม่มีใครว่าอะไร แค่เรามั่นใจ แค่เราไม่ได้ใส่สายเดี่ยวไปวัด ก็ไม่มีอะไรผิดครับ ก็แค่ถูกต้องตามกาลเทศะ แล้วก็ตามที่เราชอบก็พอแล้วครับ
The People: มีมุมมองต่อกระแส T-pop ในอนาคตว่าอย่างไร
จอร์จ: จอร์จคิดว่าอยากให้ T-pop โกอินเตอร์มาก ๆ เลยครับ คือเพลงหลาย ๆ เพลงที่เราเคยฟัง จริง ๆ บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าภาษาต่าง ๆ เขาร้องออกมาหรือว่ามันเป็นอย่างไร จอร์จว่าเพลงมันเหมือนทลายกำแพงของภาษาของเราออกไป อยากให้ทุกคนได้ฟังเพลงไทยบ้างครับ เพลงไทยก็มีเอกลักษณ์นะครับ T-pop เราค่อนข้างที่จะโกอินเตอร์ได้ พี่นินจาอยากเสริมอะไรไหม
นินจา: ก็นั่นแหละครับ อยากให้แบบไปให้ได้ไกล ๆ กว่านี้ ทั้งคนในประเทศเอง บางคนอาจจะมองว่า T-pop อะไรอะ บางคนนะครับที่เขายังไม่เปิดใจเขาก็จะไม่ค่อยฟังกัน ไปฟังแถบ K-pop มากกว่า แต่อยากให้ลองเปิดใจกับ T-pop ดู แล้วก็นินว่าถ้าไปได้ไกลจริง ๆ ภาษาเราก็จะทำให้คนรู้จัก เหมือนภาษาเกาหลีที่ทุกวันนี้ทุกคนฟังเพลงภาษาเกาหลีเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่เราฟังไม่รู้เรื่องแต่เพราะจังเลยอะไรอย่างนี้ อยากให้คนต่างชาติฟังภาษาไทยแล้ว โอ๊ย! ภาษาไทยเพราะจังเลย ภาษาไทยน่ารักจังเลย ก็อยากขับเคลื่อนตรงนี้ไปด้วยครับ
The People: การที่จะพา T-pop ไปสู่จุดที่เราฝันไว้ ในฐานะ 4MIX พวกคุณคิดว่าสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ T-pop ไปถึงฝัน
นินจา: ตอนนี้อย่างที่รู้ว่า 4MIX ค่อนข้างมีแฟนคลับฝั่งนู้นเยอะใช่ไหมครับ ตอนนี้เราก็พยายามสร้างแล้วก็ผลิตคอนเทนต์ที่จะสามารถทำให้ฝั่งนู้นรู้สึกได้ด้วย แล้วฝั่งของไทยก็รู้สึกได้ด้วย หมายถึงเรื่องเพลงคือเราต้องบาลานซ์ให้ดีมาก ๆ เลย เพราะว่าถ้าไทยเกินไปอินเตอร์อาจจะไม่เข้าใจ หรือถ้าอินเตอร์เกินไปในไทยก็อาจจะแบบไม่ใช่เพลงไทยไปแล้ว ก็น่าจะต้องหาจุดกึ่งกลางให้ได้ครับ
แล้วก็พยายามสอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปโดยที่ไม่ให้มันเลี่ยน ไม่ใช่ว่าเอาระนาดเข้าไปหรืออะไรเข้าไป คือพยายาม represent ความเป็นตัวเราแค่บอกว่า T-pop มันก็แบบมาจากไทยแล้วครับ คือนินว่าถ้าทำให้ผลงานมีมาตรฐานมันก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนไปได้ครับ
The People: ทราบมาว่า 4MIX มีแฟนคลับเป็นชาวต่างชาติด้วย รู้สึกอย่างไรกันบ้าง
จอร์จ: ก่อนอื่นเลยจอร์จรู้สึกว่าต้องขอขอบคุณมาก ๆ เลยครับที่ช่วยกันสนับสนุนพวกเรา 4MIX นะครับ แล้วจอร์จตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะแบบ
แมกก้า: เยอะขนาดนั้น
จอร์จ: ใช่, ชาวต่างชาติที่เป็นแฟน ๆ จะเยอะขนาดนี้ครับ เพราะว่าตอนแรกเราก็แอบหวั่น ๆ นิดหนึ่งว่าพอเราเปิดตัวในช่วงโควิด-19 แล้วมันแบบว่า
นินจา: จะมีคนฟังไหม เราจะได้ไปที่ไหน อะไร อย่างไร
จอร์จ: ใช่,
จอร์จ: กลับกลายเป็นว่าชาวต่างชาติให้ความสนใจมากๆ โดยเฉพาะช่องรีแอคชันดัง ๆ ที่เขามารีแอคชันกัน แล้วก็ฝั่งลาตินอเมริกา เขาก็เหมือนกระจายกันไปทั่ว ไม่ใช่แค่ฝั่งลาตินอเมริกา แบบว่ายุโรป เอเชีย ทุกคนก็ให้การสนับสนุนเราค่อนข้างที่จะดีมาก ๆ
นินจา: ใช่ครับ คนที่ไม่เคยดู T-pop เลยในฝั่งนู้น อยู่ ๆ ก็มาดู T-pop แล้วก็มาเต้นคัฟเวอร์เพลงเรา เห็นเป็นฝรั่งแต่คัฟเวอร์คำไทย ก็น่ารักมาก ดีใจมาก ๆ เลยครับ
The People: วางแผนแนวเพลงและการแสดงที่อยากแสดงออกให้แฟนคลับได้เห็นอนาคตไว้อย่างไร
นินจา: จริง ๆ เราอยากจะโชว์ความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเรา ยังมีความเป็น 4MIX อยู่ แต่ก็อยากให้ทุกคนเห็นในมุมที่หลากหลายมากขึ้นแล้วก็พัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การเต้น โปรดักชั่น เพลงหรืออะไรต่าง ๆ ก็อยากให้มันอัปเลเวลขึ้นไปอีก แต่ก็ยังมีความเป็น 4MIX อยู่ หรือคนอาจจะคิดว่า 4MIX เต้นร้องบางทีอาจจะมีเพลงช้าบ้าง อกหักบ้าง หรืออาจจะมีเพลงร็อก อยากพยายามเอาทุกแนวเพลงมารวมกันแล้วก็ใส่ความเป็น 4MIX เข้าไป เพื่อโชว์ศักยภาพทุก ๆ ด้านที่เรามีครับ
แมกก้า: ต้องรอติดตามครับ
The People: อยากฝากผลงานของ 4MIX หรือมีอะไรอยากสื่อถึงแฟนคลับไหม
นินจา: ก็ฝากด้วยนะครับสำหรับเดบิวต์ซิงเกิ้ลของพวกเรานะครับกับเพลง
ทุกคน: Y U COMEBACK
นินจา: สามารถติดตามได้ทาง YouTube
ทุกคน: KS Gang
นินจา: Facebook
ทุกคน: KS GANG
นินจา: แล้วก็ถ้าอยากติดตามพวกเรา 4MIX แบบ exclusive ก็สามารถติดตามได้ทุก ๆ ช่องทาง social เลยนะครับ แค่พิมพ์ว่า
ทุกคน: 4mix.official
นินจา: นะครับแล้วก็ฝากพวกเรา 4MIX ไว้ด้วยนะครับ ทั้งเพลง Y U COMEBACK เองแล้วก็เพลงคิดผิดที่เป็นซิงเกิ้ลก่อนหน้านี้ แล้วก็ซิงเกิ้ลต่อ ๆ ไปนะครับ รับรองว่าเราจะทำทุกอย่างออกมาให้เต็มที่แล้วก็ดีที่สุดแน่นอนครับ แล้วก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังแน่ ๆ ครับ
สัมภาษณ์: ชุลิตา วิไลเจริญตระกูล (The People Junior)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3535
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6960
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
848
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
4MIX