สกอตต์ มอร์ริสัน: นายกฯ ออสเตรเลียผู้สำนึกผิด ยอมขอโทษประชาชนที่รับมือโควิด-19 พลาด
การเอ่ยคำขอโทษต่อหน้าสาธารณชนสำหรับผู้นำประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สำหรับ สกอตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) แม้คำว่า ‘เสียใจ’ อาจเดิมพันด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียของเขา แต่เขาก็ยอมเอ่ยปากรับผิดเพื่อให้สังคมก้าวข้ามปัญหาไปด้วยกัน
“ผมมีหน้าที่รับผิดชอบแผนการฉีดวัคซีน และรับผิดชอบความท้าทายต่าง ๆ ทั้งเรื่องที่ควบคุมได้และไม่ได้ ผมขอยืนยันให้ทุกคนมั่นใจว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเรากำลังพลิกสถานการณ์ให้กลับมา
“ผมเสียใจจริง ๆ ที่เราไม่สามารถบรรลุเป้าที่หวังไว้เมื่อช่วงต้นปี (2021) แน่นอนผมเสียใจ แต่ที่สำคัญกว่าคือ เราโฟกัสเต็มที่เพื่อให้มั่นใจว่า เรากำลังพลิกสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง”
นายกฯ ออสเตรเลีย กล่าวคำว่า ‘เสียใจ’ จากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็นครั้งแรก ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2021
แรงกดดันให้ยอมรับผิด
คำขอโทษมีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากเขาถูก เจสัน ฮอว์กินส์ นักจัดรายการวิทยุท้องถิ่นของสถานี Kiis FM จี้ให้ขอโทษออกอากาศระหว่างการสัมภาษณ์ เนื่องจากความล่าช้าของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน จนโควิด-19 กลับมาระบาดหนัก และทำให้ประชากรครึ่งประเทศต้องถูกกักอยู่ในบ้านภายใต้มาตรการล็อกดาวน์
“คุณบอกผมด้วยความสัตย์จริงได้ไหมว่ารัฐบาลรับผิดชอบ เช่น ผมยังไม่เคยได้ยินคำว่า ‘เสียใจ’ หรือพูดว่า ‘นี่ทุกคน ผมเสียใจนะ เราทำผิดพลาดไป แต่เรากำลังแก้ไขให้ถูกต้องอยู่ตอนนี้” ฮอว์กินส์ บอกกับนายกฯ ออสเตรเลีย
“ใช่ เรามีปัญหามากมาย ผมไม่เถียงหรือปฏิเสธเรื่องนั้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ คุณต้องแก้ปัญหาและทำให้โครงการ (ฉีดวัคซีน) กลับมาเป็นไปตามแผน ซึ่งนั่นคือเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น” นายกฯ มอร์ริสัน ตอบกลับโดยยังไม่พูดว่าขอโทษ หรือเสียใจ
ฮอว์กินส์ บอกกับนายกฯ อีกว่า ในที่ทำงานของเขาหากมีใครทำผิดพลาดร้ายแรง มันคือความรับผิดชอบทั้งหมดของคนผู้นั้น
“คุณกล่าวคำขอโทษ คุณยอมรับปัญหา และเราก็ก้าวข้ามมันไป ผมไม่ได้พยายามโจมตีนะ ผมคิดว่ามันเป็นแค่ความคับแค้นใจ เราถูกล็อกดาวน์ คุณแค่พูดคำว่า ‘ขอโทษนะเจส (เจสัน)’ มันจะทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาก และทำให้รู้สึกว่าผมสามารถก้าวข้ามมันไปได้”
นายกฯ มอร์ริสัน ตอบกลับว่า “ใช่ เราเจอปัญหาและเรากำลังจัดการกับมัน นั่นคือสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวัน ใช่ รัฐบาลรับผิดชอบเรื่องนี้ และผมก็รับผิดชอบเรื่องนี้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงรับผิดชอบด้วยการแก้ไขปัญหาและทำให้มันถูกต้อง
“เรามีปัญหา เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัยเลย และปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้เสมอไป นั่นคือธรรมชาติของโควิด-19”
ฮอว์กินส์ ยังไม่ลดละความพยายามและถามจี้ต่อว่า “สกอตต์, แม้แต่คำว่า ‘ผมผิดเอง’ (my bad) ผมก็รับได้นะ ถ้าคุณทำไม่ได้ ผมจะบอกคุณให้ มันสะกดอย่างนี้ใช่ไหม S-O-R-R-Y (เสียใจ)?”
หลังจากนักจัดรายการวิทยุฝีปากกล้าเอ่ยประโยคนี้ออกไป ผู้นำออสเตรเลียไม่ได้ตอบโต้อะไร เพียงแต่ยืนยันว่า เขาเข้าใจความคับแค้นใจของประชาชน และรัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขสถานการณ์ให้ดีที่สุด
“เราแค่ต้องอดทนกันต่อไป ช่วยกันทำงาน มองมุมบวกเข้าไว้ และเราจะผ่านมันไป” นายกฯ มอร์ริสัน พยายามลดอุณหภูมิความร้อนแรงของบทสนทนา แต่ฮอว์กินส์ก็สวนกลับไปว่า
“เรากำลังอดทนอยู่ เรากำลังช่วยกันทำงานแต่จนกว่าจะมีการแสดงความรับผิดชอบ มันเป็นเรื่องยากที่จะก้าวข้ามไป”
นั่นน่าจะเป็นประโยคจี้ใจดำที่ทำให้นายกฯ ออสเตรเลีย ออกมาประกาศขอโทษประชาชนในวันต่อมา
จากฮีโร่กลายเป็นซีโร่
ช่วงต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2020 นายกฯ มอร์ริสันได้รับคำชื่นชมจากประชาชนและคนทั่วโลกว่าสามารถรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ได้ดีเยี่ยม จนกระทั่งปี 2021 เมื่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง จนรัฐบาลท้องถิ่นอย่างน้อย 3 มลรัฐ (นิวเซาท์เวลส์, วิกตอเรีย, เซาท์ออสเตรเลีย) ซึ่งมีประชากรรวมกัน 13 ล้านคน หรือประมาณครึ่งประเทศ ถูกบังคับให้ใช้มาตรการล็อกดาวน์
แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ในออสเตรเลีย นับถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2021 จะมีทั้งหมด 915 ราย น้อยกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนครซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผู้ติดเชื้อใหม่เฉพาะวันที่ 21 กรกฎาคม ทั้งหมด 110 ราย ทำให้หลายฝ่ายวิตกจนรัฐนิวเซาท์เวลส์ ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์มาติดต่อกัน 4 สัปดาห์
ส่วนหนึ่งของปัญหาการระบาดที่รุนแรงมาจากการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า โดยช่วงต้นปี 2021 นายกฯ มอร์ริสันประกาศเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 4 ล้านโดส ภายในปลายเดือนมีนาคม แต่ทำได้จริงแค่ 3.4 ล้านโดส
จากตัวเลขสถิติของรัฐบาลออสเตรเลีย นับถึงเดือนมิถุนายน 2021 มีประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 5 ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ถือเป็นอัตราต่ำสุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่นายกฯ มอร์ริสัน บอกว่า รัฐบาลกำลังเร่งกระจายวัคซีนให้เร็วขึ้น และยอดผู้ได้รับวัคซีนครบโดส นับถึงกลางเดือนกรกฎาคมเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ส่วนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เพิ่มเป็นร้อยละ 36 ของทั้งประเทศ
อีกสาเหตุที่ทำให้นายกฯ ออสเตรเลียโดนวิจารณ์อย่างหนักจากความผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ยังมาจากคำพูดของเขาที่ย้ำผ่านสื่อหลายครั้งระหว่างเดือนมีนาคม และเมษายน 2021 ว่า การกระจายวัคซีนของรัฐบาลจะเป็นไปอย่าง “ไม่รีบร้อน” (It’s not a race) เพราะอยากให้เวลากับการตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่เป็นอันตราย
คำว่า “ไม่รีบร้อน” นี้มีขึ้นไม่นานหลังจากออสเตรเลียเพิ่งอนุมัติรับรองวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ในเดือนมกราคม และแอสตร้าเซเนก้าในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน แต่เมื่อผู้นำประเทศบอกว่า “ไม่รีบร้อน” กระจายวัคซีนจนกลายเป็นวิกฤตระลอกใหม่ จึงทำให้หลายคนไม่พอใจ และกดดันให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
เปลี่ยนผู้นำประเทศ 5 คนใน 10 ปี
สกอตต์ มอร์ริสัน เกิดวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ.1968 ในเขตชานเมืองซิดนีย์ เขาเป็นอดีตพนักงานการท่องเที่ยวออสเตรเลีย ก่อนลงเล่นการเมืองสังกัดพรรคลิเบอรัล และได้รับเลือกเข้ารัฐสภาครั้งแรกในปี 2007 แม้จุดยืนทางสังคมจะเป็นแนวอนุรักษนิยมเคร่งศาสนา แต่ในการทำงานเขาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนักการเมืองสายกลางที่เน้นปรับตัวตามสถานการณ์ ไม่ยึดมั่นในอุดมการณ์ใดเพียงแนวทางเดียว
ชื่อของ สกอตต์ มอร์ริสัน กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศจากการรับตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลผู้อพยพในรัฐบาลของนายกฯ โทนี แอบบอตต์ และใช้นโยบายแข็งกร้าวเพื่อสกัดกั้นเรือผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้ามาเทียบท่าแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลีย
มอร์ริสัน ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ของออสเตรเลียต่อจาก มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 หลังจากความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาลทำให้นายกฯ เทิร์นบูลล์ ต้องประกาศสละเก้าอี้ และทำให้ออสเตรเลียเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศเป็นคนที่ 5 ภายในเวลาเพียง 10 ปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะแพ้การเลือกตั้ง แต่เป็นเพราะความวุ่นวายภายในพรรคเดียวกัน ดังนั้น การออกมารับผิดในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของนายกฯ มอร์ริสัน อาจทำให้ต้องเดิมพันด้วยเก้าอี้ผู้นำประเทศในอนาคต
คำขอโทษของผู้นำที่ดี
ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว เผยแพร่บทความเกี่ยวกับหลักการยอมรับผิดในที่สาธารณะของผู้นำโดยชี้ว่า ผู้นำที่ดีไม่ควรกล่าวคำขอโทษพร่ำเพรื่อ หรือง่ายเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ดูอ่อนแอ ขาดความน่าเชื่อถือ มันยังถูกบันทึกไว้เป็นประวัติ และอาจนำไปใช้เป็นหลักฐานต่อสู้ทางคดีความ หรือทางการเมือง แต่การนิ่งเฉยก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าในหลายกรณี
บาร์บารา เคลเลอร์แมน อาจารย์ด้านความเป็นผู้นำสาธารณะประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ผู้นำส่วนใหญ่มักขอโทษเมื่อทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อองค์กร หรือต่อความสัมพันธ์กับผู้เสียหาย หรือขอโทษด้วยความจริงใจเพราะสำนึกผิดจริง
การตัดสินใจว่าต้องขอโทษหรือไม่ควรพิจารณาบนพื้นฐานว่า คำขอโทษนั้นมีแนวโน้มทำให้เป้าหมายที่สำคัญกว่าบรรลุผลหรือไม่? ความผิดที่ก่อไว้สร้างความเสียหายรุนแรงเพียงใด? ผู้นำสมควรรับผิดชอบเองหรือไม่? และความเสียหายจากการนิ่งเฉยมีมากกว่าการออกมารับผิด ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครสามารถทำงานนี้แทนได้
บทความดังกล่าวยกตัวอย่างอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาขอโทษต่อพฤติกรรมของตนเองในข้อหาล่วงละเมิดเด็กฝึกงานในทำเนียบขาวที่ชื่อว่า โมนิกา ลูวินสกี การขอโทษครั้งนั้นนอกจากจะได้รับการยกโทษจากภรรยาและครอบครัว เขายังได้รับโอกาสให้ทำงานเป็นผู้นำประเทศต่อไปจนครบวาระ และได้รับคำชื่นชมจากหลายฝ่าย
อย่างไรก็ตาม บทความเตือนว่า การขอโทษที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ต้องเกิดขึ้นถูกเวลาและมีเนื้อหาที่จริงใจหนักแน่นพอ ซึ่งส่วนนี้เป็นทักษะที่ต้องประเมินและตัดสินใจแตกต่างกันไปตามสถานการณ์
สำหรับกรณีของนายกฯ สกอตต์ มอร์ริสัน คงต้องดูกันต่อไปว่า การออกมาขอโทษของเขาจะกลายเป็นหอกทิ่มแทงตัวเองทางการเมืองในอนาคต หรือทำให้ชาวออสเตรเลียยกโทษ และกลับมารวมพลังฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ร่วมกันอีกครั้ง
แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร การคาดหวังให้ผู้นำประเทศที่ทำผิดพลาดออกมายอมรับผิด บ่อยครั้งดูจะเป็นเรื่องยาก คล้ายกับบทเพลงของ เอลตัน จอห์น ที่ว่า ‘Sorry seems to be the hardest word’ หรือ 'ขอโทษดูเหมือนเป็นคำที่พูดยากที่สุด' อย่างนั้นจริง ๆ
ข้อมูลอ้างอิง:
https://hbr.org/2006/04/when-should-a-leader-apologize-and-when-not
https://www.nytimes.com/2021/07/22/world/australia-scott-morrison-vaccines-apology.html
https://www.theguardian.com/australia-news/2021/jul/21/scott-morrison-refuses-to-apologise-for-covid-vaccine-rollout-in-clash-with-kiis-fm-host
https://www.bbc.com/news/world-australia-45292637
ภาพ: Maree Williams และ James D. Morgan/Getty Images