30 ส.ค. 2564 | 15:14 น.
Here comes the story of the Hurricane The man the authorities came to blame For somethin’ that he never done Put in a prison cell, but one time he could-a been The champion of the world
เขามีนามว่า ‘พายุเฮอร์ริเคน’ ในทศวรรษ 1960 ด้วยสไตล์การชกอันดุดันและว่องไวที่มาพร้อมกับฮุคซ้ายอันทรงพลัง จึงไม่แปลกที่ ‘รูบิน คาร์เตอร์’ (Rubin Carter) นักมวยดาวรุ่งผิวดำชาวอเมริกัน-แคนาดา จะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้โดยวิธีการน็อกเอาต์ถึง 13 ครั้ง จากการแข่ง 21 คู่ และประสบความสำเร็จอย่างสายฟ้าแลบ ชื่อเสียงของเขาดังกระหึ่มไปทั่ววงการมวยอเมริกันจนผู้ชมต่างขนานนามเขาว่า ‘พายุเฮอร์ริเคน’ เมื่ออายุครบ 11 ปี รูบินถูกนำตัวเข้าสู่สถานดัดนิสัยเยาวชน ด้วยข้อหาทำร้ายร่างกายบุคคลที่พยายามจะล่วงละเมิดทางเพศเขา ไม่กี่ปีหลังจากนั้น รูบินก็ได้ลักลอบหนีออกจากสถานดัดนิสัยเพื่อไปสมัครเข้าร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ และนั่นทำให้เขาได้ลองสวมนวมเพื่อชกเป็นครั้งแรก รูบินได้พิสูจน์ตัวเองอย่างชัดเจนว่าเขามีความสามารถด้านการชกมวย ขณะที่เขาประจำการอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เขาสามารถน็อกคู่ต่อสู้ได้ถึง 35 รอบ จากชัยชนะ 51 ครั้ง และมีเพียง 5 ครั้งที่เขาแพ้ ต่อมาเขาจึงได้เป็นแชมป์ไลท์เวลเตอร์เวทของกองทัพสหรัฐฯ ในยุโรป ณ ขณะนั้น หลังจากปลดประจำการ รูบินถูกจับข้อหาหลบหนีจากสถานดัดสันดานและถูกตัดสินจำคุกนาน 10 เดือน ต่อมาในปี 1957 เขาก็ถูกจับอีกครั้งข้อหาจี้ชิงทรัพย์ผู้หญิงคนหนึ่งที่ถนนแพตเทอร์สันและถูกตัดสินจำคุกกว่า 4 ปี แต่รูบินอ้างว่าเขาก่อเหตุครั้งนี้เนื่องจากการดื่มสุรา นอกจากเสื้อคลุมกำมะหยี่สีดำลายเสือและความน่าเกรงขามดั่งพายุ อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ถูกใช้เพื่อโปรโมตรูบินคือ ‘อดีต’ อันขมขื่นของเขา ประวัติอาชญากรรมของรูบินถูกใช้มาโปรโมตเพื่อบอกว่าเรือนจำได้เปลี่ยนเขาให้เป็นนักสู้ผู้น่าเกรงขาม แม้จะเป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงและป๊อปปูลาร์อย่างมากในละแวกแพตเทอร์สัน แต่รูบินก็ไม่ได้เป็นที่ชอบพอกับสื่อหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจนัก รูบินเคยเล่าไว้ในการสัมภาษณ์หนึ่งว่า การเป็นคนดำในยุคสมัยก่อนมันยากลำบาก เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะดื่มน้ำสาธารณะหรือเข้าร้านอาหารบางร้านด้วยซ้ำ การเป็นคนดำคือการโตมาแบบการถูกกดขี่และถูกเอาเปรียบ รูบินกล่าวว่าคนดำหลายคนก็ไม่ได้โต้ตอบอะไรกับสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่กับเขา “เวลามีคนมาล้อเลียนหรือรังแกผม เสียงเดียวที่เขาเหล่านั้นจะได้ยินคือเสียงหมัดของผมเคลื่อนที่ไปหาพวกเขา” ต่อมาเมื่อเขามีชื่อเสียงจากการเป็นนักมวย สื่อบางสำนักก็เขียนข่าวโจมตีว่าเขาเป็นพวก ‘คนดำหัวรุนแรง’ (Black Militant) จากเหตุการณ์นี้ทำให้ตำรวจเริ่มมีอคติและมาตามราวีเขา ครั้งหนึ่งเขายังเคยถูกตำรวจจับขังคุกเพียงเพราะเขารถเสีย [caption id="attachment_36512" align="aligncenter" width="952"] Rubin "Hurricane" Carter boxing Gomeo Brennan in a match Carter will win by a unanimous decision.[/caption] ฆาตกรรมปริศนาในบาร์ที่นิวเจอร์ซีย์ ในช่วงเวลาดึกสงัดเกือบจะเช้ามืดของวันที่ 17 มิถุนายน ปี 1966 ภายในร้าน ‘Lafayette Bar and Grill’ ยังคงมีลูกค้าที่นั่งผ่อนคลายกับเครื่องดื่มของตนพร้อม ๆ กับ จิม โอลิเวอร์ บาร์เทนเดอร์ประจำร้านที่กำลังตรวจเช็กบิลประจำวันอยู่ ทันใดนั้นเองเสียงประตูเปิดก็ดังขึ้น ชายผิวดำสองคนเดินเข้ามาในบาร์พร้อมกับปืนลูกซองและปืนพกในมือคนละกระบอก จิมสัมผัสได้ถึงลางไม่ดี เขารีบคว้าแก้วเบียร์แล้วขว้างไปที่ชายสองคนนั้น ในขณะที่แก้วเบียร์กระทบกับกำแพงและแตกเป็นเสี่ยง ๆ จิมวิ่งหนีสุดชีวิตไปที่หลังร้าน แต่กระสุนลูกซองเบอร์ 12 ก็วิ่งทะลุกระดูกสันหลังและปลิดชีวิตเขาในทันที คนร้ายทั้งสองไม่รอช้า กระหน่ำยิงเหยื่ออีกคนจนกระสุนตัดขั้วสมองและเสียชีวิตคาที่ในขณะที่บุหรี่ที่เพิ่งจุดยังไหม้อยู่ในมือ เหยื่อรายที่สามถูกคนร้ายที่มีปืนพกยิงที่บริเวณหัว กระสุนลูกโดด .32 ทะลุหน้าผากและสร้างความเสียหายบริเวณดวงตาข้างขวา เหยื่อรายสุดท้ายเป็นผู้หญิง เธอถูกปืนลูกซองยิงที่บริเวณแขนขวาจนล้มลงไปนอนกองกับพื้น ต่อมาเธอก็ถูกคนร้ายที่ถือปืนพกยิงระยะประชิดกว่า 5 นัด ในขณะเดียวกัน ‘แพทริเชีย วาเลนไทน์’ สาวเสิร์ฟที่อาศัยอยู่ที่ชั้นบนของร้านก็ได้ยินเสียงกรีดร้องจากชั้นล่าง เธอจึงมองลอดออกไปนอกหน้าต่างแล้วพบว่าคนร้ายทั้งสองคนได้หลบหนีไปที่รถสีขาวที่มีป้ายทะเบียนจากรัฐอื่น เธอจึงรีบวิ่งลงไปดูชั้นล่างว่าเกิดอะไรขึ้น “ผมไม่ได้ทำนะ ผมแค่จะมาปล้นแคชเชียร์เฉยๆ” กองศพของเหยื่อเรียงรายกันต่อหน้าแพตตี้ ในขณะนั้นเองก็มีชายปริศนาคนหนึ่งซึ่งมีท่าทางลับ ๆ ล่อ ๆ อยู่ในที่เกิดเหตุ ชายผู้นั้นคือ ‘อัลเฟรด เบลโล’ (Alfred Bello) หัวขโมยผู้ซึ่งกำลังจะลักลอบขโมยของในโกดังแห่งหนึ่งกับเพื่อนของเขา ‘อาร์เธอร์ แบรดลีย์’ (Arthur Bradley) เขาแค่จะมาซื้อบุหรี่แถว ๆ บาร์ แต่พอเห็นทางสะดวกจึงพยายามจะฉวยโอกาสขโมยเงินจากแคชเชียร์เฉย ๆ ทั้งสองคนจึงตกลงว่าควรโทรฯ แจ้งตำรวจในทันที เมื่อตำรวจมาถึง อัลเฟรด เบลโล ก็สารภาพในทันทีว่าเขากับเพื่อน อาร์เธอร์ แบรดลีย์ วางแผนจะมาขโมยของ แต่ระหว่างนั้นเขาเห็นชายผิวดำสองคนพร้อมอาวุธวิ่งหนีออกจากบาร์ขึ้นรถสีขาวไป ส่วนคำให้การของแพตตี้ก็ไปในทางเดียวกับเบลโล นั่นก็คือ ‘ชายผิวดำสองคนวิ่งหนีขึ้นรถสีขาว’ “เฮ้ย! คนนี้ยังไม่ตายนี่หว่า” ระหว่างที่ตำรวจกำลังสอบสวนพยานทั้งสองและสำรวจสถานที่เกิดเหตุ ร่างที่นอนจมกองเลือดก็ขยับตัว ปรากฏว่าเหยื่อรายที่ถูกยิงเข้าบริเวณหัวและรายที่เป็นผู้หญิงที่ถูกยิงในระยะประชิดยังมีชีวิตรอด พวกเขาทั้งสองจึงถูกนำตัวส่งเข้าโรงพยาบาลในทันที ห่างออกไปไม่กี่ช่วงตึก รูบิน คาร์เตอร์ และเพื่อนของเขา ‘จอห์น อาร์ติส’ ก็กำลังขับรถเก๋งสีขาวตระเวนเที่ยวบาร์อยู่รอบเมือง ในขณะที่รถกำลังติดไฟแดง เขาก็เห็นไฟสีแดง-น้ำเงินพร้อมเสียงไซเรนมาจากข้างหลัง ตำรวจแจ้งกับรูบินว่ารถของเขาเป็นรถเก๋งสีขาวที่มีความคล้ายคลึงกับคำให้การของพยานทั้งสองอย่างมาก เขาจึงขอตรวจค้น แม้จะไม่เจออาวุธปืนที่ตรงกับกระสุนที่ตกอยู่ในจุดเกิดเหตุ แต่รูบินและจอห์นก็ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อไปพบกับเหยื่อที่รอดชีวิต หลังจากที่รูบินถูกนำตัวไปที่ห้องฉุกเฉินเพื่อการชี้ตัว เหยื่อรายที่สามใช้ดวงตาเพียงข้างเดียวที่เหลืออยู่ของเขามองไปที่รูบิน จากนั้นเขาก็ยืนยันกับตำรวจว่า รูบินและจอห์นไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ แต่ตำรวจก็ยังถามซ้ำกับผู้บาดเจ็บอีกว่า “คุณแน่ใจเหรอว่าไม่ใช่?” ต่อมารูบินและจอห์นถูกนำตัวไปสอบสวนกว่า 17 ชั่วโมงพร้อมกับเข้าเครื่องจับเท็จ ทั้งคู่สามารถผ่านเครื่องจับเท็จได้อย่างไม่มีพิรุธ หลังจากที่ไม่มีอะไรน่าสงสัย ตำรวจจึงปล่อยรูบินและจอห์นกลับบ้าน คำให้การของหัวขโมย การไต่สวนเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนถัดจากวันเกิดเหตุ ทางตำรวจยังไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ มีเพียงชายผิวดำสองคนที่เป็นผู้ต้องสงสัยในคืนนั้น พวกเขายังคงยึดปากคำของ อัลเฟรด เบลโล และ อาร์เธอร์ แบรดลีย์ เป็นหลักฐานหลักที่ชี้ตัวไปหารูบินและเพื่อนในคืนนั้น เบลโลยืนยันว่าเขาเห็นจอห์นเป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุในคืนนั้น ส่วนแบรดลีย์ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงมายืนยันว่าอีกคนที่เขาเห็นก็คือรูบิน นอกจากปากคำของหัวขโมยทั้งสองและสีผิวของผู้ต้องสงสัยแล้ว ก็ไม่มีสิ่งอื่นใดเลยที่จะสามารถโยงไปได้ว่า รูบิน คาร์เตอร์ และ จอห์น อาร์ติส คือผู้ก่อเหตุฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายอย่างโหดเหี้ยมในคืนวันนั้น “แม้ว่ารูปพรรณสัณฐานของผมไม่ได้ตรงกับลักษณะของคนร้าย แม้ว่าผมจะผ่านเครื่องจับเท็จ ผมก็ถูกเขาตัดสินว่าผมผิดอยู่ดี” รูบิน คาร์เตอร์ถูกศาลตัดสินจำคุก 30 ปี ส่วนจอห์น อาร์ติสถูกตัดสินจำคุก 15 ปี โดยที่ศาลฎีกาปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ของเขาทั้งสอง เหตุการณ์นี้พรากอิสรภาพและชีวิตของนักมวยผิวดำคนหนึ่งไปด้วยหลักฐานอันน้อยนิด / Now all the criminals in their coats and their ties Are free to drink martinis and watch the sun rise While Rubin sits like Buddha in a ten-foot cell An innocent man in a living hell / หลายปีต่อมาความจริงก็ปรากฏว่าหัวขโมยทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันให้ชี้ตัวผู้กระทำผิดว่าเป็นรูบินและจอห์นเพื่อแลกกับความเมตตาของตำรวจในการผ่อนปรนโทษในคดีของพวกเขาทั้งสอง เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนความอยุติธรรมและอคติในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้อย่างชัดเจน ณ ขณะนั้น จากทัณฑสถานถึง บ๊อบ ดีแลน “การที่คณะลูกขุนถูกป้อนแต่ข้อมูลเท็จและคำโกหกแล้วมาตัดสินว่าผมผิด นั่นไม่ได้แปลว่าผมเป็นคนผิด และเมื่อผมไปอยู่ในเรือนจำ ผมก็ขอปฏิเสธการทำตัวเหมือนผมเป็นนักโทษ เพราะผมไม่ใช่” ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในเรือนจำ รูบินปฏิเสธทุกสิ่งรอบตัวเขา เขาปฏิเสธที่จะใส่ชุดนักโทษ ปฏิเสธที่จะกินอาหารจากทางเรือนจำ ปฏิเสธที่จะทำงาน เมินเฉยต่อกฎระเบียบและผู้คุม รูบินยังเคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า ถ้าเขาเลือกได้ เขาไม่อยากจะสูดอากาศภายในเรือนจำด้วยซ้ำ สิ่งที่เขาทำทั้งหมดก็เพื่อจะปฏิเสธว่าเขาคือนักโทษในคดีฆาตกรรมและยืนยันอย่างไม่ลดละความพยายามว่าเขาคือ ‘ผู้บริสุทธิ์’ ด้วยพฤติกรรมนี้เองที่ทำให้รูบินถูกเรือนจำสั่งขังเดี่ยวในห้องมืดลึกลงไป 6 ฟุต ไร้ซึ่งสุขภัณฑ์ ไร้ซึ่งเครื่องอำนวยความสะดวกและน้ำประปา มีเพียงขนมปังแผ่นเก่า ๆ และน้ำอุ่นเพื่อประทังชีวิตในแต่ละวัน บุคคลรอบตัวเขารวมถึงครอบครัวล้วนบอกให้เขาหยุดต่อต้านและทำตามกฎของทางเรือนจำสักที บุคคลภายนอกจะได้มีสิทธิ์ในการเข้าเยี่ยมเขาเหมือนนักโทษคนอื่น แต่รูบินก็ปฏิเสธและยืนยันที่จะใส่ชุดที่ขาดรุ่ยของตนเองนั่งอยู่ในห้องขังเดี่ยวโดยไม่คุยกับใครแม้แต่ผู้คุม แม้เสียงระฆังยกที่ 15 หรือยกสุดท้ายในการแข่งขันบนสังเวียนมวยจะจบลง แต่เสียงระฆังยกต่อไปบนสังเวียนระบบความยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะเริ่มขึ้น ในปี 1974 เป็นเวลา 8 ปีนับตั้งแต่ถูกศาลตัดสินจำคุกในคดีที่เขาเองไม่ได้ก่อ รูบิน คาร์เตอร์ ได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเองในชื่อ ‘The Sixteenth Round: From Number 1 Contender to Number 45472’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ ‘ยกที่สิบหก’ ของเขา และเรียกร้องความยุติธรรมของตนเองจากเรือนจำ นอกจากจะเล่าเรื่องราวชีวิตที่เริ่มต้นที่สังเวียนจนมาลงเอยในห้องขังเดี่ยวแล้ว อัตชีวประวัติเล่มนี้ก็เปรียบเสมือนจดหมายใส่ขวดที่ลอยน้ำไปขอความช่วยเหลือจากสาธารณชน หนึ่งปีถัดมา อัตชีวประวัติเล่มนี้ก็ถึงมือของ ‘บ๊อบ ดีแลน’ เจ้าของบทเพลงต่อต้านสงครามที่โด่งดังอย่าง ‘Blowin’ in the Wind’ แม้จะเคยเขียนเพลงเกี่ยวกับนักมวย แต่บ๊อบไม่เคยรู้จักและไม่เคยได้ยินเรื่องราวเจ้าของฉายา ‘พายุเฮอร์ริเคน’ มาก่อน จนกระทั่งในปี 1975 ระหว่างที่เขาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เขาก็มีโอกาสได้อ่านอัตชีวประวัติเรื่องราวชีวิตของนักมวยดวงซวยผู้นี้ หลังจากที่กลับมา บ๊อบก็มุ่งตรงไปที่เรือนจำรอห์เวย์สเตท (Rahway State Prison) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ เพื่อไปค้นหาคำตอบของเรื่องราวนี้ “ดีแลนต่างจากคนอื่น ๆ ที่มาหาผม เขาไม่ได้มาเพื่อถามว่าผมทำจริงหรือเปล่า? ผมผิดจริงไหม? เขามาเพื่อหาคำตอบว่าผมเป็นใคร? แท้จริงแล้วผมเป็นคนคนเดียวกับที่เขาเห็นผมหรือเปล่า?” ทั้งบ๊อบและรูบินรู้สึกถูกชะตากันและกันอย่างมาก บ๊อบรู้สึกว่ารูบินมีปรัชญาชีวิตที่ใกล้เคียงกับตัวเขาเอง ต่างคนต่างเข้าใจกันและกัน ซึ่งเขาไม่ค่อยเจอคนแบบนี้บ่อยนัก ส่วนรูบินเองก็รู้สึกว่าตัวเขาเองและบ๊อบก็มีจุดน่าสนใจที่เชื่อมโยงกันอยู่ “เราทั้งคู่ต่างเป็นนักแสดงที่ชอบทำให้คนดูพอใจ ต่างกันเพียงแค่ผมมีฮุคซ้าย ส่วนบ๊อบมีมิตรรักนักดนตรีของเขา” (สมัยที่ บ๊อบ ดีแลน ทัวร์ The Rolling Thunder Revue กับศิลปินคนอื่น ๆ อีกมากมาย) รูบินกล่าว [caption id="attachment_36513" align="aligncenter" width="971"] March 23, 1975: Bob Dylan plays at the SNACK concert, a Kezar Stadium benefit organized by Bill Graham to save high school sports. The one-time benefit included performances by Jerry Garcia and Carlos Santana and appearances by Marlon Brando and Willie Mays. (Photo by Vince Maggiora/San Francisco Chronicle via Getty Images)[/caption] เพลงนี้เพื่อความยุติธรรม “มันเกิดความอยุติธรรมขึ้นน่ะ และมันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน” หลังจากที่ได้พบกับเฮอร์ริเคน และด้วยปณิธานที่อยากจะช่วยเขาให้พ้นจากความอยุติธรรมครั้งนี้ บ๊อบก็มีอะไรมากมายที่อยากจะเขียนจนเขาไม่รู้ว่าจะบรรยายมันออกมาเป็นเนื้อเพลงอย่างไร ดังนั้นเขาจึงได้พบกับ ‘จาค เลวี’ (Jacques Levy) ผู้กำกับละครเวทีที่จะมาช่วยร้อยเรียง ‘Hurricane’ ออกมาเป็นบทเพลงที่ทรงพลัง “ถ้าพวกคุณมีเส้นสายทางการเมือง ไม่แน่คุณอาจช่วยเอาเขาออกจากคุกเพื่อมาใช้ชีวิตแบบปกติก็ได้นะ” ในปลายปี 1975 หลังจากที่บ๊อบ ดีแลนได้อัดเพลงนี้เสร็จเรียบร้อย เขาและผองเพื่อนนักดนตรีก็กำลังตระเวนทัวร์ ‘The Rolling Thunder Revue’ อยู่ทั่วอเมริกาเหนือ เขาจึงถือโอกาสนี้ปล่อยเพลง Hurricane เป็นซิงเกิลในเดือนพฤศจิกายน และใช้การทัวร์นี้เป็นช่องทางในการโปรโมตและประชาสัมพันธ์แคมเปญสนับสนุนอิสรภาพและความยุติธรรมให้รูบิน คาร์เตอร์ วันที่ 8 ธันวาคม บ๊อบและผองเพื่อนนักดนตรีได้มีโอกาสเล่นคอนเสิร์ตส่งท้ายทัวร์ The Rolling Thunder Revue ปี 1975 ที่สวนสาธารณะเมดิสันสแควร์ นครนิวยอร์ก โดยมีคนดังมาร่วมเวทีมากมาย รวมถึง ‘มูฮัมหมัด อาลี’ แชมป์โลกนักมวยเฮฟวี่เวท ณ ขณะนั้นด้วย คอนเสิร์ตครั้งนั้นสามารถรวบรวมเงินบริจาคมามากกว่า $100,000 เพื่อเป็นทุนให้รูบิน คาร์เตอร์ในการสู้คดีต่อไป (ติดตามเรื่องราวชะตาชีวิตของรูบิน คาร์เตอร์กับการต่อสู้ยกที่ 16 ต่อได้ในบทความ "เลสรา มาร์ติน: จากเด็กสลัมไม่รู้หนังสือสู่แสงสว่างผู้ปลดปล่อยรูบิน คาร์เตอร์ จากการจองจำกว่า 19 ปี" https://thepeople.co/lesra-martin-rubin-hurricane-carter/) เขียนเพลงแบบบทละครเวที เลวีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “บ๊อบเขาน่าจะชอบที่ผมสามารถช่วยให้เพลงเขาเล่าเรื่องได้ดีขึ้น เพราะแม้เขามีอะไรในหัวดี ๆ ที่อยากเล่าอยู่มากมาย แต่เขาไม่สามารถนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องที่สวยงามได้” นั่นทำให้บทเพลงนี้มีความคล้องจองกันสูงกว่าเพลงบัลลาดอื่นของดีแลนที่เน้นไปที่มีความเป็นนามธรรมและโครงสร้างที่ซับซ้อน จะสังเกตได้ว่าท่อนแรกของเพลงเปรียบเสมือนสคริปต์ละครเวทีหรือให้อารมณ์เหมือนนิยายสืบสวน-ฆาตกรรม “เสียงปืนดังสนั่นขึ้นในบาร์แห่งหนึ่ง ทันใดนั้น แพตตี้ วาเลนไทน์ ก็ลงมาจากชั้นบน เธอเห็นบาร์เทนเดอร์นอนจมกองเลือด เธอจึงร้องตะโกนออกมาว่า ‘โอ้พระเจ้า เขาฆ่าทุกคนเลย!’” นั่นเป็นเพราะเลวีได้ร้อยเรียงเนื้อหาของบ๊อบออกมาเป็นเนื้อเพลงในเชิงบรรยายพร้อมกับการใช้ภาษาที่คล้องจองกัน ผสมผสานกับการที่เขามีเบื้องหลังเป็นผู้กำกับละครเวทีอยู่แล้ว การจะกลั่นเรื่องราวที่มีอยู่มากมายออกมาให้เห็นภาพชัดเจนและลื่นไหลไปกับคำที่คล้องจองกันก็ไม่ยากเกินเอื้อม การร้อยเรียงเนื้อเพลงโดยใช้โหมดการเล่าเรื่องแบบ จาค เลวี ถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อผสมผสานกับเนื้อหาที่ทรงพลังจาก บ๊อบ ดีแลน มันเปรียบเสมือนกับการที่เราได้อ่านนวนิยายที่เพียงหลับตาแล้วฟังก็เห็นภาพ มันทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการเหตุการณ์ที่บาร์ในนิวเจอร์ซีย์กับเสียงปืนนัดนั้นได้อย่างแจ่มชัด มันทำให้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชายผิวดำถูกตีแผ่มาอย่างทรงพลัง และมันทำให้คราบเขม่าดินปืนของความอยุติธรรมจากบาร์ในคืนนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เลือนหาย เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ที่มา: https://www.liveabout.com/the-story-behind-bob-dylans-hurricane-1321615 https://ig.ft.com/life-of-a-song/hurricane.html https://www.chicagoreviewpress.com/sixteenth-round--the-products-9781569765678.php https://faroutmagazine.co.uk/the-story-behind-bob-dylan-song-hurricane/ https://www.nytimes.com/2014/04/21/sports/rubin-hurricane-carter-fearsome-boxer-dies-at-76.html https://www.northjersey.com/story/news/columnists/mike-kelly/2019/06/17/rubin-carter-john-artis-what-really-happened-night/1419996001/ https://www.law.umich.edu/special/exoneration/Pages/casedetailpre1989.aspx?caseid=408 https://www.youtube.com/watch?v=_MlxZT4hVD4 https://www.youtube.com/watch?v=5XEIFqOgURM Heylin, Clinton (2003). Bob Dylan: Behind the Shades Revisited. It Books. p. 398. Rolling Thunder Revue: A Bob Dylan Story by Martin Scorsese (2019)