read
social
30 ส.ค. 2564 | 17:52 น.
กลุ่มตาลีบันทำลายเครื่องดนตรี และนักดนตรีในอัฟกานิสถานต้องซ่อนเครื่องดนตรีของตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอด
Play
Loading...
เมื่อ ‘ดนตรี’ คือสิ่ง ‘ต้องห้าม’ กลุ่มตาลีบันจึงทำลายเครื่องดนตรีทิ้ง และนักดนตรีในอัฟกานิสถานต้องซ่อนเครื่องดนตรีของตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอด
ภายหลังกลุ่มตาลีบันยึดครองประเทศอัฟกานิสถานได้สำเร็จ เสียงดนตรีและความครื้นเครงกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในดินแดนแห่งนี้ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ถูกบังคับให้หยุดออกอากาศ มีการปราบปรามกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีอย่างเด็ดขาดและรุนแรง รวมไปถึงทำลายร้านขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีทุกชนิด
เรื่องราวของยุคที่ตาลีบันกลับมาปกครองประเทศอีกครั้งที่ปราศจากเสียงเพลงถูกบอกเล่าโดยนักดนตรีชาวอัฟกานิสถานหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ‘อาร์สัน ฟาฮิม’ (Arson Fahim) นักเปียโนและวาทยากรชาวอัฟกันวัย 21 ปี ที่เล่าว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มตาลีบันได้เผาทำลายเครื่องดนตรี และฆ่าศิลปิน รวมถึงนักแสดงตลก เพื่อนนักดนตรีของเขาจึงเริ่มซ่อนเครื่องดนตรีให้ห่างจากบ้าน เพื่อไม่ให้ตาลีบันค้นเจอ ซึ่งอาร์สันได้เสริมว่า “มันน่าเศร้าที่ในศตวรรษที่ 21 พวกเรามีเทคโนโลยีมากมาย แต่กลับต้องซ่อนสิ่งที่สวยงามอย่างดนตรีเอาไว้”
เช่นเดียวกับ ‘ซาริฟา อะดิบา’ (Zarifa Adiba) วาทยากรและนักวิโอลาแห่งวง ‘Zohra’ วงออร์เคสตราหญิงล้วนวงแรกของประเทศอัฟกานิสถาน เธอเล่าว่า ภายหลังกลุ่มตาลีบันยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ ความหวาดกลัวที่จะไม่ได้เล่นดนตรีอีกตลอดกาลก็เกิดขึ้น
เพื่อนของซาริฟาที่อยู่ในกรุงคาบูลหวาดกลัวอย่างมากที่จะเก็บเครื่องดนตรีเอาไว้ในบ้าน เพราะหากกลุ่มตาลีบันมาพบเครื่องดนตรีเหล่านั้นเข้า ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป
“ฉันบอกไม่ได้ว่าเครื่องดนตรีมีความหมายกับพวกเราขนาดไหน พวกเราดูแลมันอย่างดี พวกเราไม่สามารถทำลายมันได้ด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อนของฉันก็กลัวเกินกว่าจะเก็บมันไว้”
ตั้งแต่เด็ก ซาริฟาพบว่าการเรียนดนตรีสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ในปี 2015 เธอเริ่มเรียนวิโอลาเป็นครั้งแรกด้วยความช่วยเหลืออย่างลับ ๆ จากอาของเธอ แต่ซาริฟาจะต้องปิดบังเรื่องการเรียนดนตรีนี้จากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว
“ฉันจูบมือแม่ทุกครั้งที่ต้องไปเรียนดนตรี เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไปแล้วจะมีโอกาสรอดชีวิตกลับมาไหม”
เมื่อครั้งที่วง Zohra มีโอกาสไปแสดงที่ ‘The World Economic Forum’ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2017 ซาริฟาถูกลุงของตัวเองจับได้เป็นครั้งแรก และบอกให้เธอเลิกเล่นดนตรี เพราะดนตรีนั้นไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่จนถึงปัจจุบัน ซาริฟาก็ยังไม่เลิกเล่นวิโลา นั่นจึงเป็นสัญญาณว่า ถึงแม้กลุ่มตาลีบันจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และทำให้อัฟกานิสถานอยู่ห่างไกลจากความงดงามและความสงบที่เกิดจากเสียงดนตรี กระนั้น เหล่านักดนตรีชาวอัฟกานิสถานก็ยังไม่ยอมแพ้
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันจะใช้วิโอลาของฉันสร้างพลังในการขับเคลื่อนสังคม ดนตรีคือสิ่งที่งดงามไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด และมันสามารถกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้”
นอกจากนี้ ซาริฟายังบอกอีกว่า ประเทศของเธอไม่ได้มีแค่ตาลีบัน ระเบิด หรือการฆ่าตัวตายอย่างในภาพจำของใครหลายคน หากแต่ยังมีดนตรีอันงดงามอยู่ด้วย ซึ่งคนทั่วโลกก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เสียงดนตรีแห่งความสุขสงบจะดังขึ้นอีกครั้งในประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อช่วยเยียวยาและสอดประสานให้คนในประเทศเข้มแข็งและผ่านช่วงเวลาอันหดหู่ไปได้
เรื่อง วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ
https://www.youtube.com/watch?v=d9-jqGuRDX8
https://www.youtube.com/watch?v=OIg-Tgl8oZc
https://www.instagram.com/p/CMouL_InXvL/
อ้างอิง
https://news.trust.org/item/20210824142538-58mhj
https://news.in-24.com/lifestyle/news/amp/103409
https://www.youtube.com/watch?v=OIg-Tgl8oZc
https://timesofindia.indiatimes.com/entertainment/bengali/music/my-musician-friends-in-afghanistan-are-hiding-their-musical-instruments-in-fear-of-the-taliban-young-afghan-composer-arson-fahim/articleshow/85419675.cms
https://abcnews.go.com/Politics/taliban-pose-threat-afghan-cultural-heritage-sweep-back/story?id=79508223
https://twitter.com/AsaadHannaa/status/1429560732383858688/photo/2
https://mobile.twitter.com/upuouo/status/1429565147010387968/photo/1
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แอมเนสตี้-ภาคประชาชนร่วมฉลองวันเกิด 69 ปีอัญชัญที่ถูกขังยาว 43 ปี
22 พ.ย. 2567
เจาะเบื้องหลังความสำเร็จ: ยูนิลีเวอร์กับความเป็นเลิศด้านการผสานข้อมูลและ AI ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
22 พ.ย. 2567
A5 เติบโตครบ 11 ปี พัฒนาโครงการต่อเนื่องรวมมูลค่ากว่า 16,800 ล้านบาท ภายในปี 2569
22 พ.ย. 2567
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
ดนตรี
Afghanistan
The People