เป็นครูนี่มันลำบากนะ หรือว่าน้องจะทน ? : สำรวจชีวิตครูไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19
อย่างที่ทราบกันดีว่าการเรียนออนไลน์ นั้นสร้างความโกลาหลให้กับนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนที่อยู่ในระบบการศึกษาไทย เรียกได้ว่ากระทบตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลไปจนถึงนักศึกษาปริญญาเอก จนมีนักเรียนจำนวนมากนำประสบการณ์ที่เจอจากการเรียนออนไลน์มาตีแผ่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Page ของกลุ่มนักเรียน หรือ Hashtag ใน Twitter อย่าง #เรียนออนไลน์เราจะตายกันหมด หรือ #การศึกษาฆ่าฉัน
แต่อย่าลืมว่าท่ามกลางความโกลาหลนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวแสดงหลักที่ต้องเผชิญกับปัญหาและผลกระทบจากการสอนออนไลน์อย่างหนักไม่แพ้ผู้เรียน นั่นคือครูผู้สอน ในสถานการณ์ปกติอาชีพครูโดยเฉพาะครูสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นงานที่ถูกขนานนานนามว่ามีภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบมากมายมหาศาลอยู่แล้ว เนื่องจากคำว่าโรงเรียนนั้นไม่ได้เป็นแหล่งให้ความรู้ในฐานะสถานศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว หากโรงเรียนยังมีหน้าที่เป็นสิ่งอื่นให้กับนักเรียนและชุมชนอีกหลายประการ
เราจึงเห็นได้ว่าครูในบางโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก หรือ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทำหน้าที่เป็นทั้งครูผู้สอนหนังสือ เป็นคนครัวปรุงอาหาร เป็นภารโรง เป็นยามรักษาความปลอดภัย ตลอดจนเป็นหมอ พยาบาลทำหน้าที่ดูแลสุขลักษณะและรักษาสุขภาพของเด็ก ๆ ในโรงเรียน ความรับผิดชอบเหล่านี้ยังไม่นับรวมภาระงานด้านการประเมินคุณภาพ การทำผลงานเพื่อการเลื่อนขั้น และงานพิธีกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนและชุมชนโดยรอบอีกด้วย
บทความนี้จึงอยากนำทุกท่านไปสำรวจชีวิตครูไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานเกินกว่า 1 ปีมาแล้ว ว่าสถานการณ์การทำงานของครูในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาในด้านใด อย่างไรบ้าง
ในประเทศไทยมีการรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายแรกตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 ซึ่งนับเป็นประเทศที่สองในโลกต่อจากประเทศจีนที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ ในขณะที่กระแสความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก รัฐบาลไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขในขณะนั้นให้สัมภาษณ์สร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะสามารถรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยมองว่าไวรัสดังกล่าวเป็นเพียงโรคหวัดชนิดหนึ่งเท่านั้น
หากแต่สถานการณ์กลับไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย ในเดือนมีนาคมปี 2563 สถานการณ์การระบาดทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยกลับเลวร้ายลง ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ จากเดือนมีนาคมปี 2563 ถึงตอนนี้ สถานการณ์การระบาดเกิดขึ้นซ้ำหลายระลอก โดยเฉพาะในระลอกปัจจุบันสถานการณ์กลับเลวร้ายลงอย่างมาก สถานศึกษาอันเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนจำนวนมากจึงเป็นสถานที่ที่ต้องปิดลงชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด
การปิดสถานศึกษาทำให้เกิดการปรับตัวขนานใหญ่ของทั้งโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และครู การเรียนการสอนรวมไปถึงการสอบวัดผลแบบออนไลน์กลายเป็นวิถีใหม่ในการจัดการศึกษา การเรียนการสอนแบบออนไลน์โดยหลักการแล้วดูจะเป็นวิธีการที่สะดวกและเหมาะสม แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นปัญหาต่าง ๆ ซุกอยู่ใต้พรมจำนวนมาก
ในมุมของผู้สอน การสอนออนไลน์จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือ แท็บเล็ต และต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อทำให้การสอนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแฝงไปด้วยราคาที่ครูต้องจ่าย เมื่อไม่นานมานี้มีการแชร์คลิปผ่านโลกออนไลน์ เป็นคลิปของคุณครูท่านหนึ่งประดิษฐ์อุปกรณ์สอนหนังสือออนไลน์จากลังกระดาษ โดยข้อความอธิบายคลิปดังกล่าวระบุไว้ว่า ‘เป็นครูอัตราจ้าง เงินเดือนนิดเดียว ไม่มีกำลังจะซื้อหรอกไอแพดไอพอต ทำยังไงให้สอนได้ให้นักเรียนได้เรียนได้เข้าใจ’
จากประเด็นดังกล่าวสะท้อนว่าโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งในประเทศไทยขาดความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์สำหรับการจัดการสอน อีกทั้งยังสะท้อนว่าที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีนโยบายรองรับหรือสนับสนุนบุคคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนทำให้ภาระในการจัดการตกอยู่ในมือครู
นอกจากอุปกรณ์แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอนออนไลน์อย่างมีนัยยะสำคัญคืออินเทอร์เน็ต จากการสำรวจตลาดผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ต่างแข่งขันกันออกแพ็กเกจโปรโมชันสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์พบว่ามีราคาอยู่ที่ 200 บาท ไปจนถึง 1,000 บาทขึ้นไป ซึ่งแน่นนอนว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ครูผู้สอนต้องแบกรับและจ่ายเงินซื้อบริการอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือแจ้งถึงผู้อำนวยการสถานศึกษา เกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด โดยมีนโยบายปลดล็อกให้สถานศึกษาของรัฐสามารถนำเงินอุดหนุนของทางโรงเรียนมาใช้ในการสนับสนุนการทำการเรียนการสอนของครูได้
อย่างไรก็ตามนอกจากความล่าช้าของนโยบายแล้วแล้ว แนวทางของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานข้างต้น ยังทิ้งปัญหาให้ต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ค่าใช้จ่ายที่ครูแบกรับไว้ในช่วงเวลากว่า 1 ปีก่อนหน้า จะมีแนวทางการชดเชยหรือไม่ อย่างไร และเงินอุดหนุนของสถานศึกษาที่พูดถึงในประกาศนั้นหากไม่เพียงพอจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
การสอนออนไลน์นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของการเรียนการสอนที่ครูถูกฝึกให้ชำนานมาแต่เดิม สิ่งนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับครู นักเรียนและผู้ปกครอง นอกจากจะต้องหาวิธีให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว พบว่าครูจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาความกดดันจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนการสอนนี้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่เมื่อร่วมสังเกตการณ์สอนของครูแล้วอาจเกิดแนวทางที่ไม่ตรงกัน จนคุณครูหลายท่านพบว่านอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับนักเรียนแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ในชั้นเรียน ซึ่งบางครั้งก็มิได้มีความเข้าใจตรงกัน
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ากิจกรรมการนิเทศน์หรือการสังเกตการณ์จากเจ้าหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา ไม่ใช่กิจกรรมที่จะถูกละเว้นในระหว่างการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ในหลายพื้นที่มีการจัดการนิเทศน์การสอนของครูผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หรือไม่ก็มีการสังเกตการณ์จากฝ่ายบริหารของโรงเรียนและผู้อำนวยการ ที่พร้อมจะเข้ามาร่วมชั้นเรียนออนไลน์กับครูและเด็ก ๆ ตลอดเวลา
แน่นอนว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้มีผลดีในแง่ของการควบคุมคุณภาพการศึกษา แต่ในอีกแง่หนึ่งกิจกรรมนี้กลับเพิ่มความอึดอัดให้ครูผู้สอน ที่นอกจากจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะส่งผ่านความรู้ให้นักเรียน พยายามดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ หน้าจอ ยังต้องปฏิบัติตัวเป็นลูกน้องดีที่ภายใต้สายการบังคับบัญชา และสร้างความเข้าใจอันดีกับผู้ปกครองของเด็ก ๆ ไปด้วย เชื่อว่าธรรมชาติของห้องเรียนอันแปลกปลอมนี้ส่งผลต่อความเครียดและกดดันของครูอยู่ไม่น้อย
อีกกิจกรรมหนึ่งที่ครูโดยเฉพาะครูในโรงเรียนรัฐบาลยังคงต้องปฏิบัติ คือการอยู่เวรตามระเบียบการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ ในโรงเรียนที่ไม่มียามรักษาการณ์ หน้าที่การอยู่เวรเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในสถานศึกษาเป็นหน้าที่ของครู แม้ระเบียบจะระบุชัดเจนว่าครูที่เป็นเพศหญิงไม่ต้องทำหน้าที่อยู่เวรในในเวลากลางคืน แต่ในทางปฏิบัติยังมีครูผู้หญิงจำนวนมากได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่นี้ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้โรงเรียนปิดลงโดยที่ครูยังต้องทำหน้าที่อยู่เวรเพื่อรักษาความปลอดภัย แม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม
การอยู่ในสถานที่อันกว้างขวางและในบางครั้งก็ห่างไกลจากสถานที่อื่นๆและปราศจากผู้คน ก็ส่งผลให้เกิดความกังวลใจต่อเรื่องความปลอดภัยของครูเช่นกันไม่ว่าจะเพศหญิงหรือชาย เมื่อระเบียบกำหนดให้ครูมีหน้าที่อยู่เวรเพื่อรักษาความปลอดภัยของโรงเรียน ในทางกลับกันก็ต้องตั้งคำถามว่าใครกันจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของครู
หน้าที่ของครูที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างให้ผู้อ่านได้เห็นภาพ ในความเป็นจริงแล้วครูยังต้องเป็นสิ่งต่าง ๆ อีกมากมาย เป็นครูแล้วยังต้องเป็นผู้ปกครองดูแลเด็ก ๆ เมื่อผู้ปกครองตัวจริงต้องไปรักษาตัวจากโรคร้าย เป็นพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรีจำเป็น และครูบางท่านทุ่มเทแปลงร่างเป็นนักร้อง เป็นดาว Tiktok เพื่อสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชั้นเรียนท่ามกลางสภาวะอันเศร้าหมองและยากลำบากที่ทุกคนกำลังเผชิญ
ด้วยปัญหาการศึกษาไทยที่ทับถมมานานบวกกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่มาซ้ำเติมทำให้ครูเองต้องแบกรับภาระอันใหญ่หลวงไม่ต่างจากภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม หากครูทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ย้อท้อได้อ่านบทความนี้ก็ต้องขอขอบคุณในความทุ่มเทและขอเป็นกำลังใจให้ท่านด้วยใจจริง และหากท่านเป็นผู้มีอำนาจที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ก็ต้องขอฝากไว้ว่านอกจากปัญหาคุณภาพการศึกษาที่จะต้องเร่งแก้ไขแล้ว ปัญหาคุณภาพชีวิตของบุคคลากรทางการศึกษาก็สำคัญไม่แพ้กัน จงอย่าปล่อยให้บุคคลากรสำคัญของชาติต้องอยู่ด้วยความอด ‘ทน’
เรื่อง ณิชภัทร์ กิจเจริญ
ที่มา
[1] ข้อมูลสถิติจำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบโรงเรียน ในสถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
[2] Elizabeth Cheung, “Wuhan pneumonia: Thailand confirms first case of virus outside China,” South China Morning Post, accessed July 26, 2021, https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3045902/wuhan-pneumonia-thailand-confirms-first-case.
[3] “อนุทิน” เผยส่วนตัวมองไวรัสโคโรนา เป็นโรคหวัดโรคนึง มั่นใจไทยคุมอยู่,” Work Point Today, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564,https://www.youtube.com/watch?v=_onf32i-Rm4.
[4] ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2564
[5] ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/100026727150192/videos/1530703370654988/
[6] “สพฐ. คลายล็อก ใช้งบฯ โรงเรียน “ซื้อซิมอินเทอร์เน็ต” เยียวยาผลกระทบด้านการศึกษา,” The Active, สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2564,https://theactive.net/news/202107242/?fbclid=IwAR31GEekhP7OIU9Rgb5Dd5UbKN_4bFYP9TNO_fw8hWzUuxfyuQSEsfAzNYo.