ทีม Jitasa.care : เบื้องหลังแผนที่เรียลไทม์ที่บอกพิกัดและข้อมูลสำคัญในช่วงโควิด-19
ทำอย่างไร เมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 แต่ยังหาเตียงไม่ได้ ?
จุดตรวจโควิด-19 หรือ จุดฉีดวัคซีนใกล้เคียงอยู่ที่ไหน ?
ถ้าอยากช่วยเหลือมากกว่าการบริจาคต้องทำอย่างไร ?
ทุกคำตอบของคำถามข้างต้นถูกรวบรวมและอัปเดตแบบเรียลไทม์ในเว็บไซต์ https://www.jitasa.care/
‘Jitasa.care’ คือ แพลตฟอร์มที่สามารถปักหมุดขอความช่วยเหลือ และรวบรวมข้อมูลสำคัญไว้บนแผนที่แบบเรียลไทม์ เช่น จุดฉีดวัคซีน จุดตรวจโควิด-19 ศูนย์พักคอย ไปจนถึงวัดที่สามารถจัดฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพื่อลดขั้นตอนการช่วยเหลือให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ภายในระยะเวลา 8 วัน (ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2564) มีการเข้าชมเว็บไซต์กว่า 6 ล้านครั้ง ผู้ใช้งานเว็บไซต์ 3.7 ล้านคน ส่วนหมุดขอความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 6,275 หมุด อยู่ระหว่างการช่วยเหลือ 1,164 หมุด และช่วยเหลือเรียบร้อยจำนวน 1,187 หมุด
“เชื่อว่าคนไทยมีน้ำใจในการช่วยเหลือกันอยู่แล้ว แค่ตอนนี้ยังไม่มีวิธีง่าย ๆ ให้เขาเชื่อมต่อ ส่งข่าวหากัน เลยคิดว่าถ้าเราสามารถทำอะไรสักอย่าง เพื่อสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นให้ทุกคนเห็น เชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับสิ่งที่พี่ ๆ ThaiFightCovid และอีกหลายท่านในทีมคิด คือ สร้างเครื่องมือให้ ‘คนไทยช่วยคนไทย’ ได้ง่าย ๆ รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน”
วิว-วสันชัย วงศ์สันติวนิช หนึ่งในทีม Developers ของ Jitasa.care กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มดังกล่าว และเรื่องราวต่อไปนี้คือเบื้องหลังแนวคิด ทีมงาน และกระบวนการทำงานกว่าจะมาเป็นเว็บไซต์ Jitasa.care
เพราะโควิดเป็นเรื่องใกล้ตัว
Jitasa.care มาจากความร่วมมือของ ‘อาสาสมัคร’ หลายภาคส่วนทั้งเอกชนและประชาสังคม โดยวิวอยู่ในทีม Developers ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทีม SOAR และเคยเป็นจิตอาสาให้กับโครงการอื่น ๆ เช่น การทำแอปพลิเคชันสำหรับขออนุญาตยิงบั้งไฟหรือปล่อยโคมลอย โดยเชื่อมต่อกับหอควบคุมจราจรทางอากาศ เป็นต้น จนกระทั่งช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด พวกเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย
“คุณปู่ของน้องในทีมคนหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แล้วก็มีเพื่อน ๆ หลายคนที่ติด ทุกคนรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามาก อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือ แล้วก็อุทิศให้กับคุณปู่ของน้องเขาและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกคนครับ”
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Jitasa.care โดยจับมือกับกลุ่ม ThaiFightCovid และอีกหลายทีมที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของโครงการนี้
“เริ่มโปรเจกต์จากการที่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับทีมพี่ ๆ วิศวกรกลุ่ม ThaiFightCovid ครับ (นำโดย รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา และ พี่ไก่-ปิยพรรณ หันนาคินทร์) พี่ ๆ เขาแตกกลุ่มย่อยมาเพื่อหาทางช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดการศพที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จนไม่น่าจะจัดการได้ในระยะเวลาอันใกล้ จำได้เลยว่าเป็นวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม (2564) เริ่มคุยกันสองทุ่ม พี่เขาเล่าโจทย์ให้ฟังว่าอยากเห็นอะไร แบบไหน ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่ามันแมตช์กับสิ่งที่พวกเราอยากทำและอยากช่วยอยู่พอดี ผนวกกับที่เคยมีประสบการณ์ Developers ระบบอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ก็เลยนั่งดราฟต์สิ่งที่คิดว่าน่าจะทำได้
“ก่อนจบประชุมประมาณสี่ทุ่มก็แชร์จอให้ทุกคนดู บอกว่าน่าจะทำอะไรประมาณนี้ได้นะ และคาดว่าจะส่งต้นแบบให้ดูได้ภายในอาทิตย์หน้า ด้วยความฮึกเหิมและคิดว่าน่าจะทำได้ เลย commit กับพี่ ๆ ในที่ประชุมคืนนั้นเลยครับ ยอมรับว่าเปรี้ยวมาก
“จากนั้นเริ่มขึ้นโครงและสร้างต้นแบบแรกแล้วหาแนวร่วมที่คาดว่าน่าจะไม่กลัวงานใหญ่และไม่หวั่นงานด่วนมาช่วยกัน เช่น สรณ์ (สรณ์สกุล เถาหมอ) กร (พลากร บูรณสัมปทานนท์) และ เนิฟ (ปณิดา วิริยะชัยพร) เรียกได้ว่ารับงานไปก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้วเกือบทุกคนที่ไปชวนก็ลงเรือตอบตกลงมาเป็นอาสาร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอบคุณพี่ ๆ รุ่นเดอะแห่ง ThaiFightCovid ที่ให้โอกาสสำหรับพวกเราในการแสดงฝีมือเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือครับ
“สำหรับทีม Developers หลัก มีผม วิว (วสันชัย วงศ์สันติวนิช) เป็นหัวหน้าทีม ในส่วนทีม Developers เรารวมตัวกันมามีทั้งหมดสิบกว่าคน ส่วนใหญ่มาจากในทีม SOAR ที่เราทำงานกันอยู่ด้วยกันทุกวัน ที่มีหลายคนเพราะทุกคนก็มีงานประจำที่หนักหน่วงอยู่แล้ว เลยใช้วิธีแบ่งงานและสลับกันมาทำครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นอยากให้เครดิตเป็นพิเศษกับน้องมาร์ค (ภานุพัฒน์ ห่อมา) น้องเกม (ศุภวิชญ์ นวลขาว) และ น้องนนท์ (วีระยุทธ ประภามณฑล) ที่นอกจาก Developers แล้วก็ช่วยดูแลและติดตามการทำงานของระบบตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตอย่างที่เห็นในระบบในสัปดาห์ที่ผ่านมา”
แพลตฟอร์มเชื่อมต่อความช่วยเหลือ
จุดมุ่งหมายของ Jitasa.care คือการเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อ ‘ผู้ป่วยโควิด-19’ กับ ‘ผู้ให้ความช่วยเหลือ’ ภายใต้คอนเซปต์เรียบง่ายคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงสถานการณ์รอบตัว และสามารถส่งข่าวให้คนรอบข้างได้ โดยในเว็บไซต์ https://www.jitasa.care/ จะแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก
ส่วนแรก คือ ‘Digital Map Platform’ ที่มีข้อมูลพิกัด (Point of Interest) ของผู้ขอความช่วยเหลือ จุดฉีดวัคซีน จุดตรวจโควิด-19 โรงพยาบาล ที่ตั้งโรงพยาบาลสนาม จุดพักคอย วัดฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 หากคลิกไปยังจุดต่าง ๆ จะบอกรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ปริมาณรองรับผู้ป่วยของจุดพักคอยนั้น ๆ และสถานะว่ายังมีเตียงว่างหรือเต็มจำนวนแล้ว เป็นต้น
ส่วนที่สอง คือ ‘ขอความช่วยเหลือ’ ให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการแจ้งพิกัดของผู้ป่วยโควิด-19 กรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอความช่วยเหลือ และส่วนสุดท้าย คือ ‘อาสาสมัคร’ สำหรับลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร ‘ให้ความช่วยเหลือ’ โดยแบ่งออกเป็นอาสาข้อมูล อาสาติดต่อ และอาสาพาไป ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในแผนที่ที่อัปเดตจำนวนและสถานะของจุดนั้น ๆ แบบเรียลไทม์
“คนมาใช้ระบบส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครที่เป็นประชาชนทั่วไป อาสาสมัครอิสระจริง ๆ มาช่วยกันทำงาน โดยใช้ระบบเราเป็นเครื่องมือกลางช่วยเหลือคนในชุมชนของเขา บางคนอยู่แค่หน้าปากซอย มีตั้งแต่คนช่วยติดต่อไปถามไถ่อาการ ประสานงานเบื้องต้น ไปจนถึงการซื้อยา ซื้อเครื่องใช้จำเป็นไปตระเวนแจกตามหมุดในละแวกบ้านเขา เราเห็นได้เลยครับ เพราะในระบบส่วนของอาสา จะบอกเลยว่าหมุดไหนโดนอาสาคนไหนช่วยอยู่ มีไม่น้อยเลยที่เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงช่วยเหลือกันจริง ๆ”
ก้าวผ่านไปด้วยกัน
วิวเล่าว่าหลังเปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวในระยะแรกมีผู้ใช้งานเพียง 500 จุดในหนึ่งสัปดาห์ เพราะการประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มดังกล่าวเกิดจากการส่งต่อผ่านไลน์เป็นหลัก จนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม เริ่มมีเพจและสื่อต่าง ๆ เผยแพร่เรื่องราวของ Jitasa.care
“คืนนั้น อาสาเราทำงานข้ามคืนเพื่อรองรับจำนวนคนที่เข้ามามาก วันรุ่งขึ้นเรามีล้านกว่า page view และมีคนที่ดูเพจ Jitasa.care พร้อมกันประมาณสองหมื่นคน คนคงสนใจกันมากครับ เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องใกล้ตัวจริง ๆ
“ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มีคนมาปักหมุดขอความช่วยเหลือประมาณสามพันกว่าหมุดในเวลาเพียงสองวัน มีอาสาสมัครประเภทต่าง ๆ อีกสามพันกว่าคน โดยคนปักหมุดกับอาสาจะเป็นคนละคนกัน ซึ่งยืนยันตัวตนด้วยเลขหมายโทรศัพท์และ OTP”
นนท์-วีระยุทธ ประภามณฑล หนึ่งในทีมงาน Jitasa.care เล่าถึงกระบวนการและแรงผลักดันของการทำงานครั้งนี้ว่า
“ถ้าเคสไหนโทรฯ ไปเจอผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมากหรือผ่านจุดพีคมาแล้ว ก็จะแนะนำเรื่องการทำ Home Isolation แล้วโทรฯ ไปติดตามผลต่ออีกสองสามวัน ถึงตอนนั้นถ้าผู้ป่วยรู้สึกโอเคแล้วก็สามารถปิดเคสได้ บางรายรู้สึกป่วยแต่ยังไม่หนักมาก เขาพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือไปหลายช่องทาง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ พอปักหมุดใน Jitasa.care มีคนโทรฯ หาสอบถามอาการ ส่งต่อความช่วยเหลือไปให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลได้เขาก็ดีใจ
“ในบางเคสที่หนัก เช่น ค่าออกซิเจนของผู้ป่วยต่ำ หายใจลำบาก ก็ต้องรีบประสานหาโรงพยาบาลสนามหรือเตียงโรงพยาบาล ซึ่งหายากมาก ๆ ในเวลานี้ หรือหาถังออกซิเจนไปส่งยังบ้านของผู้ป่วย เวลาเจอเคสแบบนี้จิตอาสาหลายคนก็จะรู้สึกยากในการช่วยเหลือ แต่ถึงอย่างนั้นเวลาได้รับคำขอบคุณจากผู้ป่วย ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในระดับหนักขนาดไหน ก็ทำให้จิตอาสามีแรงที่ช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไปครับ”
นอกจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แล้ว วิวยังกล่าวเสริมว่า หัวใจสำคัญของ Jitasa.care คือการสร้างเครื่องมือเพื่อแบ่งปันข้อมูลทั้งความต้องการของผู้ให้และผู้รับ โดยมี ‘แผนที่’ เป็นสื่อกลาง ฉะนั้นแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจนำไปต่อยอดได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติต่าง ๆ หรือการบริหารจัดการบ้านเมืองในอนาคต
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในภาวะวิกฤตจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ ‘ถูกต้องและรวดเร็ว’ เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งปัจจุบันยังมีผู้คนที่รอความช่วยเหลือ และพร้อมจะให้ความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก Jitasa.care จึงนับเป็นทั้งความหวังและตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยรับมือกับวิกฤตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เวลานี้แล้ว ช่วยอะไรได้ก็ช่วย ๆ กันนะครับ ให้คนไทยอยู่รอดปลอดภัย หากท่านใดอยากช่วยเหลือคนก็มาสมัครเป็นอาสาได้เลยครับ ให้นึกภาพเหมือนเล่นเกมจับโปเกมอนบนแผนที่ แต่เปลี่ยนเป็นการมาช่วยกันจับหมุดช่วยเหลือกันแทนครับ ท้ายสุดจริง ๆ ขอให้ทุกคนแข็งแรงปลอดภัย และมาเป็นอาสากันเยอะ ๆ แต่อย่าต้องมาเป็นหนึ่งในหมุดขอความช่วยเหลือของเราเลยนะครับ” วิวกล่าวทิ้งท้ายไว้กับเรา
*ภาพประกอบ : ทีม Developers Jitasa.care เบนซ์ (ปิยปาณ ค้าสุวรรณ), เหมียว (ศุภัชชา ชัยเมธานันท์), แนค (คณาภูมิ บุตรไชยเจริญ), พิชญ์ จันทวิชญสุทธิ์, เหม (พลช วสุธาร), โก้ (อิทธิกร วิเศษพงศ์), นนท์ (นนท์ มีบุญ), วิว (วสันชัย วงศ์สันติวนิช), นนท์ (วีระยุทธ ประภามณฑล), มาร์ค (ภานุพัฒน์ ห่อมา), เกม (ศุภวิชญ์ นวลขาว), มิ้ว (ธนวัฒน์ ไชยลังกา), โปเต้ (ธนาพร ขันธ์ปัญญา), ฝ้าย (ดารารัตน์ จันทร์อินทร์)