ชินเซ็นกุมิ : กลุ่มนักรบที่ต่อสู้ด้วยความศรัทธาและความมุ่งมั่น
พูดถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ชินเซ็นกุมิ น่าจะเป็นคำที่ต้องเคยผ่านหูผู้คนทั่วไปมาบ้าง และสำหรับคนญี่ปุ่นเอง ก็แทบจะไม่มีคนไหนที่จะไม่รู้จักหน่วยตำรวจพิเศษของรัฐบาลโชกุนกลุ่มนี้ แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มนี้มีผลงานที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เพียงน้อยนิด และมีช่วงเวลาปฏิบัติการเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขายังถูกจดจำและถูกนำเรื่องราวมาเล่าใหม่หลายต่อหลายครั้งจนถึงทุกวันนี้กัน?
จุดเริ่มต้น
ในยุคสมัยเอโดะที่สงบมานานกว่า 200 ปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกุกาวะ ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้น นั่นคือในปี ค.ศ. 1854 ประเทศญี่ปุ่นได้เปิดการค้ากับทางฝั่งตะวันตกเป็นครั้งแรก (ซึ่งในความเป็นจริง เป็นการแกมถูกบังคับ เพราะความที่พวกเขามองว่าคงไม่สามารถเอาชนะความแข็งแกร่งของกองเรือที่พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี นำมาได้) การเปิดประเทศครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าผู้ที่ศรัทธาในองค์จักรพรรดิ รวมถึงซามูไร ซึ่งถือเป็นชนชั้นที่สูงที่สุดในสังคม ที่มองว่ารัฐบาลนี้กำลังอ่อนแอและต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จึงเกิดกลุ่มกบฏที่จะมาโค่นล้มระบบโชกุนโทกุกาวะ ซึ่งทำให้ชีวิตของโชกุนในตอนนั้นอย่าง โทกุกาวะ อิเอโมจิ ตกอยู่ในอันตราย
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโชกุนโทกุกาวะจึงได้จัดตั้ง ‘โรชิกุมิ’ (浪士組 กลุ่มโรนิน หรือซามูไรไร้นาย) ขึ้นมาเพื่อคอยอารักขาโชกุนที่จะเดินทางไปยังเกียวโตเพื่อปรึกษาหารือกับองค์จักรพรรดิถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง โดยเป็นการรับสมัครจากโรงเรียนสอนดาบทั่วทั้งเอโดะ หนึ่งในนั้นคือโรงฝึกชิเอย์คังที่มีชาวบ้านทั่วไปอย่าง คนโด อิซามิ, ฮิจิคาตะ โทชิโซ และ โอคิตะ โซจิ รวมอยู่ด้วย นี่ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่พวกเขาจะได้ยกระดับตนเองขึ้นไปเป็นชนชั้นนักรบและรับใช้โชกุนที่พวกเขาศรัทธามาตลอด
แต่โรชิกุมิก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงเกียวโตแล้ว หัวหน้ากลุ่มอย่าง คิโยคาวะ ฮาจิโระ กลับมีแผนที่แท้จริง คือการที่เขาต้องการยึดอำนาจโชกุนเพื่อคืนอำนาจการปกครองประเทศทั้งหมดให้กับองค์จักรพรรดิเสียเอง เมื่อความลับเรื่องนี้รั่วไหลออกไป คิโยคาวะจึงสั่งให้โรชิกุมิทุกคนกลับไปที่เอโดะ แต่ก็มีสมาชิกโรชิกุมิ 19 คนที่ตัดสินใจอยู่ที่หมู่บ้านมิบุในเกียวโตต่อเพื่อปกป้องโชกุน นั่นก็คือกลุ่มของคนโดและพรรคพวก ต่อมาพวกเขาจึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น มิบุ โรชิกุมิ ก่อนที่ทางรัฐบาลโชกุนโทกุกาวะจะเข้ามาจัดตั้งพวกเขาให้เป็นหน่วยตำรวจพิเศษเพื่อปกป้องโชกุนอย่างเป็นทางการ และตั้งชื่อใหม่ให้พวกเขาว่า ‘ชินเซ็นกุมิ’ (新選組 กลุ่มคัดสรรใหม่)
ฝูงหมาป่าแห่งมิบุ
ชินเซ็นกุมิในช่วงแรกถูกนำโดยสามกองกำลังใหญ่คือกลุ่มของ เซริซาวะ คาโมะ, นิมิ นิชิกิ และ คนโด อิซามิ แต่เพียงเวลาไม่นาน เซริซาวะที่มีนิสัยใจร้อน ไม่คิดหน้าคิดหลังกลับสร้างปัญหาอย่างมากมาย ทั้งการมีเรื่องกับโรงฝึกซูโม่จนสังหารนักซูโม่ไปกว่า 10 ชีวิต รวมไปถึงการที่เมาแล้วทำลายร้านอาหาร สร้างความเดือดร้อนและทำให้กลุ่มชินเซ็นกุมิเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จนได้รับฉายาว่า ‘ฝูงหมาป่าแห่งมิบุ’ จากพฤติกรรมโหดเหี้ยมของพวกเขา นั่นจึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะให้คนโดจัดการกับเซริซาวะ เขาจึงส่งสมาชิกที่ไว้ใจที่สุดอย่างฮิจิคาตะและผู้บัญชาการอีกคนอย่าง ยามานามิ เคย์สุเกะ สั่งให้ นิมิ (ซึ่งเป็นคนฝั่งเซริซาวะ) ทำการเซปปุคุตัวเอง (การคว้านท้องจบชีวิตอย่างมีเกียรติสูงสุด) ก่อนที่ต่อมาทั้งคู่ (รวมถึงสมาชิกอีกไม่กี่คนเช่นโอคิตะ) จะเดินทางไปลอบสังหารเซริซาวะ ทำให้ชินเซ็นกุมิอยู่ภายใต้การนำของคนโดเพียงแต่คนเดียวนับแต่นั้น
แล้วเหตุการณ์สำคัญของชินเซ็นกุมิก็มาถึง นั่นคือเหตุการณ์ที่อิเคดายะ เมื่อกลุ่มที่มีความเชื่อในระบบจักรพรรดิเป็นใหญ่ และต่อต้านการเข้ามาของชาวต่างชาติ วางแผนที่จะวางเพลิงเกียวโตและจับกุม มัตสึไดระ คาตาโมริ (ไดเมียว หรือเจ้าเมืองแห่งแคว้นไอซึ ผู้ก่อตั้งโรชิกุมิ และคนที่คอยประสานระหว่างชินเซ็นกุมิและโชกุนโดยตรง) แต่แผนดันมาแตกเสียก่อน เมื่อฮิจิคาตะสามารถจับสมาชิกคนหนึ่งมาทรมานจนล่วงรู้ถึงแผนการ สุดท้ายชินเซ็นกุมิจึงบุกเข้าไปในโรงแรมอิเดคายะ และสังหาร จับกุมคนกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด เหตุการณ์นี้ทำให้ชินเซ็นกุมิเป็นที่รู้จักไปทั่ว และมีคนสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างมากมาย
ยึดมั่นในความสัตย์ซื่อ
แม้ผลงานจะมีไม่มาก แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของชินเซ็นกุมินั้นกลับถูกบันทึกไว้พอสมควร ทั้งการที่เป็นไม่กี่กลุ่มที่เปิดกว้างให้คนจากทุกชนชั้นสามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกได้ หรือจะเป็นฝีมือดาบของโอคิตะที่ไม่เป็นสองรองใคร โดยเขาสามารถเรียนวิชาดาบเท็นเน็นริชินริว และใช้เทคนิคทั้งหมดได้ตั้งแต่อายุ 18 จะติดก็แค่ร่างกายของเขาอ่อนแอลงเรื่อย ๆ จากอาการป่วย (คาดการณ์กันว่าเขาเป็นวัณโรค) รวมไปถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในด้านยอดฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น ฮาราดะ ซาโนะสึเกะ หรือ ไซโต ฮาจิเมะ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นฮิจิคาตะ ที่มีชื่อเสียงในความเคร่งครัดจนสมาชิกตั้งฉายาให้เขาว่า ‘รองผู้บัญชาการปีศาจ’ และเป็นคนที่ออกกฎประจำกลุ่ม ทั้งการห้ามฝ่าฝืนกฎของซามูไร, ห้ามลาออกจากชินเซ็นกุมิ หรือการทำอะไรที่เข้าไปยุ่ง มีเรื่องกับชาวบ้าน หรือได้ผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถ้ามีการฝ่าฝืนขึ้นมาจะต้องทำการเซปปุคุสถานเดียว รวมไปถึงอีกหนึ่งเอกลักษณ์ก็คือเครื่องแต่งกายประจำตัวที่เป็นชุดฮาโอริสีฟ้าพร้อมตัวอักษร「誠」(มาโคโตะ ที่แปลว่าความสัตย์ซื่อ) อยู่กลางแผ่นหลัง ที่บ่งบอกว่าพวกเขาจะซื่อสัตย์ต่อนายของตน (โชกุนโทกุกาวะ) จนตัวตาย ทั้งหมดนี้ทำให้ชินเซ็นกุมิมีภาพจำที่ชัดเจนต่างจากกลุ่มอื่น ๆ สมัยนั้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าชินเซ็นกุมิภายใต้คนโดจะมีแต่ภาพในด้านบวกเสมอไป เพราะการเสียชีวิตด้วยการเซปปุคุของ ยามานามิ เคย์สุเกะ ที่อยู่กับกลุ่มมาตั้งแต่ต้นและเป็นถึงระดับผู้บัญชาการ (รองจากคนโดคนเดียว) ก็เป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย ซึ่งเหตุผลหลักก็คือการที่เขาต้องการจะออกจากกลุ่มชินเซ็นกุมิ แต่ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร บ้างก็ว่าเขาเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลโชกุนโทกุกาวะและไม่มองเห็นถึงอนาคตที่ว่า บ้างก็ว่าเป็นเพราะเขามีปัญหากับฮิจิคาตะที่มีตำแหน่งในระดับใกล้เคียงกัน บ้างก็ว่าเขารู้สึกว่าชินเซ็นกุมิที่ร่วมสร้างมาด้วยกันนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (ลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าด้วยสาเหตุนี้ ชินเซ็นกุมิอาจจะเหมือนกับบริษัท Start-up ที่เริ่มจากศูนย์จนยิ่งใหญ่แต่สูญเสียอุดมการณ์เดิมที่มีไปมันก็น่าสนใจเหมือนกัน)
การหักหลังและจุดจบ
ปี ค.ศ. 1867 หลังการสวรรคตของจักรพรรดิองค์ก่อน จักรพรรดิองค์ใหม่ ‘เมจิ’ ได้มีคำสั่งยึดอำนาจทางทหารทั้งหมดจากโชกุนกลับคืนมา ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มผู้ศรัทธาในจักรพรรดิ และกลุ่มที่ศรัทธาในโชกุน เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘สงครามโบชิน’
ชินเซ็นกุมิที่ปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อโชกุนไปจนวันตายก็ได้ตามโชกุนเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ และต้องพบกับความจริงที่ว่าพวกเขาไม่ใช่นักรบของประเทศอีกต่อไป แต่เป็นผู้ร้ายที่ต่อต้านจักรพรรดิของญี่ปุ่น คนโดถูกจับกุมตัวในปี ค.ศ. 1868 ในข้อหามีส่วนร่วมในการสังหาร ซากาโมโตะ เรียวมะ ชายผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญในการล้มระบบของโทกุกาวะ (ซึ่งภายหลังหลายคนวิเคราะห์ว่าเขาถูกใส่ความ) แม้ว่าฮิจิคาตะจะพยายามเข้าหารัฐบุรุษเพื่อส่งคำขอร้องเพื่อไว้ชีวิตคนโด แต่สุดท้ายเขาถูกประหารชีวิตที่อิตาบาชิหลังจากนั้น 3 อาทิตย์ และศีรษะของเขาถูกเสียบประจาน นับเป็นการตายที่น่าอดสูอย่างที่สุด (ต่อมา ไซโต ฮาจิเมะ ได้บุกเข้ามาเพื่อรับศีรษะไปทำพิธีให้สมเกียรติในภายหลัง)
จากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา โอคิตะก็เสียชีวิตจากอาการป่วยเรื้อรังโดยที่ไม่เคยได้รับทราบถึงข่าวการเสียชีวิตของคนโดที่เปรียบเสมือนพี่ชายของเขา
ฮิจิคาตะยังเข้าร่วมสงครามต่อไปแม้ว่าเขาจะได้รับบาดเจ็บที่ขา และแม้ว่าเขาจะรู้ดีว่ายุคสมัยของโชกุนได้จบลงแล้ว และตัวเขาถูกส่งเพื่อให้ไปตายเท่านั้น แต่เขาก็ยังยึดมั่นในจิตวิญญาณของชินเซ็นกุมิจนถึงวาระสุดท้าย ปี ค.ศ. 1869 ในศึกฮาโกดาเตะ ฮิจิคาตะได้เรียกเด็กข้ารับใช้ของเขามาพบเป็นการส่วนตัว และมอบกลอนสั่งลา, ดาบคาตานะ, จดหมาย, ภาพถ่ายของตัวเอง (ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุด) และเส้นผมส่วนหนึ่งของเขา ฝากให้ข้ารับใช้ผู้นี้นำไปมอบให้กับพี่เขยที่บ้านเกิด ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในสนามรบไม่กี่วันต่อมา และสงครามโบชินก็จบลงอย่างเป็นทางการไปพร้อมกับยุคสมัยของโชกุนปกครองประเทศ และแน่นอนว่ารวมถึงชินเซ็นกุมิเช่นกัน
มรดกสู่คนรุ่นหลัง
เป็นเวลานานหลายปีที่ชินเซ็นกุมิถูกจดจำในฐานะของกลุ่มผู้ร้ายที่ถูกจัดการไปสงครามเพื่อยุคสมัยใหม่ แต่หลังจากการวางจำหน่ายของนิยาย ‘ชินเซ็นกุมิ ชิมัตสึกิ’ ที่นำเรื่องราวของชินเซ็นกุมิมาแต่งเสริมเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1928 ภาพลักษณ์ของกลุ่มนี้ก็ถูกมองในทางที่ดีขึ้น ทั้งการที่พวกเขามีความซื่อสัตย์, วิถีชีวิตของซามูไร และจุดจบที่น่าเศร้า ก็ทำให้เรื่องราวของชินเซ็นกุมิถูกนำมาเล่าใหม่ในสื่อหลายรูปแบบ และแต่งเติมอีกหลายต่อหลายครั้งหลังจากนั้น โดยสื่อหนึ่งที่ไปได้ไกลถึงระดับสากลก็คือการ์ตูนมังงะที่มีการนำชินเซ็นกุมิมาเล่าในมุมมองที่ต่างกันไปหลายต่อหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘รุโรนิ เคนชิน’ หรือซามูไรพเนจรที่มี ไซโต ฮาจิเมะ ช่วงชีวิตหลังชินเซ็นกุมิเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่อง หรือจะเป็น ‘กินทามะ’ ที่นำชินเซ็นกุมิมาตีความใหม่จนตลกบ้าบอคอแตกสุด ๆ แต่ก็เป็นที่จดจำในวงกว้าง ในด้านผลงานของละครก็ถูกนำมาดัดแปลงหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นละครไทกะ Shinsengumi! ซึ่งเป็นละครฟอร์มยักษ์ของช่อง NHK ประจำปี ค.ศ. 2004 และในรูปแบบของภาพยนตร์อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะ Moeyo Ken หนังที่ดัดแปลงมาจากบทนิยายเล่าเรื่องชีวิตของฮิจิคาตะที่จะฉายในปีนี้อีกด้วย
แม้จะไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวที่แท้จริงของชินเซ็นกุมิมันเป็นอย่างไร แต่มาจนถึงตอนนี้ พวกเขาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงและข้อคิดให้กับยุคสมัยใหม่ทั่วโลก ไม่เลวเลยสำหรับกลุ่มเด็กหนุ่มชาวบ้านธรรมดาที่มีความฝันว่าสักวันพวกเขาจะได้จับดาบเพื่อเป็นประโยชน์กับใครสักคนในสักวันหนึ่ง
ที่มา:
Taiga Drama Shinsengumi! (2004)
https://youtu.be/XRXeJ1doZfc
https://www.historynet.com/wolves-of-mibu-japans-shinsengumi-police.htm
*หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ถอดเสียงชื่อภาษาญี่ปุ่นในแนวทางของผู้เขียน
เรื่อง: บุญตระกูล ชีวะตระกูลกิจ
ภาพ: จากภาพยนตร์ Rurouni Kenshin: The Beginning (2021)