17 ก.ค. 2564 | 00:21 น.
“เธอว่าไงจิตดี?” “ใช่ไหมจิตดี?” “คิดเหมือนกันไหมจิตดี?” เรียกได้ว่าเป็นประโยคธรรมดาที่อ่านแล้วต้องเผลอใส่น้ำเสียงและจังหวะการพูดของ ‘พุทธอภิวรรณ องค์พระบารมี’ ผู้ประกาศข่าวคู่ ‘จิตดี ศรีดี’ แห่งรายการทุบโต๊ะข่าวลงไป แต่เพราะการถูกเรียกชื่ออยู่ในทุกท้ายประโยคโดยพุทธอภิวรรณนี้เอง ทำให้ชื่อของจิตดีกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในฐานะผู้ประกาศข่าวพูดน้อย แต่เปี่ยมล้นไปด้วยฝีมือ ภายหลังจากที่จิตดีหายหน้าหายตาไปจากหน้าจอโทรทัศน์ เธอก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในรายการข่าวเช้า ‘อรุณอมรินทร์’ แต่นั่นไม่ใช่เพราะความผิดใจกันระหว่างสองผู้ประกาศฯ แห่งรายการทุบโต๊ะข่าวแต่อย่างใด เพราะนี่คือการเปิดเวทีให้จิตดีได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ร่วมกับผู้ประกาศข่าวเช้าอีก 3 คน ได้แก่ ‘อรชุน รินทรวิทูรย์’ ‘รังสิมา ศฤงคารนฤมิตร’ ‘สถาปัตย์ แพทอง’ จิตดีได้พูดแล้วนะคะ ท่ามกลางคอมเมนต์ให้กำลังใจ และแสดงความยินดีจากแฟนคลับของ จิตดี ศรีดี ในที่สุดผู้ประกาศข่าวสาวคนนี้ก็ได้ร่วมวงสนทนาข่าวอย่างเต็มตัวสมใจคนทั่วประเทศที่รอคอย แต่หากย้อนกลับไปในสมัยรายการทุบโต๊ะข่าว เธอเองก็ไม่ใช่ไม่มีบทบาทในการประกาศข่าวเลย เพียงแต่ต้องช่วงชิงจังหวะในการพูดบ้าง “จริง ๆ แล้ว มันเป็นธรรมชาติของเรา 2 คน ด้วยว่าความที่พี่เขาเป็นคนเล่าข่าว ก็เลยให้พี่เขาเป็นลีดเดอร์ ส่วนเราเป็นผู้ตาม เขาก็จะเรียกเรา ‘คุณจิตดี’ มันก็เลยเป็นคำคุ้นหูไป ถามว่าแค่ตอบ ‘ค่ะ’ เรารู้สึกยังไง บางข่าวที่เรารู้สึกว่า ข่าวนี้เจี๊ยบก็เล่าได้ แต่พี่เขาไม่ส่งมา เราก็ไม่ได้เล่า ไม่เป็นไร ถ้าถามว่าแล้วจะทำยังไง เราก็ต้องตอบค่ะ จะให้มาพูดแทรกมันก็ไม่ใช่ เราไม่ชอบพูดแทรกด้วย แต่ถ้าบางข่าวสอดแทรกได้ หรือว่ามีช่องให้พอจิกกัดบ้าง อันนี้ก็เอาคืนเหมือนกัน ก็น่าจะเป็นสีสันของรายการไป” จิตดีเล่าด้วยรอยยิ้ม เพราะความเป็นธรรมชาติทั้งในจอและนอกจอของทั้งคู่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของรายการทุบโต๊ะข่าวไปแล้ว และเมื่อถามถึงประโยคที่ยาวที่สุดที่จิตดีเคยพูดออกอากาศ เธอก็ยิ้มอีกครั้งพร้อมตอบอย่างมั่นใจว่า “ประโยคที่ยาวที่สุดคือ ประโยคที่คุณพุทธไม่พูด (หัวเราะ) ข่าวไหนที่คุณพุทธไม่พูดก็จะโยนให้เราพูด โดยเฉพาะข่าวที่เป็นคำราชาศัพท์ หรือคำศัพท์เฉพาะ ภาษาอังกฤษ หรืออะไรที่แกโยนมาก็จะได้พูด” นอกจากนี้ จิตดียังมองว่าการพูดน้อยในรายการนั้นไม่ใช่อุปสรรคของเธอเลย เพราะเธอให้ความสำคัญกับการประกาศข่าวอย่างไหลลื่น ครบถ้วน และตรงประเด็นมากกว่า ทั้งการมีพุทธอภิวรรณคอยเรียกชื่อก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้คนสามารถจดจำเธอได้ ซึ่งจิตดีได้เอ่ยขอบคุณพุทธอภิวรรณที่เรียกชื่อของเธอ โดยเฉพาะในตอนที่เขาอยากพักหายใจ ประสบการณ์ที่สั่งสมจากพุทธอภิวรรณ เป็นเวลากว่า 9 ปีที่จิตดีได้จัดรายการคู่กับพุทธอภิวรรณ เรียกได้ว่าเป็นคู่หูผู้ประกาศที่รู้และเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี กระนั้น การทำงานร่วมกับนักข่าวมากความสามารถก็มีเรื่องท้าทายให้ต้องฝ่าฟัน “ความท้าทายคือ ความกดดัน ความเครียด ต้องจับจุด และต้องตามเขาให้ทัน จะมาเป็นผู้นำคุณพุทธคงเป็นไปไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ตามที่ดี แล้วด้วยความที่คุณพุทธเขาเป็นคนที่เป๊ะทุกอย่าง รายการทุบโต๊ะข่าวคือทั้งชีวิตของเขา เขาก็จะดูหมดเลย ทั้งภาพ เสียง เนื้อหา สมมติพี่เขาเล่าประเด็นนี้ ภาพนี้ต้องขึ้น ต้องให้ตรงกับที่เขาเล่า ถ้าไม่ตรงก็จะมีความฉุนเฉียวขึ้นมา เพราะเขามองเป้าหมายงานเป็นหลัก เราต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็อยู่ด้วยกันไม่ได้” ทุกครั้งที่ก้าวผ่านอุปสรรค เส้นทางในอดีตล้วนถูกเก็บไว้เป็นประสบการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ก้าวพลาด และสามารถเดินหน้าพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างรวดเร็ว จิตดีเล่าว่า ในทุกวันเธอมักจะมีจุดที่ผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำ แต่สุดท้ายก็สามารถแก้ไข และผ่านมันมาได้ ทั้งพุทธอภิวรรณยังมีงานให้เธอได้ฝึกปรือฝีมืออยู่ทุกวัน “กว่าจะมาเป็นทุบโต๊ะข่าว เบื้องหลังเราหนักมาก เมื่อก่อนด้วยตัวเราเองไม่เคยต้องมานั่งพาดหัว หรือหาประเด็น จนมาวันหนึ่งคุณพุทธบอกว่าต้องทำ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ยาก อะไรที่เราไม่เคยทำมันยากเสมอ แล้วเวลาเราผิด เราถูกสั่งให้แก้ มันกดดัน แต่สุดท้ายเราลองจับจุดให้ได้ เราก็จะรู้ว่า ฉันทำได้ มันก็แค่นี้เอง” จิตดีเล่าเสริมอีกว่า สกิลการทำงานที่เธอได้รับมาจากนักเล่าข่าวอย่างพุทธอภิวรรณคือ ‘การจับประเด็น’ รวมไปถึงการใช้คำ และเทคนิคการเล่าข่าว ซึ่งเธอยกตัวอย่างข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่คนทั่วไปอาจมองข้าม แต่ไม่ว่าประเด็นเหล่านั้นจะเล็กเพียงใด หากมีความน่าสนใจ และเป็นปัญหาปากท้องของชาวบ้านแล้ว พุทธอภิวรรณย่อมไม่ยอมให้เรื่องราวเหล่านั้นคลาดสายตา “คุณพุทธเห็น และสามารถขยี้ประเด็นเล็ก ๆ ให้กลายเป็นพลุแตกจนเกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้น ๆ ได้ เราเห็นเทคนิคในการทำข่าวของพี่เขาแล้วเรารู้สึกว่า เรื่องชาวบ้านเล็ก ๆ มันคือเรื่องใหญ่ระดับที่ทุกคนต้องหันกลับมามองแล้วไปช่วยเหลือเขา” นอกจากนี้ จิตดียังเล่าว่า เสน่ห์ของรายการทุบโต๊ะข่าวอยู่ที่ความรอบด้าน และการให้พื้นที่แก่ทุกฝ่ายในการให้ข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอยึดถืออย่างมากในฐานะคนทำข่าว รวมไปถึงการหาข้อเท็จจริงมานำเสนอ โดยจิตดีเน้นย้ำว่า หากไม่สามารถหาข้อมูลมาได้อย่างรอบด้าน จะต้องทิ้งท้ายให้ผู้ฟังทราบว่าต้องติดตามเรื่องอะไรต่อ ส่วนเบื้องหลังการทำงาน หากข่าวในวันเดียวกันไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม วันต่อไปต้องรีบแสดงความคืบหน้า “เพราะสื่อที่ดีจะต้องนำเสนอในสิ่งที่สะท้อนสังคม และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา” จิตดีกล่าว แต่ถึงแม้เราจะเห็นเธอในบทบาทผู้ประกาศข่าวสุดแกร่ง จิตดีกลับไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อมาเป็นนักข่าวตั้งแต่ต้น เพราะแท้จริงแล้วเธออยากจะเป็น ‘ดีเจ’ ต่างหาก ครั้งหนึ่งเราเกือบมีดีเจจิตดี “ตอนนั้นยังไม่ได้อยากเป็นนักข่าว รู้สึกอยากจะเป็นดีเจ อยากจัดรายการ อยากพูด ชอบเสียงเพลง ฟังหมดเลย เพลงพี่เบิร์ด-ธงชัย ยุค 90” จิตดีเผยถึงความฝันที่เคยวาดไว้ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เธอจบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งการเรียนในสายนี้ทำให้เธอมีทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน เขียนอย่างครบถ้วน ทั้งคณะยังมีหลักสูตรการเขียนข่าว และจรรยาบรรสื่อมวลชนให้เรียนควบคู่กันไป ความชอบในด้านการทำสื่อของจิตดีจึงเพิ่มขึ้นทีละนิด ประกอบกับช่วงก่อนเรียนจบ จิตดีมีโอกาสเข้าฝึกงานที่วิทยุชุมชนแห่งหนึ่งในวัด เธอได้ฝึกจัดรายการในช่วงเวลา 09.00-10.00 น. พร้อมนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษา สลับกับการเปิดเพลง จิตดีเล่าว่ากลุ่มเป้าหมายของเธอคือพ่อค้า แม่ค้า คนที่ทำงานอยู่บ้าน และพนักงานโรงงานในพื้นที่สามพราน เธอจึงเน้นการหยิบประเด็นข่าวจากหนังสือพิมพ์มาเล่า ถือเป็นการฝึกทักษะและได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบไปในตัว “เราได้จัดตรงนี้เป็นเวลา 3 เดือน แล้วก็มีโอกาสได้เจอพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านก็ฟังเราจัดรายการ ฟังไปฟังมา ท่านก็บอกให้เราลองดูนะ เอาอันนั้นไปฝึก เป็นเอกสารแบบฝึกออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง คำควบกล้ำ แล้วก็แบบทดสอบใบผู้ประกาศข่าว เราก็เพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย มันถือเป็นใบเบิกทางของเรา เราก็เลยฝึกเอง แต่ท่านก็คอยแนะนำว่าอะไรยังไง” ภายหลังจบการศึกษา จิตดียังไม่มีลู่ทางในการเข้าสู่วงการดีเจคลื่นวิทยุ ถึงแม้เธอจะสามารถคว้าบัตรผู้ประกาศจากกรมประชาสัมพันธ์มาไว้ในครอบครองได้สำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าร่วมการสอบ แต่ด้วยความที่ไม่มีช่องทางเปิดรับ จิตดีจึงเลือกไปทำงานการโรงแรมเป็นเวลา 2 ปี กระทั่งเพื่อนในวงการสื่อจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งชักชวนให้เธอมาเป็นผู้ประกาศข่าวต้นชั่วโมงของคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ “หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสอีกค่ะ คือสังกัดที่ทำงานอยู่ นอกจากเขาจะทำข่าวต้นชั่วโมงป้อนวิทยุแล้ว ตอนนั้นทีวีดาวเทียมหลายช่องผุดมาเป็นดอกเห็ด เขาเฟ้นหาผู้ประกาศที่จะมาอ่านข่าวของช่อง เราก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกาศข่าว ตอนนั้นก็เลยได้มี จิตดี ศรีดี สู่ในช่องทีวีดาวเทียมมาตลอด 7 ปี” ส่วนเส้นทางสู่อมรินทร์ทีวีของจิตดีเริ่มต้นภายหลังจากที่เธอลาออกจากการเป็นผู้ประกาศข่าวมาทำงานฟรีแลนซ์เป็นเวลา 4 เดือน “ตอนนั้นเป็นยุคของทีวีดิจิทัล คุณพุทธได้ไปอยู่ที่ช่องอมรินทร์ทีวี ก็ชวนเราว่าสนใจไหม ตอนนั้นเราก็ยังว่างงาน ยังไม่มีงานประจำ เขาก็ดึงเราเข้าไปทำ ก็เลยมีโอกาสได้ทำทีมกันมาตลอด” ถึงแม้วันนี้ เราจะไม่ได้เห็นจิตดีและพุทธอภิวรรณจัดรายการคู่กันแล้ว แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้ติดตามช่องอมรินทร์ทีวีจะได้เห็นต่อไป คือข่าวคุณภาพที่ทั้งสองตั้งใจรายงาน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม ซึ่งจิตดีได้ทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการมองประเด็นอย่างรอบด้านไว้ว่า การรับข้อมูลในหลายแง่มุมจะช่วยให้เห็นปัญหาได้มากขึ้น และเมื่อมองเห็นปัญหาเล็ก ๆ เหล่านั้นแล้วก็ควรจุดประกายขึ้นมาให้คนสนใจ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา “ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อได้ ประชาชนในพื้นที่ตรวจสอบหน่วยงานของตัวเอง หน่วยงานในชุมชน ตรวจสอบ อบต. ตรวจสอบพื้นที่ เสาไฟเอย ถนนเอย อะไรเอย เจี๊ยบว่ามันเป็นสิ่งที่มันช่วยกันได้แล้วมันทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา” เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม