Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’

Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’
/ *** บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง Green Book (2018) และใช้คำเรียกชาวแอฟริกัน-อเมริกันว่า นิโกรและคนดำตามบริบทของภาพยนตร์ / แน่นอนว่า ‘การเปิดโลก’ คือผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ที่ได้จากการเดินทางด้วยรถยนต์คันหรูจากภาคเหนือของอเมริกาสู่ภาคใต้ที่เต็มไปด้วย ‘การเหยียดเชื้อชาติ’ และ ‘สีผิว’ แต่สำหรับ ‘โทนี่ วาลเลลองกา’ หรือ โทนี่ ลิป รับบทโดย วิกโก มอร์เทนเซน (Viggo Mortensen) เจ้าของบทอารากอร์นแห่งเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ เขากลับไม่ได้เปิดเพียงโลกที่เคยอุดอู้อยู่ตามผับในนิวยอร์กเท่านั้น แต่ยังได้เปิด ‘โลกทัศน์’ ผ่านการมีอยู่ของ ‘คู่มือปกเขียวของผู้ขับขี่นิโกร’ หรือ ‘Green Book’ ซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ การที่ Green Book (2018) กำกับโดย ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี่ (Peter Farrelly) ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2019 รวมไปถึงสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากการแสดงของ มาเฮอร์ชาลา อาลี (Mahershala Ali) ในบท ‘ดร.ดอน เชอร์ลีย์’ นักเปียโนผิวสีผู้จ้างโทนี่ให้เป็นคนขับรถของเขา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ควรค่าแก่การหยิบมาดู  นอกจากการตีแผ่ความเจ็บปวดของคนผิวดำในปี 1962 อย่างตรงไปตรงมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมุ่งนำเสนอประเด็นชีวิตของดอนที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนเกินกว่าที่ใครหลายคนในยุคนั้นจะเข้าใจ ส่วนโทนี่ เขาเพิ่งจะรู้ว่าคนผิวดำถูกปฏิบัติอย่างแปลกแยกกว่าที่เคยคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับรู้ถึงการมีอยู่เป็นครั้งแรกของ Green Book คู่มือและสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียมในอเมริกา Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม สมุดปกสีเขียวราคา 1.25 ดอลลาร์ถูกยื่นให้กับโทนี่ อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัยในผับที่เพิ่งตกงานมาไม่นาน เขากำลังจะเริ่มงานใหม่ในตำแหน่งคนขับรถของดอน นักดนตรีผิวสีผู้ร่ำรวยที่กำลังจะเดินทางไปปะทะกับการเหยียดสีผิวในภาคใต้ของอเมริกาซึ่งขึ้นชื่อว่ามีการเหยียดกันอย่างรุนแรง เนื่องจากหลายพื้นที่มีการใช้กฎหมาย ‘Jim Crow Laws’ ที่จำกัดสิทธิคนดำ และให้สิทธิพิเศษแก่คนผิวขาวอย่างเป็นทางการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1877 ถึงกลางทศวรรษ 1960s  โทนี่และครอบครัวของเขาเป็นชาวอิตาเลียน-อเมริกันที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก พวกเขาเองก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนผิวสี สังเกตจากฉากแรกในบ้าน โทนี่ตื่นขึ้นมาและพบว่ามีญาติฝ่ายชาย 5 คนมาช่วยกันนั่งเฝ้า ‘โดโลเรส’ ภรรยาของโทนี่ เพราะพนักงานซ่อมบ้านเป็นผู้ชายผิวดำ 2 คน แต่ขณะที่ชายอิตาเลียน 6 คนกำลังแสดงความไม่พอใจ โดโลเรสคงเป็นเพียงคนเดียวในบ้านที่ยื่นแก้วน้ำให้ชายผิวดำทั้งสองดื่มดับกระหาย “โทนี่ อย่านอนหลับตอนลูกสาวฉันอยู่บ้านตามลำพังกับไอ้มืดพวกนี้” โทนี่รับฟังคำของพ่อตา แล้วเดินไปหยิบแก้วน้ำที่ชายผิวดำทั้งสองดื่มทิ้งลงถังขยะอย่างไม่เสียดาย นี่เป็นเพียงตัวอย่างแรกของภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน กระทั่งโทนี่ได้รับ Green Book หรือ ‘The Negro Motorist’s Green Book’ ที่มีคำเขียนบนหน้าปกว่า ‘For vacation without aggravation’ (สำหรับวันพักผ่อนที่ไร้เหตุร้าย) โดยเนื้อหาภายในจะระบุตำแหน่งที่ตั้งและรายละเอียดของโรงแรม - ห้องพักริมทาง (hotel-motels) ร้านอาหาร ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงรีสอร์ตที่ ‘ต้อนรับคนผิวดำ’ ซึ่งบางแห่งคนผิวขาวอาจพักด้วยได้ แต่โดยรวมแล้วสถานที่ในคู่มือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อคนผิวดำมากกว่า Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ ‘วิกเตอร์ ฮิวโก กรีน’ (Victor Hugo Green) ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันคือผู้เขียน Green Book ขึ้น เพื่อมอบทางเลือกอันน้อยนิดและความปลอดภัยในชีวิตให้แก่เพื่อนร่วมชะตากรรม เขารู้ดีว่าการกดขี่ที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงถึงชีวิต โดยเฉพาะทางตอนใต้ที่กฎหมายถูกตราขึ้นเพื่อเอื้อให้คนผิวขาว ‘เป็นคน’ มากกว่าคนผิวดำ แต่ในทางกลับกัน คู่มือที่ดูเหมือนจะถูกตีพิมพ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนผิวดำก็กลายเป็นเครื่องมือเพื่อการแบ่งแยกและตอกย้ำความไม่เท่าเทียมไปในตัว ซึ่งวิกเตอร์เองก็หวังว่าสักวันคู่มือเล่มนี้จะไม่มีความจำเป็นต้องถูกใช้อีก ส่วนพลเมืองผิวขาวที่ไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของคู่มือเล่มนี้ก็มีเช่นเดียวกัน สองในนั้นคือโดโลเรสและโทนี่ “มีคู่มือแบบนี้ด้วยหรอ?” เธอถามกับสามีที่พยายามอธิบายด้วยภาษาอังกฤษอย่างง่ายว่ามันคือ ‘traveling while black’ (การเดินทางตอนที่เป็นคนดำ) นั่นเรียกว่าเป็นการเปิดโลกครั้งแรกของโทนี่ ก่อนที่เขาและดอนจะได้เดินทางเข้าสู่โลกของกันและกันมากขึ้นบนเส้นทางทัวร์ดนตรี 8 สัปดาห์ Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ ออกเดินทางสู่โลกของกันและกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของชาย 2 คน ซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่องคือ ดร.ดอน เชอร์ลีย์ (Don Shirley) อัจฉริยะด้านเปียโนที่เริ่มแสดงต่อหน้าผู้คนครั้งแรกตอนอายุเพียง 3 ขวบ และโทนี่ ลิป (Tony Lip) พนักงานรักษาความปลอดภัยตามผับที่ภายหลังกลายมาเป็นผู้จัดการร้านโคปาคาบานา นักแสดง และนักเขียน ทั้ง 2 คนเดินทางไปยังรัฐทางตอนใต้เพื่อแสดงดนตรีในงานของคนขาวที่ร่ำรวยพอจะจ่ายให้คณะ ‘Don Shirley Trio’ ของดอนและเพื่อนนักดนตรีอีก 2 คนไปแสดง แต่หนทางในการใช้ชีวิตของดอนนั้นไม่ง่ายเลย โทนี่ค่อย ๆ รับรู้ความเจ็บปวดและความบอบช้ำทางจิตใจที่ดอนต้องแบกรับมาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มเรียนรู้ชีวิตอีกฝ่ายจากการกีดกันที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ ในงานเลี้ยงของชายผิวขาวผู้ร่ำรวย แขกเหรื่อภายในงานมีแต่สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีผิวขาวแต่งตัวหรูหรา ขณะที่บริกรต่างเป็นชายผิวดำที่ทำหน้าที่ให้บริการพวกเขา ระหว่างพักการแสดง ดอนกำลังจะออกมาเข้าห้องน้ำ แต่เจ้าของงานก็หยุดเขาไว้ด้วยคำพูดแสนสุภาพว่า ให้ใช้ห้องน้ำที่อยู่ภายนอกแทน ซึ่งห้องน้ำนั้นทำจากไม้แผ่น ตั้งอยู่ใต้ต้นสนที่ไร้แสงไฟ ดอนปฏิเสธที่จะเข้าห้องน้ำที่แยกไว้สำหรับคนผิวสี เขาจึงเลือกเดินทาง 30 นาทีกลับไปเข้าห้องน้ำที่โรงแรม นั่นคือการรักษาศักดิ์ศรีของเขาเอาไว้ โทนี่ไม่เข้าใจสิ่งที่ดอนเลือกและบ่นอุบตลอดทาง แต่ขณะเดียวกันตัวเขาก็เฝ้าสังเกตและเฝ้าเป็นห่วงดอนตามหน้าที่และตามมิตรภาพที่เกิดขึ้นทีละนิด การแบ่งแยกนั้นมีให้เห็นอย่างดาษดื่นไม่ใช่แค่ห้องน้ำ โทนี่เห็นว่าดอนอยากจะได้ชุดสูทตัวเก่งในร้าน เขาจึงบอกให้ดอนเข้าไปลอง เจ้าของร้านยื่นชุดให้กับโทนี่และบอกทางไปห้องลองชุด แต่เมื่อโทนี่ยื่นมันต่อให้กับดอน เจ้าของร้านก็รีบหยุดดอนทันทีพร้อมบอกว่า สำหรับคุณต้องซื้อก่อนถึงจะลองได้ ซึ่งแน่นอนว่าดอนเลือกจะเดินออกไปจากร้านอย่างขมขื่น กระทั่งครั้งสุดท้ายของการแสดง ดอนและเพื่อนอีก 2 คนได้รับคำเชิญให้ไปแสดงดนตรีในงานใหญ่ของโรงแรม ห้องแต่งตัวของดอนคือห้องเก็บของแสนแคบในครัว แต่สิ่งนี้ดอนยังทำใจยอมรับได้เมื่อเทียบกับการไม่อนุญาตให้เขารับประทานมื้อเย็นในห้องอาหารร่วมกับคนขาว ทั้งที่เขาเป็นดาวเด่นของงานแสดงคืนนี้ “ธรรมเนียมเป็นแบบนี้มานาน คุณคงเข้าใจ” เจ้าของโรงแรมกล่าวอย่างไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าอย่างไรคนดำก็จะไม่มีวันได้รับสิทธิเท่าคนขาว กระทั่งโทนี่เดินมาช่วยไกล่เกลี่ย เขาเพิ่งจะคุยกับเพื่อนร่วมคณะของดอนพลางย้อนความทรงจำกลับไปในวันที่ดอนต้องกลับไปใช้ห้องน้ำที่โรงแรม แต่หลังจากดอนกลับมา เขาก็ยิ้มและจับมือกับคนขาวเหล่านั้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
“เพราะแค่อัจฉริยะยังไม่พอ ต้องใช้ความกล้าหาญถึงเปลี่ยนแปลงจิตใจคนได้” (Genius is not enough. It takes courage to change people's hearts)
เพื่อนของดอนบอกกับโทนี่ ดอนพูดได้ถึง 8 ภาษา และจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาดนตรีและศิลปะในพิธีกรรม ความฉลาดของเขาคือสิ่งที่ทำให้คนขาวยอมรับในส่วนหนึ่ง แต่กว่าจะถึงจุดนั้น การเป็นนักเรียนผิวดำเพียงคนเดียวที่ได้เรียนเปียโนก็ต้องใช้ความกล้าเป็นอย่างสูงในการฝ่าฟันความกดดัน จากเหตุการณ์ตรงหน้า โทนี่จึงเข้าใจแล้วว่า ทำไมดอนถึงไม่ยอมเข้าห้องน้ำใต้ต้นสนนั่น “ไปจากที่นี่กันเถอะ” โทนี่บอกกับดอน และทั้งคู่ก็เดินออกจากโรงแรมไปโดยไม่ทำการแสดงใด ๆ ทั้งสิ้น ทำเอาเจ้าของโรงแรมหน้าเสีย เพราะมีแขกระดับสูงมากมายที่รอการแสดงของดอนอยู่ Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ จากความโผงผางและก้าวร้าวของโทนี่ เขาค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นคนที่เข้าใจโลกอีกใบของดอนมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะทำให้โลกของเขาทั้งสองเป็นโลกที่เท่าเทียมกัน มีหลายฉากหลายตอนที่ดอนระบายความรู้สึกของเขาออกมา มันคือความซับซ้อนที่แม้กระทั่งโทนี่เองยังอธิบายไม่ได้ ได้แต่เพียงสัมผัสมันผ่านความรู้สึก
“ผมอยู่ในปราสาทตัวคนเดียว คนขาวรวย ๆ จ้างผมเล่นเปียโนให้ฟัง เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกมีวัฒนธรรม แต่ทันทีที่ผมก้าวลงจากเวที ผมก็กลับไปเป็นไอ้มืดคนหนึ่งในสายตาพวกเขา เพราะนั่นคือวัฒนธรรมที่แท้จริงของพวกเขา และผมโดนเหยียดหยามตามลำพัง เพราะคนผิวสีก็ไม่ยอมรับผม เพราะผมไม่เหมือนพวกเขา ถ้าผมดำไม่พอ ขาวไม่พอ เป็นลูกผู้ชายไม่พอ งั้นบอกผมสิโทนี่ ว่าผมเป็นตัวอะไร”
คนผิวดำที่มีการศึกษา เล่นเปียโนได้ ร่ำรวย และแต่งตัวดี คือสิ่งที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในความเป็นคนดำในยุคนั้น ชาวไร่ชาวสวนที่เป็นคนดำมองดอนที่มีคนขาวอย่างโทนี่ขับรถให้ด้วยความแปลกใจ คนผิวดำที่พักอยู่ในโมเต็ลเดียวกับดอนก็เหยียดเขา เพราะเขาแต่งตัวด้วยชุดสูทดูแพง ดอนไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร และที่ไหนคือที่ของเขา จนกระทั่งได้พบกับโทนี่ ความโดดเดี่ยวไม่มีขาว ไม่มีดำ ใครก็พบเจอกับมันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้มันหายไป คือการได้พบกับคนที่เข้าใจ และพร้อมจะเข้าใจความเป็นเรา Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ มิตรภาพเพื่อความเท่าเทียม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นราวกับต้องการให้ผู้ชมร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับโทนี่ เราเห็นพัฒนาการทางความคิดที่โอบรับความต่างที่สังคมกำหนดเข้าหาตัว เขาจับเข่าคุยกับดอน เขาช่วยเหลือดอน และโอบกอดดอนในยามเปลี่ยวเหงา ซึ่งมันไม่ใช่แค่เพราะหน้าที่ แต่เป็นเพราะมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราได้รู้จักตัวตนและโลกของอีกฝ่ายต่างหาก “ผมถูกฝึกให้เล่นเพลงคลาสสิก บรามส์, ฟรันทซ์ ลิสท์, บีโธเฟน, โชแปง ผมอยากเล่นเพลงพวกนั้น" “แต่มีค่ายเพลงติดต่อมาให้เล่นเพลงสมัยนิยมเป็นอาชีพ พวกเขายืนยันว่า ผู้ชมไม่มีวันยอมรับนักเปียโนนิโกรในวงการเพลงคลาสสิก แค่อยากเปลี่ยนผมเป็นคนบันเทิงผิวสี” ดอนเล่าให้โทนี่ฟัง “ฝึกหรอ? คุณเป็นแมวน้ำหรือไง? คนเขารักเสียงเพลงของคุณ” โทนี่แย้ง “ใครก็เล่นเหมือนบีโธเฟน หรือโจแพน (โทนี่พูดไม่ชัด จริง ๆ คือโชแปง) หรือคนอื่น ๆ ที่คุณว่ามาได้ แต่เพลงของคุณ สิ่งที่คุณทำ มีแต่คุณที่ทำได้” แต่เดิมโทนี่ยังไม่เคยเห็นดอนเล่นเปียโน กระทั่งเห็นการแสดงครั้งแรก เขาก็อึ้งและทึ่งในความสามารถของดอนเป็นอย่างมาก โทนี่ไม่สนใจว่าคนที่เล่นจะเป็นคนขาวหรือคนดำ ขอแค่เป็น ‘ดอน’ โน้ตดนตรีธรรมดาก็ไพเราะขึ้นมาทันที นั่นจึงเป็นความสามารถที่โทนี่อยากจะส่งเสริม ซึ่งดอนก็ซาบซึ้งในมิตรภาพนี้เป็นอย่างมาก Green Book: มิตรภาพที่ฉีก ‘คู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม’ และการเดินทางที่ทลาย ‘พรมแดนแห่งสีผิว’ ตลอดการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่ดอนเท่านั้นที่ถูกทำความเข้าใจ เขาเองก็มองเห็นสิ่งดี ๆ ใน ‘ความเป็นโทนี่’ เช่นเดียวกัน ทั้งคำพูดที่หยาบคาย คำศัพท์ที่ถูกใช้ผิดความหมาย ความดิบเถื่อน ความซกมก และความเกเร ทุกอย่างที่อยู่ตรงข้ามกับดอนกลับแฝงไว้ซึ่งความจริงใจ ดอนเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง เพราะโทนี่สอนเขาว่าบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องคิดเยอะก็ได้ เริ่มตั้งแต่การกิน ดอนไม่เคยกินไก่ด้วยมือ เพราะมันจะเลอะชุดของเขา ทั้งมันยังเป็นอาหารที่ดูไม่ถูกสุขลักษณะ แต่สุดท้ายเมื่อโทนี่บังคับให้เขาลอง ดอนก็ยอมรับว่ามันอร่อยเหาะ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องครอบครัว โทนี่อาศัยอยู่ในครอบครัวใหญ่ พวกเขามักจะพูดคุยกันอย่างครึกครื้น ขณะที่ดอนมีพี่ชายเพียงคนเดียว แต่กลับไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน และไม่เคยคิดจะเขียนจดหมายหาพี่ชายก่อน
“เป็นผมคงไม่รอ โลกนี้เต็มไปด้วยคนเหงาที่ไม่กล้าแสดงท่าทีก่อน” (The world is full of lonely people afraid to make the first move)
และนั่นก็เป็นอีกครั้งที่โทนี่พูดให้ดอนคิดทบทวนว่า แทนที่จะรอพี่ชายเขียนมาหา หรือเขาควรจะเขียนจดหมายถึงพี่ชายบ้าง? จากคู่มือแห่งความไม่เท่าเทียม เพื่อให้คนผิวดำได้มีชีวิตอย่าง ‘ปลอดภัยเท่าเทียม’ กับคนขาว สู่การเรียนรู้ที่ชายทั้งสองแลกเปลี่ยนกัน ตลอดการเดินทางพวกเขาไม่ได้ข้ามเพียงพรมแดนรัฐ แต่ยังข้ามพรมแดนแห่งอคติและการเหยียดหยามไปด้วย ซึ่งนั่นคือผลลัพธ์ที่ถูกที่ควรของการฉีก Green Book ทิ้ง เพื่อที่สักวันโลกของเราจะเต็มไปด้วยความเท่าเทียม และอิสรภาพที่อนุญาตให้ทุกคนสามารถเลือกทำในสิ่งที่ชอบได้ตามใจ โดยไม่ต้องสนใจการแบ่งแยกที่เคยเกิดขึ้นตลอดมา เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง: ภาพยนตร์เรื่อง Green Book (2018) ออกฉายทาง Netflix https://www.usatoday.com/in-depth/travel/2021/02/19/black-history-month-inside-green-book-travel-guide/4357851001/ https://www.britannica.com/topic/The-Green-Book-travel-guide ที่มาภาพ: https://www.imdb.com/title/tt6966692/  https://en.wikipedia.org/wiki/Tony_Lip#/media/File:Tony_lip_actor.jpg  Photo by John Springer Collection/CORBIS/Corbis via Getty Images