วิคเตอร์ ออร์บาน: นายกฯ ฮังการี ฝ่าโควิด-19 นำผู้คนกลับสู่ชีวิตปกติใน 90 วัน เบื้องหลังคนเต็มสนามในยูโร 2020
“วัคซีนคือเรื่องพื้นฐาน และเป็นวิธีเดียวที่เราใช้ป้องกันไวรัส”
นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ขณะที่ประเทศในยุโรปตะวันออกแห่งนี้กำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 11,000 คน และยอดผู้เสียชีวิตสะสมพุ่งแตะ 20,000 ราย กลายเป็นชาติที่มีคนตายเทียบกับจำนวนประชากร (9.8 ล้านคน) สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 3 เดือน ฮังการีกลายเป็นชาติเดียวในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออกที่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ จนสามารถประกาศให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอีกต่อไป
ภาพความสำเร็จนี้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาชาวโลกผ่านการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลยูโร 2020 (12 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2021) โดยฮังการีเป็นชาติแรกของทัวร์นาเมนต์ที่อนุญาตให้แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันได้เต็มความจุของสนาม จนหลายคนตั้งคำถามว่า พวกเขาก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
วัคซีนคือเป้าหมาย
แน่นอนว่าความสำเร็จดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากประเทศชาติขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ วิคเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) นายกรัฐมนตรีของฮังการี
“ผมเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเราจะมีอิสรภาพในฮังการีช่วงฤดูร้อนนี้อย่างแน่นอน”
ออร์บานประกาศเป้าหมายของรัฐบาลในช่วงเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิปลายเดือนมีนาคม 2021 พร้อมย้ำกับทุกฝ่ายว่า การกระจายวัคซีนให้กับประชาชนคือหัวใจสำคัญในการรับมือโควิด-19 และจะเป็นทางออกเดียวของวิกฤตด้านสาธารณสุขในครั้งนี้
ฮังการีเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยเคสที่พบใหม่ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์จากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ (อัลฟ่า) ซึ่งแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาลจนรัฐบาลต้องระดมนักศึกษาแพทย์และพยาบาลมาทำงานเป็นอาสาสมัครคอยช่วยเหลือหมอและพยาบาลตามสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ
นอกจากนี้ ฮังการียังประกาศเคอร์ฟิวเพื่อล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสมรณะตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2020 จนถึงช่วงกลางเดือนมีนาคมในปีต่อมา ขณะเดียวกันก็เร่งเจรจากับผู้ผลิตยาทั่วโลกเพื่อหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนอย่างเต็มที่
เบื้องต้นฮังการีได้รับการสนับสนุนวัคซีนในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา และแอสตราเซเนกา ทว่าการแจกจ่ายวัคซีนยังคงล่าช้าเกินไปไม่ทันใจออร์บาน ทำให้รัฐบาลฮังการีตัดสินใจเป็นชาติแรกของอียูที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนเพิ่มเติมจากจีนและรัสเซีย
หาวัคซีนเชิงรุก
“หากวัคซีนไม่มาจากกรุงบรัสเซลส์ (สำนักงานใหญ่อียู) เราก็ต้องหามาให้ได้จากที่อื่น ไม่มีใครสามารถปล่อยให้ชาวฮังกาเรียนตายไปเพียงเพราะว่าบรัสเซลส์แจกจ่ายวัคซีนล่าช้ากันเกินไป” นายกฯ ฮังการีประกาศกร้าว
วัคซีนจากโลกตะวันออกที่รัฐบาลของนายออร์บาน ออกเอกสารรับรองในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 คือ ซิโนฟาร์มจากจีน และสปุตนิกไฟว์ของรัสเซีย หลังจากนั้นอีก 1 เดือนถัดมา ฮังการียังอนุมัติเพิ่มเติมอีก 2 ยี่ห้อ คือ คอนวิดีเซีย (Convidecia) ของจีน และโควิชีลด์ (Covishield) จากอินเดีย ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีวัคซีนที่พร้อมใช้งานมากถึง 7 ชนิด
หลังได้รับวัคซีนชุดแรกจากจีนจำนวน 550,000 โดสกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ออร์บานก็ไม่รอช้า เขารีบประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมารับวัคซีนให้เร็วที่สุด ด้วยการจับมือกับประธานาธิบดียาโนส อาเดร์ แห่งฮังการี ทำตัวเป็นแบบอย่าง เข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์มเข็มแรกในเดือนเดียวกันทันที เพื่อเรียกความมั่นใจจากประชาชน
ทั้งนี้ ผลสำรวจในช่วงแรกพบว่า มีชาวฮังกาเรียนเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพวัคซีนจากจีน เทียบกับร้อยละ 84 ที่ยินดีรับวัคซีนจากชาติตะวันตก และร้อยละ 43 ที่พร้อมฉีดวัคซีนของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้นำทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พร้อมออกมาตรการจูงใจต่าง ๆ เป็นโปรโมชันเสริม ตัวเลขผู้เข้ารับวัคซีนในฮังการีก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยภายในกลางเดือนมีนาคม 2021 ฮังการีมีประชากรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มประมาณ 16% มากเป็นอันดับ 2 ของอียู รองจากมอลตา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกประเทศในกลุ่มรวมกันซึ่งอยู่แค่ราว ๆ 9%
ประกาศแผนหยุดล็อกดาวน์
ด้วยยอดการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วทำให้ ณ เวลานั้น นายกฯ ออร์บานเริ่มประกาศแผนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แบบเป็นขั้นตอน โดยตั้งเป้าหมายแรกที่การฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้ครอบคลุมประชากร 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ หรือประมาณ 2.5 ล้านคน ภายในวันที่ 19 เมษายน เน้นกลุ่มครูและนักเรียนเป็นอันดับแรก เมื่อทำสำเร็จรัฐบาลจะลดเวลาเคอร์ฟิวลง 2 ชั่วโมง พร้อมอนุญาตให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้อีกครั้ง
จากนั้นในวันที่ 21 พฤษภาคม หรือหลังจากประกาศแผนคลายล็อกดาวน์ไม่ถึง 90 วัน นายกฯ ออร์บานออกมาประกาศความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้ประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ และยกเลิกมาตรการควบคุมเกือบทั้งหมด รวมถึงการบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และกิจการห้างร้าน ตลอดจนร้านอาหารและโรงมหรสพสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ
“ฉันมีความสุขที่ได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 อีกครั้ง ตอนนี้เรามีอิสระมากขึ้น และฉันสามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ได้โดยไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยอีกต่อไป”
ปูเตรี นอร์เลียนา นักศึกษาชาวมาเลเซียที่เดินทางไปเรียนในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เล่าประสบการณ์ต่างแดนที่เธอสัมผัสมากับนิวสเตรตส์ไทมส์ สื่อท้องถิ่นของมาเลเซีย
ความสำเร็จในการกระจายวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในฮังการี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เคยสูงกว่า 11,000 คน ในเดือนมีนาคม 2021 ลดลงมาเหลือเพียงวันละไม่ถึง 200 คน ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน หรือภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน
บัตรภูมิคุ้มกันโควิด-19
สำหรับแรงจูงใจที่เป็นกุญแจสำคัญซึ่งทำให้ชาวฮังกาเรียนและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฮังการี มีความกระตือรือร้นในการออกมาฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นพิเศษ ต้องยกให้กับนโยบาย ‘บัตรรับรองภูมิคุ้มกัน’ (immunity card) ที่รัฐบาลของนายออร์บานนำมาบังคับใช้
‘บัตรรับรองภูมิคุ้มกัน’ ที่ออกโดยรัฐบาล จะมอบให้กับผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม หรือผู้ที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เองหลังหายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยผู้ถือบัตรนี้สามารถใช้คู่กับบัตรประชาชน หรือบัตรยืนยันตัวตนอื่น ๆ เพื่อรับสิทธิพิเศษในการเข้าใช้บริการ หรือเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ โรงแรม สปา โรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และร้านอาหาร โดยไม่ต้องกังวลกับมาตรการป้องกันโควิด-19 อีกต่อไป
ปุสกัส อารีน่า สนามฟุตบอลในกรุงบูดาเปสต์ ของฮังการี ที่เป็น 1 ใน 10 ประเทศเจ้าภาพใช้จัดการแข่งขันศึกยูโร 2020 ก็เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลฮังการีบังคับใช้กฎเกณฑ์นี้ด้วยเช่นกัน โดยแฟนบอลที่เห็นเข้าไปเชียร์กันจนเต็มความจุของสนามในนัดที่เจ้าภาพลงเล่น พวกเขาล้วนมีบัตรยืนยันว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้นายออร์บานจะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำที่พาฮังการีฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว แต่ตัวเขาก็โดนวิจารณ์เช่นกันว่า มาตรการเปิดประเทศ - คลายล็อกดาวน์เหล่านี้เกิดขึ้นเร็วเกินไป และอาจไม่ใช่วิธีป้องกันโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา และวัคซีนที่ฉีดกันมาอาจยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ มาตรการ ‘บัตรรับรองภูมิคุ้มกัน’ ยังเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติต่อประชาชนกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยนโยบายต่าง ๆ อาจมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากฮังการีกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ในปี 2022
ผู้นำฝ่ายขวา
นายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน จัดเป็นนักการเมืองฝ่ายขวาจัด เขาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคฟิเดซ (Fidesz) ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมและอนุรักษนิยมตั้งแต่ปี 1993 เคยชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ ฮังการี สมัยแรกในปี 1998 - 2002 และกลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
นายกฯ ออร์บานเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1963 เขาจบการศึกษาสาขานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอิตเวิช โลรานด์ (EötvösLoránd University) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของฮังการีในปี 1987 จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนกลับมาลงเล่นการเมืองในยุคของการปฏิวัติโค่นล้มระบอบคอมมิวนิสต์ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นในปลายทศวรรษ 1980s
ผู้นำฮังการี วัย 58 ปี มักถูกวิจารณ์จากโลกตะวันตกกรณีสนับสนุนนโยบายต่อต้านเสรีนิยม ด้วยการคัดค้านการเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง และไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิความเท่าเทียมกันของกลุ่ม LGBTQ+
อย่างไรก็ตาม ด้วยความมีวิสัยทัศน์ ทำงานเชิงรุก และวางแผนรับมือการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และแม่นยำ ทำให้ชื่อของวิคเตอร์ ออร์บาน นายกฯ ฮังการี ได้รับการกล่าวขวัญในฐานะหนึ่งในผู้นำประเทศที่จัดการวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดของโลก
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.euronews.com/2021/02/28/hungary-s-pm-viktor-orban-vaccinated-against-covid-with-chinese-sinopharm-vaccine
https://apnews.com/article/pandemics-europe-viktor-orban-coronavirus-pandemic-china-0b4eea6c2757d2d16b8e5782c65ce418
https://apnews.com/article/europe-hungary-business-soccer-coronavirus-pandemic-77c039cd341df081f7cffebd1925ccaa
https://www.nst.com.my/news/nation/2021/06/698391/malaysians-hungary-see-life-returning-normal-thanks-vaccination
ภาพ: Laszlo Balogh/Getty Images
Laszlo Balogh - Pool / Pool