สิทธิพล ชูประจง : หัวหน้าโครงการ ‘จ้างวานข้า’ ที่พาคนไร้บ้านผู้ถูกผลักตกขบวนรถไฟโดยรัฐ กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของโบกี้
“กลุ่มคนไร้บ้านมันเป็นตัวชี้วัดในหลาย ๆ เรื่องของสังคมไทย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สวัสดิการ คุณภาพชีวิต การบริหารจัดการต่าง ๆ ของรัฐ”
เมื่อระบบโครงสร้างกีดกันพวกเขาในการเข้าถึงสวัสดิการและทรัพยากรพื้นฐาน รวมทั้งไม่เอื้ออำนวยต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้กลุ่มคนจำนวนหนึ่งตกขบวนของการพัฒนาและกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้หลายครั้งจะมีการช่วยเหลือคนไร้บ้าน แต่นั่นก็ไม่อาจยั่งยืนเท่าการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด นั่นคือการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มนี้ โดย ‘เอ๋-สิทธิพล ชูประจง’ เล็งเห็นว่าพวกเขามีศักยภาพและสามารถเปลี่ยนจากคนไร้บ้านมาเป็นคนที่มีบ้านได้ ดังนั้นโครงการ ‘จ้างวานข้า’ จึงเกิดขึ้นมา
The People มีโอกาสพูดคุยกับ เอ๋-สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ ‘จ้างวานข้า’ เกี่ยวกับความสนใจที่ริเริ่มโครงการช่วยเหลือคนไร้บ้าน สาเหตุของการเกิดคนไร้บ้านทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติและสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้
จากFoodForFriends สู่จ้างวานข้า
เอ๋เล่าว่า เขาค่อนข้างคุ้นเคยกับคนไร้บ้านอยู่บ้างจากการทำงานที่ท่าเรือบนถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนไร้บ้าน คนจนเมืองอาศัยค่อนข้างเยอะ บางครั้งพวกเขาจะเข้ามาคุยเล่นหรือแม้กระทั่งขอความช่วยเหลือเรื่องการเข้าสู่ระบบแรงงาน ประกอบกับการได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับคนไร้บ้าน จนกระทั่งเขาได้เข้ามาทำงานกับมูลนิธิกระจกเงา ในโครงการผู้ป่วยข้างถนน หรือผู้ป่วยที่มีอาการจิตเวช
“ทำไปทำมาก็เห็นในเรื่องคนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ ได้สังเกตได้มองและพบว่ามีกลุ่มคนที่คนทั่วไปเรียกว่าคนเร่ร่อน คนจรจัด หรือศัพท์ทางวิชาการเรียก คนไร้บ้าน เรามองเห็นว่าเขามีปัญหาในเรื่องคุณภาพชีวิตสูงมาก และยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจของสังคมและภาครัฐเอง เราเลยพยายามขยับเข้าไปทำงานกับคนกลุ่มนี้”
เมื่อเอ๋ได้ทำงานในโครงการผู้ป่วยข้างถนนที่มีอาการจิตเวช เขาได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ จึงอยากรู้จักและทำความเข้าใจให้มากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดโครงการ Food For Friends เพื่อสนับสนุนปัจจัยสี่ ทั้งการแจกอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนการดูแลสุขอนามัย ซึ่งโครงการนี้ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือเบื้องต้นในการเข้าถึงคนไร้บ้าน
“เราพยายามใช้บริการตรงนี้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงพวกเขา เพื่อเรียนรู้และรู้จักพวกเขาในระดับหนึ่ง คนไร้บ้านก็จะรู้จักมูลนิธิกระจกเงาและ Food For Friends พอเริ่มรู้จักเรามากขึ้น เราเลยขยับขยายต่อยอดมากขึ้น ดูซิว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไร้บ้าน ก็เลยเกิดเป็นโครงการจ้างวานข้า”
โครงการจ้างวานข้า เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระยะแรกซึ่งทำให้การงานหายากมากขึ้น และเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่จำนวนมาก ตลอดจนคนที่ยังไม่ไร้บ้าน แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้จนแทบจะไม่เหลือเงินในการเลี้ยงชีพ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบ่อเกิดของโครงการจ้างวานข้า
“เรามองว่าอะไรที่เป็น Key Success ที่จะทำเรื่องนี้แล้วสามารถพลิกได้ เราเลยได้คำตอบว่า มันคือเรื่องงานและการเข้าถึงรายได้ ถ้าเขามีงานและการเข้าถึงรายได้ในระดับหนึ่ง แน่นอนว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับชีวิตในตัวเขาเองได้”
งานที่ใครก็สามารถทำได้ แค่มีใจอยากจะทำ
“ปัญหาของเขาคือไม่สามารถเข้าสู่งานในระบบได้ เพราะว่าตลาดแรงงานมีเงื่อนไขกับเขามากพอแล้ว เราก็เลยจะไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มอีกในการเข้าสู่การทำงาน”
ในปัจจุบันหากจะสมัครงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง สิ่งที่พึงมีคือใบสมัครงาน ที่ประกอบด้วยประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน วุฒิการศึกษา ตลอดจนทักษะเฉพาะตัว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดให้คนบางกลุ่มไม่สามารถสมัครงานได้ พวกเขาจึงต้องหางานที่ไม่กำหนดคุณสมบัติพื้นฐาน แม้ว่างานนั้นจะไม่ใช่งานที่สนใจก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะต้องการ ‘อยู่รอด’ ในโลกทุนนิยมเช่นนี้
โครงการจ้างวานข้าจึงแก้ปัญหาด้วยการจ้างงานที่ไม่กำหนดเพศ อายุ ทักษะ การศึกษา ทั้งยังได้ค่าจ้างมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ เพราะสามารถออกแบบการทำงานได้ง่ายและบรรจุคนได้เยอะ โดยจะทำงานกับทางสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อติดต่อขอพื้นที่และการสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ บางครั้งก็ช่วยแนะนำว่ามีพื้นที่ใดที่ต้องการทำความสะอาดจากคนจำนวนมาก
“งานทำความสะอาดเป็นงานที่ใคร ๆ ก็ทำได้ สกิลแค่ไหนก็ทำได้ พิการยังทำได้เลย เราไม่เกี่ยงเลยถ้าเขาสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้”
ขณะนี้มีผู้ร่วมโครงการประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงทำงานไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนจำนวนวันที่ทำงานจะแตกต่างกันตามดุลพินิจและตัวชี้วัดของโครงการ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คนที่ทำหนึ่งวันต่อสัปดาห์ จะเป็นกลุ่มที่พอมีรายได้อยู่บ้าง คนที่ทำสองวันต่อสัปดาห์ กลุ่มนี้จะมีรายได้จากที่อื่นด้วย แต่มีภาระพอสมควร หรือไม่มีภาระแต่เป็นผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเอง เพราะเงินสวัสดิการจากรัฐไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
สุดท้ายคือคนที่ทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่และผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี เพื่อให้เขานำเงินส่วนนี้ไปดูแลสุขภาพและช่วยให้สามารถเปลี่ยนไปเป็นคนมีที่อยู่อาศัย ส่วนค่าจ้างพวกเขาจะได้ 400 บาทต่อวัน เพราะทางโครงการเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมในการเลี้ยงชีพแต่ละวัน โดยเงินดังกล่าวมาจากการสนับสนุนของผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการนี้
ฝันที่กลายเป็นจริง
แม้โครงการจะไม่มีพื้นที่รองรับในการอาศัยของคนไร้บ้าน แต่ก็มีการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย ข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญต่อการดำรงชีพ เพราะเป้าหมายสูงสุดของโครงการคือ การเปลี่ยนจากคนไร้บ้านสู่คนมีที่อยู่อาศัย
“เราคิดว่าสิ่งที่เหมาะสมกับเขาที่สุดคือ การให้เขามีรายได้ที่เหมาะสมพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจมีที่อยู่อาศัย แต่ว่าเราก็สนับสนุนในส่วนอื่นแทน เช่น จ่ายค่าเช่าบ้านให้เขา 3 เดือนแรก ให้เปล่าเลย เพื่อที่เขาจะได้มีเวลาเก็บหอมรอมริบในช่วงนั้น หรือแม้แต่การสนับสนุนในเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์”
ไม่ว่าจะชนชั้นใด สถานะไหนล้วนมีความฝันในชีวิตทั้งสิ้น คนไร้บ้านก็เช่นกัน นอกจากโครงการจะสนับสนุนให้เขามีที่อยู่อาศัย มีรายได้มั่นคง ยังสนับสนุนความฝันของคนไร้บ้านให้เป็นจริง โดยมีการแลกเปลี่ยนเป้าหมายและสิ่งที่อยากทำ ปกติแล้วโครงการจะมีทุนให้เปล่าเป็นเงิน เพื่อให้เขานำเงินส่วนนั้นไปบริหารจัดการชีวิต แต่นอกเหนือจากเงิน ยังรวมถึงสิ่งของที่จะช่วยให้คนไร้บ้านไปถึงเป้าหมายเช่นกัน ซึ่งทุนให้เปล่าทั้งหมดล้วนมาจากการบริจาคสิ่งของมือสองผ่านมูลนิธิกระจกเงา และการบริจาคเงินจากผู้ที่อยากสนับสนุนคนไร้บ้านผ่านเลขบัญชีที่ประกาศในเฟซบุ๊กโครงการจ้างวานข้า
“มีลุงคนหนึ่งเขาต้องการมีรายได้เพิ่ม ซึ่งลุงมีทักษะในการขายของ เราก็สนับสนุนของให้เลย เขาชอบขายรองเท้า เราก็สนับสนุนรองเท้ามือสองให้เขาที่มาจากการบริจาคให้มูลนิธิกระจกเงา”
ปัญหาใหญ่ที่ไร้การเหลียวแล
เรามักพบเจอคนไร้บ้านได้ทั่วไปตามท้องถนน แต่จะมีสักกี่คนที่พินิจว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือต้นตอสำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งเอ๋ให้ความเห็นว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่รัฐไม่สามารถจัดการได้อย่างทั่วถึงจนทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งตกหล่น
“สิ่งที่ผลิตคนไร้บ้าน คือโครงสร้างทางสังคม ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก คือไม่สามารถที่จะทำให้คนหนึ่งคนมีรายได้พื้นฐานและต้นทุนที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตให้กับตัวเองได้ ทั้งต้นทุนเรื่องการศึกษา รายได้จากการทำงานที่ต้องอาศัยทักษะทางอาชีพ”
“ก็คือรัฐไม่สามารถจัดสิ่งที่นำไปสู่ต้นทุนชีวิตให้ปัจเจกได้ เพื่อที่ปัจเจกจะนำสิ่งเหล่านี้ไปสร้างให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”
ปัญหาการปล่อยปละละเลยของรัฐ ตลอดจนการไม่นับรวมพวกเขาอยู่ใน Priority แรก ๆ ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน สะท้อนผ่านนโยบายที่เห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19
“เรื่องการตรวจเชื้อคัดกรองให้กับเขา การแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาจากคนไร้บ้าน รัฐก็ไม่ได้มีการทำเป็นเรื่องเป็นราว หรือแม้แต่เรื่องการนำเอาวัคซีนที่เหมาะสมกับกลุ่มคนไร้บ้านมา อย่างในต่างประเทศเขานำ Johnson & Johnson มาฉีดให้คนไร้บ้าน เข็มเดียวจบ แต่ว่านั่นแหละครับ ต่างประเทศเขามองว่าคนไร้บ้านอยู่ในสมการของเขาในการที่จะปกป้องดูแล เป็นสมการหนึ่ง เป็นโจทย์หนึ่งเลย ไม่เหมือนบ้านเราที่คนไร้บ้านไม่ได้อยู่ในสมการและในความนึกคิด ถูกจัดลำดับอยู่ท้าย ๆ ให้อะไรก็ได้”
นอกจากเรื่องวัคซีนแล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องที่พักอาศัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐยังไม่ได้ทำความเข้าใจปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง
“รัฐควรจะเปิดช่องทางเรื่องที่พักอาศัยให้กับเขา แต่ว่าต้องเป็นการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทโรคระบาด เพราะว่าเท่าที่รัฐจัดให้อยู่ตอนนั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับโรคระบาด เช่น การอยู่รวมห้องเดียวกัน 4-5 คน ใช้ของร่วมกัน ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาด”
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะเลือกออกมาอยู่ข้างนอกมากกว่า เพราะแม้จะลำบาก แต่ก็คงมีค่าไม่ต่างจากการอยู่สถานที่ที่รัฐกำหนด เพราะมีผลลัพธ์ในรูปแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ การเข้าถึงสาธารณูปการสำหรับป้องกันโรคระบาดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรือจุดบริการเพื่อให้คนไร้บ้านสามารถชำระร่างกายให้สะอาดได้เสมอ ตลอดจนเรื่องอุปโภคบริโภค ที่เรามักจะเห็นคนแจกข้าวคนไร้บ้านบ่อย ๆ แต่ก็ทำให้เกิดความแออัดจนอาจกลายเป็นคลัสเตอร์ของโรคระบาด ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการกระจายตัวของคนไร้บ้าน ไม่มีระบบแจ้งว่าจะมีการแจกอาหารที่จุดใดบ้าง
“การทำจุดล้างมือให้เขา มันออกแบบได้ แต่ก็ต้องย้อนกลับไปว่ารัฐต้องซีเรียส เพราะว่าเขาเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ต้องเข้าไปปกป้องคุ้มครอง พอไม่กำหนดว่าเขาจะต้องถูกดูแลคุ้มครอง ก็จะทำแบบว่าขอไปที”
“เรื่องอาหารควรทำเป็นจุด ๆ เลยว่าเราจะมีการแจกจ่ายที่จุดนี้ 50 คน จุดนี้อีก 50 คน แน่นอนว่าจะเกิดการกระจายตัว แต่ว่าตอนนี้แทบจะไม่มีการกระจายตัวจากระบบเอง มันต้องเซตระบบให้เกิดการกระจายตัว ผมคิดว่ามันสามารถทำระบบด้วยเรื่องอาหารได้ แต่ว่าก็ไม่ถูกทำ”
นอกจากนี้โครงการจ้างวานข้ายังมีนโยบายการตรวจหาเชื้อเชิงรุกแก่คนไร้บ้าน ซึ่งจะดำเนินการทุกอาทิตย์ เพราะสามารถแยกคนไร้บ้านที่ติดเชื้อออกมารักษาได้ และยังช่วยลดการระบาดจากคนไร้บ้านได้อีกด้วย
“รัฐทำช้ามาก เรารู้สึกว่ารอไม่ได้ แน่นอนว่าเราก็เห็นสถานการณ์ใช่ไหมครับ มีคนไร้บ้านเสียชีวิตกันอยู่ตลอดเลย เราคิดว่าไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน เราปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว เราคิดว่าเรามีศักยภาพที่จะทำ มีศักยภาพที่จะระดมทุน มีศักยภาพที่จะบอกสังคมว่า ช่วยสนับสนุนหน่อยแล้วเราจะเป็นคน Organize เอง”
หากรัฐสามารถจัดการตามแนวทางดังกล่าว คนไร้บ้านเหล่านี้คงไม่ต้องเสี่ยงเสียชีวิตริมถนน และสามารถดำรงชีพได้โดยยังคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่
“จะให้เงินจริง ๆ เหรอครับ ตอนนี้ผมเหลือเงินแค่บาทเดียวเอง รู้สึกเหมือนได้ต่อชีวิตเลยครับ เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลผมก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีมือถือที่จะลงทะเบียน ลำบากมาก ๆ ครับ”
นี่คือคำพูดของคนไร้บ้านคนหนึ่ง เมื่อเขาได้รับเงินช่วยเหลือจากจ้างวานข้า แต่เสียงสะท้อนดังกล่าว ไม่ว่าจะตะโกนดังแค่ไหนก็คงส่งไปไม่ถึงผู้มีอำนาจในการแก้ปัญหานี้ แม้จ้างวานข้าจะช่วยให้คนไร้บ้านจำนวนมากเปลี่ยนผ่านไปสู่คนมีบ้าน แต่นั่นก็ไม่อาจครอบคลุมปัญหาคนไร้บ้านทั้งหมด เพราะการแก้ปัญหาและต้นทุนของจ้างวานข้าที่มาจากการบริจาค ก็ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่ไม่มีแม้แต่อำนาจในการออกนโยบายช่วยเหลือพวกเขาอย่างตรงจุดและยั่งยืน
หากรัฐเหลียวมองพวกเขาสักนิด เราคงไม่ต้องเห็นภาพสะเทือนใจและคำพูดอันแสนหดหู่ของกลุ่มคนไร้บ้าน ที่แท้จริงแล้ว พวกเขาคงไม่อยากเป็นคนไร้บ้าน แต่ด้วยโครงสร้างอันบิดเบี้ยวนี้กลับทำให้พวกเขาถูกผลักไสให้กลายเป็นคนขาดรายได้ ไร้ที่อยู่อาศัยอย่างไม่มีทางเลือกมากนัก
เรื่อง: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)