read
social
31 ส.ค. 2564 | 13:00 น.
ชำนาญ สิงห์ขร: กำนันผู้พัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการเริ่มแยกขยะมานานกว่าทศวรรษ
Play
Loading...
วันนี้คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ที่หมายถึงการนำทรัพยากรที่ไปใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับไปใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากย้อนกลับไปในปี 2552 น้อยคนจะเข้าใจว่าทำไมวันนั้นกำนันชำนาญ สิงห์ขร ถึงตัดสินใจออกมาเก็บขยะจำนวนมากที่อยู่รอบชุมชนด้วยตัวเอง
“เราเริ่มต้นคัดแยกขยะมาตั้งแต่ปี 2549 สามปีต่อมาคนทั้งหมู่บ้านก็มาช่วยกัน บ้านไหนที่มีขยะจะคัดแยกก็ติดป้ายที่หน้าบ้านไว้ บางส่วนที่เราคัดแยกก็นำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่อีกครั้ง ลดขยะต้นทางให้เหลือไปบ่อขยะปลายทางน้อยที่สุด”
งานด้านจัดการขยะเป็นเพียงบทบาทหนึ่งของผู้นำชุมชน โดยตลอดเส้นทางการเป็นนักปกครองท้องที่ของกำนันชำนาญ ตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในปี 2550 แล้วได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านในปี 2552 และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขกว่า 10 ปี จนได้เลือกกำนันตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ในปี 2562 เขายังได้ทำหน้าที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของทั้ง 7 หมู่บ้านในตำบลศาลาในหลายมิติ ทั้งงานด้านยาเสพติด อาชญากรรม และเศรษฐกิจพอเพียง
ความทุ่มเทให้กับชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของกำนันชำนาญ แต่ที่เพิ่มเติมคือความใส่ใจแก้ไขปัญหาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความรับผิดชอบซึ่งพ่วงมากับตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างขยะ ที่เขาใส่ใจลงไปในรายละเอียดจนสามารถนำมาขยายผลได้อีกมากมาย
“โครงการจัดการคัดแยกขยะแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่แยกขยะเป็น 4 ประเภท นำขยะเปียกที่ย่อยสลายได้ไปเป็นปุ๋ยเลี้ยงไส้เดือน ขยะแห้งนำไปรีไซเคิล ขยะที่ขายได้ก็นำไปจำหน่ายที่ร้านค้าศูนย์บาท และขยะอันตรายเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี โดยเรานำองค์ความรู้มาจากการศึกษาเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบหลาย ๆ แห่งในประเทศ มาปรับใช้ภายในหมู่บ้าน จนได้ผลจริงสามารถลดขยะสู่ปลายทางให้เหลือน้อยที่สุด”
ขยะไร้ค่าถูกคัดแยกตามขั้นตอนเป็น 4 ประเภท แล้วนำไปต่อยอดทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำขยะเปียกมาต่อยอดทำเกษตรแบบพอเพียง เริ่มต้นจากขยะสดที่ถูกแปรสภาพเป็นอาหารสำหรับไส้เดือน ที่จะย่อยสลายขยะให้กลายเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพ พร้อมสำหรับใช้เติมสารอาหารให้ความสมบูรณ์กับพืชผักผลไม้ที่แตกยอดเติบโตเป็นผักใบเขียวกรอบอร่อย ที่นอกจากจะอิ่มท้องแล้วยังปลอดภัยต่อการบริโภคของคนในชุมชน
โดยปุ๋ยจากมูลไส้เดือนนี้ ชาวบ้านในชุมชนสามารถนำขยะจากครัวเรือนมาแลกกลับไปได้ ช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในหมู่บ้านจากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการเพิ่งพาตัวเองมาใช้อย่างเข้าใจ
“ในพื้นที่ชุมชนของผมเป็นศูนย์การเรียนรู้ ระดับต้น ๆ ของประเทศไทย เรามีศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงไส้เดือนที่ประสบผลสำเร็จมามากมาย มีผู้ที่มาศึกษาเรียนรู้แล้วแล้วนำไปต่อยอดอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้เราก็มีวัดน้ำผึ้งชาวไร่อ้อย เป็นวัดต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ซึ่งเปิดเป็นร้านค้าศูนย์บาทให้นำขยะไปแลกเปลี่ยนเป็นของอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย”
กำนันชำนาญ เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจว่าชาวตำบลศาลาจะมีการให้ความร่วมมือที่ดีมาก ไม่แปลกที่เราจะเห็นแทบทุกบ้านจะมีผักสวนครัวที่ปลูกกันเองแบบง่าย ๆ อยู่หลายสิบต้น ทั้ง ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ไปจนถึงผักต่าง ๆ ที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน นอกจากศูนย์การเรียนรู้การเพาะเลี้ยงไส้เดือนแล้ว ที่ตำบลศาลายังมีศูนย์การเรียนรู้อื่น ๆ อย่างเช่น กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์เรียนรู้ด้านการทำดอกไม้ประดิษฐ์ ที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
“เราได้ไปศึกษาเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบทั่วประเทศไทยมาหลายชุมชน แล้วนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ศึกษาจนพบว่าปรัชญาที่พระองค์ท่านได้ทรงชี้แนะแนวทางไว้สามารถทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง จึงได้นำมาปรับใช้ในหมู่บ้านของเราจนเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีความอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่ดีขึ้นมาก”
แม้ในช่วงสถานการณ์โควิดชาวตำบลศาลายังมีผักสวนครัวที่ปลูกไว้กินเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างที่มีการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำกัดการเดินทางในหลายพื้นที่ ช่วยให้ชุมชนแห่งนี้รอดจากวิกฤตจากการมีวัตถุดิบมีประโยชน์สะอาดปลอดภัยไว้บริโภค และยังสามารถแบ่งปันให้คนอื่นๆ ในชุมชนได้อีกด้วย
นอกจากนี้กำนันชำนาญและตำบลศาลาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการประชุมวางแผนการป้องกันอย่างเร่งด่วน และประกาศเสียงตามสายเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้แนวทางปฏิบัติและวิธีการที่ถูกต้อง รวมถึงมีการตั้งด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจวัดและทำไทม์ไลน์ของผู้ที่เดินทางผ่านเข้าออกชุมชนตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“เราตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ชุมชนของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีหนี้สินลดน้อยลง จากการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งหลักเศรษฐกิจพอเพียงปลูกผักกินเองนี้ช่วยเราได้มาก ต่อไปเรากำลังจะแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการลองนำเกษตรทฤษฎีใหม่ อย่าง โคก หนอง นาโมเดล มาศึกษาเรียนรู้แล้วปรับใช้”
ความสุขจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ของตำบลศาลา มีส่วนสนับสนุนให้ที่นี่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำปี 2563 รวมถึง หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกำนันชำนาญประกาศว่าจะต่อยอดในทุกมิติให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป และทำให้ตำบลศาลาเป็นศูนย์การเรียนรู้ชั้นนำของประเทศ เพื่อให้คนได้มาศึกษาเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ แล้วนำสิ่งที่ได้ไปต่อยอดให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะ
เรียกว่าความสำเร็จของตำบลศาลา ที่มีส่วนให้กำนันชำนาญ สิงห์ขร กำนันตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้รับรางวัลกำนันยอดเยี่ยมประจำปี 2564 อาจมาจากจุดเริ่มเล็ก ๆ นั่นคือการคัดแยกขยะ
“เราทุ่มเทให้กับชุมชน เพราะอยากจะให้ชุมชนของเรา มีทุกข์น้อยลง มีสุขมากขึ้น ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้ชุมชนเราทำมาหากินไป ปลูกพืชผักสวนครัวกินเองช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ และไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน
Thepeoplexกรมการปกครอง
หัวใจยังแกร่ง