ฮายาโอะ มิยาซากิ กับ เฟมินิสต์ในโลกจิบลิ
“ฉันต้องการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน โดยเฉพาะสร้างเพื่อเหล่าเด็กผู้หญิง เพื่อบรรดาลูกสาวของเพื่อน ๆ ฉัน” ฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao) ผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) กล่าวกับ โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ Chicago Sun-Times ถึงแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการสร้างหนังแอนิเมชัน Spirited Away ผลงานชิ้นเอกของเขา ซึ่งได้รับรางวัล Oscars สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ในปี 2002
ฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao) ได้ชื่อว่าเป็นเฟมินิสต์แห่งวงการแอนิเมชัน ก่อนจะก่อตั้ง Studio Ghibli ในปี 1985 มิยาซากิได้สร้างแอนิเมชันเรื่องมหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม (Nausicaä of the Valley of the Wind) ขึ้นในปี 1984 แอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นมาตรฐานสำหรับเฟมินิสต์ ฉายภาพเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหญิงที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของชนเผ่าที่พยายามรักษาความสมดุลของธรรมชาติ หญิงสาวที่มีบทบาทเป็นผู้นำและมีมนุษยธรรมผู้นี้ได้กลายเป็นต้นแบบของแอนิเมชันอีกหลายเรื่องของ Studio Ghibli ในเวลาต่อมา
ผลงานเกินครึ่งของมิยาซากิมีตัวแสดงนำเป็นเด็กผู้หญิงที่เป็นอิสระ มีความฝัน เติบโตอย่างกล้าหาญ และให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คน ผลงานของเขาได้ถูกประเมินโดยตัวชี้วัดเบคเดล (Bechdel Test) ซึ่งสร้างโดย อลิสัน เบคเดล (Alison Bechdel) ที่ทำการประเมินเกี่ยวกับภาพแทนของตัวละครหญิงในภาพยนตร์แอนิเมชันแต่ละเรื่อง พบว่าผลงานส่วนใหญ่ของมิยาซากิให้พื้นที่และให้ความสำคัญกับการนำของตัวละครหญิงเป็นอย่างมาก อีกทั้งพวกเธอยังมีบทบาททางสังคมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร ช่างทำหมวก เกษตรกร สลัดอากาศ ผู้นำชนเผ่า ซึ่งนั่นได้สร้างจินตนาการพื้นที่ทางสังคมที่ไม่ใช่เพียงงานในบ้านให้กับเหล่าเด็กผู้หญิง
ยิ่งเมื่อมองจากบริบทของยุคสมัย ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งผลงานแอนิเมชันของมิยาซากิเริ่มออกสู่สายตาของผู้ชม ภาพยนตร์แอนิเมชันส่วนมากของญี่ปุ่นซึ่งเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตยเข้มข้น มักเต็มไปด้วยตัวละครนำชาย ส่วนตัวละครหญิงกลับมีภาพจำว่าเป็นตัวประกอบ และถูกจำกัดบทบาทไว้เพียงสถานะแม่และภรรยา หรืออีกลักษณะคือมีความเซ็กซี่หรือคาวาอี้เกินจริงเพื่อตอบสนองนักอ่านผู้ชายเป็นหลัก ส่วนการ์ตูนแอนิเมชันฝั่งตะวันตกสำหรับเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นพื้นที่ของเจ้าหญิงแสนสวยในเสื้อผ้าหรูหรา เอวคอด ตากลมโต ที่จบลงด้วยการตอบรับความรักจากชายหนุ่มรูปงาม
แต่งานแอนิเมชันของมิยาซากิมักจะนำเสนอตัวละครหญิงที่มีรูปร่างลักษณะธรรมดาๆ มีความเป็นมนุษย์ที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตจริง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตัวละครของฉันได้รับแรงบันดาลใจจากผู้หญิงที่ฉันพบเจอ จากลูกสาวเพื่อนซึ่งมาเยี่ยมทุกฤดูร้อน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้วาด ‘จิฮิโระ’ จาก Spirited Away เธอมีรูปร่างลักษณะแบบเด็กผู้หญิงในวัย 10 ขวบทั่ว ๆ ไป จากหลานสาวซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการวาด ‘เม’ เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ วัย 4 ขวบ ในเรื่อง Totoro รวมทั้งเหล่าผู้หญิงที่ทำงานในสตูดิโอของฉัน เรามีผู้หญิงทำงานในสตูดิโอแห่งนี้ครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมด พวกเธอเป็นพลังสำคัญของจิบลิ”
การสร้างตัวละครหญิงตามรูปร่างลักษณะที่เห็นได้ทั่วไป ท่ามกลางเหล่าเจ้าหญิงแสนสวยและตัวละครสาวสุดเซ็กซี่ เป็นการสร้างพื้นที่ตัวละครหญิงที่ท้าทายต่อ beauty standard แบบดั้งเดิมนั้นเติมฝันและสร้างความมั่นใจให้เด็กผู้หญิงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนที่จะมีรูปลักษณ์เหมือนเหล่าเจ้าหญิง หรือเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง
ในปี 2013 มิยาซากิให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “ภาพยนตร์แอนิเมชันหลายเรื่องของฉันมีตัวแสดงนำหญิงที่เข้มแข็ง กล้าหาญ พึ่งพาตนเองได้ และไม่ลังเลที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่พวกเธอเชื่ออย่างสุดใจ ผู้หญิงคนไหนก็เป็นฮีโร่ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย”
งานแอนิเมชันส่วนใหญ่ของมิยาซากิเป็นแนวแฟนตาซีที่บรรจุจินตนาการมากมาย โดยมีเด็กผู้หญิงลักษณะธรรมดา ๆ เป็นตัวละครนำ พวกเธอมีความเป็นผู้นำ มีความมุ่งมั่นในแบบของตัวเอง และกำลังจะก้าวผ่านเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ตัวเธอเติบโตขึ้นกว่าเดิม
คุณสมบัติเหล่านี้ปรากฏในแอนิเมชันหลายเรื่องของเขา เช่น แม่มดน้อยกิกิ (Kiki’s Delivery Service) แม่มดอายุ 13 ปี ที่ต้องออกจากบ้านเพื่อเรียนรู้การเป็นแม่มดที่ดี เธอต้องอยู่คนเดียวเป็นครั้งแรกในชีวิต และได้ทำงานในร้านขายขนมปังบนเกาะแสนสวยแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอมีหน้าที่ขี่ไม้กวาดส่งของให้กับลูกค้า เธอเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการทำงาน ตั้งคำถามกับตัวตนของตัวเอง และได้เติบโตขึ้นจากการผ่านพ้นสิ่งเหล่านั้น
เช่นเดียวกับ ‘จิฮิโระ โองิโนะ’ (Chihiro Ogino) จาก Spirited Away ที่ได้พบเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเธอและครอบครัวต้องพลัดหลงไปยังโลกแห่งวิญญาณ พ่อแม่กลายเป็นหมูเพราะกินของเซ่นไหว้เทพเจ้า ทำให้เธอต้องก้าวข้ามอุปสรรคมากมายด้วยตัวเอง จากเด็กสาวที่ขี้กลัวและเอาแต่ใจ เธอต้องทำงานในโรงอาบน้ำที่ให้บริการเหล่าวิญญาณ ต้องดิ้นรนเพื่อตัวเอง ครอบครัว และเพื่อน ๆ พยายามปลดแอกคำสาปซึ่งเป็นอำนาจที่อยู่เหนือเธอเพื่อกลับไปสู่โลกมนุษย์ นั่นทำให้เธอได้พัฒนาจิตวิญญาณและอารมณ์ของตัวเองให้เติบโตขึ้น
นอกจากนี้ยังมีแอนิเมชันเรื่องพอร์โค รอสโซ (Porco Rosso) ซึ่งมิยาซากิกล่าวว่าเป็นภาพยนตร์ ‘ส่วนตัว’ ที่สุดของเขา เพราะสะท้อนความเป็นตัวเขามากที่สุด โดยสื่อสารถึงประเด็นเฟมินิสต์อย่างชัดเจน ด้วยการเล่าถึงพอร์โค อดีตนักบินในกองทัพซึ่งกลายเป็นสลัดอากาศล่าเงินรางวัล และกลายเป็นหมูเพราะสิ้นหวังกับความเป็นมนุษย์ พอร์โคต้องการซ่อมเครื่องบินรบของเขาจึงนำเครื่องบินมาซ่อมยังโรงงานเก่าแก่ชื่อ Piccolo ซึ่งเขาสนิทสนมกับเจ้าของมานาน แต่ว่าการซ่อมเครื่องบินในครั้งนี้ ผู้ออกแบบการซ่อมแซมเครื่องบินขึ้นมาใหม่คือเด็กสาวชื่อฟิโอ พิคโคโล (Fio Piccolo) ที่อายุเพียง 17 ปี นั่นทำให้เขาปฏิเสธที่จะให้เด็กหญิงซ่อมเครื่องบินรบของเขา
แต่ฟิโอได้ถามเขาว่า “เป็นเพราะฉันยังเด็กและเป็นผู้หญิงใช่ไหม งั้นการเป็นนักบินที่ดีคืออะไร” พอร์โคตอบว่า “มีแรงบันดาลใจ” ฟิโอตอบกลับว่า “ฉันดีใจที่คุณไม่ตอบว่าประสบการณ์ ส่วนเรื่องการเป็นผู้หญิง ฉันคงเปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้าฉันซ่อมเครื่องบินของคุณไม่ได้ ฉันจะไม่คิดเงินคุณเลย” เครื่องบินของเขาถูกออกแบบปรับปรุงใหม่โดยฟิโอ ส่วนคนซ่อมเครื่องบินรบทั้งหมดก็เป็นผู้หญิง ในภายหลังเขากล่าวกับบรรดาสลัดอากาศเพื่อแนะนำฟิโอว่า “เธอซ่อมเครื่องบินให้กับฉันได้ดีกว่าช่างซ่อมเครื่องบินทุกคนที่ผ่านมา” นอกจากนี้ยังเป็นคนที่ทำให้เขา “มีความหวังกับความเป็นมนุษย์อีกครั้ง” หนังเรื่องนี้ส่งความหมายถึงเด็กผู้หญิงทุกคนว่าเธอสามารถเป็นแรงบันดาลใจและเป็นในสิ่งที่เธอมุ่งหวังได้
กาเบรียล เบลล็อต นักข่าวจาก The Atlantic ได้กล่าวว่า “เมื่อฉันดูแอนิเมชันของมิยาซากิ บางสิ่งเปลี่ยนไป เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นการเป็นตัวแทนของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่ดูเหมือนจริงและเข้าถึงได้ และนี่คือสิ่งที่ทำให้ Studio Ghibli ทรงพลัง การที่ตัวละครเหล่านี้สามารถตั้งคำถามได้ว่าพวกเธอเป็นใคร ต้องการเป็นอะไร มองเข้าไปข้างในตัวเองและตระหนักว่าศักยภาพของพวกเธอเป็นแรงบันดาลใจ มันส่งข้อความว่าคนทุกคนสามารถเป็นคนที่ตัวเองต้องการได้ - หรือบางทีเราก็เป็นอยู่แล้ว
ผู้เขียน: ณัฎฐณิชา เหล็กกล้า
อ้างอิง: https://screenrant.com/why-hayao-miyazaki-ghibli-movies-are-feminist/?fbclid=IwAR1qetv374EGB1NeJGWQgyOr4SE5JXZUPMOTxSEExNkk1inB7MKJOuETv7A
https://johnmitchellprice.com/2020/02/17/feminism-in-hayao-miyazakis-films/?fbclid=IwAR0-2aaZe1PWDJ5Ri3BVNAW9nC9hhFRqqE3YfgDnPE7aB3l7OVSSI-OOi-s
https://screenrobot.com/hayao-miyazaki-great-feminist-filmmaker-time/?fbclid=IwAR0qllh5Sv4wfFnbkFJaJBbIei_R63k7qRZuENBR_8V8qhsLTd3vJl53ovE