read
social
15 ส.ค. 2564 | 16:27 น.
สิริญา นามพันธ์ : 'ล.เจริญศิลป์' ร้านถ่ายรูปที่ส่งต่อความทรงจำถึงคนที่จากไป ในช่วงเวลาอันแสนเปราะบางของชีวิต
Play
Loading...
“ตอนนี้คือรูปงานศพมากเป็นอันดับ 1 ถ้าเทียบกับปริมาณงานที่ร้าน นอกนั้นจะเป็นงานเอกสาร ...ช่วงไม่มีโควิด-19 ไม่ได้มีรูปทุกวัน บางที 2-3 วัน มี 1-2 คน แต่พอช่วงโควิด-19 ตอนนี้มีทุกวัน อย่างต่ำ 2-3 รูป”
สิริญา นามพันธ์
เจ้าของร้าน ล.เจริญศิลป์ ร้านถ่ายรูปที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณคลัสเตอร์โควิด-19 ในย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อโรคระบาดได้พรากลมหายใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุย่านเก่าแก่แห่งนี้ ทำให้มีกรอบรูปงานศพเรียงรายอยู่บริเวณหน้าร้าน
แม้ตลอด 64 ปีที่ผ่านมา ร้าน ล.เจริญศิลป์ต้องเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านของยุคฟิล์มสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด แต่การระบาดของโควิด-19 อาจเป็นครั้งแรกที่ร้านถ่ายรูปแห่งนี้ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน
64 ปีแห่งความทรงจำ
ร้าน ล.เจริญศิลป์ เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ. 2500 ลูกค้าจึงมีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อมาจนถึงรุ่นลูกหลาน เมื่อมีชื่อร้านปรากฏบนภาพ จึงเปรียบเสมือนเครื่องหมายการันตีความเก่าแก่
“ถ้าปัจจุบัน มองกลับไปก็คืออย่างคนที่เขามีการ์ดสมัยก่อน มีชื่อร้าน ล.เจริญศิลป์ แล้วเอากลับมา เขาก็บอกว่าเนี่ย ถ่ายตั้งแต่สมัยคุณพ่อ แต่หลัง ๆ ก็จะมีชมรมนิยมของเก่า วงการพระเครื่อง แล้วก็รูปสมัยเก่า ถ้ามีการ์ด ล.เจริญศิลป์ติดอยู่ ก็คือเก่าแน่ 60 ปี คนไปเช่าต่อได้ ได้ราคาแน่อะไรประมาณนี้”
เมื่อกาลเวลาผันผ่าน ยุคสมัยของฟิล์มได้เปลี่ยนแปลงสู่ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นสิริญากลับมองว่าร้านถ่ายรูปยังมีความจำเป็นสำหรับผู้คนเช่นเดิม
“จริง ๆ ถ้าปรับตัวก็อยู่ได้นะ เพราะงานก็มีอยู่เรื่อย ๆ แต่ต้องลดจำนวนช่างที่เคยเป็นช่างฝีมือ ก็ต้องไปเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนรีทัช ไปศึกษา แค่ปรับก็จะไปได้
“จริง ๆ ภาพถ่ายที่ละเอียด อย่างภาพถ่ายติดบัตรแบบเนี้ยบ ๆ ก็ต้องพึ่งอุปกรณ์ ไม่ใช่มือถืออย่างเดียวจะทำได้ ต้องพึ่งฝ่ายสตูดิโอ ที่งานอีกระดับอีกเกรด อย่างงานกรอบรูปก็ยังมี ก็ยังได้เรื่อย ๆ คือเทคโนโลยีก็ยังไปเรื่อย ๆ แต่การลงทุนของเครื่องที่ได้คุณภาพดี มันก็ยังราคาสูง ถ้าโฮมยูสที่บ้านก็จะอีกเกรดหนึ่ง คนที่อยากได้คุณภาพก็จะใช้เครื่องอีกแบบหนึ่ง”
ผลกระทบจากโรคระบาด
จากคำบอกเล่าของสิริญา เทคโนโลยีอาจไม่ได้ส่งผลต่อร้านถ่ายรูปแห่งนี้มากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-19 แทบทุกกิจการราวกับเจอคลื่นโหมซัดเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่นเดียวกับร้าน ล.เจริญศิลป์
“ได้รับผลกระทบเยอะ รายได้เหลือ 30-40% จากปกติ บางทีเราก็ให้พนักงานหยุดอาทิตย์หนึ่ง แต่จ่ายเงินเท่าเดิม ถ้าปริมาณงานน้อย เราก็จะรวบยอด นับเป็นสัปดาห์หน้า ไม่ต้องมาทุกวัน เพราะว่าการเดินทางมันก็เสี่ยงกับเขา เพราะถ้าเขาเสี่ยง เราก็เสี่ยง
“ส่วนตัวอาคารขึ้นกับเทศบาล เราก็จ่ายค่าเช่าปกติ ตรงนี้เป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วเทศบาลมาบริหาร ใช้วิธีเซ้งผู้เช่า ทำสัญญาเช่าปีต่อปี เสียค่าเช่ารายเดือน เป็นร้านและที่อยู่อาศัย”
แม้รายได้ลดลงเกินครึ่ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่สิริญายังตั้งใจว่าจะเปิดร้านต่อไป เพราะมองว่ากิจการของตนยังจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เอกสาร อย่างการถ่ายบัตรประชาชน เอกสารตรวจโควิด-19 แม้กระทั่งการบ้านของเด็ก ๆ ที่เรียนออนไลน
“เมื่อก่อนมีรายได้เยอะจากถ่ายรูปติดบัตร ถ่ายรูปนักเรียน หรือข้าราชการ สมัครงาน ตรงนี้จะเหลือเกือบ 0% เลย จะกลายเป็นว่า เหลือในเรื่องของเอกสาร ไม่ว่าจะเรื่องเด็กนักเรียนเรียนที่บ้าน หรือเป็นเอกสารทั่วไปเกี่ยวกับโควิด-19 แล้วก็จะเป็นรูปงานศพ ตอนนี้คือรูปงานศพมากเป็นอันดับ 1 เลย ถ้าเทียบกับปริมาณงานที่ร้าน”
ส่งต่อความทรงจำ ในช่วงที่ชีวิตแสนเปราะบาง
หากย้อนความทรงจำการทำภาพงานศพ สิริญาเล่าว่าก่อนหน้านี้มีทั้งลูกค้าที่คุ้นหน้าค่าตา เพราะคุณปู่คุณย่าสั่งเสียให้มาทำรูปที่ร้าน บ้างก็เตรียมภาพของตัวเองเอาไว้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ บ้างก็ต้องใช้ภาพจากบัตรประชาชน เพราะไม่เคยถ่ายภาพตนเองเก็บไว้
“เวลาทำ บางทีลูกค้าเอารูปบัตรประชาชนมา เราก็ถามว่า ไม่มีรูปอื่นอีกเหรอ รูปยิ้ม ๆ รูปธรรมชาติ รูปอะไรที่เราชอบ ...บางทีต้องใส่เสื้อให้เขา ทำฉากให้เขา เราทำด้วยความเต็มใจ แต่บางครั้งก็ไม่อยากให้ใส่เสื้อคนอื่นนะ คืออยากให้เป็นตัวเขา ให้เป็นรูปของคนนั้นมากที่สุด
“คนสมัยก่อนบ้างก็บอกว่าไม่อยากถ่ายรูป เพราะกลัวอายุสั้น แบบนั้นหมดไปแล้วไง วันไหนลองจับปู่ย่าแต่งตัวสวย ๆ ชุดผ้าไหมดี ๆ ถ่ายสวย ๆ เก็บไว้ ถึงเวลาเราก็จะได้ใช้รูปนั้น ก็เตรียมไว้ อยากให้เขาได้รูปสวย ๆ ไม่ใช่มาตัดแต่งรูปกลางคืนมืด ๆ มาแปลงไฟล์ ออกมาก็ไม่สวย”
เมื่อถึงคราวที่ภาพงานศพส่วนใหญ่กลายเป็นผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แม้กระบวนการจะไม่แตกต่างไปจากภาพงานศพทั่วไปมากนัก แต่สิ่งที่ต่างออกไปคงเป็นความรู้สึกของคนทำที่ไม่อาจตั้งรับความรวดเร็วและจำนวนของการสูญเสียได้ แม้ไม่ได้รู้จักกับคนในภาพเป็นการส่วนตัวก็ตาม
“เศร้า เศร้า เหมือนคนไม่ได้ตั้งตัวนะ พอเป็น ออกอาการ หรือเสีย ก็ไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ได้จัดงาน มันเป็นอะไรที่กะทันหันกับความรู้สึก เมื่อก่อนพิธีสวด 3 คืน 5 คืน ยังมีเพื่อนมา มางาน อันนี้มาถึง อ้าว!เสียแล้วเหรอ บางทีเจอรูป อ้าว! คนนี้เสียแล้วเหรอ เราก็ต้องทำแบบเงียบ ๆ ประมาณนี้
“รูปผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่เขาจะมาทำรูปช่วงเช้า แต่บางทีเพิ่งเสียก็มาเลย เพราะเดี๋ยวนี้จัดงานไม่ได้ ต้องเผาเลย เขาก็ต้องเตรียมรูป รูปเป็นสื่อสำคัญในการจัดงานเพื่อระลึกถึง บางคนไม่ค่อยมีญาตินะ แต่ก็อยากให้ทำรูปเล็ก ๆ ก็ยังดี เวลาทำบุญ เป็นสิ่งจำเป็นในงาน
“ถ้างานทั่วไป เราจะได้รดน้ำศพ จะเห็นหน้าอะไรอย่างนี้ใช่ไหมในการจัดงาน แต่พอแบบนี้ เขาปิดมาตั้งแต่โรงพยาบาล ดูใจหายนะ ต้องมองรูปแทน ไม่ได้เปิดโลงก่อนเผา บางคนญาติกัน บ้านเดียวกัน ไม่ได้เห็นหน้ากันด้วยซ้ำ คือตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลแอดมิดไป น้องที่มาก่อนหน้านี้ บ้านนั้นก็เสียเพราะโควิด-19 ทั้ง 3 คนเลย ก็มาทำรูปที่นี่ เราก็ว่า เออ...ทำไมเราคุ้นหน้าน้อง แต่พอดู อ้อ! เขาเพิ่งมาทำรูปงานศพไป”
ปรัชญาจากภาพถ่าย
“จิตตกเหมือนกัน
“ช่วงไม่มีโควิด-19 ไม่ได้มีรูปทุกวัน บางที 2-3 วัน มี 1-2 คน แต่พอช่วงโควิด-19 ตอนนี้มีทุกวัน อย่างต่ำ 2-3 รูป”
การทำภาพงานศพทุกวัน อาจทวีความรู้สึกใจหายและโศกเศร้า ขณะเดียวกันก็ทำให้สิริญาได้พินิจถึงชีวิตอันเปราะบางของมนุษย์อย่างถี่ถ้วน เพราะภาพถ่ายเหล่านั้นย้ำเตือนถึงสัจธรรมที่ว่า ‘ความตายมาคู่กับลมหายใจโดยธรรมชาติ’
“รู้สึกว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องหมุนเวียน เราต้องอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ก็คิดอย่างนั้น คิดว่าปลง ๆ นะ ยิ่งถ้าทำรูปงานศพทุกวัน จะมีความรู้สึกว่า ตั้งแต่เกิดมา ความตายมันก็คู่กับการเกิดอยู่แล้ว ทำรูปตั้งแต่เด็กแรกคลอด รูปคุณแม่ท้อง ก็ถ่ายรูปแล้วก็มาพรินต์ไว้ เรามองเป็นสัจธรรม สักวันก็คงเป็นรูปคนรุ่นเราเอง มาพร้อมการเกิด บางคนเป็นเด็กแรกเกิด วัยกลางคน คนแก่ ก็มีทุกวัย แต่บางทีคนมาทำก็สะอึกสะอื้นร้องไห้ บางทีก็เขียนชื่อไม่ถูก งง ๆ ก็เข้าใจ ค่อย ๆ เลือก ค่อย ๆ อะไรแบบนี้
“ถ้าเลือกได้ก็อยากอัดรูปไปเที่ยวมากกว่า ...เราชอบรูปเมืองนอก คนไปเที่ยวเมืองนอกแล้วกลับมา เราได้ดูวิวเขาด้วย มันจะสนุก จะมีความสุข เขาไปเที่ยวเมืองโน้นเมืองนี้ ก็ดีกว่า”
ภาพถ่ายของคนที่จากไป ในแง่ของญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดนั้นเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจว่า เขาจะยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ และในมุมของร้านถ่ายรูป คงเป็นความสลดใจปะปนไปกับความเข้าใจชีวิต แต่ในความเข้าใจชีวิตนั้น ไม่ได้หมายถึงความ ‘ชินชา’ กับผู้คนที่จากโลกใบนี้ไป เช่นเดียวกับประโยคอันแสนคุ้นหูในช่วงเวลานี้ว่า ‘จำนวนคนตายไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือชีวิต และเป็นครอบครัวของใครสักคน’
ดังนั้นภาพถ่ายของผู้คนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 อีกมุมหนึ่งจึงเปรียบเสมือนอนุสรณ์แห่งความผิดพลาดที่รัฐบาลไม่สามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
“แน่นอน (โควิด-19) มันก็ต้องหมดไป อีก 1-2 ปี เราก็หวังเรื่องยา วัคซีนอะไรอย่างนี้ เคยมีเขาส่งไลน์มาให้ ข่าวดังโรคระบาดสมัยเก่าสมัยที่เรายังไม่เกิด ระยะเวลาผ่านไป การวิจัยมันดีขึ้น ยารองรับกับโรคที่เกิดขึ้น มันก็อาจจะบรรเทาความร้ายแรง เป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา ซึ่งก็ต้องใช้เวลา มันก็ต้องปรับตัวการดำเนินชีวิตไป”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3491
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
819
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
COVID19