แคทาลิน คาริโค: นักวิจัย mRNA ผู้ถูกปฏิเสธทุนวิจัยอย่างน้อย 30 ครั้ง สู่วีรสตรีเบื้องหลังวัคซีนโควิด-19 ช่วยชีวิตชาวโลก
วัคซีน mRNA ได้รับการยืนยันเป็นชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดหนักไปทั่วโลกอย่างสายพันธุ์เดลต้า แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า เทคโนโลยีนี้เคยเกือบแท้ง ไม่ได้รับการพัฒนาเพราะแทบไม่มีใครสนใจให้ทุนวิจัย หากไม่ได้ความมุ่งมั่นตั้งใจของนักวิทยาศาสตร์ตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า แคทาลิน คาริโค (Katalin Kariko)
ด็อกเตอร์คาริโค หรือที่เพื่อนเรียกสั้น ๆ ว่า เคท ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี mRNA ซึ่งเปิดทางไปสู่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสของบริษัทไบโอเอ็นเทค ซึ่งจับมือกับไฟเซอร์ผลิตวัคซีน mRNA ออกมา และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะได้รับรางวัลโนเบลในอนาคต
ก่อนประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องเป็นวีรสตรีผู้ช่วยชีวิตชาวโลกนับล้านในวันนี้ ชีวิตของเธอต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย นอกจากจะอพยพหอบหิ้วครอบครัวข้ามทวีปมาอเมริกาเพื่อหาทุนวิจัย เธอยังเผชิญกับความผิดหวังนับครั้งไม่ถ้วนทั้งการถูกตั้งคำถาม ถูกปฏิเสธ และถูกลดตำแหน่งงานวิชาการ จนเกือบถอดใจ หันหลังให้เส้นทางนักวิจัย mRNA มาแล้ว
จบปริญญาเอกจากฮังการี
แคทาลิน คาริโค เกิดที่ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1955 บิดาของเธอมีอาชีพพ่อค้าขายเนื้อ เธอเรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเซเกด (University of Szeged) ในบ้านเกิด และเริ่มทำงานในฐานะนักวิจัยหลังจบปริญญาเอก (post - doc) ตั้งแต่ทศวรรษ 1970s
ระหว่างนั้นเทคโนโลยี messenger ribonucleic acid (mRNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนตามรหัสคำสั่งที่ป้อนเข้าไป ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ และฮังการีไม่มีทั้งเงินทุนและห้องทดลองที่ก้าวหน้าพอในการวิจัยพัฒนาด้านนี้ ทำให้ปี 1985 ดร.คาริโค พร้อมสามี และลูกสาว ตัดสินใจอพยพมาทำงานในสหรัฐอเมริกา
เธอเล่าว่าช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลฮังการียังคงสั่งห้ามประชาชนถือเงินออกนอกประเทศเกิน 100 เหรียญสหรัฐ ทำให้เธอซึ่งเพิ่งขายรถยนต์ได้เงินมา 1,200 เหรียญฯ ต้องแอบยัดเงินทั้งหมดไว้ในตุ๊กตาของลูกสาวเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา
เริ่มแรกเธอได้งานนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทมเพิลในเมืองฟิลาเดลเฟีย ก่อนย้ายไปทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (ยูเพนน์) โดยเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้ ดร.เอลเลียต บาร์นาธาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ก่อนย้ายไปอยู่กับ ดร.เดวิด แลงเจอร์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท และสุดท้ายจึงได้ร่วมงานกับ ดร.ดรูว์ ไวส์แมน ศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อ ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองเทคโนโลยี mRNA ร่วมกัน
ดิ้นรนหาทุนวิจัย
“ฉันบอกเขาว่า ‘ฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ RNA ฉันสามารถทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับ mRNA” ดร.คาริโค เล่าถึงบทสนทนาที่เธอคุยกับ ดร.ไวส์แมน หลังทั้งคู่เจอกันโดยบังเอิญที่เครื่องถ่ายเอกสารในมหาวิทยาลัย
ก่อนได้ร่วมงานกับ ดร.ไวส์แมน นักวิจัยหญิงชาวฮังการีเกือบตัดสินใจหันหลังให้อาชีพนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากอาจารย์ประจำที่เธอเคยทำงานวิจัยให้ล้วนลาออกจากมหาวิทยาลัยไป ทำให้เธอไร้อาจารย์ประจำในสังกัด แถมยังไม่สามารถขอทุนวิจัยได้ เนื่องจาก mRNA ในยุคนั้นยังเป็นเพียงแนวคิดที่หลายคนมองว่าประสบความสำเร็จได้ยาก และเสี่ยงเกินไปที่จะทุ่มงบไปในการวิจัยพัฒนา
เธอถูกปฏิเสธทุนวิจัยอย่างน้อย 30 ครั้ง จนกระทั่งปี 1995 เธอถูกมหาวิทยาลัยลดตำแหน่งทางวิชาการในคณะที่ยูเพนน์ เนื่องจากไม่มีผู้สนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัยเพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็พบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคมะเร็งในเวลานั้นด้วย
“ปกติแล้ว ณ จุดนั้นผู้คนมักจะบอกลาและเดินจากไป เพราะมันเลวร้ายมาก ฉันก็คิดจะไปที่อื่น หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ฉันยังคิดด้วยว่า บางทีตัวเองอาจไม่เก่งพอ ไม่ฉลาดพอ”
เธอยอมรับว่าเคยท้อ แต่เคราะห์ดีที่ได้มาเจอกับ ดร.ไวส์แมน ที่กำลังหาทางพัฒนาวัคซีนป้องกันเอชไอวี ที่เป็นต้นตอของโรคเอดส์ และสนใจใช้เทคโนโลยี mRNA ในการทดลอง จึงเป็นที่มาให้เธอเปลี่ยนใจ และเดินหน้าทำวิจัยในสิ่งที่เธอถนัดต่อไป
ที่มาวัคซีนโควิด-19
ดร.คาริโค และดร.ไวส์แมน ค้นพบวิธีปรับแต่งโมเลกุลของ mRNA ให้สามารถเจาะผ่านระบบป้องกันของร่างกายเพื่อเข้าไปในเซลล์ โดยไม่ทำให้ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่อต้านออกมา ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีใครทำสำเร็จ
เมื่อ mRNA สามารถเข้าไปถึงเซลล์ มันจะสั่งการให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่ต้องการเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านเชื้อนั้น และนั่นเป็นที่มาของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน
เทคโนโลยี mRNA ในอนาคตอาจเข้ามา ‘ดิสรัปต์’ (disrupt) วงการวัคซีน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถใช้ผลิตวัคซีนได้ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า และราคาถูกกว่าวัคซีนแบบเก่า แถมยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่ทั่วโลกหวาดผวา
ก่อนการระบาดของโควิด-19 แม้ ดร.คาริโค และดร.ไวส์แมน จะตีพิมพ์เผยแพร่ความสำเร็จในการค้นพบเทคโนโลยี mRNA บนวารสารทางวิชาการหลายฉบับในปี 2005 และไม่ค่อยได้รับเสียงตอบรับกลับมา แต่มีอย่างน้อย 2 บริษัทที่ให้ความสนใจและมอบทุนวิจัยเพิ่มให้ นั่นคือ บริษัทโมเดอร์น่าของสหรัฐฯ และไบโอเอ็นเทค ของเยอรมนี
ทุนวิจัยที่ได้มาทำให้ทั้งคู่สามารถเดินหน้าทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยี mRNA รวมทั้งพัฒนาวัคซีนใหม่เพื่อใช้ป้องกันไวรัสชนิดอื่น จนกระทั่งเกิดการระบาดของโคโรน่าไวรัสที่เมืองอู่ฮั่น ของจีน เมื่อปลายปี 2019 เทคโนโลยีนี้จึงถ่ายทอดไปยังโมเดอร์น่า และไบโอเอ็นเทค จนสามารถพัฒนาเป็นวัคซีนโควิด-19 ออกมาได้อย่างรวดเร็ว
ตัวเต็งรางวัลโนเบล
“หากมีใครถามว่าจะโหวตให้ใครในอนาคต ผมจะให้พวกเขานั่งอยู่ตรงใจกลางแถวหน้า การค้นพบขั้นพื้นฐานนั้นกำลังจะกลายเป็นยาที่มาช่วยโลก” เดเรค รอสซี่ ผู้ก่อตั้งโมเดอร์น่า กล่าวถึง ดร.คาริโค และดร.ไวส์แมน ว่าสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี หลังผลการทดลองยืนยันว่า วัคซีนที่พัฒนาจาก mRNA สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ผล
ดร.แลงเจอร์ อดีตเพื่อนร่วมงานที่ยูเพนน์ กล่าวถึงจุดเด่นของ ดร.คาริโค ว่า “นักวิทยาศาสตร์มักมีแนวโน้มที่จะพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนแนวคิดของตัวเอง แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดต้องพยายามพิสูจน์ว่าความคิดของตัวเองผิด ความอัจฉริยะของเคท คือ การยินดียอมรับความล้มเหลว ไม่เลิกล้มความพยายาม และสามารถตอบคำถามที่คนไม่ฉลาดพอจะไม่เอ่ยปากถาม”
ด้านเจ้าตัวเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จในชีวิตของตัวเองว่า ส่วนหนึ่งมาจากการมีครอบครัวที่เข้าใจและคอยให้การสนับสนุน แม้บางครั้งเธอจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องทดลองมากกว่าที่บ้าน นอกจากนี้ เธอยังพยายามใช้ทัศนคติตามหนังสือจิตวิทยาชื่อ The Stress of Life ของฮานส์ เซลเย (Hans Selye) ที่เคยอ่านสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย
“มันเกี่ยวกับการโฟกัสกับสิ่งที่คุณทำได้ อะไรที่อยู่นอกเหนืออำนาจของคุณ จงอย่าไปวิตก เพราะจะทำให้คุณมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด คุณควบคุมคนอื่นไม่ได้ ฉันไม่เคยสนใจว่าเพื่อนร่วมงานที่มีเงินเดือนมากกว่า 4 เท่าแล้วเขาไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งเฉย ๆ ฉันไม่เคยแคร์
“เรื่องรางวัลนั่นก็เป็นการตัดสินใจของคนอื่น พวกเขาสามารถมอบให้หรือยึดกลับคืนไป ฉันไม่สามารถควบคุมได้ ฉันแค่โฟกัสกับงานที่ทำเท่านั้น”
ส่วนเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาของเธอ ซึ่งเต็มไปด้วยการดิ้นรน การถูกปฏิเสธ และความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ ดร.คาริโค บอกว่า คนอื่นอาจมองมันเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เธอเองไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น
“จากภายนอกมันอาจดูเหมือน ‘โอ้, คุณต้องต่อสู้ดิ้นรน’ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ฉันมีความสุขกับชีวิตมาตลอด”
ดร.คาริโค ยังเล่าถึงครั้งแรกที่ได้ยินว่า วัคซีน mRNA ของเธอสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ว่า เธอรู้สึกดีใจ แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก เพราะมั่นใจมาตลอดว่ามันใช้การได้ โดยหลังทราบข่าวความสำเร็จ เธอฉลองอย่างเรียบง่ายด้วยการกินถั่วเคลือบช็อกโกแลต ซึ่งเป็นขนมของโปรดจนหมดซอง
นั่นคือทัศนคติและชีวิตที่ผ่านมาของหญิงเก่งจากฮังการีที่ชื่อว่า ดร.แคทาลีน คาริโค สตรีผู้มุ่งมั่นต่อสู้กับอุปสรรคในอาชีพการงานจนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี mRNA ที่เคยถูกเมินให้กลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่สำคัญมันยังอาจช่วยผู้คนทั่วโลกให้รอดชีวิตจากวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ทั้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2020/12/16/us/katalin-kariko-covid-19-vaccine-scientist-trnd/index.html
https://www.nytimes.com/2021/04/08/health/coronavirus-mrna-kariko.html
https://www.statnews.com/2020/11/10/the-story-of-mrna-how-a-once-dismissed-idea-became-a-leading-technology-in-the-covid-vaccine-race/
https://www.abc.net.au/news/2021-03-08/the-women-helping-find-path-out-of-pandemic-vaccines/13219120
ภาพ: https://youtu.be/clYZOBnW9eA
https://www.pfizer.co.th
https://www.modernatx.com