นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส: นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล
หากเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า และสังเกตสิ่งต่าง ๆ โดยรอบไม่ว่าจะในยามตะวันทอแสง หรือในยามค่ำคืนอันมืดมิด เราก็มักจะเห็นสิ่งต่าง ๆ บน ไม่ว่าจะเป็นเมฆ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือ ดาวต่าง ๆ เคลื่อนที่ผ่านรอบโลกของเรา เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกว่า โลกที่เรายืนอยู่จะเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีดาวอื่นโคจรรอบ ๆ
ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อที่แพร่หลายและฝังรากลึก ในหมู่คนสมัยก่อนเป็นเวลานานนับพันปี จนกระทั่งการมาถึงของบุรุษที่มีชื่อว่า นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส
ชีวิตช่วงแรก
นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) เป็นนักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวโปแลนด์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม (Renaissance) ในยุโรป เขาเป็นนักดาราศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่คนแรก ที่ได้เสนอทฤษฎีที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากนักดาราศาสตร์ในยุคต่อมาให้เป็น บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ (Astronomy)
โคเปอร์นิคัสได้ลืมตาดูโลก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1473 ที่เมืองโตรัน ทางตอนเหนือของโปแลนด์ เขาเติบโตในครอบครัวพ่อค้าผู้มั่งคั่ง พ่อแม่ของเขาต่างก็มาจากครอบครัวพ่อค้าทั้งคู่ โคเปอร์นิคัสเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน พ่อของเขาได้จากโลกนี้ไปตอนเขาอายุเพียง 10 ปี โคเปอร์นิคัสจึงเติบโตโดยได้รับการเลี้ยงดูจากลุงแทน ซึ่งลุงของเขานี้เองที่มีบทบาทต่อการศึกษาเล่าเรียนของโคเปอร์นิคัส เมื่อยามที่เขาเติบโตขึ้น
ในปี 1491 ขณะที่อายุได้ 18 ปี โคเปอร์นิคัส ได้เข้าศึกษา ที่มหาวิทยาลัยคราคอฟ ที่นั่นเขาได้ศึกษาเกี่ยวกับ จิตรกรรม คณิตศาสตร์ ปรัชญา และศาสตร์แขนงต่าง ๆ อีกมากมาย เขาได้แสดงความสนใจต่อตำราอันโด่งดัง ของเหล่านักปราชญ์ในยุคก่อนหน้านี้และได้เริ่มที่จะสมสมหนังสือต่าง ๆ
ภายหลังเล่าเรียนศึกษาอยู่ที่คราคอฟได้สี่ปี ลุงของเขาก็ได้ส่งเขาไปศึกษาต่อที่อิตาลี ในเมืองโบโลญญา เฉกเช่นเดียวกับเด็กหนุ่มจากครอบครัวมั่งคั่งคนอื่น ๆ ในยุคนั้น ที่นั่นเขาได้ศึกษาต่อในด้านกฎหมายและการแพทย์ต่อเป็นเวลาอีกสามปี
ภายหลังการจบการศึกษา โคเปอร์นิคัสได้ทำงานเป็นบาทหลวงท้องถิ่นอยู่ในอิตาลีต่อ โดยในระหว่างนี้เขาได้แสดงความสนใจในวิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมไปถึงเรื่องราวและทฤษฎีของเหล่านักปราชญ์ในยุคกรีกโบราณเป็นพิเศษ เขาได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาศาสตร์ดังกล่าว จนมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ยากจะหาคนเทียบได้
จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 28 ปี เขาได้กลับไปยังบ้านเกิดเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวที่โปแลนด์ในปี 1501 อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้กลับไปที่อิตาลีในภายหลัง โดยเขาได้บอกลุงของเขาว่า อยากจะไปศึกษาเพิ่มเติมในด้านการแพทย์ แต่ความจริงแล้ว โคเปอร์นิคัสต้องการจะกลับไปอิตาลี เพราะท้องฟ้าที่นั่นบรรยากาศดี เหมาะที่จะใช้ศึกษาทางดาราศาสตร์ มากกว่าท้องฟ้าที่บ้านเกิดของเขาต่างหาก
การค้นพบครั้งสำคัญ
ในระหว่างที่ยังคงทำงานเป็นบาทหลวงเพื่อหาเลี้ยงชีพอยู่นั้นเอง โคเปอร์นิคัสก็ยังคงใช้เวลาว่างไปกับการมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ในทางดาราศาสตร์ต่อไป จนกระทั่งในที่สุด เมื่อช่วงประมาณ ค.ศ.1508 เขาก็ได้พัฒนาทฤษฎีและแบบจำลองของระบบสุริยะจักรวาลแบบใหม่ (Heliocentric System) ซึ่งมาจากการค้นพบทางดาราศาสตร์ของเขา โดยเขาได้เสนอว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นจุดศูนย์กลางระบบสุริยะ มิใช่โลก ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม ดาวที่ยิ่งอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ก็ยิ่งโคจรเข้าสู่รอบใหม่ได้ช้าลง ส่วนดวงจันทร์ก็ยังคงโคจรรอบโลกตามเดิม ซึ่งโคเปอร์นิคัส ได้เสนอข้อค้นพบดังกล่าวพร้อม ๆ กับการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ ไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “On the Revolutions of the Celestial Spheres”
ทฤษฎีดังกล่าวได้ไปหักล้างกับสมมติฐานและแบบจำลองระบบสุริยะจักรวาลของอริสโตเติลกับปโตเลมี สองนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในยุคกรีกโบราณ ซึ่งเป็นสมมุติฐานที่ได้รับการยอมรับในยุคนั้น อีกทั้งยังขัดแย้งกับความเชื่อของศริสตจักร ที่เชื่อว่าโลกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล โดยยุโรปในขณะนั้นได้ถูกคริสตจักรเข้าครอบงำ หากผู้ใดที่มีความเชื่อหรือประพฤติสิ่งใดขัดแย้งต่อหลักความเชื่อของศริสตจักร ก็จะถูกขับออกจากศาสนาและถือว่าเป็นคนนอกรีต
ด้วยเหตุเหล่านี้เอง ทำให้โคเปอร์นิคัสไม่สามารถที่จะเผยแพร่ความเชื่อใหม่ของเขา ได้อย่างเปิดเผยมากนัก เขาไม่ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เสนอความรู้ดังกล่าวออกมาอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งภายหลังที่เขาเสียชีวิต หนังสือและทฤษฎีของเขาจึงได้เริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย หนังสือของเขาก็ได้ถูกศริสตจักรแบนให้เป็นหนังสือต้องห้ามและได้ออกคำสั่งมิให้ให้เผยแพร่ความคิดดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาต่อมา ทฤษฎีของเขาก็ได้รับการยอมรับและเผยแพร่โดยนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์
ตรงนี้มีเรื่องราวเล็ก ๆ เล่าว่า ไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต โคเปอร์นิคัสถึงเพิ่งได้เริ่มพิมพ์หนังสือดังกล่าวจริงจัง และเขาได้นำไปมอบให้พระสันตะปาปาพอลที่ 2 ในช่วงสองเดือนก่อนที่จะเขาจะเสียชีวิต แต่ผู้ทำการพิมพ์ได้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า เป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้จริง มีไว้เพียงแต่ช่วยนักดาราศาสตร์ในการคำนวณเท่านั้น ทำให้ไม่ได้มีปฎิกิริยาตอบโต้อะไรที่รุนแรงจากศาสนจักรในตอนนั้น อย่างไรก็ดีหนังสือเล่มนี้ ก็ถูกสั่งให้เป็นหนังสือต้องห้ามจากศาสนจักรอยู่ดีในปี 1616
ตลอดเวลาที่เหลือ โคเปอร์นิคัสยังคงศึกษาและค้นคว้าทางด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์เรื่อยมาจนถึงบั้นปลายชีวิต เขาได้เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 70 ปี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 1543 โดยโคเปอร์นิคัสได้กอดหนังสือของเขาไว้แนบกายจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ
การค้นพบทางดาราศาสตร์ดังกล่าวของโคเปอร์นิคัส ได้ทำให้เกิดการปฎิวัติที่ยิ่งใหญ่ในวงการดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าแบบจำลองของเขาอาจจะไม่ได้ถูกต้องซะทีเดียว เช่นรูปแบบการโคจรที่ไม่ได้เป็นวงกลมแบบที่เขาเสนอ แต่เป็นวงรีซึ่งถูกพิสูจน์ต่อมาโยฮันเนส เคปเลอร์ นอกจากนี้แบบจำลองของเขายังได้ถูกเผยแพร่และพัฒนาต่อมาจนมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าในยุคต่อมา อย่าง กาลิเลโอ
เหนืออื่นได้ คุณูปการที่สำคัญที่ โคเปอร์นิคัส ฝากไว้ คือเขาได้ทำให้โลกตะวันตกเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเชื่อสมัยใหม่ที่หลุดพ้นไปจากการครอบงำของคริสตจักร ความคิดและการค้นพบของเขาได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและจักรวาล ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ในสมัยต่อมา จนพัฒนาไปเป็นการปฎิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ที่จะทำให้โลกตะวันตกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
เรื่อง: วรินทร์ สิงหเสมานนท์ (The People Junior)
อ้างอิง
https://www.biography.com/scientist/nicolaus-copernicus
https://www.history.com/this-day-in-history/copernicus-born
https://www.space.com/15684-nicolaus-copernicus.html
https://www.famousscientists.org/nicolaus-copernicus/