มาร์โค โปโล: นักเดินทางคนสำคัญแห่งโลกยุคกลาง
“ผมยังบอกเล่าได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่ผมเห็นมา”
มาร์โค โปโล (Marco Polo) นักเดินทางและพ่อค้าชาวเวนิส ที่ได้เดินทางจากยุโรปไปสู่จีนโดยผ่านเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางการค้าทางบกเก่าแก่ซึ่งเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก มีความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี ได้กล่าวไว้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต แก่ผู้ที่ได้อ่านหนังสือบันทึกการเดินทางของเขากลุ่มหนึ่งที่ได้เดินทางมาที่บ้านของเขา เพื่อพยายามให้เขายอมรับว่าบันทึกนั้นเป็นเพียงเรื่องแต่ง
เรื่องราวของมาร์โค โปโล ถือเป็นเรื่องราวที่ให้แรงบันดาลใจกับนักเดินทางในยุคกลางและยุคต้นสมัยใหม่ของยุโรปเป็นอย่างมาก จนได้นำไปสู่ความพยายามในการบุกเบิกเส้นทางใหม่ ๆ ของชาวยุโรปในช่วงเวลาต่อมา ไม่เว้นแม้แต่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ที่ได้เดินทางนำพาชาวยุโรปให้รู้จักกับ ‘โลกใหม่’ หรือทวีปอเมริกา โดยระหว่างการเดินทางนั้น โคลัมบัสได้นำบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ติดตัวไปด้วยตลอดเวลา
ชีวิตช่วงต้น
เด็กน้อย มาร์โค โปโล ได้ลืมตาดูโลกในปีคริสต์ศักราช 1254 เขาเกิดมาในครอบครัวพ่อค้าเมืองเวนิส (อิตาลีในปัจจุบัน) ทำให้เขาได้ร่ำเรียนในวิชาเกี่ยวกับการค้าขาย การเดินเรือ และภาษาต่าง ๆ ชีวิตในวัยเยาว์ของมาร์โคส่วนใหญ่ได้รับการเลี้ยงดูโดยญาติ ๆ ของเขา เนื่องด้วยก่อนที่เขาจะเกิดได้ไม่นานนัก พ่อและลุงของเขาได้ออกเดินทางเพื่อไปทำการค้าในต่างแดน ในขณะที่แม่ของเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก
ในช่วงเวลานี้เอง พ่อและลุงของเขาซึ่งมีนามว่า นิคโคโล โปโล และ มาฟฟิโอ โปโล ได้เดินทางไปค้าขายที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล ก่อนที่จะเดินทางต่อไปที่แหลมไครเมียในบริเวณทะเลดำและเมืองซุไรบริเวณแม่น้ำโวลก้า ซึ่งตกอยู่ภายใต้ของจักรวรรดิมองโกลในขณะนั้น ไม่นานนักหลังจากนั้นได้เกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว เพื่อเลี่ยงอันตรายจากสงคราม พวกเขาจึงต้องเดินทางไปทางตะวันออกจนถึงเมืองบุคฮารา (อุซเบกิสถานในปัจจุบัน) และได้อาศัยอยู่ที่เมืองดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี ในขณะที่อยู่เมืองนั้นเอง พวกเขาได้พบทูตจากราชสำนักมองโกล ซึ่งได้เชิญชวนให้พวกเขาเดินทางต่อไปยังเมืองปักกิ่ง เมื่อไปถึง พวกเขาได้พบกับกุบไล ข่าน ผู้นำของจักรวรรดิมองโกลในตอนนั้น
กุบไล ข่าน สนใจใคร่รู้ในวัฒนธรรมและวิทยาการของชาวยุโรปเป็นอย่างมาก จึงได้ขอให้ นิคโคโล และ มาฟฟิโอ โปโล นำจดหมายไปมอบให้แก่พระสันตะปาปา โดยกุบไล ข่าน ต้องการพระจากคริสตจักร 100 คน และน้ำมันจากตะเกียงในหลุมศักดิ์สิทธิ์ที่เยรูซาเลมเพื่อนำมาสอนและให้ความรู้แก่ประชาชนของตนเอง ขณะเดียวกัน กุบไล ข่านได้มอบตั๋วทองคำ ซึ่งเป็นเหมือนหนังสือเดินทางของราชสำนักมองโกลในสมัยนั้น ให้แก่พวกเขาทั้งสอง เพื่อคุ้มครองในระหว่างเดินทางกลับไปยังเวนิส
ออกเดินทาง
นิคโคโล และ มาฟฟิโอ ใช้เวลา 3 ปีในการเดินทางกลับไปยังเวนิส และได้กลับไปถึงบ้านเกิดในเดือนเมษายนปี 1269 ในตอนนั้นเองที่พวกเขาได้พบกับ มาร์โค โปโล ลูกชายและหลานชายของพวกเขาเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้าที่พวกเขาจะกลับมาถึง พระสันตะปาปาองค์เก่าได้สิ้นพระชนม์ลงในปี 1268 ทำให้พี่น้องโปโลทั้งสองยังไม่สามารถนำสาสน์จากกุบไล ข่านไปส่งแก่คริสตจักรได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่
จนกระทั่งในปี 1271 ภายหลังที่ทั้งสองได้นำสาสน์ไปมอบให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 10 ซึ่งเพิ่งได้รับเลือก พวกเขาก็พร้อมที่จะเดินทางกลับไปยังตะวันออกไกล (Far East) อีกครั้ง โดยในครั้งนี้พวกเขาได้พามาร์โค โปโล ในวัย 17 ปี ออกเดินทางไปด้วย พร้อมกับบาทหลวงคริสต์อีกสองคน ซึ่งทั้งสองก็ได้หนีหายไประหว่างเดินทาง เพราะไม่อยากไปผจญอันตรายระหว่างข้ามดินแดนต่าง ๆ ที่มีสงคราม
ครอบครัวโปโลยังคงเดินทางต่อไปผ่านเมืองเอเคอร์ อาร์มีเนียและอาเซอร์ไบจานบริเวณเทือกเขาคอเคซัส ก่อนที่เดินลงใต้ไปยังบริเวณอ่าวเปอร์เซีย อย่างไรก็ตาม เรือบริเวณท่าเรือในอ่าวเปอร์เซียเวลานั้นมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะเดินทางบนพื้นดินต่อไป โดยพวกเขามุ่งหน้าต่อไปยังทิศตะวันออกผ่านอัฟกานิสถาน ทะเลทรายโกบี ก่อนที่จะถึงราชสำนักของกุบไล ข่าน ในเดือนพฤษภาคมปี 1275
ด้วยความรู้และความสามารถอันปราดเปรื่อง ทำให้ มาร์โค โปโล ได้รับการแต่งตั้งจากกุบไล ข่าน ให้เป็นผู้ตรวจราชการของราชสำนักมองโกล และได้เดินทางไปยังเมืองสำคัญต่าง ๆ บริเวณจีน อินเดีย และพม่าในปัจจุบัน เขายังได้เป็นผู้ปกครองเมืองหยางโจว เมืองใกล้ชายฝั่งทางตะวันออกของจีน เป็นระยะเวลาถึง 3 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่มาร์โคได้เรียนรู้วัฒนธรรมรวมไปถึงเรื่องราวของดินแดนอันห่างไกลทางตะวันออก ซึ่งชาวยุโรปน้อยคนนักจะได้พบเห็น จนกว่าจะถึงศตวรรษที่ 19
กลับสู่ยุโรป
ภายหลังการรับใช้ในราชสำนักมองโกลกว่า 17 ปี ครอบครัวโปโลได้เกิดความกังวลว่าชีวิตพวกเขาอาจจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป หากสิ้นสุดยุคของกุบไล ข่าน ในที่สุดพวกเขาก็ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางกลับสู่ยุโรป ในการเดินทางกลับครั้งนี้ กุบไล ข่านก็ยังได้มอบหมายภารกิจสุดท้ายให้พวกเขา โดยให้เดินทางคุ้มครองเจ้าหญิงมองโกลที่จะเดินทางไปแต่งงานกับเจ้าชายจากเปอร์เซีย โดยในครั้งนี้พวกเขาได้เปลี่ยนเส้นทาง เป็นการเดินทางผ่านเส้นทางทะเล จากทะเลจีนใต้และแวะพักที่อินเดีย
หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่เปอร์เซีย ครอบครัวโปโลได้เดินทางต่อไปยังเมืองแทรปซอน (ตุรกีในปัจจุบัน) เพื่อล่องเรือผ่านทะเลดำไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล ก่อนที่เข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และแล้ว หลังจากที่ได้ออกไปผจญในต่างแดนกว่า 24 ปี มาร์โค โปโลก็ได้กลับถึงเมืองเวนิสอันเป็นบ้านเกิดของเขาอีกครั้ง ในปี 1295 พร้อมกับเงินทองและสมบัติล้ำค่ามากมายจากโลกตะวันออก
เมื่อเขากลับมาถึงยุโรปได้ไม่นานนัก เวนิสได้ทำสงครามกับเจนัว เมืองท่าสำคัญอีกแห่งหนึ่งในเมดิเตอร์เรเนียน มาร์โคจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นกัปตันเรือปืนใหญ่ของเวนิส ในช่วงสงครามนั้นเอง เขาพลาดท่าในการรบ จนถูกจับกุมเป็นเชลยหนึ่งปี ในช่วงที่ถูกจับนี่เอง เขาได้พบกับ รัสติเซียโน่ (Rusticiano) นักเขียนชาวเมืองปิซ่า
มาร์โคได้เล่าเรื่องราวการเดินทางกว่า 24 ปีทั้งหมดให้แก่รัสติเซียโน่ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เองที่ได้นำไปสู่หนังสือเรื่อง ‘บันทึกการเดินทางของ มาร์โค โปโล’ (The Travels of Marco Polo) อันโด่งดัง ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จัก ชาวยุโรปตื่นตากับเรื่องราวการเดินทางไปตะวันออกของมาร์โคเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวยุโรปส่วนใหญ่ในตอนนั้น ถ้าไม่ใช่พ่อค้าก็น้อยคนนักที่จะได้ออกไปเห็นโลกในต่างแดน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมา ก็ได้พบว่าเรื่องราวในบันทึกของมาร์โค โปโล ต่างก็ตรงกับความเป็นจริงตามการค้นพบของ นักวิชาการ นักเดินทาง นักประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันอย่างน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ธนบัตร ความมั่งคั่งของอาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชีย เรื่องราวของพืชพันธุ์ สัตว์ และวัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนต่างๆ
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง มาร์โคได้รับการปล่อยตัว เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบกับครอบครัวที่เมืองเวนิสตลอดช่วงเวลาที่เหลือ และไม่ได้เดินทางไปต่างแดนอีกเลย
เรื่อง: วรินทร์ สิงหเสมานนท์ (The People Junior)
อ้างอิง:
Michael Prestwich, 2014. Medieval People: From Charlemagne to Piero della Francesca (London: Thomas & Hudson Ltd.)
http://www.silk-road.com/artl/marcopolo.shtml
https://www.biography.com/explorer/marco-polo
https://www.history.com/topics/exploration/marco-polo
https://www.thoughtco.com/marco-polo-geography-1433536
ที่มาภาพ
(Photo by: Leemage/UIG via Getty Images)
(Photo By: DEA PICTURE LIBRARY/De Agostini via Getty Images)