แอดมินเพจหอสมุดธรรมศาสตร์: เพจที่ทำ Real-time Content เพื่อทำให้คนอยากใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น
“ทำความรู้จักกับ mRNA ย่อจากอะไรนะ? ใช่ มรณะ อย่างที่มีคนกล่าวไว้หรือเปล่า?”
นี่คือคำโปรยจากคอนเทนต์ เพจ Puey Ungphakorn Library ที่อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคม ว่าในความเป็นจริงตามหลักการวิทยาศาสตร์ mRNA ไม่ได้หมายถึง มรณะ อย่างที่บางคนตีความ
จะเห็นได้ว่า ในหลายเพจของหอสมุดของ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ไล่มาตั้งแต่ เพจ Thammasat University Library, เพจห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์, เพจ Nongyao Chaiseri Library และ เพจ Puey Ungphakorn Library เพจเหล่านี้ผลิตคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาแซว ไปจนถึงหยิกแกมหยอก ที่เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองอยู่เสมอ จนหลายครั้งคนอ่านซี้ดปากด้วยความแซ่บ ตามมาด้วยความคิดที่ว่า “คิดได้ไงเนี่ย” ก่อนที่จะคลิกไลก์ ไปจนถึงช่วยแชร์จนหลายคอนเทนต์กลายเป็นกระแสให้ติดตามกัน
และแม้จะทำคอนเทนต์ในแนวทางนี้ แต่จุดหมายสุดท้ายของโพสต์แต่ละโพสต์ก็ไม่เคยละเลยเรื่องการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกเพจ
กลุ่มคอนเทนต์เหล่านี้ คือคอนเทนต์ที่ใช้แนวคิดที่เรียกว่า Real-time Content ซึ่งเป็นการออกแบบคอนเทนต์โดยหยิบจับกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมมาช่วยในการเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้คนสนใจ ‘สาร’ ที่ทางเพจต้องการสื่อสาร นั่นหมายถึงการนำเสนอองค์กรให้เป็นที่รู้จัก ในมุมนี้สำหรับ ‘หอสมุดธรรมศาสตร์’ หลายครั้งจบที่การแนะนำหนังสือในห้องสมุด เพื่อให้สมาชิกสนใจหนังสือและหยิบยืมไปอ่าน
ยิ่งในช่วงเวลาที่ผู้คนอยู่กับบ้านเป็นหลัก การนำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์นั้นทำให้ผู้คนสนใจและหันมาใช้บริการยืมหนังสือแบบเดลิเวอรี ไปจนถึงการให้บริการทางออนไลน์ในอีกหลายรูปแบบอย่างเช่น หนังสือเสียงสำหรับนักศึกษาที่พิการทางการมองเห็น, การดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ ไปจนถึงบริการคำแนะนำออนไลน์ในเรื่องการทำธีสิส
แม้แต่ Netflix ก็มีให้บริการนะ...
ปรัชญาการตั้งมหาวิทยาลัยของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็คือ “...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา…” บทบาทของหอสมุดธรรมศาสตร์ คงไม่ต่างกันในแง่ว่า “ห้องสมุดเหมือนบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร”
นี่คือบทสัมภาษณ์ของกลุ่ม ‘แอดมินเพจหอสมุดธรรมศาสตร์’ ที่จะทำให้คนอ่านรู้จักพวกเขามากยิ่งขึ้น
“เราเป็นเพจแบบสาธารณะ แล้วก็มองว่าเราเป็นองค์กรหนึ่งที่เราจะสามารถ call out อะไรออกไปได้” จุ๊บแจง-พิมพ์ชนก หนึ่งในสมาชิกแอดมินเพจหอสมุดธรรมศาสตร์พูดถึงความตั้งใจในการทำเพจหอสมุดฯ เพื่อสื่อสารกับลูกเพจ
กลุ่มแอดมินเพจหอสมุดธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย เอ-ชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช, จุ๊บแจง-พิมพ์ชนก สิริพงศ์ทักษิณ และ ผึ้ง-ผจงรักษ์ ซำเจริญ ล้วนทำหน้าที่อย่างแข็งขันตั้งแต่โพสต์คอนเทนต์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกห้องสมุด ไปจนถึงช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แม้แต่นักศึกษาแชตขอความช่วยเหลือในปัญหาส่วนตัว เช่นขอคำแนะนำในเรื่องโควิด-19 หรือแม้แต่แชตไปถามว่าวันนี้ตลาดที่มหาวิทยาลัยเปิดไหม? กลุ่มแอดมินเหล่านี้ก็เต็มใจที่จะช่วยเหลือพวกเขาเสมอ
เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริง ๆ
“นักศึกษาแค่ไม่รู้ว่าจะต้องติดต่อไปยังหน่วยงานไหน คิดว่าเราให้ข้อมูลได้ก็ช่วยกัน” กรณีมีนักศึกษาที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แต่ก็ยังมีหอสมุดธรรมศาสตร์เป็นที่พึ่งพาในยามคับขัน
ก้าวออกจากกรอบเดิมๆสู่ภาพลักษณ์ใหม่ด้วยการทำ Real-time Content
“เรามองว่าเราก็ควรจะหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ที่มีอยู่ มองว่าห้องสมุดไม่ใช่แค่สถานที่ที่มีหนังสือมาวางไว้เท่านั้นแล้วให้คนเปิดอ่าน มันไม่ใช่แล้ว แต่ว่าเราจะต้องเป็นเชิงรุกมากขึ้น ต้องหยิบยื่นในสิ่งที่เรามีเพื่อให้คนเข้าถึงเรามากขึ้น รู้จักเราแล้วก็นำสิ่งที่เราประยุกต์ให้กับเขา มอบให้เขาใช้ได้อย่างเต็มที่เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง อาจจะมองเผิน ๆ ว่ามันคือความตลกที่จะดึงดูดให้เขาสนใจ แต่ว่าก็ต้องไม่ทิ้งความเป็นห้องสมุดหรือว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอให้เขาค่ะ”
จุ๊บแจง-พิมพ์ชนก เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เพจหอสมุดให้หลุดออกจากรูปแบบเดิม ๆ และหันมาทำคอนเทนต์รูปแบบใหม่มากขึ้น
เอ-ชัยสิทธิ์ ได้เพิ่มเติมเหตุผลในตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบเพจว่า “เรามองว่าห้องสมุดมีอะไรอยู่เยอะมาก แต่คนไม่ค่อยรู้ว่าเรามี อย่างหนังสือที่มันเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ คือคนไม่รู้หรอกว่าห้องสมุดมี แต่ว่าเราเห็นแล้วว่าสถานการณ์มันมาแล้ว มันเป็นโอกาสที่จะทำให้คนรู้จักกับเรามากขึ้น รู้ว่าเรามีอะไร มีความสนใจที่จะติดตามข้อมูลจากเรามากขึ้น เราก็เลยคิดว่าใช้โอกาสที่มีกระแสสังคมเหล่านี้ในการดึงให้เขาเข้ามาสนใจห้องสมุดมากขึ้น”
หลังจากเพจหอสมุดตั้งใจว่าจะหันมาทำแนวทางใหม่ ภาพลักษณ์เพจเองก็ปรับให้ดูเข้าถึงง่ายขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากการใช้ ‘มีม’ ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่สนใจโลกออนไลน์โดยเฉพาะนักศึกษาเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
“แนวทางคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่ให้ลูกเพจเข้ามามีส่วนร่วมกับเพจมากขึ้นผ่านการตั้งคำถามด้วยมีม อันนี้มาจากการสังเกตความสนใจของลูกเพจว่าต้องทำคอนเทนต์แบบใดถึงจะดึงดูดความสนใจผู้ใช้บริการได้ เลยออกมาในแนวทางนี้” ผึ้ง-ผจงรักษ์ ช่วยเสริมประเด็น
เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบและความรู้สึกท้าทาย
หากจะย้อนกลับไปว่า แนวคิดในการทำ Real-time Content นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด คงต้องย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2561
จุดเริ่มต้นที่ทำให้แอดมินเพจตัดสินใจทำเพจแนวทางนี้เริ่มจากละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่หนึ่งในแอดมินมีความคิดว่าถ้าประยุกต์ละครกับสิ่งที่หอสมุดมีอย่างหนังสือประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไร? กระแสตอบรับค่อนข้างดี นับจากนั้นพวกเขาเลยช่วยกันติดตามเหตุบ้านการเมืองเพื่อเอามาปรับใช้ในการนำเสนอคอนเทนต์
“นอกจากตรงท้าทายตัวเองในเรื่องการทำคอนเทนต์ให้ทันสมัยแล้วยังเบิกเนตรหรือโลกทัศน์ความรู้เราด้วยนะ เวลาเราทำคอนเทนต์ความรู้ก่อนที่จะมาทำคอนเทนต์จะจำกัดมาก แต่พอเมื่อเราทำคอนเทนต์ที่ catch up กับสถานการณ์หรือว่า real time เราจะยิ่งชำนาญเริ่มคล่องขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่เราไม่เคยสนใจหรือไม่เคยรับรู้ เราก็จะได้รู้จักมากขึ้น แล้วความน่าสนใจของห้องสมุดเราคือ เมื่อเราทำคอนเทนต์ real time ไม่ใช่อยู่ ๆ เราโพสต์ข่าวไปเลย แต่เราโพสต์ข่าวโดยที่ยึดโยงกับงานบริการของเรากับ data หรือกับ material ที่เรามีให้บริการ ซึ่งก็คือความท้าทายอย่างหนึ่งของเราเหมือนกัน
“กระแสตอบรับก็เป็นไปในทางที่ดีจนมีลูกเพจมาบอกว่า ‘เรามาก่อนกาล’ เพราะด้วยคอนเทนต์ที่หอสมุดหมั่นอัปเดตอยู่ตลอดเวลา จนเรียกได้ว่าเหมือนสำนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวอย่างรวดเร็วเลยทีเดียว”
ถ้าการเมืองมันดี ทุกอย่างมันก็ดีไป ห้องสมุดก็เปิดได้แล้ว
และยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่บ้านเมืองที่มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขในขณะนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่บ้านเมืองล็อกดาวน์ ส่งผลให้การให้บริการของห้องสมุดนั้นปิดไปชั่วคราวด้วย ในภาวะเช่นนี้เพจหอสมุดธรรมศาสตร์ก็ขอร่วมเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนให้สังคมเดินหน้าไปในทางที่ดีขึ้น
“เรารู้สึกว่าการเมืองมันเป็นเรื่องของทุกคน การเมืองมันกระทบกับเราทุกคน ถ้าการเมืองมันดี ทุกอย่างมันก็ดีไป ห้องสมุดก็เปิดได้แล้ว เราทำคอนเทนต์ลักษณะแบบนี้เพราะอยากให้คนมาสนใจการเมืองมากขึ้น แล้วก็อยากให้การเมืองมันดีกว่านี้ อยากให้ทุกคนกลับมาสนใจแล้วก็ช่วยกันทำให้มันดีขึ้น”
ถึงแม้ว่าจะมีบางกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับการทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง เพราะอาจจะทำให้เกิดประเด็นวิวาทะในเรื่องความเห็นต่างเกิดขึ้น แต่แอดมินเพจก็สามารถรับมือด้วยความเป็นมืออาชีพ บวกกับใช้ความสร้างสรรค์และการใส่อารมณ์ดีเข้าไปในคอนเทนต์ ผลตอบรับที่ออกมาจึงทำให้พวกเขายังคงมุ่งมั่นที่จะใช้เสียงของตัวเองในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป
“ส่วนหนึ่งเรามองว่าเราเป็นเพจสาธารณะ แล้วก็มองว่าเราเป็นองค์กรหนึ่งที่จะสามารถ call out อะไรออกไปได้ ก็คือถ้าเราสามารถทำอะไรได้ เราก็อยากจะทำ อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ให้เสรีภาพแก่บุคลากรในการทำงาน ทำให้ทางแอดมินเพจสามารถทำคอนเทนต์ได้โดยอิสระ”
แต่ความมีอิสระที่ว่า คืออิสระในการทำงานบนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม...
เพราะหนังสือไม่ควรถูกปิดกั้น
นอกจากนี้การให้บริการอันหลากหลายดังที่ว่ามาแล้ว ในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในห้องสมุด กลุ่มแอดมินเพจมองว่าบางเนื้อหาก็ไม่ควรถูกปิดกั้นและควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านเป็นคนตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของเขาเอง
“บางทีเราเห็นบางคอนเทนต์โดนแบนหรือว่าโดนกั้น เราก็รู้สึกว่าหนังสือบางเล่มหรืองานวิชาการบางอย่าง มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกปิดกั้นจากสังคม มันควรให้คนอ่านเขาเป็นคนตัดสินใจเองว่า สิ่งที่เขาอ่านมันดีหรือไม่ดี ให้เขาใช้วิจารณญาณของตัวเองตัดสินใจว่าเขาจะเชื่อมันหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่บอกว่าอันนี้มันน่าจะผิด แล้วก็แบน ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องพวกนี้ เราก็เลยพยายาม call out ออกมาว่าที่หอสมุดของเรามีนะ มายืมไปอ่านเลย เพราะเราอยากให้ทุกคนได้อ่าน”
นอกจากนี้ ด้วยนโยบายที่เปิดกว้างในการอ่านมากขึ้น เมื่อก่อนหอสมุดจะเน้นในการจัดซื้อหนังสือวิชาการ แต่หนังสือแนวอื่นยังไม่หลากหลายเท่าที่ควร ครั้งหนึ่งที่เคยมีผู้เข้าใช้บริการเสนอให้ซื้อหนังสือ ‘นิยายวาย’ ทางหอสมุดเองก็ยังไม่อนุมัติซื้อ แต่ปัจจุบัน หลังจากแอดมินทั้ง 3 คนได้เข้ามาทำหน้าที่ส่วนนี้จึงได้ปรับเปลี่ยนใหม่ โดยมีมุมมองที่ว่า
“นิยายวายมันก็คือวรรรณกรรมร่วมสมัย มันคือสิ่งที่คนในสมัยนี้อ่าน แล้วทำไมเราถึงจะไม่ซื้อหนังสือที่คนอ่านเข้าห้องสมุด
“เราก็เลยไม่เคยปิดกั้นเรื่องการซื้อหนังสือ เขาอยากอ่านอะไรเราก็ซื้อหมด ซื้อทุกอย่างที่เขาอยากอ่าน อย่างดาบพิฆาตอสูรที่เด็กก็อยากอ่าน เขาบอกเราในคลับเฮาส์ เราก็ซื้อให้เขาอ่าน”
ห้องสมุดเหมือนบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร
นอกจากบริการเกี่ยวกับความรู้ที่บอกเล่ามายืดยาว หากหอสมุดเปิดแล้ว (ช่วงนี้ปิดชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19) ที่หอสมุดยังมีบริการด้านอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการอุปกรณ์การเรียน กล้องเว็บแคม ปลั๊กไฟ โน้ตบุ๊ก หรือไอแพดที่ทางหอสมุดช่วยจัดหามาอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาในช่วงเรียนออนไลน์
หรือแม้กระทั่งการตอบคำถามการบ้านที่มีนักศึกษาเข้ามาถามหรือข้อสงสัยทั่วไปก็ยังยินดีที่จะให้บริการเช่นกัน
“มันจะมีเรื่องตลกที่ว่า ช่วงนั้นมันจะมีตลาดใช่ไหม แล้วทีนี้เขาก็จะถามเราว่า พี่คะ วันนี้ตลาดเปิดหรือเปล่าคะ แล้วขายอะไรบ้างคะ ประมาณนี้ เราก็ตอบ คือเหมือนเราเป็นทุกอย่างให้เขา ตั้งแต่เรื่องของวิถีชีวิต เรื่องปากท้องไปจนถึงกระแสสังคมหรืออะไรต่าง ๆ คือเป็นทุกอย่างแล้วอะ”
เรื่อง: ชุลิตา วิไลเจริญตระกูล
***ภาพประกอบ: (ซ้าย) จุ๊บแจง-พิมพ์ชนก สิริพงศ์ทักษิณ, (กลาง) เอ-ชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช และ (ขวา) ผึ้ง-ผจงรักษ์ ซำเจริญ
ที่มา:
https://web.facebook.com/Pueylibrary
https://web.facebook.com/ThammasatULibrary
https://web.facebook.com/nongyaolib/?_rdc=1&_rdr
https://web.facebook.com/TULawLibrary/?_rdc=1&_rdr