ซาราห์ กิลเบิร์ต: คุณแม่แฝด 3 เบื้องหลังวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ภาระดูแลครอบครัวมาคู่กับการกู้โลก
ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำงานหนักเป็นเสาหลักของครอบครัวว่ายากแล้ว หากมีลูกเกิดมาพร้อมกันทีเดียว 3 คนเป็นแฝดสาม แถมยังทำงานในอาชีพที่มีความคาดหวังสูง แต่รายได้ไม่สูงตามและไม่ค่อยมั่นคง ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าหนักใจ แต่ไม่ใช่สำหรับเธอ... ดร.ซาราห์ กิลเบิร์ต (Sarah Gilbert)
ดร.กิลเบิร์ต คือ หัวหน้าทีมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เธอได้รับยกย่องให้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเชื้อเป็น หรือ viral vector ที่ผลิตออกมาช่วยชีวิตชาวโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี และประเทศไทยก็เลือกใช้วัคซีนนี้เป็นวัคซีนหลักในการต่อสู้กับโรคระบาด
แต่กว่าจะมาเป็นวัคซีนที่ฉีดเข้าต้นแขนคนนับล้านทั่วโลก ทราบหรือไม่ว่า ดร.กิลเบิร์ตและทีมงานทุ่มเทเวลาและแรงกายให้ภารกิจกู้โลกครั้งนี้จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน โชคดีที่เธอมีประสบการณ์คล้ายกันมาก่อน ทำให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้มาได้ และทำให้เราได้ใช้วัคซีนแอสตร้าฯ กัน
ประสบการณ์จากลูกแฝดสามคน
ดร.กิลเบิร์ตเปิดใจถึงภารกิจคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ที่ออกซฟอร์ด ซึ่งเริ่มขึ้นทันทีหลังจากแพทย์ชาวจีนเผยแพร่รหัสพันธุกรรมของเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่นให้โลกรับรู้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2020
เธอและทีมงานใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังได้พิมพ์เขียวจากจีน ออกแบบวัคซีนป้องกันไวรัสใหม่ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน จากนั้นภายในเวลา 65 วัน ห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สามารถผลิตวัคซีนชุดแรกออกมาเพื่อทดสอบกับอาสาสมัคร และได้รับการรับรองจากรัฐบาลอังกฤษให้ฉีดกับประชาชนทั่วไปได้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
“ฉันแทบไม่ได้หลับได้นอนเลยทีเดียว” ดร.กิลเบิร์ตเล่าถึงช่วงที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าประสบการณ์อดนอนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเธอเคยเผชิญมาแล้วสมัยที่ต้องเลี้ยงดูลูกแฝด 3 คนของตัวเอง
“หากคุณมีลูกแฝด 3 คน และได้นอนคืนละ 4 ชั่วโมง คุณถือว่าเก่งมาก ฉันผ่านจุดนี้มาแล้ว
“ฉันถูกฝึกมาเพื่อสิ่งนี้ ฉันคือคุณแม่ลูกแฝดสาม”
ภรรยาผู้หารายได้หลักของครอบครัว
ดร.ซาราห์ แคเทอรีน กิลเบิร์ต เกิดเดือนเมษายนปี 1962 ที่เมืองเคตเทอริง ประเทศอังกฤษ บิดาของเธอทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทขายรองเท้า ส่วนมารดาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และสมาชิกชมรมโอเปร่าสมัครเล่นท้องถิ่น
เธอเรียนจบปริญญาเอกด้านชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) และเริ่มทำงานในตำแหน่งนักวิจัยยีสต์หมักเบียร์ให้กับศูนย์วิจัยเบียร์แห่งหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนมาเอาดีด้านสาธารณสุข และได้งานนักวิชาการกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ช่วงกลางทศวรรษ 1990s จนนำไปสู่การค้นคว้าวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรีย
ช่วงเวลานี้เองที่ชีวิตเริ่มวุ่นขึ้น เมื่อเธอคลอดลูกแฝด 3 คนออกมาในปี 1998 และกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องหารายได้เลี้ยงดูสมาชิกทุกคน แม้อาชีพที่ทำจะไม่ค่อยมั่นคง และรายได้ไม่สูงนักก็ตาม
“แฟนของฉันลาออกจากงานหลังเด็ก ๆ เกิดมาไม่นาน เพราะเราไม่สามารถหาเงินจ้างคนมาช่วยเลี้ยงดูลูกพร้อมกันได้ทั้ง 3 คน และฉันก็มีรายได้มากกว่าเขา
“แต่อาชีพนักวิทยาศาสตร์มักมีสัญญาจ้างครั้งละ 2 - 5 ปี คุณต้องทำผลงานให้ดี และมีการตีพิมพ์เผยแพร่ ฉันเลยต้องทำงาน 6 - 7 วันต่อสัปดาห์มาตลอดจนลูกโต เพื่อให้ตัวเองยังมีงานทำต่อไป และนั่นไม่ใช่เรื่องเบา ๆ”
เฟรดดี้ หนึ่งในลูกแฝดสามกล่าวถึงแม่ของเขาว่า เธอคอยช่วยเหลือและพยายามมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกทุกคนเสมอ แม้ลูกทั้งสามจะได้อิสระในการเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แต่สุดท้ายทุกคนก็เลือกเรียนสาขาชีวเคมีตามมารดาเมื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย นั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขารักและภูมิใจในอาชีพของแม่มากเพียงใด
เคล็ดลับความสำเร็จของวัคซีนแอสตร้าฯ
เบื้องหลังที่ทำให้ ดร.กิลเบิร์ตและทีมงานประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายในเวลาไม่ถึงปี มาจากปัจจัยหลัก 2 ข้อ ข้อแรก คือ การเตรียมพร้อมที่ดีและมีระบบ
นับตั้งแต่ ดร.กิลเบิร์ต มาทำงานที่ออกซฟอร์ด และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันเจนเนอร์ ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการพัฒนาวัคซีน เธอตั้งกลุ่มนักวิจัยของตัวเองขึ้นมาเพื่อพัฒนาวัคซีนไข้หวัดแบบครอบจักรวาล โดยใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มในการทำงานให้สามารถรับมือไวรัสได้หลากหลาย
นั่นคือที่มาของการใช้เทคโนโลยี viral vector เพื่อผลิตวัคซีน เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ซึ่งเริ่มมีใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s สามารถใช้ไวรัสพาหะ (vector) ชนิดเดียวกันทำหน้าที่พารหัสพันธุกรรมของเชื้อชนิดต่าง ๆ เข้าไปในร่างกาย และกระตุ้นให้เซลล์สร้างแอนติบอดี้ขึ้นมา
วัคซีนโควิด-19 ซึ่งออกซฟอร์ดเป็นผู้พัฒนา และบริษัทแอสตร้าเซเนก้า เป็นผู้ผลิตและทำการตลาด ใช้ไวรัสอะดิโนที่ทำให้เกิดไข้ในลิงแชมแปนซีเป็นพาหะ (adenoviral vector) เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ยังมีชีวิตแต่ไม่อันตราย ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนแวคจากจีน แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า
ปี 2014 ทีมของ ดร.กิลเบิร์ตเคยมีประสบการณ์พัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า และต่อมาเมื่อมีการระบาดของโรคเมอร์สในตะวันออกกลาง ซึ่งเกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัส ทีมของเธอเดินทางไปซาอุดิอาระเบียเพื่อพัฒนาวัคซีนสู้กับไวรัสชนิดนี้ ทำให้สามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้กับโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจัยอีกข้อที่ทำให้ออกซฟอร์ด ร่นเวลาผลิตวัคซีนซึ่งปกตินานนับสิบปีให้เหลือเพียงไม่ถึงปี มาจากการปรับวิธีการทำงานใหม่ จากที่ค่อย ๆ ทำทีละขั้นตอน ทั้งเรื่องการทดลองและหาทุน เปลี่ยนมาขับเคลื่อนทุกอย่างไปในเวลาเดียวกัน
“วัคซีนทุกตัวที่เคยพัฒนามานับถึงปี 2020 เวลาส่วนใหญ่มักเสียไปกับการรอคอย แต่ปี 2020 มี 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถตัดช่วงเวลารอคอยออกไป และบีบเวลา 10 ปีให้เหลือเพียง 1 ปี นั่นคือ หนึ่ง งานบางอย่างเราทำเสร็จก่อนแล้ว (จากแพลตฟอร์มเดิมที่วางไว้) สอง เปลี่ยนวิธีการรับทุนใหม่ และสาม ทำสิ่งที่ปกติเราเคยทำทีละขั้นตอนให้เกิดขึ้นพร้อมกัน
“ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เรามองมันเป็นการแข่งขันกับเชื้อไวรัส ไม่ใช่การแข่งขันกับผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่น เราคือมหาวิทยาลัย เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อหาเงิน” ดร.กิลเบิร์ตย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาวัคซีนของสถาบันต้นสังกัด
ไม่หิวแสงแต่ภูมิใจในสิ่งที่ทำ
ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของออกซฟอร์ดครั้งนี้ ทำให้ ดร.กิลเบิร์ตและทีมงานได้รับรางวัลทรงเกียรติจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ โดย ดร.กิลเบิร์ต ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน และได้คำนำหน้าชื่อว่า เดม (คุณหญิง) คล้ายกับผู้ชายที่ได้อวยยศเป็นท่านเซอร์
ทว่า ชื่อเสียงเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการนัก เนื่องจากเพื่อนสนิทหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ดร.กิลเบิร์ต เป็นคนขี้อาย และไม่ชอบอยู่ในสปอตไลต์เท่าใดนัก
“เธอจะเกลียดสิ่งนั้น เกลียดมันจริง ๆ” ดร.แอนน์ มัวร์ นักชีวเคมีที่ออกซฟอร์ด กล่าวถึงเพื่อนสนิท “ฉันหมายความว่า ซาราห์ คือผู้ที่อยู่ในห้องและไม่ต้องการเป็นจุดเด่น (หิวแสง)”
คำบอกเล่านี้สะท้อนออกมาได้ดีจากปฏิกิริยาของเธอระหว่างเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม รายการวิมเบิลดันปี 2021 ที่กรุงลอนดอน เมื่อโฆษกสนามประกาศให้ทุกคนทราบว่า ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากออกซฟอร์ด ซึ่งทำให้แฟนกีฬาเข้ามาชมเกมวันนี้ได้โดยไม่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เข้ามานั่งชมการแข่งขันในวันนั้นด้วย ทำให้ผู้ชมทั้งอัฒจันทร์ต่างลุกขึ้นปรบมือดังกึกก้อง
ภาพที่จับไปยัง ดร.กิลเบิร์ต ในชุดเสื้อยืดสีขาวสวมทับด้วยแจ็คเกตสีแดง นั่งอยู่ในโซนวีไอพี แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเธอมีอาการเขินอายและทำตัวไม่ถูกเมื่อทุกคนในสนามต่างจับจ้องมองมา แต่ในใจลึก ๆ เธอคงภูมิใจที่ความทุ่มเทที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า และไม่ตัดสินใจหันหลังให้อาชีพนี้ไปเสียก่อน
“นักวิทยาศาสตร์บางคนจะทำงานอย่างมีความสุขไม่มากก็น้อยถ้าได้อยู่กับเรื่องเดียวที่ตนเองสนใจเป็นเวลานาน ๆ แต่นั่นไม่ใช่งานที่ฉันอยากทำ ฉันต้องการทดลองทำหลาย ๆ เรื่องจากหลากหลายด้าน
“ฉันเคยคิดออกจากวงการวิทยาศาสตร์ ณ จุดนั้น และหันไปทำสิ่งอื่นที่แตกต่างไป”
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เหนี่ยวรั้งเธอไว้ในตอนนั้น คือ ความจำเป็นในการหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว และทำให้เธอกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ และวีรสตรีคนหนึ่งของโลกในที่สุด
ดร.กิลเบิร์ตนำบทเรียนนั้นมาแนะนำคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้สนใจวิทยาศาสตร์ว่า ควรเริ่มจากการเรียนทุกสาขาแบบกว้าง ๆ และอย่าเพิ่งเลือกเฉพาะทางด้านใดด้านเดียว เนื่องจากความสนใจของเราอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ดังนั้น การปูพื้นความรู้ไว้หลายด้าน จะทำให้มีทางเลือกหลากหลาย และเมื่อเรียนสูงขึ้นไปจนมั่นใจว่าสนใจด้านใดจริง จึงค่อยมุ่งไปบนเส้นทางนั้นเต็มตัว
แม้บทเรียนนี้จะมาจากประสบการณ์ส่วนตัวอันหนักหน่วงของคุณแม่แฝด 3 ที่ต้องแบกภาระครอบครัว และทำงานรับใช้วงการวิทยาศาสตร์ไปควบคู่กัน แต่สุดท้ายดูเหมือนเส้นทางที่เธอเลือกไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะนอกจากวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เธอพัฒนาขึ้นมาจะช่วยชีวิตชาวโลกนับล้านจากโควิด-19 ได้แล้ว ลูก ๆ ทุกคนยังภูมิใจในสิ่งที่แม่เสียสละไปให้ครอบครัวและสังคม
นั่นอาจเป็นเหตุผลที่บนโต๊ะทำงานของ ดร.ซาราห์ กิลเบิร์ต มีแก้วน้ำใบหนึ่งวางไว้ พร้อมประโยคที่พิมพ์ไว้บนแก้วว่า ‘Keep Calm and Develop Vaccines’ (จงตั้งสติและพัฒนาวัคซีน) เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เธอยังคงทำงานด้านนี้ต่อไปให้กับทุกคน
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/uk-55043551
https://www.ft.com/content/94670990-a638-4981-84d5-283185d433b7
https://www.independent.co.uk/news/health/coronavirus-vaccine-oxford-latest-results-covid-19-sarah-gilbert-interview-trial-a9695161.html
https://www.afr.com/policy/health-and-education/how-oxford-scientists-made-the-astrazeneca-vaccine-20210708-p5881x
https://www.theguardian.com/books/2021/jul/11/vaxxers-by-sarah-gilbert-and-catherine-green-until-proven-safe-by-geoff-manaugh-and-nicola-twilley-reviews
https://www.youtube.com/watch?v=dQTfHyUTLHA
ภาพ: https://youtu.be/Zb73FuRAQ9o
(Photo by AELTC/Joe Toth-Pool/Getty Images)
https://www.pikpng.com/pngvi/ixhbRbw_astrazeneca-vector-png-astrazeneca-logo-png-clipart/