เปิดเรื่องรักชายรักชาย 20 ปีของ อาเธอร์ ปัญญะโชติ บนความต่างอย่างสุดขั้ว
ในคืนหนึ่ง ช่วงวันปีใหม่ นักร้องคุณภาพรางวัลระดับประเทศมองไปเห็นหนุ่มนักศึกษาคนหนึ่ง ทั้งสองสบตากัน และไม่คิดมาก่อนว่า จากวันนั้นแค่พบกันเพียงชั่วคืน และด้วยอายุที่ช่างห่างกันมากนัก พวกเขากลับใกล้ชิด รัก ดูแล และพร้อมที่จะฉลองครบรอบการใช้ชีวิตอยู่กันมาร่วม 20 ปี
“ปกติในช่วงวันปีใหม่ พี่จะไปร้องเพลงที่หัวหินเป็นประจำ แต่ในปีนั้น ปี 2000 (2543) ไม่ได้ไป ก็เลยไปเที่ยวสีลมแทน เลยเจอกับบอลโดยบังเอิญ”
อาเธอร์ ปัญญะโชติ หรือ "พู่" เล่าถึงวันแรกของปีใหม่เมื่อโลกกำลังย่างเข้าสู่ศตวรรษใหม่ และชีวิตใหม่ที่เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อนกับเด็กหนุ่มแปลกหน้าที่มีอายุห่างกัน 18 ปี
ใครคือ อาเธอร์ ปัญญะโชติ?
อาเธอร์ เป็นนักร้องลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ใบหน้าคมเข้ม ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดร้องเพลงรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปี 2532 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เขาได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดร้องเพลงระดับเอเชีย Asian Pacific Singing Contest ที่ฮ่องกง และต่อมามีผลงานอัลบัมเดี่ยวในชื่อตัวเอง คือ “อาเธอร์ 1990” รวมถึงเป็นนายแบบและเล่นละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง
ในยุค 1980-1990 เป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยผลิตนักร้องคุณภาพจากเวทีการแข่งขันที่เลือกเฟ้นจากฝีมือล้วนๆ เราจึงมีนักร้องที่เป็นตัวแทนประเทศไทยไปคว้ารางวัลมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น นันทิดา แก้วบัวสาย มณีนุช เสมรสุต และ สุชาติ ชวางกูร
จริงๆ แล้ว อาเธอร์เคยขึ้นประกวดเวทีระดับชาติรุ่นเดียวกับสุชาติ ชวางกูร ในปี 2522 แต่แล้วเมื่อคุณแม่ของอาเธอร์ทราบว่า ลูกชายคนเดียวที่เพิ่งเรียนจบมัธยมปลายและกลับมาจากอเมริกามาขึ้นเวทีเพื่อประกวดร้องเพลง จึงห้ามปรามไว้ สุดท้ายอาเธอร์ต้องถอนตัว แม้จะเป็นผู้เข้ารอบ 12 คนสุดท้ายไปแล้วก็ตาม
“คุณแม่จับได้ เพราะคุณแม่เคยอยู่วงการบันเทิงมาก่อน และไม่ชอบ แต่ลูกไม่เชื่อ” อาเธอร์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ เขากำลังพูดถึงคุณแม่นักแสดง เยาวนารถ ปัญญะโชติ อดีตนางเอกภาพยนตร์ ที่เคยร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมจากฮอลลีวูด คือ The Bridge on the River Kwai (2500)
ไฟฝันของเด็กหนุ่มที่ต้องการประกวดร้องเพลงยังคงคุกรุ่นอยู่เสมอ หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนกว่า 10 ปี อาเธอร์กลับมาอีกครั้ง และเข้าประกวดบนเวทีเดิมที่เปลี่ยนชื่อไปเป็น Music Contest
ยุคนั้น ผู้เข้าแข่งขันต้องร้องสองเพลง คือเพลงไทยและเพลงสากล หนุ่มนักเรียนนอกผู้นี้คว้ารางวัลนักร้องชนะเลิศมาได้จากเพลง “Even Now” (Barry Manilo) และเพลง “คิดถึง” (หม่อมหลวงถนัดศรี สวัสดิวัตน์) เขาทำให้หลายๆ คนแปลกใจที่กลับมาอีกครั้ง แล้วคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง
ปัจจุบัน อาเธอร์วัย 58 ปี ยังคงความหล่อเหลาและเป็นกันเอง สนุกสนานกับการเป็นนักร้องกิตติมศักดิ์ และได้รับเชิญไปร้องเพลงบนเวทีการกุศลต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยร้องเพลงถวายงานต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่หลายครั้งหลายครา นำมาซึ่งความปลาบปลื้มและประทับใจสูงสุดจนทุกวันนี้
"พี่พู่-น้องบอล"
ความรักไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมากะเกณฑ์ขีดเส้นให้เดิน เช่นเดียวกับเรื่องราวความรักของอาเธอร์ ที่เล่าว่าการได้พบกับชายหนุ่มชื่อ "บอล" ในคืนวันนั้นทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนลื่นไหลไปตามเส้นทางของมัน ทั้งที่ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้คิดว่าความโสดของเขาจะต้องหยุดอยู่ตรงนี้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่วัยยี่สิบต้นๆ
เพราะช่วงเวลานั้น แม้จะย่างเข้าเลขสี่ อาเธอร์ก็ยังคงเป็นหนุ่มเนื้อหอมคนหนึ่งที่ใครๆ ก็อยากเข้าหา ด้วยชื่อเสียง ประวัติความเป็นมา และที่สำคัญเป็นคนที่มีเสน่ห์ เป็นตัวของตัวเองที่สุด
ความเป็นตัวเองของเขานั้น เขาไม่เคยปิดบัง และไม่ได้สนใจด้วยว่าใครจะรับรู้ในตัวตน อาเธอร์เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่เลือกใช้ชีวิตในแบบของตนเอง มีความขบถนิดๆ และนั่นทำให้ชีวิตของเขามีสีสัน ตัวตนของอาเธอร์ไม่เคยเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตและในหน้าที่การงาน คุณพ่อคุณแม่ของเขาก็ไม่ได้สร้างกำแพงขังเขาไว้ ด้วยความเป็นคนหน้าตาดีและเป็นนักร้อง ผู้คนจึงมักจะคิดว่า เขาเป็นคนเจ้าชู้
เป็นคนมีเสน่ห์กับเป็นคนเจ้าชู้ ต่างกันอย่างไร
“น่าจะอยู่ที่การบริหารนะครับ” เขาหัวเราะ แล้วเล่าให้ฟังว่า หลายๆ คนมองว่าเขาเป็นคนเจ้าชู้ คงเพราะเป็นคนอัธยาศัยดี และชอบพบปะพูดคุยกับผู้คน ซึ่งในช่วงนั้นที่เริ่มพบและคุยกับบอล เขาก็ยังมีคบหาพูดคุยกับคนอื่นอยู่ แต่เขายืนยันว่า เขาจะคบ จะคุยทีละคน ไม่ได้คบทีละหลายๆ คน
หลังจากคืนนั้นที่ได้เจอกัน ทั้งสองก็ต้องห่างกันไปเพราะฝ่ายหนึ่งเป็นนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบ อีกฝ่ายก็ได้เริ่มอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกับสายการบินต่างชาติแล้ว ทำให้ไม่ค่อยได้มาพบหน้ากัน และการสื่อสารในสมัยนั้นก็ไม่มีโทรศัพท์มือถือ มีแต่เพจเจอร์ หรืออุปกรณ์ติดตามตัวที่สามารถส่งเบอร์โทรและข้อความสั้นๆ ไปยังเบอร์ที่ระบุไว้ เวลาจะโทรกลับก็ต้องไปใช้โทรศัพท์สาธารณะหรือโทรศัพท์ที่บ้านสื่อสารถึงกัน ทำให้การสานสัมพันธ์ไม่ได้ง่ายดายเหมือนทุกวันนี้
“คืนแรกที่เจอกัน ก็ไม่ได้คิดเป็นแฟน ที่ชอบน้องเขา เพราะปกติเป็นคนชอบคนตัวโตอยู่แล้ว (บอลสูง 180+) และเขาต้องกลับไปเรียนหนังสือ สมัยนั้นไม่มีมือถือ มีเพจเจอร์ให้โทรกลับมา น่าจะเป็นน้องล่ะที่ติดต่อมาเสมอ พอบอลใกล้จบแล้ว ราวเดือนกุมภา ในช่วงวาเลนไทน์นี้แหละ ก็มีโอกาสไปร้องเพลงถวายสมเด็จฯ ที่ภูพิงค์ จ.เชียงใหม่ ตอนนั้นบินแล้วด้วย ติดต่อกันก็ยาก บินที ก็หายไปหลายวัน เจอกันอีกทีก็ได้เจอแป๊บเดียว วันที่เจอที่เชียงใหม่จึงได้แต่ไปเดินเที่ยวกันที่กาดสวนแก้ว (หัวเราะ) เจอกันวันเดียว ก็ต้องไปร้องเพลงถวายแล้ว”
วัยที่ต่างกันถึง 18 ปี?
ช่วงชีวิตคนเราก็แปลก อาเธอร์เล่า ตอนอายุ 18-19 คนเราก็จะมองผู้ใหญ่ อยากคบกับผู้ใหญ่ ตอนเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็มีเด็ก หรือคนอายุน้อยกว่าอย่างวัยนักศึกษาเข้ามาหา แต่โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่ “สายเปย์” ใดๆ เขาย้ำ
“ในการคบหากับคนที่อายุน้อยกว่า แล้วเราทำงานแล้ว มีรายได้แล้ว ถ้าอีกฝ่ายเด็กกว่า ก็ไม่เป็นไรที่เราจะเป็นคนจ่ายค่าอาหาร ค่าเที่ยว แต่ไม่เคยจ่ายอย่างอื่นอย่างค่าเทอมนะ อีกอย่างคงเป็นเพราะบอลเป็นคนที่ดูแลตัวเองมาตลอดตั้งแต่เด็ก และมีความรับผิดชอบ เขาเลยเหมือนผู้ใหญ่”
ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว น่าแปลกมาก แม้จะต่างกันหลายๆ ด้าน และทั้งคู่ก็มีโอกาสได้เจอคนหน้าตาดี และมีฐานะจากหน้าที่การงาน ทั้งคู่ก็แทบไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย และแทบจะไม่ได้ทะเลาะกันเลย
เมื่อบอลเรียนจบก็ได้งานกับสายการบินแห่งชาติ การที่ทั้งสองเป็นคนทำงานสายการบิน ทำให้ไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ต่างคนต่างบิน ต่างคนต่างไป ต่างเวลา แยกคนละซีกโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดและสม่ำเสมอตลอดมาก็คือ เขาทั้งสองคุยกันแทบทุกวันขณะที่อยู่ต่างแดน
อายุเป็นเรื่องหนึ่งที่ห่างกัน แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่มีส่วนต่างอีกอย่างก็คือ "อารมณ์" ขณะที่อาเธอร์เป็นคนอารมณ์ร้อน เขาโชคดีมากที่ได้พบคู่ชีวิตที่เป็นคนอารมณ์เย็น
“ผมเป็นคนหัวร้อน อารมณ์เสีย เขาก็เข้าใจนะ ไม่ร้อนด้วย ก็ผมเป็นลูกคนเดียว เกิดราศีสิงห์ วันเสาร์ แรงนะ (หัวเราะ) เวลาขับรถ ผมเป็นคนขับ แล้วก็เป็นปกติที่คนขับรถก็ต้องมีสบถก่นด่าบ้าง บางทีก็มีหงุดหงิดว่า ทำไมเขาไม่เข้าข้างเรานะ มีครั้งหนึ่งไปหัวหินด้วยกัน ระหว่างทางเขาก็จะหลับตลอด ไอ้เราก็...หลับตลอดทางแบบนี้ ทำไมไม่นอนอยู่บ้านล่ะ!
"บางทีก็อยากให้มีคนช่วยดูทางบ้าง แล้วเราก็อยากจะมีคนคุยด้วย เลยหงุดหงิด พอทีหลัง เขาพกไอแพดเอามาเล่นเกมเวลาขึ้นรถ แล้วปล่อยให้เราขับไป จริงๆ มารู้ทีหลัง ก็คือเพราะเราขับรถไป ว่าคนนู้นคนนี้ไป เขาจะได้ไม่รู้สึกอะไรเพราะมีไอแพดเกมเล่น แล้วเราก็ไม่ต้องมีเรื่องหงุดหงิดกัน”
มองการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกันอย่างไร
ขณะที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (ณ กุมภาพันธ์ 2562) การออกกฎหมายใหม่อาจจะหยุดชะงัก หรือต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่เมื่อการเมืองลงตัว การที่มี พรบ. คู่ชีวิตออกมารับรองความสัมพันธ์ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบชายหญิง และแม้คู่รักไม่ได้มีสิทธิ์เท่าเทียมคู่หญิงชายที่ได้รับการรับรองจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ก็จุดประกายความหวังให้แก่หลายๆ คู่ที่อยู่กันมานาน และไม่ได้มองคนอื่นแล้ว อย่างคู่นี้
"ก็คงมีแต่เรื่องบ้านหลังนี้ที่อยู่ด้วยกัน ที่ต้องบริหารจัดการให้เรียบร้อย ถ้ามีกฎหมายก็ดี การทำงานสายการบิน เราก็ไม่รู้อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็อยากมีหลักประกันบางอย่างเกี่ยวกับบ้านหลังนี้เอาไว้ ถ้ามี พรบ. ออกมา ก็จะจดนะครับ"
ความรักบนเส้นทางความแตกต่างใช่ว่าจะยากลำบาก เขาทั้งสองทำให้เห็นแล้วว่า ความเข้าใจ การสื่อสารกันสม่ำเสมอ จะช่วยประคับประคองความสัมพันธ์เอาไว้ได้ ทั้งยังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ในปีหน้า (ค.ศ.2020) ทั้งคู่เตรียมเอาไว้แล้วว่าจะจัดงานฉลองครบรอบปีที่ 20 ที่ร่วมใช้ชีวิตด้วยกันมานับตั้งแต่ได้พบกันเมื่อปี 2000
เรื่อง : วิทยา แสงอรุณ