GAYBY BABY: ‘ครอบครัวของหนูปกติ’ เสียงสะท้อนจากเด็กหญิงและชายที่เติบโตใต้การเลี้ยงดูของ ‘เกย์’
มันไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า, เป็นบาป, ผิดหลักศาสนา, เด็กที่โตมากับคู่รักเกย์คงกลายเป็นเกย์ไปด้วย, ถ้าเลสเบี้ยนเลี้ยงลูก ใครจะเป็น ‘พ่อ’ ให้พวกเขาล่ะ, ชายต้องคู่กับหญิงสิ ธรรมชาติสร้างมนุษย์มาแบบนั้น
สารพันความเห็นด้านลบเกี่ยวกับการแต่งงานของคู่รักเกย์สะพัดพรั่งอยู่ในช่วงแรกเริ่มของภาพยนตร์เชิงสารคดี ‘GAYBY BABY’ (2015) นั้นบอกให้เรารู้ว่า ในประเทศออสเตรเลีย ราวปี 2011 ความรักและการสร้างครอบครัว รวมทั้งมี ‘ลูก’ ด้วยกันของเกย์นั้นถูกต่อต้านจากสังคมมากเพียงใด
GAYBY BABY คือสารคดีฝีมือ ‘มายา นิวเวลล์’ (Maya Newell) ผู้กำกับสาวที่เราทราบว่าเธอเองก็เป็น ‘เกย์บี้’ หรือเป็นลูกที่ถูกเลี้ยงโดยคู่รักเกย์เช่นกัน - หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่อตอบคำถามที่สังคมสงสัยด้วยความห่วงใยระคนไม่เข้าใจ ว่าเด็กที่เกิดหรือเติบโตมากับครอบครัวแบบแม่-แม่ หรือพ่อ-พ่อ นั้นจะรู้สึก ‘แปลกแยก’ และ ‘ผิดปกติ’ จริง ๆ หรือไม่ และถ้าใช่ สิ่งใดที่ทำให้พวกเธอและเขารู้สึกเช่นนั้น
“ผมไม่นับถือพระเจ้า เพราะบาทหลวงในโบสถ์บอกว่าสิ่งที่แม่ทั้งสองของผมทำนั้นเป็นบาป” คือเสียงสะท้อนเล็ก ๆ จาก ‘แมตต์’ - แมตธิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) เด็กชายวัย 12 ปีที่ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อบอกว่าแม่และแม่ของเขาควรได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในสารคดี GAYBY BABY
***คำว่า ‘เกย์’ ในบทความ ให้ความหมายครอบคลุมกลุ่มเพศหลากหลาย ทั้งเกย์และเลสเบี้ยน ส่วนคำ ‘เกย์บี้’ หมายถึงลูกของบุคคลเหล่านั้น
เกย์บี้คือใคร
“ผมไม่มีพ่อ มีแต่คนที่เรียกว่าผู้บริจาค แปลว่าคนที่เอาอสุจิไปโรงพยาบาล เอาใส่ในโถเล็ก ๆ แช่แข็งเอาไว้ แล้วก็เอาให้ผู้หญิง... ผู้หญิงสองคนที่อยากจะมีลูก แล้วพวกเธอก็มีลูกกัน ผมเกิดมาแบบนั้น”
คือคำบอกเล่าของ ‘กัส’ เด็กชายวัย 11 ปีที่เกิดจากการผสมเทียมและเลี้ยงดูโดยมีแม่สองคนมาทั้งชีวิต ขณะที่ ‘เอโบนี่’ เด็กหญิงวัย 12 ที่เพิ่งค้นพบว่าแม่ของเธอคบหากับผู้หญิงอีกคนเมื่อเริ่มโตพอรู้ประสา เช่นเดียวกับ ‘แมตต์’ ที่พ่อและแม่แยกทางกัน แม่ของเขาพบรักครั้งใหม่ และตอนที่ถ่ายทำเขาก็มีแม่สองคนแล้ว ส่วน ‘แกรห์ม’ คือเด็กชายที่ถูกอุปการะโดยพ่อและพ่อที่เป็นเกย์
ต่างที่มาที่ไป เด็ก 4 คนจาก 4 ครอบครัวล้วนเจอปัญหาที่แตกต่าง แต่ร้อยเรียงมาจากสาเหตุหลักในทำนองเดียวกัน ความไม่เข้าใจของผู้คนที่มองโลกด้วยกรอบความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชายทำให้เหล่าวัยซนที่ยังสับสน ก้ำกึ่งระหว่างเด็กและแรกหนุ่มสาวต้องเผชิญช่วงเวลาที่ค่อนข้างลำบาก
แม้เรื่องราวของทุกครอบครัวจะน่าประทับใจ แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะยกมาเล่าในย่อหน้าถัดไป คือ conflict และคลี่คลายภายในครอบครัวของ ‘แมตต์’ ที่ประกอบไปด้วย ‘แซนดี้ มิลเลอร์’ (Sandy Miller) แม่ผู้ให้กำเนิด ‘ลูอิส บัค’ (Louise Bucke) แม่ที่เลี้ยงดู แมตต์ เด็กชายในภาพยนตร์ และ ดีแลน (Dylan) น้องชาย - หนึ่งในครอบครัวที่ได้มีโอกาสร่วมมื้อค่ำกับ ‘จูเลีย กิลลาร์ด’ (Julia Gillard) นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งออสเตรเลียในขณะนั้น ที่มีแนวคิดต่อต้านการแต่งงานเพศเดียวกันอย่างหัวชนฝา
รักที่โบสถ์บอกว่าผิด
“แม่เล่าให้ฟังบ่อย ๆ ว่าบาทหลวงที่โบสถ์บอกว่าแม่ทำผิดต่อพระเจ้า”
แซนดี้ แม่ของแมตต์ศรัทธาในพระเจ้า เมื่อความรักเกิดขึ้น เธอแต่งงานกับชายหนึ่งคน อยู่กินและมีลูกด้วยกัน หลังเวลาพ้นผ่าน ทั้งคู่หย่าขาดจากกันเมื่อความรักมาถึงทางตัน และลูอิสก็เข้ามาในชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยวของแซนดี้
“เธอดูแลผมอย่างดี อย่างที่ผมไม่คิดว่าคนที่ไม่ใช่พ่อแม่แท้ ๆ และไม่ใช่ญาติจะทำแบบนั้นให้เรา” แมตต์เล่าผ่านสารคดีถึงช่วงเวลากว่า 4 ปีนับจากวันแรกที่เขาได้พบกับแม่คนที่สอง แซนดี้และลูอิสหมั้นหมาย ใช้ชีวิตอย่างคู่รักทั่วไป แต่เธอทั้งคู่กลับไม่สามารถแต่งงานกันได้ เพราะขณะนั้นการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันยังผิดกฎหมายในออสเตรเลีย
แซนดี้ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ แต่เธอก็ให้อิสระมากพอที่จะไม่ยัดเยียดศาสนาคริสต์ใส่มือลูกชาย - แมตต์โตพอที่จะเลือกว่าเขาจะเชื่อในพระเจ้าหรือไม่ เธอบอกแบบนั้น สิ่งที่เธอทำมีเพียงยื่นคัมภีร์ไบเบิลให้ และขอให้เขาอ่านมันเพื่อตัดสินใจ
เพราะไม่ชอบที่ความรักของแม่ทั้งสองถูกตัดสินว่าผิด สุดท้ายเด็กชายก็เลือกที่จะไม่นับถือพระเจ้า
“เราเห็นต่างกันแค่เรื่องศาสนา แต่ว่าแม่ก็ยังเป็นแม่ของผมอยู่ดี”
เด็กชายที่อยากให้แม่ได้แต่งงานกัน
“ดีแลน ลูกชายคนเล็กเคยถามฉันว่า แม่จะหมั้นกันตลอดไปเลยเหรอฮะ ทำไมไม่แต่งงานกันสักทีล่ะ มันยากที่จะอธิบายให้ลูกฟังว่าแม่แต่งงานกันไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้เราทำ” แซนดี้เล่า
การทุ่มเถียงเกี่ยวกับรักระหว่างชาย-ชาย และหญิง-หญิงเป็นประเด็นร้อนของสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเชิญคู่รักเกย์หลายคู่ร่วมมื้ออาหารค่ำและพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ครอบครัวของแมตต์ได้รับเชิญในมื้ออาหารครั้งนั้นด้วย แต่แซนดี้บอกกับแมตต์ว่าเธอจะไม่ไป ถ้าลูกชายทั้งสองคนของเธอไม่ยินดีที่จะไปที่นั่นด้วยกัน
“ตอนเจอนายกรัฐมนตรีผมตื่นเต้นเกินไป เลยไม่ได้พูดสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ ผมแค่ยื่นจดหมาย แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกเธอก็คือ ผมไม่ได้เต็มใจมาพบเธอในวันนี้ อันที่จริงผมงี่เง่าด้วยซ้ำ
“เพราะการถกเถียงเรื่องนี้ไม่ควรมีขึ้นเลย มันไม่ควรมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันมาตั้งแต่แรก”
ธงสีรุ้งบนถนนและภาพยนตร์ที่ถูกแบน
ธงสีรุ้งผืนยักษ์สะบัดเต็มท้องถนน ท่ามกลางเสียงดนตรีและการแต่งกายหลายหลากสีสัน ‘การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน’ คือธีมหลักของเทศกาล ‘Sydney Gay & Lesbian Mardi Gras Parade’ ปี 2011 - เทศกาลพาเหรดเพื่อสิทธิเกย์เก่าแก่ที่จัดทุกปีเรื่อยมานับจาก ค.ศ. 1978
แมตต์และครอบครัวร่วมเดินถนนบนพาเหรดนั้น เช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ ในภาพยนตร์ ผู้คนที่เป็น LGBTQIA+ และพันธมิตรเรือนหมื่นที่ล้วนส่งเสียง เรียกร้อง และเฉลิมฉลองในสิ่งเดียวกัน
ปี 2015 ภาพยนตร์ GAYBY BABY ได้ฤกษ์เข้าโรง และในไม่ช้ามันก็ถูกแบนโดยรัฐบาลของเมืองนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ไม่ให้ทุกโรงเรียนในเมืองฉายมันใน ‘Wear it Purple Day’ วันสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ในออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลว่ามีผู้ปกครองบางคนร้องเรียน ไม่อยากให้ฉายมัน
ขณะที่ข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับการฉายและไม่ฉายหนังเรื่องนี้ให้เด็ก ๆ ดูดำเนินไปในเมืองเมืองหนึ่ง ข้อขบคิดที่ตกผลึกจากหนัง และการส่งเสียงเรื่อยมาอย่างยาวนานของ LGBTQIA+ community ก็ค่อย ๆ ทำให้การมีอยู่ การครองคู่ และการเลี้ยงดูบุตรของเกย์ในออสเตรเลียถูกมองเห็นและยอมรับมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว แม้ในวันนั้นแซนดี้กับลูอิส (และคู่รักเกย์คู่อื่น ๆ) จะเปลี่ยนใจจูเลีย กิลลาร์ดไม่ได้ แต่เธอทั้งคู่ก็ตัดสินใจจัดงานวิวาห์เล็ก ๆ ขึ้นในปี 2015 ต่อมาในปี 2017 การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันก็กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในออสเตรเลีย ท่ามกลางความยินดีของเหล่าเกย์บี้ ที่ได้รับรู้ว่าแม่และแม่ หรือพ่อและพ่อของตนจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงเสียที
แด่ทุกความรักของทุกเพศ และเหล่าเกย์บี้ทุกชีวิต รวมทั้งขอขอบคุณถ้อยคำในภาพยนตร์ที่ย้ำให้เรารู้ว่าครอบครัวไม่จำเป็นต้องประกอบไปด้วยแม่และพ่อ แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ครอบครัวเป็นครอบครัว คือความรักระหว่างสมาชิก
ที่มา: ภาพยนตร์ GAYBY BABY ฉายทาง Doc Club
https://www.9news.com.au/national/brothers-to-tell-pm-why-mums-should-marry/470f50fc-d3c7-47b3-89ef-7ae4672393cf
https://www.australianmarriageequality.org/2011/06/17/when-i-go-to-dinner-with-the-prime-minister…/
https://www.smh.com.au/politics/federal/gay-marriage-inevitable-gillard-tells-guests-20120221-1tlun.html