คุณลุงฟรุตตี้ : ตำนานเงาะคว้านเมล็ด เวสป้าคันเก๋า และรอยยิ้มแสนอบอุ่นแห่งรั้วจุฬาฯ
เมื่อเวลาใกล้เที่ยง คุณลุงใจดีจะหยิบผลไม้ใส่ถังสี่เหลี่ยมทึบ วางบนรถเวสป้าคันเก๋า ก่อนจะขับออกมาจากซอยจุฬาฯ 48 พร้อมผลไม้เย็นฉ่ำชื่นใจ เพื่อนำไปขายตามคณะต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นี่คือกิจวัตรประจำวันของคุณลุง ‘คุณลุงฟรุตตี้’ หรือ ‘ลุงโป๊งเหน่ง’ ผู้ขายผลไม้คู่รั้วจุฬาฯ มากว่า 3 ทศวรรษ ก่อนที่การระบาดของเชื้อโควิด-19 จะทำให้คุณลุงต้องปรับไปขายผ่านทางโทรศัพท์ จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2021 เวลาประมาณ 2.40 น. คุณลุงฟรุตตี้ได้จากโลกใบนี้ไปอย่างไม่หวนกลับ จากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายคนทั้งใจหาย เสียใจ และอาลัยแด่คุณลุงฟรุตตี้ในความทรงจำ
“มีโอกาสได้ดูดวงในวันที่ฝนตก ซื้อสับปะรดกับลุงไปฝากพ่อ ลุงใจดีมาก คุยสนุก รู้สึกใจหายมาก ๆ ที่ลุงจากไปกะทันหัน ยังคิด ๆ อยู่เลยว่าอยากลองชิมเงาะที่ลุงคว้าน แต่คงไม่มีโอกาสแล้ว” - บัณฑิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
“ผมจำได้ว่าเคยซื้อผลไม้แกครั้งหนึ่ง แต่คุ้นหน้าตลอดและรู้ว่าแกขายผลไม้ในจุฬาฯ ปกติจะยืนคุยด้วยไม่ค่อยได้ซื้อ แต่ลุงแกชวนคุยดีมากเลย รู้สึกอบอุ่น เวลาเจอกันหรือเดินสวนกันแกก็จะยิ้มให้ ทักทาย แกเฟรนด์ลี่กับเด็กทุกคนมาก ผมเห็นลุงไปมาในจุฬาตลอด 4 ปี แกน่ารักนะ ๆ RIP คุณลุงด้วยนะครับ” - นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
นี่คือส่วนหนึ่งจากบทสนทนาที่นิสิตและบัณฑิตบางส่วนเล่าให้เราฟัง เมื่อถามถึงความทรงจำต่อคุณลุงฟรุตตี้ เหตุที่คุณลุงเป็นที่รักและอยู่ในความทรงจำของผู้คนมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นนิสิต คณาจารย์ หรือบุคลากรในมหาวิทยาลัย เพราะคุณลุงไม่ได้มาขายผลไม้เพียงอย่างเดียว แต่ยังพกรอยยิ้ม ความสดใสและบทสนทนาแสนอบอุ่นใจมาให้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะตั้งใจมาซื้อผลไม้ หรือแค่เดินผ่านไปมาแถวนั้นก็ตาม
เริ่มจากผลไม้รถเข็นของคุณพ่อ
ชื่อจริง ๆ ของคุณลุงฟรุตตี้คือ ‘บักเซี้ย แสงบัวงามล้ำ’ (แซ่ลิ้ม) โดยคุณลุงเป็นลูกชายของ ‘เทียมมี่’ ผู้ขายผลไม้รถเข็นในรั้วจุฬาฯ มากว่า 56 ปี คุณลุงฟรุตตี้จึงคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก
“ลุงก็ขายช่วยพ่อ ส่วนมากคุณพ่อจะบอกให้ไปเก็บถุงกระดาษ เมื่อก่อนไม่มีถุงพลาสติกนะ เราก็เก็บพวกถุงกระดาษที่ลูกค้ากินเสร็จตามโต๊ะ คุณพ่อจะเป็นคนที่ชอบให้ไปเก็บความเรียบร้อยครับ จนทุกวันนี้ก็ติดนิสัย เห็นถุงพลาสติกที่โต๊ะไม่ได้ ต้องเก็บเลย (หัวเราะ)” (จากช่อง KalamareTV, 21 สิงหาคม 2014)
แม้จะซึมซับการเลือก ปอก และขายผลไม้มาจากคุณพ่อ แต่คุณลุงไม่ได้ตั้งใจจะขายผลไม้มาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อธุรกิจส่วนตัวไม่สำเร็จ คุณลุงจึงตัดสินใจมาเริ่มขายผลไม้ด้วยต้นทุนเพียงไม่กี่ร้อยบาท ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนามาเป็นผลไม้หวานฉ่ำฉบับลุงฟรุตตี้ และเป็นที่รู้จักในฉายาหลากหลาย
“เมื่อ 32 ปีที่แล้ว จำได้ว่าเรียกลุงผลไม้ก่อน ตอนนั้นเรียกสั้น ๆ เลยสองคำ คือ ลุงผล แล้วตอนหลังก็เปลี่ยนเป็น ลุงฟรุตตี้ ส่วนคำว่า ลุงโป๊ง ชื่อเต็ม ๆ คือลุงโป๊งเหน่ง ก็มาจากเมื่อก่อนลุงขายอยู่ที่คณะนิเทศฯ เขาก็เรียกว่าลุงโป๊งเหน่งมา” (จากรายการสูงวัยไทยแลนด์ Thai PBS ปี 2018 )
มากกว่ารสหวานฉ่ำ คือความใส่ใจของคนทำ
ผลไม้แต่ละถุงที่บรรจุมาบนรถเวสป้าของคุณลุง ล้วนมาจากความใส่ใจของคนทำ ไม่ว่าจะเป็นการคัดสรรพันธุ์ผลไม้ การชั่งน้ำหนักแต่ละถุงให้มีปริมาณเท่ากัน ไปจนถึงการคว้านเมล็ดเงาะ จัดการกับเมล็ดแตงโม เพื่อให้คนทานอร่อยได้เพลิน ๆ โดยไม่เสียอรรถรส
"ใหม่ ๆ ก็มีเมล็ดครับ ปรากฏว่าขายไม่ได้เลย จนมีนิสิตผู้หญิงคนหนึ่งอยู่คณะบัญชีบอกผมว่า ลุงเอาเมล็ดออกสิ ผมก็งงนึกว่าเขาพูดเล่น แต่ตอนนั้นมันขายไม่ได้ ทำไงดี ก็ปรึกษาแฟนผม… ตอนแรกใช้ไม้จิ้มเขี่ยออกทีละเม็ด ๆ มันช้ามาก ตอนหลังก็คือพอรู้ว่าเมล็ดแตงโมมันอยู่ตรงร่องไหน ก็เอาตรงนั้นออกเลยครับ ยอมเสียเนื้อบางส่วน" (จากช่อง KalamareTV, 21 สิงหาคม 2014)
“แต่เงาะคว้านทำยาก เพราะต้องคว้านไม่ให้ติดเปลือก เวลาคว้านต้องมีวิธี ถ้าผิดวิธีความอร่อยจะหายไปเยอะเลย แล้วเงาะนี่ก็ต้องเลือกพันธุ์ดี” (จากช่อง Brickinfo, 12 สิงหาคม 2019)
นอกจากความใส่ใจต่อผลไม้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของลุงฟรุตตี้คือ การจดจำได้ว่าลูกค้าประจำชอบกินผลไม้แบบไหน
“เขาชอบทานอะไรเราต้องจำไว้ ชอบทานแนวไหน มะม่วงอะไร แบบไหน แนวเปรี้ยว แนวหวาน แนวสุก ฝรั่งชอบนิ่มหรือกรอบ ส่วนมากฝรั่งเกือบทุกคนเลยชอบแนวนิ่ม” (จากช่อง Brickinfo, 12 สิงหาคม 2019)
คุณลุงเล่าถึงการสังเกตความชอบของลูกค้าที่แวะเวียนมาอุดหนุน แต่แม้จะไม่ใช่ลูกค้า ความอัธยาศัยดีและรอยยิ้มสดใสก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หลายคนจดจำคุณลุงฟรุตตี้ได้ แถมบางคราวคุณลุงก็จะดูดวงลายมือให้ฟรี บางคนก็บอกว่าแม่นบ้าง ไม่แม่นบ้าง ส่วนคุณลุงตอบเรื่องนี้ในช่อง Brickinfo ว่า “ไม่แม่น ๆ ดูตลก ๆ” พร้อมเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
“จำได้เลยว่า เวลาเดินผ่านลุงก็จะถามว่า แตงโมไหม เพราะลุงจำได้ว่าชอบกินแตงโม แล้วลุงก็พูดเพราะ สุภาพตลอด ยิ้มแย้ม อารมณ์ดีทุกครั้งเลย ชอบมีคนไปต่อคิวดูดวงด้วย ดูเฉย ๆ ไม่ซื้อผลไม้ก็ได้ค่ะ” นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในลูกค้าประจำของลุงฟรุตตี้บอกกับเรา
ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะมีภาพจำต่อคุณลุงฟรุตตี้ มากกว่าคุณลุงขายผลไม้ เช่นเดียวกันกับเรา-ผู้เขียน แม้ไม่ค่อยได้มีโอกาสไปอุดหนุน เพราะเรียนอยู่ทางฝั่งคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งอยู่ห่างสถานที่ประจำของคุณลุงฟรุตตี้ คือคณะอักษรศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แต่ทุกคราวที่ได้พบกับคุณลุง เราจะมีความสุขเสมอ อย่างน้อยก็วินาทีที่คุณลุงเอ่ยคำทักทาย แล้วส่งรอยยิ้มมาให้ราวกับญาติผู้ใหญ่ใจดีคนหนึ่ง
“การมาขายผลไม้ในจุฬาฯ ลุงรู้สึกว่ามีความสุขอย่างบอกไม่ถูกนะ” (จากช่อง KalamareTV, 21 สิงหาคม 2014)
แม้วันนี้คุณลุงฟรุตตี้จะจากไป แต่เชื่อว่าความสุขและความใส่ใจที่ส่งผ่านผลไม้แต่ละชิ้น บทสนทนาแต่ละครั้ง จะถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนไปอีกนานแสนนาน
ที่มา
https://www.youtube.com/watch?v=Mu9JDNeuEEA
https://www.youtube.com/watch?v=iwYRxJhchaw
https://www.youtube.com/watch?v=ccYxZ1YqFQI&t=56s
https://thestandard.co/uncle-fruit-chula/
https://www.facebook.com/cufruity
ที่มาภาพ
https://www.facebook.com/watch/?v=1679457278765613
https://web.facebook.com/cufruity/?ref=page_internal