อุซามะห์ บิน ลาเดน: จากลูกผู้รับเหมาสู่ผู้จุดไฟสงครามก่อการร้ายเพื่อ 'รัฐศาสนา'

อุซามะห์ บิน ลาเดน: จากลูกผู้รับเหมาสู่ผู้จุดไฟสงครามก่อการร้ายเพื่อ 'รัฐศาสนา'
“เราคำนวณจำนวนผู้เสียชีวิตของศัตรูไว้ล่วงหน้า ผู้ที่จะถูกฆ่าจากจุดที่ตั้งของตึกสูง เราคำนวณแล้วว่าชั้นที่จะพุ่งชนมี 3 - 4 ชั้น ผมคือคนมองโลกแง่ดีที่สุดจากทั้งหมดทุกคน” อุซามะห์ บิน ลาเดน กล่าวถึงเหตุวินาศกรรมช็อกโลกเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘9/11’ จุดเริ่มต้นที่ทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไปทั่วโลก และชื่อของ บิน ลาเดน กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในฐานะศัตรูหมายเลข 1 ของอเมริกา ที่มีค่าหัว 25 ล้านเหรียญสหรัฐ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ลูกชายมหาเศรษฐีผู้รับเหมาก่อสร้างตระกูลดังแห่งซาอุดีอาระเบีย ยอมสละความมั่งคั่งมาจับมือกับกลุ่มตาลีบัน สร้างอาณาจักรรัฐที่ปกครองด้วยหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดในอัฟกานิสถาน จนกลายเป็นหัวหน้าขบวนการก่อการร้ายหมายเลข 1 ของโลก คำตอบอาจอยู่ที่เส้นทางชีวิตของชายผู้นี้ที่ชื่อ อุซามะห์ บิน ลาเดน (Osama bin Laden)   กำเนิดธุรกิจครอบครัวของลูกเศรษฐีมีปม อุซามะห์ บิน ลาเดน เกิดที่กรุงริยาดห์ ซาอุดีอาระเบีย ใน ค.ศ. 1957 เป็นลูกคนที่ 17 (ลูกชายคนที่ 7) จากจำนวนพี่น้องทั้งหมดมากกว่า 50 คน ซึ่งมีบิดาคนเดียวกันนามว่า มุฮัมมัด บิน ลาเดน มุฮัมมัดเป็นชาวเยเมน ที่อพยพมาซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี 1953 เขาเริ่มสร้างฐานะด้วยการทำงานที่เมืองเจดดาห์ เป็นเด็กแบกสัมภาระให้กับผู้แสวงบุญที่เดินทางไปนครมักกะฮ์ และเก็บหอมรอมริบจนสามารถตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตนเองขึ้นมา ในทศวรรษ 1950s มุฮัมมัด บิน ลาเดน เริ่มเข้าไปใกล้ชิดกับราชวงศ์ซาอุดแห่งซาอุดีอาระเบีย ด้วยการสร้างวังให้กับบรรดาสมาชิกราชวงศ์ ก่อนได้งานทำนุบำรุงศาสนสถานสำคัญ รวมทั้งในนครศักดิ์สิทธิ์อย่างเมดินา และมักกะฮ์ ปี 1958 บริษัทของเขายอมขาดทุนเพื่อรับงานบูรณะศาสนสถานของชาวมุสลิมในนครเยรูซาเลม ทั้งโดมแห่งศิลาและมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งอุซามะห์ บิน ลาเดน เคยเล่าด้วยความภูมิใจว่า บิดาของเขาเคยตระเวนเคารพศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ครบทั้ง 3 เมือง (เมดินา, มักกะฮ์, เยรูซาเลม) ภายในเวลาเพียง 1 วัน ต่อมาในทศวรรษ 1960s กษัตริย์ไฟซัล ประกาศยกสัมปทานก่อสร้างทุกโครงการในราชอาณาจักรซาอุฯ ให้กับกลุ่มบริษัทบิน ลาเดน ทำให้สมาชิกครอบครัวทุกคนต้องมาช่วยงาน โดยในช่วงปิดเทอม เด็กชายอุซามะห์รับหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆ ของบริษัท ตระกูลบิน ลาเดน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวในปี 1967 เมื่อมุฮัมมัดประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิต ทำให้หนูน้อยอุซามะห์กำพร้าพ่อตั้งแต่ 10 ขวบ แต่สมาชิกครอบครัวยังคงช่วยกันสานต่อธุรกิจ และลูกแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งมรดกไปคนละหลายล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้กลายเป็นเศรษฐีกันตั้งแต่อายุยังน้อย แม้เด็กชายอุซามะห์ (ภาษาอาหรับแปลว่า ‘สิงโต’) จะโตมาด้วยการวิ่งเล่นกับบรรดาเจ้าชายซาอุฯ และมีคอกม้าของตนเองตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่ผู้ใกล้ชิดกับครอบครัวนี้เล่าว่า อุซามะห์ดูเป็นเด็กแปลกแยกจากพี่น้องคนอื่น เขาเป็นลูกคนเดียวจากภรรยาคนที่ 4 ของมุฮัมมัด และเธอก็เป็นภรรยาคนเดียวที่ไม่ใช่ชาวซาอุฯ แต่มาจากซีเรีย ดังนั้น ครอบครัวจึงปฏิบัติกับเธอเยี่ยงทาส และอุซามะห์ก็คือ ‘ลูกทาส’ ดี ๆ นี่เอง “มันต้องเป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา อุซามะห์เกือบจะเป็นคนนอกถึง 2 ชั้น ชั้นแรกคือรากเหง้าพ่อของเขามาจากเยเมน ชั้นที่ 2 คือแม่ที่เป็นคนนอกในครอบครัว เธอไม่ใช่ทั้งชาวซาอุฯ และเยเมน แต่เป็นซีเรีย” แมรี แอนน์ วีเวอร์ นักเขียนของนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ อ้างคำพูดจากเพื่อนสนิทของครอบครัวบิน ลาเดน สิ่งนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อุซามะห์ บิน ลาเดน โตขึ้นมาต่อต้านวิถีชีวิตอันฟู่ฟ่าของครอบครัว หันไปกินอยู่อย่างสมถะ และสนใจหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด   ก่อตั้งอัลกออิดะห์ช่วยอัฟกันรบโซเวียต อุซามะห์ บิน ลาเดน แต่งงานกับภรรยาคนแรกซึ่งเป็นญาติของตนเองตั้งแต่อายุ 17 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในสาขาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยคิงอับดุลลาซิส ในเมืองเจดดาห์ สถานที่แห่งนี้เองที่บ่มเพาะแนวคิดสุดโต่ง เพราะทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเชื่อว่าโลกมุสลิมส่วนใหญ่ปกครองด้วยคนนอกรีตที่ละเมิดหลักคำสอนแท้จริงของคัมภีร์อัลกุรอาน นักการศาสนา 2 คนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับบิน ลาเดนในวัยหนุ่ม คือ มุฮัมมัด กุตตับ และอับดุลลาห์ อัซซัม โดยเฉพาะคนหลังซึ่งบิน ลาเดน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ คือผู้ถ่ายทอดแนวคิดญิฮาด (สงครามศักดิ์สิทธิ์) ว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน จนกว่าจะทวงคืนดินแดนทั้งหมดที่เคยเป็นของอิสลามกลับคืนมา “มีแค่ญิฮาดและปืนไรเฟิล ไม่มีการเจรจาหารือหรือพูดคุยทั้งนั้น” นั่นคือคติพจน์ของอับดุลลาห์ อัซซัม ซึ่งเป็นแนวคิดที่บิน ลาเดน นำมาใช้ก่อตั้งกลุ่มอัลกออิดะห์ ปี 1979 ระหว่างที่บิน ลาเดน กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย ภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดความระส่ำจากเหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามโค่นล้มพระเจ้าชาห์ในอิหร่าน การลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล และการบุกอัฟกานิสถานเพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น หลังโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถานไม่ถึง 2 สัปดาห์ บิน ลาเดนเดินทางไปพรมแดนปากีสถาน - อัฟกานิสถานเพื่อสังเกตการณ์ ก่อนเริ่มให้ความช่วยเหลือนักรบอัฟกันต่อต้านโซเวียต ด้วยการจัดตั้งสำนักงานในเมืองเปชวาร์ ของปากีสถาน เพื่อหาทุนและอาวุธ รวมถึงเกณฑ์นักรบจากทั่วโลกส่งไปช่วยกลุ่มมูจาฮีดีนชาวอัฟกัน บิน ลาเดน เริ่มตั้งแคมป์ฝึกนักรบติดอาวุธในปี 1986 และคาดว่าสามารถระดมนักรบญิฮาดได้มากถึง 20,000 คน จนต่อมากลายเป็นเครือข่ายอัลกออิดะห์ ซึ่งแปลว่า ‘ฐาน’ สำหรับเป็นที่มั่นต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานยุคนั้น แม้บิน ลาเดน เคยอ้างว่า ฐานที่มั่นของเขาได้เงินช่วยเหลือจากซาอุฯ และได้อาวุธจากซีไอเอของสหรัฐฯ แต่นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ความจริงแล้วอเมริกาไม่เคยติดต่อโดยตรงกับบิน ลาเดน แต่ทำงานผ่านคนกลางจากหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน   จุดเริ่มต้นความแค้นอเมริกาและซาอุฯ “ผมมาค้นพบว่า การสู้รบในอัฟกานิสถานอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องสู้ทุกแนวรบเพื่อต่อต้านการกดขี่จากทั้งคอมมิวนิสต์และตะวันตก ภัยเร่งด่วนคือคอมมิวนิสต์ แต่เป้าหมายต่อไปคืออเมริกา” บิน ลาเดนให้สัมภาษณ์นักข่าวฝรั่งเศสในปี 1995 หลังโซเวียตถอนทัพกลับไปและพ่ายแพ้ในสงครามเย็น ชัยชนะเหนือโซเวียตในอัฟกานิสถาน ทำให้บิน ลาเดน กลับบ้านเกิดเพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัวเยี่ยงวีรบุรุษ แต่ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นทำให้เขาออกมาวิจารณ์รัฐบาลถี่ขึ้น จนสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ หลายคนเริ่มไม่ไว้ใจ จุดแตกหักระหว่างบิน ลาเดน กับซาอุฯ เกิดขึ้นหลังซัดดัม ฮุสเซน ส่งกองทัพอิรักบุกคูเวต เปิดฉากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990 ซึ่งบิน ลาเดน รับอาสาเป็นตัวแทนซาอุฯ ส่งกองกำลังที่เคยใช้ในอัฟกานิสถานไปปกป้องคูเวต แต่สุดท้าย ซาอุฯ ให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพและต่อสู้กับซัดดัมแทน “(อเมริกา) เริ่มมองตนเองว่าเป็นเจ้าโลกและจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่าระเบียบโลกใหม่” บิน ลาเดน บอกกับนักข่าวด้วยความไม่พอใจ ก่อนจะหนีไปซูดาน และจัดตั้งค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ในแอฟริกา เพื่อเริ่มปฏิบัติการณ์ต่อต้านสหรัฐฯ วันที่ 29 ธันวาคม 1992 เกิดระเบิดที่โรงแรมในเยเมน ซึ่งทหารอเมริกันใช้พักแรมระหว่างเดินทางไปโซมาเลีย แรงระเบิดทำให้นักท่องเที่ยวชาวออสเตรีย 2 รายเสียชีวิต ส่วนทหารอเมริกันออกจากโรงแรมไปก่อนเกิดเหตุ หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่า เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการโจมตีอเมริกาครั้งแรกของบิน ลาเดน หลังจากนั้น 2 เดือนถัดมา เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ลานจอดรถชั้นใต้ดินของตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก มีผู้เสียชีวิต 6 คน ก่อนที่บิน ลาเดน จะออกมาชื่นชมผู้ก่อเหตุ และมีการโจมตีทหารอเมริกันในต่างแดนตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรตอบโต้ด้วยการเพิ่มแรงกดดันบิน ลาเดน จนในปี 1994 รัฐบาลซาอุฯ ประกาศอายัดทรัพย์สินและยกเลิกสถานะพลเมืองของเขา และอีก 2 ปีถัดมา รัฐบาลซูดานก็ขับไล่เขาออกนอกประเทศ ทำให้ต้องเดินทางกลับไปอัฟกานิสถาน และจับมือเป็นพันธมิตรกับมุลลาห์ โอมาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบัน   จับมือตาลีบันตั้งรัฐศาสนาอัฟกานิสถาน สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า บิน ลาเดนมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้นำตาลีบัน โดยเฉพาะการนำกฎหมายชารีอะฮ์ ของอิสลามมาบังคับใช้ในการปกครองอัฟกานิสถานอย่างเคร่งครัด การระเบิดพระพุทธรูปแกะสลักโบราณที่เมืองบามียัน ในปี 2001 ซึ่งองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็น่าจะมาจากการโน้มน้าวของบิน ลาเดน “ผมบอกเขา (มุลลาห์ โอมาร์) ว่า ญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับคุณมากมาย และชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็นับถือพุทธ ทำไมคุณถึงอยากทำลายพระพุทธรูปนี้ และทำให้พวกเขาไม่สบายใจ “พวกเขาพร้อมเข้ามาตัดและเคลื่อนย้ายรูปปั้นไปไว้ที่อื่น หรือสร้างกำแพงขึ้นมาบังไม่ให้ใครบูชา แต่เขามีมุมมองของตัวเองเกี่ยวกับหลักอิสลาม และคิดว่าสิ่งที่ทำจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาติมุสลิมอื่นทำตาม” โมอินุดดิน เฮเดอร์ อดีตรัฐมนตรีกิจการภายในของปากีสถาน กล่าวกับอัลจาซีรา บิน ลาเดน และกลุ่มตาลีบัน เชื่อมั่นในการปกครองแบบรัฐศาสนา และต้องการให้โลกมุสลิมหันมาปกครองด้วยระบอบเดียวกัน แม้จะขัดแย้งกับแนวทางสากลที่มองว่า การเมืองและศาสนาควรแยกจากกัน เพื่อเคารพในหลักการแห่งเสรีภาพ ความแตกต่างหลากหลาย และสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งระหว่างสองแนวคิดนี้ กลายเป็นทฤษฎี ‘การปะทะทางอารยธรรม’ ตามชื่อหนังสือ The Clash of Civilization ของ ซามูเอล ฮันติงตัน ซึ่งพยายามอธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งกันระหว่างโลกมุสลิมกับตะวันตก   สงครามก่อการร้ายและจุดจบของบินลาเดน เหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ตั้งแต่การโจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ในเคนยาและแทนซาเนีย เมื่อปี 1998 มีผู้เสียชีวิตกว่า 220 ราย ก่อนมาถึงเหตุวินาศกรรม 9/11 ซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปกว่า 3,000 คน ทำให้สหรัฐฯ ต้องประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไปทั่วโลก การโจมตีของเครือข่ายอัลกออิดะห์ ไม่ได้พุ่งเป้าแค่ชาวอเมริกัน แต่รวมถึงชาวตะวันตกทุกคน โดยสะท้อนออกมาชัดเจนจากเหตุระเบิดบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียในปี 2002 เหตุระเบิดรถไฟในกรุงมาดริดของสเปน เมื่อปี 2004 และระเบิดรถบัสในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ในปี 2005 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันหลายพันคน นั่นเป็นเหตุผลให้สหรัฐฯ ส่งกองทัพบุกอัฟกานิสถาน เพื่อโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน ซึ่งให้ที่หลบซ่อนกับบิน ลาเดน ทันทีหลังเหตุการณ์ 9/11 และสามารถแกะรอยสังหารบิน ลาเดน ได้ในเซฟเฮาส์ที่เมืองอับบอตตาบัด ของปากีสถาน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ปิดฉากปฏิบัติการณ์ไล่ล่าศัตรูหมายเลข 1 ของอเมริกาในสงครามอัฟกานิสถาน ซึ่งใช้เวลานานเกือบ 10 ปีเต็ม “การตายของบิน ลาเดน ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่สุดของเราในการเอาชนะอัลกออิดะห์ แต่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดความพยายามของเรา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อัลกออิดะห์จะยังตามโจมตีพวกเรา ดังนั้น เราจะต้องระวังตัวทั้งในบ้านและต่างแดน” ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐฯ ประกาศหลังจับตายผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์สำเร็จ แม้ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน อเมริกาจะตัดสินใจถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในเดือนสิงหาคม 2021 และปล่อยให้กลุ่มตาลีบัน ภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่มุลลาห์ โอมาร์ ที่ป่วยเสียชีวิตระหว่างหลบซ่อนตัวไปตั้งแต่ปี 2013 กลับมายึดอำนาจปกครองอัฟกานิสถานอีกครั้ง ภาพมวลชนจำนวนมากที่รู้ว่าตาลีบันจะกลับมา และพากันหอบลูกจูงหลานไปสนามบิน หวังเดินทางออกจากดินแดนบ้านเกิดเพื่อไปตายเอาดาบหน้า น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พวกเขาคิดอย่างไรกับระบอบรัฐศาสนาที่ผ่านมาของกลุ่มตาลีบัน และบิน ลาเดน แม้อุซามะห์ บิน ลาเดน อาจถูกยกย่องจากคนบางกลุ่มให้เป็นวีรบุรุษผู้เสียสละชีวิตอันสุขสบายมาจับอาวุธขับไล่ผู้รุกราน แต่แนวทางต่อสู้ด้วยการก่อการร้าย ทำลายผู้บริสุทธิ์ทั่วโลก รวมถึงเหตุการณ์ 9/11 เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการสร้างโลกที่รวมศาสนาและการปกครองเป็นเนื้อเดียวกัน อาจไม่ใช่โลกใบเดียวกับที่พี่น้องของเขาต้องการ เหมือนภาพคลื่นผู้อพยพที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน หลังอเมริกาถอนทัพกลับไป   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.aljazeera.com/news/2018/3/18/profile-osama-bin-laden https://www.bbc.com/news/world-middle-east-10741005 https://www.nytimes.com/2011/05/02/world/02osama-bin-laden-obituary.html   ภาพ: Getty Images