“ผมขอบคุณ ‘สัจจะบางอย่าง’ ที่เกิดขึ้น”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนข้อความนี้ไว้ใน ‘คำนำในวาระพิมพ์ครั้งที่สอง’ นวนิยายแปลเรื่อง ‘คนเหมือง’ ผลงานของ ปีเตอร์ อับราฮัมส์ นักเขียนชาวแอฟริกาใต้
ข้อความนี้ไม่ได้อิงกับนวนิยาย แต่สัมพันธ์กับสถานการณ์ชีวิต สุชาติ สวัสดิ์ศรี ณ ขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งเขากำลังพัวพันอยู่กับคดีขับไล่ที่ สุดท้ายเขาสูญเสียเรือนรังที่อยู่มาหลายสิบปี ต้องหอบหิ้วตัวเอง ครอบครัว และหนังสือจำนวนมหาศาล ไปยังบ้านหลังใหม่ ซึ่งเขาใช้เป็นที่พำนักมาจนทุกวันนี้
ในเรื่องสั้น ‘ห้องเสน่หา’ ซึ่งเขาเขียนขึ้นประกอบการแสดงศิลปะครั้งที่ 4 ประวัติส่วนตัว จิตรกรรม และหนังทดลอง เมื่อปลายปี 2547 ปรากฏภาพบ้านในฝันของคนรักหนังสืออย่างชัดเจน ที่นี่เป็นคลังความรู้ซึ่งเปิดต้อนรับทุกคนที่สนใจ
หลายคนพบหนังสือซึ่งหาที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว อย่างหนังสือเล่มละบาท ซึ่งนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ ทำขึ้นในช่วงเบ่งบานทางความคิด เริ่มจาก ‘เจ็ดสถาบัน’ ในปี พ.ศ. 2507 ขณะประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งรับอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2506
หนึ่งในผู้ที่เคยเยี่ยมเยือน และได้ประโยชน์อเนกอนันต์คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์หนุ่มแห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร ฅ.คน ถึงความประทับใจที่มีต่อบ้านหลังนี้และผู้เป็นเจ้าของไว้ว่า
“ผมบุกไปที่บ้านเลย แกขนหนังสือมาให้ค้นเป็นลัง ๆ แวบแรกทั้งดีใจระคนตกใจ เพราะมีมากจริง ๆ ไม่รู้จะตะลุยอ่านทั้งหมดได้อย่างไร
“ต้องเรียกว่าอยู่ในอารมณ์ตะกละตะกลาม เหมือนเจอขุมทรัพย์หนังสือจำนวนมาก ผมคิดว่าหาที่อื่นไม่ได้ โดยเฉพาะพวกวารสาร นิตยสาร และเอกสารสิ่งพิมพ์ของกลุ่มนักเขียน และนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตั้งแต่ยุค 2480 ไล่มาจนถึงยุคหลัง ผมว่าไม่มีห้องสมุดที่ไหน ไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนเก็บไว้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านี้ บางเล่มเคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าชาตินี้จะหาเจอ”
ประจักษ์ ก้องกีรติ ยังพูดถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ด้วยความรู้สึกดีอย่างที่สุดว่า
“ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี และเป็นกันเองมาก ถามอะไรก็ยินดีเล่าให้ฟังอย่างทะลุปรุโปร่ง สนุกและได้ความรู้เยอะมาก”
ไม่แต่คนไทยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากหนังสือจำนวนนับไม่ถ้วน หลากหลายภาษา มากมายเนื้อหา ในบ้านหลังนี้ ที่นี่ยังเป็นที่รับรองนักวิชาการต่างประเทศ ซึ่งบินข้ามฟ้ามาเพื่อสัมผัสหนังสือเหล่านี้ และพูดคุยกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึงแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับวรรณกรรมไทย ผลงานจำนวนไม่น้อยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และอื่น ๆ โดยการคัดสรรและแนะนำจากเขา
แต่แล้วบ้านในฝันก็เปลี่ยนเป็นฝันร้าย เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 หนังสือจำนวนมหาศาลจมอยู่ใต้น้ำ แม้พยายามฟื้นคืนชีพ ก็ได้เพียงจำนวนน้อยนิด เมื่อเทียบกับที่สูญเสียไป
ถึงอย่างนั้นภาพบ้านหนังสือก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของหลายคน รวมทั้งเจ้าของบ้านซึ่งได้นำเรื่องราวของบ้านในเรื่องสั้น ‘ห้องเสน่หา’ มาใส่ไว้ในหนังสือ ‘โมงยามแห่งความสุข’ เมื่อปี พ.ศ. 2555
แปดปีต่อมา ‘ห้องเสน่หา’ ได้รับเลือกมารวมไว้ใน ‘ทอรักถักลายสืบสายวรรณศิลป์’ หนังสือรวมผลงานศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2528 - 2562
ย้อนกลับไปในปีน้ำท่วมใหญ่ ปีนั้นเองที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2554 โดยนักเขียนที่ได้รับการประกาศเกียรติพร้อมกันคือ ประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ในคำประกาศระบุชัดเจนว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี โดดเด่นทางด้านเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ ซึ่งแน่นอนที่สุด รวมเรื่องสั้นระดับสร้างปรากฏการณ์ชุด ‘ความเงียบ’ เป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญ ที่ยืนยันถึงความพิเศษในด้านนี้ของเขา แต่ในความจริงแล้ว เขายังเป็นมากกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นบรรณาธิการที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดจากคนวรรณกรรม
สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก้าวเข้ามาในวงการหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเข้าร่วมกับกลุ่ม ‘ชมรมพระจันทร์เสี้ยว’ และเริ่มมีผลงานปรากฏในหนังสือเล่มละบาทชื่อว่า ‘ธุลี’ ทั้งเรื่องสั้นแปลเรื่องแรก ‘ผู้รู้หัวใจตนเอง’ จากเรื่อง Young Man Axelbrod ของ ซินแคลร์ เลอิส เรื่องสั้น-สั้นของ ฟรานซ์ คาฟก้า และบทความ ‘ว่าด้วยชีวิตและความคิดทางปรัชญาของ ฌอง-ปอล ซาร์ตร์’
ไม่เพียงหนังสือที่รวมกลุ่มทำกันเองเท่านั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ยังมีผลงานในนิตยสารระดับประเทศอย่าง ‘วิทยาสารปริทัศน์’ ซึ่ง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ และคงเพราะบทความที่ผ่านสายตานี่เอง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงได้เปิดโลกของคนทำหนังสือมืออาชีพให้แก่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี โดยให้เขาเข้ามาเป็นผู้ช่วยในช่วงปี พ.ศ. 2510 - 2512 ต่อจากนั้นก็มอบหมายให้เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ขณะมีอายุเพียง 24 ปี
หากย้อนกลับไปมองก้าวแรก ๆ ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เราจะไม่แปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดเขาจึงเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาวเหลือเกิน
‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ในยุค สุชาติ สวัสดิ์ศรี สานต่อเจตนารมณ์ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรกคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ต้องการให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับสังคม ให้คนรุ่นใหม่ นักคิด นักเขียน ปัญญาชนได้เผยแพร่ความคิดของตนผ่านหนังสือเล่มนี้ ส่วนทางด้านวรรณกรรม ก็เปิดให้มีการวิจารณ์หนังสืออย่างจริงจัง พร้อมด้วยเรื่องสั้นและบทกวี ซึ่งไม่ได้เดินรอยตามขนบเดิมอีกต่อไป
พร้อมกันนั้น ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ตั้งแต่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี มารับไม้ต่อในปี พ.ศ. 2512 ยังมีบุคลิกเฉพาะตัว นั่นคือความกล้าแสดงจุดยืนทางการเมือง ทั้งการเปิดโปงจักรวรรดินิยมที่เข้ามารุกรานเศรษฐกิจและการเมือง การมองความเติบโตของญี่ปุ่นว่าเป็นภัยคุกคาม และการสนับสนุนให้ยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่ เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องเพียงรัฐบาลเดียว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนไทยแสดงความคิดเห็นเช่นนี้
ด้วยความคิดและจุดยืนอันมั่นคง ทำให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับบทเรียนทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลเรียกตัวไปตักเตือน และสั่งห้ามนำเสนอเนื้อหาทำนองนี้อีก
แม้ ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมอยู่ทุกเล่ม แต่บทบาทในด้านวรรณกรรมของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ฉายประกายขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อเขาให้กำเนิด ‘โลกหนังสือ’ ในปี พ.ศ. 2520 นิตยสารฉบับนี้เปิดโลกวรรณกรรมให้แก่สังคมไทย ทำให้คนไทยได้รู้จักนักเขียนชาติต่าง ๆ อย่างไม่เคยมีนิตยสารฉบับไหนเคยทำมาก่อน
ความรู้อันเอกอุท่วมท้นของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หลั่งไหลออกมา ทั้งในฐานะบรรณาธิการซึ่งบางคนให้สมญาจากรูปลักษณ์ของเขาตอนนั้นว่า ‘บรรณาธิการเครางาม’ และคอลัมน์ตอบปัญหาวรรณกรรมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’
‘โลกหนังสือ’ ยังเป็นที่แจ้งเกิดให้แก่นักเขียนจำนวนมาก ซึ่งส่งเรื่องสั้นมาให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี พิจารณา ผลงานที่ ‘ผ่านเกิด’ ได้รับการตีพิมพ์ ถือเป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพ ทำให้นักเขียนเหล่านี้มีที่ยืนอันมั่นคงในวงการวรรณกรรม
จากการคัดสรรเรื่องสั้น เพื่อนำเผยแพร่ใน ‘โลกหนังสือ’ ต่อมา สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้จัดทำ ‘โลกหนังสือ ฉบับเรื่องสั้น’ ออกมา 4 ชุด ได้แก่ วันเวลาที่ผ่านเลย, ราคาแห่งชีวิต, คลื่นหัวเดิ่ง และ เพชรเม็ดงาม หนังสือทั้ง 4 เล่มคือหมุดหมายแรก ๆ ของตำนาน ‘ช่อการะเกด’ ซึ่งหลังจากนั้นมีการทำต่อมาอีกหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะในยุค ‘สำนักช่างวรรณกรรม’ ซึ่งช่วงที่เข้มข้นที่สุดทำเป็นไตรมาส สามเดือนต่อหนึ่งเล่ม
ตลอดหลายปีที่ ‘ช่อการะเกด’ ออกมาอย่างต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียงให้แก่นักเขียนที่มีผลงานในแต่ละเล่ม ไม่ว่าจะเป็น วินทร์ เลียววาริณ, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, เดือนวาด พิมวนา, ไพฑูรย์ ธัญญา, ปริทรรศ หุตางกูร, นิวัติ พุทธประสาท, กร ศิริวัฒโณ และอีกมากมาย ซึ่งจำนวนไม่น้อยยังมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในวงการวรรณกรรม อีกทั้งยังได้รับการประดับเกียรติด้วยรางวัลต่าง ๆ ยิ่งนักเขียนที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี การันตีด้วยรางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม ยิ่งเป็นเสมือนเพชรซึ่งส่องแสงแวววาว เป็นที่ยอมรับโดยไร้ข้อกังขาใด ๆ
แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน วรรณกรรมที่พยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ทางศิลปะ ย่อมไม่อาจเอาชนะผลงานที่มุ่งเน้นความบันเทิงได้ สุดท้าย ‘ช่อการะเกด’ ก็ต้องปิดตัวลง
หลังยุติบทบาทการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร สุชาติ สวัสดิ์ศรี ขยายขอบเขตตัวเองด้วยการทำงานจิตรกรรม ภาพยนตร์สั้น รวมทั้งนำเสนอข้อความ บทกวี และความคิดต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ทัศนะของเขาคมเข้ม ร้อนแรง และเด็ดขาดขึ้นเรื่อย ๆ นับจากการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2557 ไม่เพียงเสนอความคิดผ่านคีย์บอร์ด หลายครั้งเขายังเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้คนซึ่งมีความคิดในทางเดียวกัน รวมถึงเดินทางไปให้กำลังใจหนุ่มสาวซึ่งต้องคดีการเมือง
ด้วยน้ำเสียงที่ก้าวร้าวรุนแรง การเรียกร้องอันไม่หยุดหย่อน ไปจนถึงคำด่าประณาม ทำให้สำนักข่าวแห่งหนึ่งเรียกเขาว่า ‘นักเขียนอันธพาล’ ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่หวั่นไหว ยังคงมุ่งมั่นทำตามแนวทางของตัวเองต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่ศิลปินแห่งชาติจะแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาล และแสดงเจตจำนงปฏิรูปสถาบันแบบนี้ พูดกันถึงขั้นอยากให้ถอดถอนเขาจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ
แต่ถึงหลายคนจะพยายามเรียกร้อง ตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ก็ไม่อาจถอดถอนศิลปินแห่งชาติออกจากตำแหน่งได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องจัดประชุมเพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ แล้วในที่สุดวันแห่งความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง
วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 หลายสำนักข่าวพร้อมใจกันเสนอข่าวปลด สุชาติ สวัสดิ์ศรี จากการเป็นศิลปินแห่งชาติ นับเป็นรายแรกตั้งแต่รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2528
ในวันอันน่าเศร้า ผมหยิบหนังสือหลายเล่มของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี มาพลิกเปิดอีกครั้ง รวมทั้งนวนิยายแปล ‘คนเหมือง’ แล้วในหน้าคำนำ ผมก็พบประโยคที่สะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจได้อย่างดียิ่ง ประโยคซึ่งผมนำมาเปิดบทความชิ้นนี้
ประโยคที่บอกให้รู้ว่า ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ทุกการตัดสินใจและการแสดงออก ได้แสดงให้เราได้เห็น ‘สัจจะบางอย่าง’ กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น
ชัดเจนจนเราไม่ต้องพูดอะไรอีก และทั้งหมดคือสัจจะ.
อ้างอิงจาก:
‘ปริทรรศน์วรรณกรรมไทยสมัยใหม่’ จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา, กันหา แสงรายา และ เจษฎา ทองรุ่งโรจน์ บรรณาธิการ, กรุงเทพฯ, 2546
‘ทอรักถักลายสืบสายวรรณศิลป์’ หนังสือรวมผลงานศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2528 - 2562 จัดทำโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพฯ, 2563
‘คนเหมือง’ นวนิยาย, พิมพ์ครั้งที่สอง, ปีเตอร์ อับราฮัมส์ เขียน, สุชาติ สวัสดิ์ศรี แปล, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, กรุงเทพฯ, 2538
‘ฅ.คน’ นิตยสาร ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 (75) กุมภาพันธ์ 2555
‘ช่อการะเกด’ นิตยสาร ฉบับที่ 20 ‘โกรธานุวัตร’ ไตรมาสที่สี่ 2537
เรื่อง: จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
ภาพ: Facebook สุชาติ สวัสดิ์ศรี