ภาพยนตร์ The Fault in Our Stars(2014) เป็นภาพยนตร์ที่เชื่อมโยง "ความงดงามของชีวิต" ให้เข้ากับ "ความตาย" ได้อย่างลุ่มลึกและมีอุดมคติแบบโรแมนติกผ่านความสัมพันธ์ของคู่รักวัยรุ่นอย่าง เฮเซล และออกัสตัส ซึ่งทั้งคู่กำลังจะจบชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
ความงดงาม และ การลาจาก ที่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องคู่ขนานกัน บางครั้งก็เป็นเรื่องที่บรรจบทับซ้อนอยู่เส้นทางเดียวกันถูกขยี้ผ่านหลายประเด็น และหลายสัญญะสำคัญที่น่ามาขบคิดผ่านหนังที่แสนอบอุ่นแต่บาดลึกเรื่องนี้
Too young too die.
"...ก่อนดวงดาวจะเต็มฟ้า ของชีวิตจะรู้คุณค่า ก่อนสิ้นศรัทธาจากหัวใจ ก่อนที่คนอย่างฉันจะหมดไฟ..."
เนื้อเพลงท่อนนี้มาจากเพลงหนึ่งที่เป็นตำนานของประวัติศาสตร์เพลงไทย เพลงนี้หลายคนคิดว่าเป็นเพลงที่โมเดิร์นด็อกแต่งขึ้น - ซึ่งไม่ใช่ และเพลงนี้หลายคนคิดว่า ชื่อเพลง "ก่อน" - ซึ่งก็ไม่ใช่อีก
ก่อนที่จะมาถึงมือของวงโมเดิร์นด็อก เพลงนี้แต่งโดย พราย-ปฐมพร ปฐมพร โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากจดหมายของแฟนเพลงฉบับหนึ่ง ในจดหมายฉบับนี้แฟนเพลงคนนั้นได้พูดถึงพี่สาวของเขาที่เสียชีวิตไปซึ่งก็เป็นแฟนเพลงของพราย-ปฐมพร
เขาเลยแต่งเพลง "...ก่อน"(อ่านว่า จุด จุด จุด ก่อน) ซึ่งจุดสามจุดนี้ ใช้แทนคำว่า "เธอจากไป" เธอจากไป ก่อน...ที่รู้ว่ามีคนที่รักเธอ ก่อนที่เธอจะเห็นท้องฟ้าสดใส, สัมผัสความอบอุ่นของไอแดด, หอมกลิ่นดอกไม้ที่ผลิบาน และลิ้มรสความฝันอันแสนหวาน
อุปมาของ “...ก่อน” จึงเปรียบเสมือนคำไว้อาลัยให้กับผู้ที่ลาโลกไปก่อนเวลาอันควร ตัวละครคู่สำคัญใน The Fault in Our Stars นั่นคือ เฮเซล แลงคาสเตอร์ สาวน้อยผู้เป็นมะเร็งไทรอยด์และมีการติดเชื้อที่ปอดจนต้องแบกเครื่องช่วยหายใจไว้กับตัวตลอดเวลา และ ออกัสตัส ชายหนุ่มที่ต้องตัดขาออกข้างหนึ่งเพราะว่าเขาเป็นมะเร็งกระดูก
อันที่จริงหนังเรื่องนี้เป็นหนัง Coming of Age หนังข้ามผ่านพ้นวัยซึ่งมีพล็อตว่า ตัวละครวัยรุ่นในเรื่องจะต้องเผชิญเหตุการณ์ทดสอบชีวิตบางอย่าง ก้าวผ่านพ้นมัน แล้วกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาอีก
แต่สำหรับเฮเซลและออกัสตัส ตัวละครที่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้พวกเขาจะยังมีชีวิตต่อไปอีกหรือไม่ การก้าวผ่านพ้นวัยของพวกเขา มันไม่ได้หมายถึงการที่พวกเขาจะได้เรียนรู้โลกเพื่อที่จะเติบโตขึ้นอีกขึ้น
แต่มันหมายถึงการเรียนรู้โลกที่จะเข้าใกล้ “ความตาย” ในอีกขั้นต่างหาก...
ในขณะที่เรายังไม่รู้ว่า ชีวิตหลังความตายมันคือความรื่นรมย์หรือความโศกศัลย์ การรู้ตัวว่าจะจากโลกนี้ใบในไม่ช้า แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่อง “โลกสวย”
แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งเฮเซลและออกัสตัส ผ่านมันไปได้ นั่นก็คือ การเรียนรู้ที่จะใช้เวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดให้มีค่าที่สุด
ฉากหนึ่งที่น่าจำในหนังก็คือ ในฉากที่ทั้งสองคนไปเที่ยว “บ้านแอนน์ แฟรงค์” ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
แอนน์ แฟรงค์เป็นเด็กหญิงชาวยิว ที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุ 15 ปีในช่วงสงครามโลกที่ 2 เพราะถูกกวาดล้างจากกองทัพนาซี ซึ่งชีวิตของเธอในช่วงที่หลบซ่อนตัวอยู่ที่ “บ้านแอนน์ แฟรงค์” ถูกเขียนเป็นไดอารี กลายเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า “บันทึกลับแอนน์ แฟรงค์” ซึ่งมีผู้อ่านทั่วโลกและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกต่อต้านสงคราม
ที่บ้าน “แอนน์ แฟรงค์” ไม่มีลิฟต์ ต้องใช้การเดินขึ้นบันได แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องลำบากสำหรับเฮเซลซึ่งมีปัญหาเรื่องระบบหายใจเพราะปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่เธอค่อย ๆ พยายามเดินขึ้นบันไดมาเรื่อย ๆ เพื่อทำความรู้จักกับ “แอนน์ แฟรงค์” ผู้จากโลกนี้ก่อนวัยอันควร
แอนน์ แฟรงค์จึงเป็นเหมือนเงาสะท้อนของเฮเซลที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวันไหนที่ตัวเธอจะหายไปจากโลกใบนี้ เธอจึงพยายามให้ความสำคัญกับทุกคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ แม้จะเป็นก้าวเดินที่แสนลำบากในการขึ้นบันไดซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนอื่นก็ตามที
Blue Is STILL the Warmest Colour.
The Fault in Our Stars สร้างมาจากนิยายขายดีของจอห์น กรีน กำกับโดย จอช บูน ซึ่งทั้งปกหนังสือและโปสเตอร์หน้าล้วนแล้วแต่ใช้ "สีฟ้า" (Blue) เป็นโทนสีหลักในการเล่าเรื่องของ เฮเซล และ ออกัสตัส ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวทั้งสองคู่ แฝงด้วยสัญญะของ "สีฟ้า" ที่แทรกอยู่ตลอดเรื่อง ทั้งท้องฟ้า ชิงช้า เสื้อที่ทั้งสองคนใส่ออกเดท หรือแม้แต่สีเล็บของนางเอก
คำว่า Blue (สีฟ้า, สีน้ำเงิน) สามารถอธิบายผ่านหนังเรื่องนี้ได้ทั้ง 2 ความหมาย ความหมายแรกคือความสดใส เหมือนกับท้องฟ้าในวันที่แจ่มใส ส่วนอีกความหมายหนึ่งก็คือ ความเศร้าโศก (Blue) ที่ต้องละครทั้งสองต้องประสบกับอาการป่วยไข้ของตัวเองอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
เรามักจะคิดถึงอนาคตบนพื้นฐานของการ "มีชีวิตอยู่" ในความหมายที่ว่า หากวันนี้เรารู้สึกแย่ เดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป พรุ่งนี้มาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง แต่สำหรับเฮเซล และออกัสตัสแล้ว พวกเขาคิดถึงอนาคตแบบกลับกัน นั่นคือ คิดอยู่บนพื้นฐานของ "ความตาย" ด้วยความคิดที่ว่า หากพรุ่งนี้เราไม่อยู่บนโลกแล้ว ชีวิตจะเป็นอย่างไร? ซึ่งทางออกัสตัสมองว่า เขาอยากมีชีวิตอยู่โดยที่เมื่อตายไปแล้วทุกคนจะจดจำเขาได้ เพราะเขากลัวที่จะ "ถูกลืม" ผิดกับเฮเซลที่มองว่า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่หรือเป็นคนดังระดับโลกเพียงใด หากตายแล้ว วันใดวันหนึ่งตนก็จะถูก "ลืม" ไปจากโลกนี้, ไม่ต่างกัน
ความขัดแย้งของตัวละครทั้งสองตัวในประเด็นนี้ ทำให้ละครเรื่องนี้ดูสนุกและเต็มไปด้วยสีสัน (โดยเฉพาะสีฟ้า ที่แทรกมาให้เห็นเป็นระยะ) เพราะในขณะที่นางเอกพยายามปลงกับชีวิตแล้วบอกกับตัวเองว่า เดี๋ยวพอเราตายไป ทุกคนก็ลืมหมดแล้ว แม้แต่พ่อแม่ของเธอ เฮเซลก็เคยบอกว่าไม่ควรจะแบกความทรงจำที่เกี่ยวกับเธอในวันที่เธอลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ในวันเหงา ๆ เธอนั่งอยู่เพียงคนเดียว มองเห็นชิงช้าสีฟ้า หรือมองท้องฟ้าสดใส เธอก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ และอยากหาใครสักคนมานั่งคุยเป็นเพื่อน หรือแม้แต่ออกัสตัส ผู้อยากให้คนอื่นจดจำตนเอง ถึงที่สุดแล้ว ในวันที่เขาสิ้นลม เขาทำได้แต่เพียงให้คนที่เขารักอย่าง เฮเซล จดจำเขาได้ เพียงเท่านั้นเขาก็พอใจแล้ว
สัญญะ สีฟ้า ที่รายล้อมพวกเขา จึงมีทั้งความสุข อย่างเช่น การใส่ชุดสีฟ้าเหมือนกันไปทานดินเนอร์ และความโศกเศร้า ที่ถูกเชื่อมต่อภาษาภาพอย่าง ชิงช้า ไปจนถึงสีเล็บของนางเอก ในวันที่นอนโรงพยาบาล มันทำให้เขาเรียนรู้ถึงความเป็นจริงของชีวิตในหลักสูตรที่เร่งรัด ก่อนที่จะลาจากโลกนี้ไป
The Star and Cigarettes
“ดวงดาว” ที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ เปรียบเสมือนส่วนกลับของ “สีฟ้า” เพราะเราจะมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าได้ก็ต่อเมื่อสิ้นแสงอาทิตย์ เป็นเวลาที่สีฟ้าบนพื้นท้องฟ้านั้นหายไป
เรามองเห็นดวงดาวที่เพดานห้องของเฮเซล และเราได้ยินการอุปมาถึงดวงดาว เมื่อตอนที่ทั้งเฮเซลและออกัสตัสดินเนอร์ร่วมกันแล้วมีโอกาสดื่มแชมเปญครั้งแรกในชีวิต บริกรที่ดูแลเด็กทั้งสองคนเปรียบเปรยว่า การดื่มแชมเปญเหมือนได้ดื่ม “ดวงดาว” ในแง่นี้ ดวงดาวจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความสดใส มีชีวิตชีวาของการมีชีวิตอยู่
แต่ในอีกมุม เรารู้ว่า การมองดาวที่อยู่บนฟ้า แท้จริงแล้วมันคือการมองอดีตของดวงดาวที่อยู่บนฟ้า เพราะดาวหลาย ๆ ดวงอยู่ห่างไกลจากโลกมาก กว่าที่ภาพของดาวดวงนั้นจะปรากฏอยู่บนสายตาเรา แสงต้องเดินทางระยะไกลจากดาวดวงนั้นมาถึงโลก ซึ่งเป็นเวลานานมาก ภาพจากดาวบางดวงที่ส่องมาถึงเราอาจจะมาจากอดีตอันไกลโพ้นที่มากกว่าช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราด้วยซ้ำ
ในอีกแง่หนึ่ง การมองดวงดาวก็เปรียบเสมือนการเชื่อมโยงตัวเองให้เข้ากับห้วงเวลาที่แสนยาวนาน จนช่วงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และดูเล็กน้อยสำหรับจักรวาลนี้ ดวงดาวจึงเป็นได้ทั้ง สัญญะของความมีชีวิตชีวา ไม่ยอมจำนนให้กับความอ่อนแอ ในขณะเดียวกัน ดวงดาวก็ชวนให้สำรวจชีวิตของเราตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และต่อไปยังอนาคต
สัญญะของการไม่ยอมจำนนต่อความอ่อนแอในชีวิต ยังถูกสะท้อนผ่าน “บุหรี่” ของออกัสตัส เขามักจะคีบบุหรี่ไว้ที่ปากเสมอ แต่ไม่เคยจุดสูบ เพื่อที่จะอุปมาว่า บุหรี่เป็นเหมือนที่มาของความตายก็จริง แต่หากไม่มีไฟแช็คไว้จุดสูบ มันก็ทำอะไรแล้วไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ให้อำนาจกับบุหรี่ที่จะทำให้เราตาย เหมือนกับโรคภัยที่อยู่กับเด็กวัยรุ่นทั้งสองคน ซึ่งอาจจะทำให้ทั้งออกัสตัส และเฮเซล ตายวันตายพรุ่งไม่รู้ แต่พวกเขาก็ยืนยันจนวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะไม่ให้ความเจ็บปวด มีอำนาจเหนือกว่าพวกเขา
พลังหนุ่มสาวของทั้งคู่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษยนิยมที่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ ดังท่วงทำนองที่นักเขียนดังชาวอเมริกัน อย่าง เออร์เนสต์ แฮมมิงเวย์ ว่าไว้ว่า
"มนุษย์ถูกทำลายได้ แต่ไม่อาจพ่ายแพ้ได้"
This is not my BOOK
ปมหนึ่งที่น่าสนใจใน The Fault in Our Stars นั่นก็คือ เฮเซลนั้นโปรดปรานหนังสือ An Imperial Affliction อันเป็นนิยายที่พูดถึงตัวละครที่ป่วยมะเร็งเช่นเดียวกับเธอ สาวน้อยอินกับเรื่องนี้ และคาใจในชะตากรรมของตัวละครในหนังสือจนมีความฝันว่าจะมีโอกาสไปคุยกับปีเตอร์ ฟาน ฮูเต็น นักเขียนชาวดัตท์ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ ออกัสตัสจึงทำให้ฝันของเธอเป็นจริงด้วยการพูดคุยกับนักเขียนผู้นี้ผ่านทางอีเมลจนเฮเซลได้มีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลจากอเมริกาสู่เนเธอร์แลนด์เพื่อมาพบกับนักเขียนคนโปรดในที่สุด
แต่เมื่อทั้งเฮเซลและออกัสตัสได้พบตัวจริงของนักเขียน กลายกลับเป็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะไร้ซึ่งความประทับใจแรกพบ ปีเตอร์ ฟาน ฮูเต็น หยาบคายกับแฟนหนังสือของเขาเป็นอย่างมาก เขาไม่เคยจะสนใจด้วยซ้ำว่าเฮเซลเป็นอะไร? อะไรคือความหมายที่เธอมาตามหาที่นี่? ซึ่งที่จริงเธอแค่อยากรู้ว่า ตอนจบของนิยายเป็นอย่างไรเพียงเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ตอนที่ปีเตอร์ ฟาน ฮูเต็น กล่าวเทศนาเพื่อต่อว่าเด็กด้วยภาษาที่ซับซ้อน แต่มีประเด็นหนึ่งที่เขาพูดถึงนิทานกระต่ายวิ่งแข่งกับเต่า แต่เปลี่ยนจากกระต่ายเป็นเฮเซล ที่วิ่งแข่งกับกระต่ายแทน โดยนักเขียนบอกว่า เธอน่ะ วิ่งให้เร็วขึ้นกว่านี้ แต่สุดท้ายก็ตามไม่ทันเต่าอยู่ดี
และที่สุดแล้ว เฮเซลก็ออกจากบ้านนักเขียนด้วยความผิดหวัง และไม่รู้อยู่ดีว่านิยาย An Imperial Affliction จบลงแบบไหน แต่สิ่งที่เธอต้องเรียนรู้ในชีวิตจริงก็คือ เธอไม่จำเป็นต้องวิ่งตาม "เต่า" อันหมายถึงโลกในนิยายหรือโลกของคนอื่นอีกต่อไป ชีวิตของเราเองไม่ใช่หนังสือของคนอื่นและไม่ควรจะเอาไปผูกติดกับหนังสือของใคร เพราะแต่ละคนต่างมีเรื่องราว เรื่องเล่า ที่แตกต่างกัน
เธออาจจะสร้างเรื่องราวของตัวเธอเอง เรื่องราวที่รายล้อมไปด้วยความอบอุ่นของพ่อแม่ เพื่อนฝูง และคนรักของเธอ-ออกัสตัส เพื่อที่จะสร้าง "ตอนจบ" ของนิยายที่แสนสวยงามของเธอเอง แม้จะน่าเศร้าอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่า ตอนจบของนิยายส่วนตัวของเฮเซล อาจจะมีใครสักคนลาโลกก่อนวัยอันควร
The Fault in Our Stars จึงเปรียบเสมือนสารตั้งต้นชั้นดีที่กระตุกเราให้คิดอยู่เสมอว่า ในช่วงอายุของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ดูจะสั้นไม่ถึงเศษผงของอายุดวงดาวสักดวง อะไรคือคุณค่าและความหมายของชีวิตที่เราสมควรจะตามหา?
เพื่อสร้างตอนจบในนิยาย ที่เราเขียนด้วยชีวิตเราเองให้อบอุ่น และงดงามที่สุด, เท่าที่จะเป็นไปได้