read
thought
21 ส.ค. 2564 | 00:44 น.
The Breadwinner: ภาพยนตร์สะท้อนชีวิตและสิ่งที่ ‘หายไป’ ของพลเมืองอัฟกานิสถาน เมื่อความเป็นชายคือ ‘ทุกสิ่ง’ และความเป็นผู้หญิงคือ ‘สิ่งไร้ค่า’
Play
Loading...
/ *** บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Breadwinner ออกฉายทาง Netflix /
ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดระเบียบสังคม กระนั้นก็ยังมีกฎเกณฑ์บางประเภทที่ทำให้สังคมเป็นระเบียบด้วย ‘ความหวาดกลัว’ ที่แผ่ไปทั่วอาณาบริเวณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ส่วนตัวของเหล่าสตรี ผ่านการบีบบังคับให้ ‘จำยอม’ ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
นี่คือภาพยนตร์แอนิเมชันดรามาสะท้อนเรื่องราวในปี 2001 ที่กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ในยุคที่ตาลีบันปกครองเมืองด้วยความโหดร้าย ความไม่เท่าเทียม ความคลั่ง และความเป็นชาย ภายใต้ชื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘The Breadwinner’ ออกฉายในปี 2017 กำกับโดย ‘นอร์รา ทูมีย์’ (Nora Twomey) แอนิเมเตอร์ชาวไอริช และอำนวยการสร้างโดย ‘แองเจลินา โจลี’ (Angelina Jolie)
การได้รับเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ปี 2018 และ The Golden Globe Award ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมช่วยการันตีความเป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การรับชมได้เป็นอย่างดี โดยเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเด็กสาวที่มีชื่อว่า ‘ปาร์วานา’ ลูกสาวคนเล็กในครอบครัวที่ประกอบไปด้วย ‘นูรุ้ลลอฮ์’ พ่อและครูผู้เสียขาไป 1 ข้างจากสงคราม ‘ฟาตีมา’ แม่ผู้เป็นนักเขียน ‘สรยา’ พี่สาว และ ‘ซากิ’ น้องชาย ซึ่งปาร์วานาจะเป็นคนพาทุกคนเข้าสู่โลกภายใต้การควบคุมของตาลีบัน เราจะได้เห็นทั้งความโหดร้าย ความอยุติธรรม และความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ผู้หญิง’
ผู้หญิงกับความเป็นมนุษย์ที่หายไป
ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องของเด็กหญิงตัวน้อยที่ถูกสภาพแวดล้อม ‘บีบบังคับ’ ให้ต้องกลายเป็น ‘ลูกชาย’ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว (breadwinner) ถูกสร้างจากหนังสือ ‘
The Breadwinner
’ เขียนโดย ‘เดบาราห์ เอลลิส’ (Deborah Ellis) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวแคนาดา ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากการสัมภาษณ์ผู้หญิงและเด็กในค่ายอพยพ
ภายในเรื่องเราจะเห็นถึงข้อจำกัดมากมายที่ถูกขีดเอาไว้โดยเหล่าชายผู้เป็นใหญ่ในสังคม ตั้งแต่ฉากแรกที่ปาร์วานาและพ่อออกมาเปิดร้านแบกะดินในตลาด นูรุ้ลลอฮ์ได้เล่าให้ลูกสาวฟังถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านอำนาจในแผ่นดินที่เขาอยู่อาศัย
“เราค้นพบที่ตั้งของเราในจักรวาล แต่กลับต้องมาอยู่ตรงเส้นขอบของอาณาจักรที่มีการรบราฆ่าฟัน”
“ในการรบแต่ละครั้งเต็มไปด้วยเลือดนองและผู้เหลือรอด วนเวียนซ้ำไปไม่รู้จบ”
กระนั้น ในยุคหนึ่งประชาชนก็เคยใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเท่าเทียม นูรุ้ลลอฮ์เล่าถึงสมัยที่เขายังเยาว์วัย เด็กสามารถไปโรงเรียน และหญิงสาวสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ความสุขมักจะอยู่กับเราไม่นาน ภาพยนตร์เริ่มฉายภาพไฟอันร้อนแรงของสงคราม เพื่อนของนูรุ้ลลอฮ์เริ่มหายไปจากเฟรมทีละคน ก่อนจะกลายเป็นภาพหญิงสาวจำนวนหนึ่งในชุด ‘บูร์กา’ ผ้าคลุมของอิสลามที่ใช้ปกปิดร่างกายจนมองไม่เห็นแม้กระทั่งดวงตา พวกเธอยืนอยู่ในความมืดด้านหลังซี่กรงที่ไม่ต่างจากการคุมขังนักโทษ
“เราได้กำหนดสิทธิ์เฉพาะสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงไม่ควรออกไปข้างนอก และดึงดูดความสนใจที่ไม่จำเป็น” เสียงของชายหนุ่มสักคนประกาศในห้วงความทรงจำของนูรุ้ลลอฮ์
ตัดภาพกลับมาที่ตลาด ปาร์วานาเพิ่งจะส่งเสียงดังไล่สุนัขที่เข้ามายุ่งกับแผงขายสินค้าของพ่อ เสียงนั้นดึงดูดนักรบตาลีบัน 2 คนเข้ามาหา “เธอกำลังดึงดูดความสนใจ” “น่าจะให้เธออยู่บ้าน ไม่ใช่มาแสดงตัวที่ตลาด” หนึ่งในสองนักรบนามว่า ‘อิดรีส’ ตะคอกใส่สองพ่อลูก แถมเขายังคิดว่าเธอโตพอจะแต่งงานแล้ว รวมไปถึงควรจะแต่งกายให้มิดชิดกว่านี้ (ในตอนนั้นปาร์วานาสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าคลุมผม)
แต่การจำกัดสิทธิ์ของผู้หญิงไม่ได้มีเพียงการห้ามดึงดูดความสนใจและควรอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น ในฉากก่อนหน้าการสนทนาของสองพ่อลูก อิดรีสกำลังถือแส้และตะคอกใส่พ่อค้าว่า ‘เขาขายของให้กับผู้หญิง’ ซึ่งหลายคนคงจะไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงขายไม่ได้? กระทั่งภาพยนตร์เริ่มเฉลยกฎเกณฑ์ในการใช้ชีวิตของหญิงสาวมาให้ชมทีละนิด เราจึงได้เข้าใจว่า ผู้ที่จะสามารถจับจ่ายซื้อของได้ต้องเป็น ‘ผู้ชาย’ เท่านั้น
ความเป็นชายทำให้คนบางกลุ่มได้สิทธิ์เหนือกว่าคนอีกกลุ่ม เมื่อพ่อของปาร์วานาถูกจับโดย ‘ไร้ข้อกล่าวหาที่สมเหตุสมผล’ พี่สาว แม่ และตัวเธอจึงเริ่มกังวลเกี่ยวกับอาหารที่กำลังร่อยหรอ สุดท้ายปาร์วานาตัดสินใจตัดผมของตัวเองทิ้งเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้กลายเป็นเด็กชาย
ปาร์วานาในชื่อผู้ชายว่า ‘โอเตช’ ค้นพบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ชายเป็นครั้งแรก เธอมีความสุขกับการเป็นผู้ชาย เหล่าพ่อค้าต้อนรับเธอเข้าร้าน เธอหัวเราะและยิ้มได้ในที่สาธารณะ เธอสามารถหางานและหาเงินได้อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นั่นเป็นความสุข (แต่ก็ไม่สุด) จากการทิ้งตัวตนส่วนหนึ่งเพื่อให้มีที่ยืนในสังคม
สำหรับหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว พวกเธอต้องปกปิดเรือนร่างให้มิดชิดเสียยิ่งกว่าเด็กสาว แต่แค่ปิดมิดชิดธรรมดาก็ยังไม่พอสำหรับตาลีบัน พวกเขาออกกฎให้ทุกครั้งที่หญิงสาวออกจากบ้านจะต้องมีชายหนุ่มไปด้วย ซึ่งภาพยนตร์ก็พยายามแสดงให้เห็นว่า กฎนั้นอยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง ปาร์วานาและแม่ต้องการเดินทางไปยังเรือนจำเพื่อส่งจดหมายขอให้ปล่อยตัวนูรุ้ลลอฮ์ แต่เมื่อตาลีบันมาพบเข้า แม่ของปาร์วานาก็ถูกไม้เท้าฟาดจนระบมไปทั้งตัว นอกจากนี้ในอีกฉาก สองแม่ลูกในหมู่บ้านก็ถูกตาลีบันรุมทำร้าย เนื่องจากเธอออกไปซื้อยาโดยไม่มีผู้ชายไปด้วย
ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ความเป็นชายสำคัญต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก หากผู้ชายในครอบครัวหายไปย่อมหมายถึงความลำบากที่ครอบครัวต้องเผชิญเพิ่ม กระนั้น ต่อให้เป็นผู้ชายที่ได้รับสิทธิพิเศษเสมอมาก็ไม่ได้การันตีว่า พวกเขาจะได้รับความปลอดภัย 100% เพราะแท้จริงแล้ว ‘ทุกคน’ ในกรุงคาบูลล้วนแล้วแต่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง
ความปลอดภัยที่หายไป
นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าถึงชีวิตของปาร์วานาแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ถูกเล่าซ้อนกันในรูปแบบนิทานเด็กคือเรื่องราวของ ‘สุไลมาน’ พี่ชายปาร์วานาที่เสียชีวิตเมื่อนานมาแล้ว ระหว่างที่สุไลมานเดินอยู่บนถนน เขาได้พบกับของเล่นชิ้นหนึ่งจึงหยิบมันขึ้นมา แต่มันกลับระเบิดขึ้นเสียก่อน ซึ่ง ‘ระเบิด’ อาวุธอันตรายที่มีพลังทำลายล้างสูงไม่ใช่สิ่งที่หาได้ยากเลยในหลายพื้นที่ของกรุงคาบูล
ปาร์วานาและ ‘ชอเซีย’ เพื่อนสาวที่ปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชายต้องเดินกลับบ้านหลังจากถูกพ่อค้าหน้าเลือดหลอกมาใช้แรงงาน ปาร์วานาอยากจะพักระหว่างทาง แต่ชอเซียไม่ยอมให้เธอเดินออกนอกเส้นทาง เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะเดินทับกับระเบิด
นอกจากนี้ ระหว่างที่ปาร์วานาในชุดเด็กผู้ชายกำลังนั่งขายของในตลาด เธอได้รับคำขอจาก ‘ราซัค’ นักรบตาลีบันผู้ใจดีให้อ่านจดหมายให้ฟัง แต่เมื่อปาร์วานาอ่านจดหมายนั้น ทั้งสองก็ต้องพบกับความจริงอันโหดร้าย เพราะ ‘ฮาลา เบคม’ ภรรยาของราซัคเพิ่งเสียชีวิตจากเหตุระเบิด โดยฮาลาได้ขึ้นรถบัสเพื่อไปร่วมงานแต่งงานของพี่สาว แต่รถบัสได้ขับทับกับระเบิดเสียก่อน ฮาลาได้รับบาดเจ็บสาหัส และไม่อาจทนพิษบาดแผลได้ เธอจึงเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่กี่ชั่วโมง
ภายใต้ฉากอ่านจดหมายอันแสนเศร้า ผู้ชมจะได้ค้นพบความจริงอีกประการคือ ไม่มีมนุษย์คนใดที่ถูกฉาบด้วยสีขาวล้วนหรือสีดำล้วน พวกเขาทุกคนต่างเป็นสีเทา ราซัคคือสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ล้วนมีความแตกต่างแม้จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล้วนไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและไม่ควรเกิดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ในฉากของปาร์วานาและราซัค นอกจากความรุนแรงที่พบได้ทุกหย่อมหญ้าในอัฟกานิสถาน เรายังได้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม และไม่มีประสิทธิภาพทางการศึกษาที่นอกจากตัวผู้หญิงจะได้โอกาสน้อยกว่าผู้ชายแล้ว ผู้ชายบางคนก็ใช่ว่าจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน
การศึกษาที่หายไป
เรื่องของการศึกษาอาจเป็นเพียงส่วนน้อยที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมอัฟกานิสถานได้เป็นอย่างดี
แม่ของปาร์วานาเป็นนักเขียน นั่นหมายความว่าเธอได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดี แต่โอกาสเหล่านั้นย่อมเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองในแต่ละยุคเช่นเดียวกัน จากที่นูรุ้ลลอฮ์เล่า ช่วงวัยเด็กของเขา หญิงสาวสามารถไปโรงเรียน และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ขณะที่ในปัจจุบัน กรุงคาบูลถูกยึดครองโดยตาลีบันที่จำกัดสิทธิ์ผู้หญิงให้อยู่แต่ในบ้าน ปาร์วานาไม่มีโอกาสไปโรงเรียน เธอเพียงโชคดีที่มีพ่อเป็นครูและแม่เป็นนักเขียนจึงสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว
ขณะเดียวกัน ราซัค นักรบหนุ่มใหญ่ของกลุ่มตาลีบันกลับไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในวัยเด็ก แม้เราจะไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ผลลัพธ์คือการที่เขาไม่สามารถอ่านจดหมายที่ญาติของภรรยาส่งมาได้ และเขาก็เพิ่งจะเริ่มหัดเขียนหนังสือเป็นคำ โดยมีปาร์วานาในรูปลักษณ์เด็กชายเคยสอน ในจุดนี้ เหตุผลที่ราซัคไม่สงสัยความเก่งในการอ่านและการเขียนของปาร์วานา ก็คงเป็นเพราะราซัคคิดว่าเธอเป็นเด็กผู้ชายที่มักจะได้สิทธิ์เหนือกว่าผู้หญิงนั่นเอง
ตลอดเวลาในการรับชม The Breadwinner กว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง เราได้เห็นสิ่งที่ขาดหายไปมากมายในสังคมอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิที่แสดงถึงความเท่าเทียมในการเป็นมนุษย์ แต่ถึงอย่างนั้น ความคลั่ง ความรุนแรง และความอยุติธรรมก็ยังคงมีให้เห็นทั่วไป ราซัคในฐานะคนจากกลุ่มตาลีบันถูกพวกเดียวกันยิง ครอบครัวของปาร์นามาถูกข่มขู่ในบ้านตัวเอง และนูรุ้ลลอฮ์ถูกจับเข้าตารางอย่างไร้เหตุผลที่จะยอมรับได้
ไม่มีใครอยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา การพรากจาก และความโศกเศร้า ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกสร้างเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้คนนอกประเทศได้รับรู้และร่วมกันช่วยเหลือ ซึ่งในขณะนี้ ทั่วทั้งโลกต่างส่งกำลังใจไปยังอัฟกานิสถาน เพื่อประคับประคองความหวังให้ยังคงอยู่ในประเทศ จนกว่าวันที่ความสุขและความสงบที่แท้จริงจะส่งถึง ‘ทุกคน’ อย่าง ‘เท่าเทียม’
เรื่อง วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ
http://thebreadwinner.com/gallery
https://www.youtube.com/watch?v=p64O8KAHHaQ
อ้างอิง
The Breadwinner (2017) ออกฉายทาง Netflix
https://www.imdb.com/title/tt3901826/
http://thebreadwinner.com/gallery
http://www.thebreadwinner.com/assets/pdfs/study_guide.pdf
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Afghanistan
Netflix
The People
Thought
อัฟกานิสถาน
The Breadwinner