ทิม สโตกลี: เบื้องหลัง OnlyFans แพลตฟอร์มสำหรับเหล่าครีเอเตอร์ทั่วไป แต่กลับแจ้งเกิดจากคอนเทนต์ 18+
ถ้าบอกว่าเรียนแต่งหน้าผ่าน ‘OnlyFans’ บางคนอาจไม่แน่ใจว่าได้ยินถูกหรือเปล่า
เพราะภาพจำของผู้คนคือแพลตฟอร์มนี้มีเฉพาะภาพวาบหวิวหรือวิดีโอสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ทั้งที่ OnlyFans อาจมีทั้งศิลปินที่อยากพบปะแฟน ๆ เทรนเนอร์ที่สอนออกกำลังกาย หรือเหล่าครีเอเตอร์อื่นใดที่ผู้คนพร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเพื่อชมภาพหรือวิดีโอเหล่านั้น
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้หลักของเว็บไซต์มาจากเนื้อหา 18+ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ในปี 2020 ซึ่งข้อมูลในเว็บไซต์ dailymail.co.uk ระบุว่ามีบัญชีผู้ใช้ OnlyFans เพิ่มขึ้น 42% ทั่วโลก โดยมีครีเอเตอร์รวมกว่า 660,000 แอ็กเคานต์ มีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคน โดย OnlyFans อ้างว่าได้จ่ายเงินให้กับเหล่าครีเอเตอร์มากกว่า 956 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) กลายเป็นบริษัทเติบโตท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด-19 สวนทางกับหลายธุรกิจไปโดยปริยาย
จากแพลตฟอร์มของครีเอเตอร์ทั่วไป
แม้จะเป็นที่รู้จักอย่างล้นหลามในช่วง 1-2 ปีมานี้ หาก OnlyFans เปิดตัวเว็บไซต์มาตั้งแต่ปี 2016 โดย ‘ทิม สโตกลี’ (Tim Stokely) ผู้ก่อตั้งและ CEO วัย 38 ปี ที่ยอมรับว่าสนใจหนังโป๊มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และในปี 2011 เขาเคยสร้างเว็บไซต์เกี่ยวกับเนื้อหาทางเพศมาแล้วอย่าง GlamWorship ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทิมเริ่มผุดไอเดียแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการส่งคำขอภาพหรือวิดีโอให้กับครีเอเตอร์ได้โดยตรง
คอนเซปต์ของ OnlyFans ในตอนแรก ทิมตั้งใจให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับครีเอเตอร์หลายรูปแบบ เช่น ช่างแต่งหน้า เทรนเนอร์ นักดนตรี โดยสามารถกำหนดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสำหรับชมภาพหรือคลิปที่หาดูไม่ได้ในช่องทางอื่น โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างแอ็กเคานต์ได้ฟรี ส่วนรายได้ของ OnlyFans จะหักจากเงินที่ผู้ชมจ่ายให้กับเหล่าครีเอเตอร์ 20%
ไม่นานมานี้ OnlyFans เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อเหล่าคนดังหันมาใช้ OnlyFans เป็นช่องทางสร้างรายได้เสริม ระดมทุนเพื่อการกุศล หรือสื่อสารกับแฟนคลับในรูปแบบใหม่ อย่าง Cardi B ศิลปินอเมริกันที่เคยอัปโหลดวิดีโอเบื้องหลังการถ่ายปกของนิตยสาร Elle หรือวิดีโอระหว่างการถ่ายทำ MV เพลง WAP ของเธอ โดยโพสต์ดังกล่าวทำให้เธอได้ทิปกลับมาถึง 1,000 ดอลลาร์เลยทีเดียว
ด้วยความที่แพลตฟอร์มนี้มีนโยบาย ‘เปิดกว้าง’ ให้สามารถเผยแพร่บางเนื้อหาซึ่งถูกแบนจาก Facebook Instagram หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ บวกกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การถ่ายทำภาพหรือวิดีโอ 18+ ต้องถูกระงับไป OnlyFans จึงเริ่มแจ้งเกิดและกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้สร้างและผู้เสพคอนเทนต์ 18+ นั่นเอง โดย OnlyFans มีนโยบายสร้างความปลอดภัยมารองรับผู้ใช้งาน เช่น การยืนยันตัวตนว่ามีอายุ 18 ปีขึ้นไปก่อนสมัครแต่ละแอ็กเคานต์ และไม่สามารถแคปหน้าจอหรือบันทึกภาพบนเว็บไซต์ได้ เป็นต้น
ทางเลือกใหม่ในช่วงล็อกดาวน์
ขณะที่ธุรกิจหลายเจ้าพยายามประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 แต่ OnlyFans กลับกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนเหล่าครีเอเตอร์หลายรายก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการใช้แพลตฟอร์มนี้
ครั้งหนึ่ง Dannii Harwood นางแบบชาวอังกฤษเคยทำรายได้ใน OnlyFans ถึง 1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 44 ล้านบาท) โดย Harwood บอกกับ The New York Times ว่า จริง ๆ แล้วผู้คนพอจะมีช่องทางรับคอนเทนต์ 18+ ได้แบบฟรี ๆ แต่การใช้งานใน OnlyFans กลับให้ความรู้สึกแตกต่างออกไป เพราะพวกเขามีโอกาสได้รู้จักหรือสื่อสารกับใครบางคนที่เคยเห็นแค่ในนิตยสารหรือบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น แถมยังได้เสพคอนเทนต์ตรงตามความต้องการของตัวเองอีกต่างหาก
ส่วน Monica Huldt หนึ่งในครีเอเตอร์ที่สร้างรายได้สูงสุดของ OnlyFans โดย Business Insider รายงานว่าเธอสร้างรายได้ให้กับ OnlyFans มากกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี แต่ใช่ว่าตัวเลขนี้จะได้มาง่าย ๆ เพราะ Huldt ต้องทำคอนเทนต์ลงใน OnlyFans ‘ทุกวัน’ เพื่อรักษาระดับรายได้และไม่แนะนำให้ใครก็ตามที่อยากจะลองทำแค่ 2-3 วันแล้วคาดหวังเม็ดเงินมหาศาล เพราะคนที่จ่ายเงินเข้ามาดูโดยเฉพาะแบบรายเดือนย่อมคาดหวังคอนเทนต์จากครีเอเตอร์ และยิ่ง OnlyFans มีครีเอเตอร์มากเท่าไร นั่นหมายความว่าพวกเขาต่างก็มีคู่แข่งมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ Lexi นักเต้นวัย 36 ปี จากแมนเชสเตอร์ยังเล่าว่า OnlyFans ทำให้หลายคนมีช่องทางการเอาตัวรอดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกับเธอมีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่ครีเอเตอร์ต้องไม่ลืมที่จะกำหนดขอบเขต (boundary) เนื้อหาที่เผยแพร่ และย้ำเตือนกับตัวเองเสมอว่าพวกเขากำลังสร้างภาพจำของตัวเองให้กับผู้คนในโลกออนไลน์
OnlyFans กับนโยบายแบนเนื้อหาทางเพศ
แน่นอนว่าบริษัทที่ผู้คนมีภาพจำว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากคอนเทนต์ 18+ ย่อมถูกจับตามองจากหลายองค์กรว่าจะไม่มีเนื้อหาคุกคาม ละเมิดสิทธิ หรือผิดกฎหมาย ทั้งยังเริ่มมีภาพลักษณ์เชิงลบในสายตาของสถาบันการเงินหลายแห่ง ทำให้เดือนสิงหาคม 2021 OnlyFans ออกมาประกาศว่าจะมีนโยบายแบนเนื้อหาทางเพศ จนผู้ใช้งานบางส่วนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า OnlyFans อาจกังวลเรื่องภาพลักษณ์และต้องการดึงดูดนักลงทุนที่หลากหลายกว่านี้ แต่ทิมได้ออกมาปฏิเสธและให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเขาไม่มีทางเลือก เพราะแรงกดดันจากสถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการชำระเงินที่ไม่ยอมให้ใช้บริการโอนเงินผ่านช่องทางเหล่านี้
กลายเป็นว่าทิมต้องยืนอยู่ระหว่างแรงกดดันจากสถาบันทางการเงินหลายแห่ง กับผู้ใช้งานที่ไม่พอใจเพราะได้รับผลกระทบจากการแบน ไม่นานหลังจากประกาศนโยบายดังกล่าว OnlyFans จึงตัดสินใจยกเลิกการแบนเนื้อหา 18+ และออกมาขอบคุณเสียงจากผู้ใช้งาน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีครีเอเตอร์และผู้ชมไม่น้อยที่ตัดสินใจย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ
แม้ไม่มีข้อมูลว่าเจตนาแท้จริงของทิมนั้นต้องการสร้าง OnlyFans ให้เป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอเนื้อหา 18+ ตั้งแต่ต้นหรือไม่ แต่หากทิมต้องการให้มีภาพจำว่าเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเหล่าครีเอเตอร์ ‘หลากหลายสาขา’ ก็นับว่าเขาอาจยังไปไม่ถึงเป้าหมายนี้
ในทางตรงกันข้าม หากเทียบกับแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ภาพและวิดีโอสำหรับผู้ใหญ่แบบเสียค่าใช้จ่าย ทิมสามารถตัดต้นทุนในแง่การถ่ายทำทั้งสถานที่ ช่างภาพ นักแสดง ทั้งยังมีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน ก็อาจจะพลิกกลับกลายเป็นว่าทิมได้เปรียบแพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างชาญฉลาดเลยทีเดียว
ที่มา:
https://www.dailymail.co.uk/news/article-8561309/How-bankers-son-37-revolutionary-adult-site-OnlyFans-making-millions-lockdown.html
https://influencermarketinghub.com/glossary/onlyfans/
https://www.forbes.com/sites/thomasbrewster/2021/06/16/the-shady-secret-history-of-onlyfans-billionaire-owner/?sh=4c0ca8f85c17
https://www.cnbc.com/2021/08/24/onlyfans-ceo-explains-why-the-site-banned-porn.html
https://variety.com/2021/digital/news/onlyfans-drops-porn-ban-sexually-explicit-policy-1235048705/
https://www.thesun.co.uk/news/15150829/onlyfans-founder-timothy-stokely/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-05/celebrities-like-cardi-b-could-turn-onlyfans-into-a-billion-dollar-media-company