read
social
19 ส.ค. 2564 | 09:39 น.
ธีระ ศรีบุรินทร์: ลดการแพร่ระบาดของโควิด ด้วยเศรษฐกิจพึ่งพาตัวเอง
Play
Loading...
เรารู้กันว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเลยประกาศให้มีการล็อกดาวน์เพื่อจำกัดการเดินทางและป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง คำถามที่ตามมาคือ เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้อยู่รอดในขณะที่ต้องเฝ้าระวังโรคร้ายไปพร้อมกัน
ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างชุมชนที่มีการบริหารจัดการที่ดี ด้วยการนำของกำนันธีระ ศรีบุรินทร์ กำนันตำบลท่าศาลา ที่ให้คนในชุมชนหันมาพึ่งพาตัวเองด้วยการทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยกำนันธีระ ได้เล่าย้อนถึงสถานการณ์ในตอนนั้นว่า
“ตอนที่มีโควิดรอบแรกจังหวัดเลยได้รับนโยบายให้หมู่บ้านนำร่องจำนวนหนึ่งปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งหนึ่งในนั้นอยู่ในเขตตำบลท่าศาลา ด้วยตำบลเรามีทางเข้าออกทางเดียว ถ้าตั้งด่านสกัดจุดเดียวก็ดูแลได้ทั้งหมด หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเลยมีมติร่วมกันว่าจะปิดทั้งตำบล ซึ่งผู้ว่าฯ ก็อนุมัติ ตำบลท่าศาลาเลยเป็นตำบลแรกและตำบลเดียวของจังหวัดเลยในตอนนั้นที่ปิดตัวเอง”
การตั้งด่านชุมชนเพื่อคัดกรองประชาชนในการเข้าออกภายในตำบลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและปลอดภัยให้กับประชาชน ส่วนหนึ่งที่ทำให้วันนั้นชาวตำบลท่าศาลากล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเป็นเพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่าสามารถดำรงชีวิตและพึ่งพาตัวเองได้ในช่วงวิกฤต
“การปิดตัวเองอาจทำได้ไม่ยาก แต่เราต้องมองให้ครอบคลุมว่าพี่น้องในตำบลจะทำมาหากินอย่างไร โชคดีที่เรามีการสนับสนุนให้พี่น้องปลูกผัด พริกมะเขือกินเองเหมือนมีตู้เย็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะปิด 15 วัน หรือ 20 วัน ตำบลท่าศาลาของเราก็ยังไม่เดือดร้อน เพราะมีอาหารที่เราช่วยกันปลูกไว้ในชุมชนของเรา”
แม้จะเป็นการปิดตำบลแต่ก็ไม่ใช่เป็นการปิดตาย มีการอนุญาตให้เดินทางเข้าออกได้ เพียงแต่ต้องทำหนังสือขออนุญาต ซึ่งกำนันธีระบอกว่าคนส่วนมากจะเดินทางเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้นเพราะมีการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้คนในชุมชนมีความรับผิดชอบตัวเองและมองไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ ทำให้ในช่วงนั้นตำบลท่าศาลาเรียกว่าปลอดภัยจากโควิด-19
การตั้งด่านรักษาความสงบอย่างเข้มแข็ง และปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นระบบ นอกจากจะช่วยดูแลความสงบสุขให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว ยังช่วยในเรื่องการป้องกันเยาวชนไม่ให้มั่วสุมอบายมุขหรือยาเสพติด หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการรบกวนความสงบสุขในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม สร้างความอบอุ่นใจแก่ประชาชนในตำบลอีกด้วย
ความสำเร็จของการป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของทุกคนในชุมชน และด้วยการที่ตำบลแห่งนี้ เป็นตำบลที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีประชากรรวมกันเพียงแค่ 2,000 คน นอกจากจะทำให้หลายคนรู้จักกันอย่างสนิทสนมแล้ว ยังช่วยให้ทุกคนมีความผูกพันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันอีกด้วย สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีคือตัวกำนันธีระ เพราะเราสังเกตเห็นว่าเขาถูกชาวบ้านชวนให้ร่วมวงกินข้าวแทบทุกบ้านที่เดินผ่าน
“ผมเกิดที่บ้านแก่น อำเภอภูเรือ มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2535 จนมีลูกสองคน คนโตก็อายุ 26 ปีแล้ว ที่นี่เราอยู่กันแบบพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลตามพื้นเพของชุมชนเรา เวลาทำไร่ทำนาก็ช่วยกัน ยิ่งมีตำแหน่งกำนันยิ่งต้องช่วยให้มากขึ้นอีก”
กำนันตำบลท่าศาลาหัวเราะอย่างอารมณ์ดีก่อนบอกเราว่า ตอนนี้พวกเขามีกลุ่มไลน์ในการติดต่อสื่อสาร แจ้งปัญหาเดือดทุกข์ร้อนใจที่เกิดขึ้นในชุมชน การติดต่อที่คล่องตัวนี้ช่วยให้กำนันสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่มีปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและแก้ไขค่อนข้างยากกว่าปกติ เป็นปัญหาที่ไม่ได้มาจากคน แต่เป็นช้างป่า
“ชาวบ้านเรามีอาชีพทำไร่ทำสวน ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งติดกับป่าภูหลวง เลยมีปัญหาช้างป่าบุกมาหากินทำให้ไร่มันไร่ข้าวโพด และพืชผลทางการเกษตรเสียหายอยู่เป็นประจำ เราเลยต้องทำโครงการยำร่องกันช้างป่า ด้วยการนำงบประมาณที่ได้มาปลูกไม้ยืนต้น เป็นเพนียดตามธรรมชาติ ซึ่งป้องกันได้ถาวรและปลอดภัยไม่เป็นอันตรายกันคนและช้าง ช่วยเป็นแนวกันชนระหว่างพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านกับแนวป่า และช่วยเป็นแนวกันไฟได้อีกทางหนึ่ง”
หน้าที่หนึ่งของกำนันตำบลนี้จึงแปลกกว่าหลาย ๆ ตำบลเพราะต้องดูแลแก้ปัญหาให้ทั้งคนและช้างป่า เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกัน
จากโครงการนี้เองทำให้กำนันธีระได้เห็นอีกปัญหาของชาวบ้านในชุมชน นั่นคือการไม่มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของโครงการบ้านมั่นคงชนบท ซึ่งช่วยแก้ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าฯ อุทยานอย่างเป็นระบบร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการนี้ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่ทำกินให้กับประชาชนในเขตพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2552 ได้ช่วยซ่อมแซมบ้านไปแล้วมากกว่า 261 หลัง และซ่อมสร้างสาธารนูปโภคที่จำเป็นให้กับชุมชนไปแล้วมากมาย
นอกจากนี้กำนันธีระยังมีส่วนในการทำเรื่องวิสาหกิจชุมชน ทั้งกลุ่มผ้าทอพื้นบ้าน กลุ่มจักสาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรไทยท่าศาลา เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน และช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญหาท้องถิ่นหลาย ๆ อย่างไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
ด้วยความเข้าใจปัญหาของชาวบ้านเหมือนเป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกัน คอยแก้ไขปัญหาของคนในพื้นที่มาตลอดช่วงเวลาที่รับตำแหน่ง ทำให้ในปีนี้ กำนันธีระ ศรีบุรินทร์ กำนันหมู่ที่ 2 ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยม จากผลงานที่โดดเด่นในการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่ตำบลท่าศาลาสามารถพึ่งพาตัวเองได้แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
“เราได้รับตำแหน่งกำนันก็เพราะความรักความศรัทธาจากพี่น้องประชาชน เลยต้องเอาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้เขาอยู่สบายไม่เดือดร้อน คอยช่วยเหลือทุกครั้งที่มีปัญหา เน้นความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพยสินของพี่น้องประชาชนแล้วเรายังต้องมองภาพรวมให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน
Thepeoplexกรมการปกครอง
หัวใจยังแกร่ง