กิ๊ฟ-เกณิกา อมรธีรเวช: เมื่อการสูญเสียเป็นมากกว่าตัวเลข และการชุมนุมคือหนทางเปล่งเสียงแห่งความหวัง
“ความหวังมันได้สลายไปแล้ว ตั้งแต่วันที่คุณแม่จากไป มันไปพร้อมความฝันด้วย เพราะสุดท้ายแล้วตัวกิ๊ฟเอง ถ้ามองเป็นรูปธรรม อยากให้คุณแม่กินดีอยู่ดี นอนหลับ ไม่ต้องดิ้นรนในการเอาชีวิตรอดในวัย 60-70 ปี ความหวังนี้มันได้พังไปแล้วจากการเสียคุณแม่ในครั้งนี้”
หากเป็นชั่วโมงการทำงาน ‘กิ๊ฟ-เกณิกา อมรธีรเวช’ รับหน้าที่เป็นแอดมิน ประสานงานขายรวมทั้งงานด้านธุรการ แต่หากวางบทบาทนี้ เธอคือประชาชนคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เธอคือประชาชนคนหนึ่งที่ออกมาร่วมชุมนุมเพื่อตั้งคำถามถึงการทำงานของรัฐบาล เธอคือลูกคนหนึ่งที่เพิ่งสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รักจากโควิด-19
เรื่องราวต่อไปนี้คือบทสนทนาของกิ๊ฟตั้งแต่ความสูญเสียที่ได้รับ ความฝันที่มอดดับ และความหวังจากการออกไปเปล่งเสียงร่วมกับมวลชนในการชุมนุม
มากกว่าตัวเลขสถิติ คือชีวิตของผู้คน
“ที่บ้านเราได้รับเชื้อโควิด-19 ทั้งบ้านเลย ยกเว้นกิ๊ฟคนเดียวที่ไม่ได้รับเชื้อ เหตุการณ์ครั้งนี้คือกิ๊ฟได้สูญเสียบุคคลที่เป็นที่สุดในชีวิตแล้ว ก็คือเป็นหัวใจของเราเลย คือคุณแม่ซึ่งเสียไปวันที่ 11 สิงหาคม วันนั้นมีคนเสียชีวิต 207 คน รวมคุณแม่ของเราด้วย เราป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว มีการปรับตัวแล้ว แต่โรคมันระบาดไปแบบหยุดยั้งไม่ได้จริง ๆ ในละแวกบ้าน ชุมชน เป็นกันเยอะมาก แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาในบ้านจริง ๆ อันนี้คือผลกระทบต่อจิตใจ กระทบทุกอย่างในชีวิตเลย
“แล้วก็อย่างที่เราเคยได้ยินมาว่าระบบสาธารณสุขมันล้มเหลว พอเจอกับตัวเองแล้ว เราเชื่ออย่างที่สุดเลยว่ามันล้มเหลวแล้วจริง ๆ ยกตัวอย่างประสบการณ์ของที่บ้าน พี่ชายตรวจโควิด-19 จากที่ซื้อมาตรวจเอง เราตรวจกันตลอดทุก 3 วันเลย ก็ไม่พบเชื้อ แล้ววันที่ 12 สิงหาคม พอเก็บกระดูกคุณแม่ พี่ชายเริ่มมีอาการ เลยตรวจ swab เอง พอเจอเชื้อปุ๊บ เราก็ลงทะเบียนกับภาครัฐ หมอพร้อมอะไรก็แล้วแต่ที่ออกมากระหน่ำ PR กันว่ารักษาตัวที่บ้านได้ เป็นผู้ป่วยสีเขียว เราก็หวังว่าโอเค มันก็น่าจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นจริงตามที่รัฐแจ้ง
“พี่ชายเราค่อนข้างแข็งแรง ก็น่าจะรักษาที่บ้านได้ ถ้าได้รับยาหรือได้คุยกับคุณหมอ คงจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเท่าคุณแม่ เพราะว่าคุณแม่อายุเยอะแล้ว ประมาณ 60 กว่า ๆ ทีนี้เขาลงทะเบียนไปตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม จนถึงวันนี้พี่ชายหายแล้ว กลับไปทำงานแล้ว เรายังไม่ได้ยาสักเม็ด หรือโทรศัพท์สักสายจากหมอเลย เราโทรฯ ไปที่ 1330 ทั้งหมด 7 ครั้ง เราไม่ได้รับการตอบกลับมา
“ในเว็บแจ้งว่าภายใน 6 ชั่วโมง เราโทรฯ ทุก 2-3 วันเลย เมื่อไหร่จะติดต่อมาหาพี่เรา เมื่อไหร่จะส่งยามา จนสุดท้ายพี่เราหายแล้ว ฉะนั้นเราไม่ได้ติดหนี้บุญคุณอะไรกับรัฐบาลเลย จริง ๆ ก็ไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณเพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะดูแลประชาชน แต่เราก็ไม่ได้รับการดูแลนั้น
“คุณปล่อยให้คนที่บอกว่าเป็นสีเขียวอยู่บ้านเพื่อจะได้ไม่ไปแย่งเตียงกับสีเหลืองหรือสีแดง อันนั้นเราเข้าใจ และประชาชนที่เป็นโควิด-19 เราเชื่อว่าเขายินยอมจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แล้วมันจะมีสักกี่คนที่เขียวแล้วหาย มีกี่คนที่เขียว แล้วเหลือง แล้วแดง แล้วตาย ในเมื่อเราไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับการติดต่อกลับ”
สาเหตุหลักที่ทำให้การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นเพราะประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัวของกิ๊ฟที่ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ยกเว้นกิ๊ฟที่เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มแรก
“ที่บ้านยังไม่มีใครได้ฉีดวัคซีน มีกิ๊ฟคนเดียวที่รับหนึ่งเข็ม หนึ่งเข็มนี้ก็ลงทะเบียนกันอย่างชุลมุนมากกว่าจะได้มา เป็นการต่อสู้วัคซีนที่ดุเดือดมาก เราไม่คิดว่าเราต้องลงทะเบียนเพื่อแย่งวัคซีนกัน ทั้งที่สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคือควรจะได้รับวัคซีนทุกคนและไวที่สุดด้วย”
โรคระบาดกับวิกฤตศรัทธาต่อภาครัฐ
เมื่อถามถึงมาตรการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องวัคซีน การล็อกดาวน์และข้อกำหนดที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต่างไปจากเดิม กิ๊ฟได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“รัฐบาลบอกให้เราปรับตัว เราปรับแล้ว แล้วคุณน่ะปรับไหม คุณเปลี่ยนไหม คุณอยู่กับความคิดเดิม ๆ แนวคิด วิธีการแบบเดิม ๆ มันได้เหรอในเมื่อยุคสมัยมันเปลี่ยน
“ประเทศอื่นเขาใช้ชีวิตปกติ เปิดประเทศแล้ว เขาไปฟื้นฟูไปทำอะไรอย่างอื่นแล้ว แต่ของเรากลับแย่ลง ภาครัฐล้มเหลวแค่ไหนให้ดูจากการยื่นมือเข้ามาช่วยเอกชน ตอนนี้ทุกหย่อมหญ้ามันแทบจะเป็นภาคเอกชนที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ฉะนั้นตัวกิ๊ฟเองไม่แปลกใจที่ทำไมรัฐบาลถึงห้ามภาคเอกชนในบางเรื่องที่จะเข้ามามีบทบาท เพราะถ้าเขาไม่ห้าม แล้วทุกคนร่วมใจพร้อมใจกันทำ ก็กลายเป็นว่าภาครัฐแทบจะไม่มีบทบาทอะไรแล้วกับการรับมือโควิด-19 ครั้งนี้ ...ตอนนี้ยังมีอยู่แค่เรื่องเดียว คือรัฐเป็นคนสั่งซื้อวัคซีน จัดการเรื่องวัคซีน แต่ก็จัดการได้แย่แค่นั้นเอง
“การรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดนี้มันไม่มีอะไรให้รักษาแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ คือออกมาแสดงความจริงใจต่อประชาชน แสดงความเสียใจอย่างที่คนคนหนึ่งควรจะมี
“ทุกวันนี้การสูญเสียมันไม่ใช่แค่ตัวเลขนะ ทุกวันที่มีคนตาย รู้ไหมว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง บางครอบครัวคนที่จากไปอาจจะเป็นเสาหลักของบ้าน เป็นความรัก เป็นหัวใจของคนในครอบครัว แล้วต้องมีอีกกี่ครอบครัวที่ต้องสูญเสีย คือกิ๊ฟไม่ได้พูดถึงครอบครัวกิ๊ฟครอบครัวเดียว เราพูดถึงทุกครอบครัวที่สูญเสียจากการระบาดของโรคในครั้งนี้
“อาจจะเป็นเสียงเล็ก ๆ นะคะ แต่อยากจะบอกว่า วางหัวโขนหรือวางหน้าที่อันใหญ่โตลงก่อนได้ไหม ไม่ต้องกลัวว่าภาพลักษณ์ของรัฐบาลมันจะแย่ เพราะมันแย่มานานแล้ว แล้วก็จะมีสักครั้งไหมที่ออกมาแสดงความจริงใจต่อประชาชน แสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อผู้เสียชีวิต จะมีสักวินาทีไหมที่คิดว่าการรับผิดชอบครั้งนี้ คือการลาออก เพราะเท่าที่เราเห็น คือท่านยังคงยืนยันว่าไม่ลาออก จะสู้ต่อ แล้วถามกลับค่ะ ท่านสู้กับอะไรคะ สิ่งเดียวที่เห็นว่าท่านสู้ คือท่านสู้กับประชาชนที่จ่ายภาษี ที่เป็นเสมือนเจ้านายที่จ่ายเงินเดือนให้คุณ”
เพราะอยากเปลี่ยนแปลงจึงเปล่งเสียง
ก่อนหน้านี้ กิ๊ฟคือหนึ่งในคนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้งเท่าที่จะสามารถจะเดินทางไปได้ ยกเว้นช่วงที่ครอบครัวติดเชื้อไวรัส โดยจุดมุ่งหมายหลักของการชุมนุมทุก ๆ ครั้ง คือการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
“จุดมุ่งหมายของการชุมนุม จุดหลักเลย เรามุ่งไปที่การมีประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่เราจะมีได้ก็คือนายกฯ ต้องลาออก ยุบสภา หยุดการคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เอารัฐประหาร
“แต่จุดที่มันเพิ่มขึ้น มันเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 คือการรับมือ การจัดการ การเยียวยาจากโรคระบาดที่ล้มเหลว ปัญหาเศรษฐกิจที่พังยับเยิน แล้วก็ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจที่ลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้ชุมนุมหรือคนที่พูดเรื่องนี้ ประชาชนควรจะมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ โดยที่รัฐบาลเองไม่มีสิทธิตั้งข้อหา สิ่งที่รัฐต้องทำคือการตอบคำถามของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจ แม้แต่การออกมาตอบคำถาม ก็ยังไม่เคยตรงประเด็นเลยสักครั้ง
“จริง ๆ รัฐบาลล้มเหลวหลายเรื่องแล้ว แต่ว่าโรคระบาดครั้งนี้ที่มันดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดเพราะว่ามันเกิดการสูญเสีย มีคนตาย ทุกคนต้องแย่งชิงวัคซีนกัน ...คือกิ๊ฟอยู่ในเหตุการณ์วันที่ไปฉีดวัคซีนที่สถานีบางซื่อ แล้วขอยืนยันตรงนี้ว่าไม่มีมุมกล้องใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นคือมวลชนที่ต้องการเอาชีวิตรอดด้วยการไปฉีดวัคซีน โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราไปรับวัคซีนหรือว่าเราไปรับเชื้อโควิด-19
“การชุมนุมในแต่ละครั้ง ข้อเรียกร้องมันมากขึ้นจากสิ่งที่เราเห็นรัฐบาลทำ อย่างตอนแรกเราไปชุมนุมกันแรก ๆ เมื่อปีที่แล้ว ไม่มีใครเตรียมตัวว่าจะต้องไปรับแก๊สน้ำตาหรอก เพราะเราออกไปชุมนุมโดยสันติ บางคนใส่ชุดนักเรียน ใส่ชุดไปทำงาน ไม่มีใครถือมีดถือปืนออกไป เพื่อจะไปเข่นฆ่ากัน ไม่ใช่เลย
“ตอนแรกที่เราไป เรารู้แล้วแหละว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจับตาดูอยู่แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นเรายังคิดอยู่เลยว่าเจ้าหน้าที่ที่มา คือมาดูแลความปลอดภัย เราคิดไปแบบนั้น สรุปไม่ใช่ แต่ตอนนั้นไม่มีใครเตรียมตัว แต่ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเกิดขึ้น มันจะเริ่มมีอุปกรณ์การป้องกันตัวเพิ่มมากขึ้น บางคนเอาเสื้อกันฝนไป เอาร่ม เอาหมวกกันน็อกไป แต่จริง ๆ ย้อนกลับไปที่ต้นเหตุ อุปกรณ์การป้องกันพวกนี้มันควรมากขึ้นเรื่อย ๆ ไหม
“เราอยากให้ผู้มีอำนาจออกมาตั้งโต๊ะหรือมีการเข้าสภาก็ได้ ก็คือมาฟัง …มันมีหลายประเด็นมากเลย แต่การเรียกร้องทั้งหมดทั้งมวล เราไม่ได้เรียกร้องเพราะกลุ่มคนกลุ่มเดียว มันคือทั้งสังคม ทั้งประเทศเราที่จะต้องดีขึ้น”
เมื่อการชุมนุมในระยะหลังเกิดขึ้นในช่วงที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นต่อวัน อาจทำให้บางคนตั้งคำถามว่าการรวมตัวกันรูปแบบนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งกิ๊ฟเองก็กังวลเช่นเดียวกัน หากเธอมองว่าโรคระบาดยังเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้
“เอาตรง ๆ เรารักชีวิตตัวเรานะ เพราะเราก็ยังมีครอบครัว ทุกคนรักชีวิตตัวเองหมด แต่ลองคิดกลับกัน คนที่กลัว คนที่รักชีวิตตัวเองยอมออกไปเสี่ยงแล้ว มันต้องเกิดอะไรขึ้นกับคนคนนั้นแล้วไหม จนทนไม่ไหวแล้วถึงได้ออกไป
“ถ้าถามว่ากลัวไหม กลัวนะ แต่ถ้ากลัวโรคระบาด เรายังรับมือได้ เพราะว่าทุกคนก็จะรับรู้แหละว่าวิธีการรับมือกับโรคระบาดต้องทำยังไงบ้าง ทุกคนป้องกันตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราป้องกันไม่ได้คือ การทำร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐ
“สิ่งที่เราไปต่อสู้ไม่ใช่โรคระบาด มันคือเราไปต่อสู้กับเผด็จการ แล้วก็เจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน สิ่งที่ต่อสู้จริง ๆ คือเรื่องนั้นมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมานั่งคิดแล้วว่า ประชาชนที่ออกไปม็อบควรจะมากังวลกับเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำร้ายเราจริงเหรอ เพราะว่าเราไปอย่างสันติจริง ๆ ทำไมเราถึงโดนเจ้าหน้าที่ที่เราเสียภาษีให้ ทำร้ายเรากลับมา
“แล้วส่วนใหญ่ม็อบก็ไม่ได้คิดว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นแบบนั้นด้วย เรายังมีความเอื้อกันตลอด นอกจากว่าจะมีการปะทะจริง ๆ จากเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม ...แต่อยากถามว่าถ้าคุณถอดเครื่องแบบลง แล้วคุณเป็นประชาชนคนหนึ่ง คุณไม่ได้รับผลกระทบเลยเหรอ สิ่งที่คุณมาเพื่อควบคุมฝูงชนเราเข้าใจ แต่สิ่งที่คุณยื่นปลายกระบอกปืนให้กับประชาชน คือสิ่งที่คุณควรทำจริง ๆ แล้วหรือเปล่า อยากฝากคำถามนี้ไปถึงเจ้าหน้าที่ที่หันปลายกระบอกปืนมาใส่พวกเรา ทั้งที่ถ้าประเทศมันดีขึ้น สังคมมันดีขึ้น พวกคุณก็ดีขึ้นนะ”
เสียงเล็ก ๆ ที่ร่วมจุดประกายแห่งความหวัง
หากย้อนกลับไปก่อนตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม เราถามกิ๊ฟว่าจุดไหนที่ทำให้เธอเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ‘ไม่ใช่เรื่องปกติ’ และควรออกมาเปล่งเสียงเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง กิ๊ฟให้คำตอบกับเราว่า
“สังคมยุคต่าง ๆ มันผ่านยุคสมัยการไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ไม่มีชื่อ no name หรือคนจนมานานมากแล้ว แต่พอเราโตขึ้น เราตกตะกอนทางความคิดว่า เราจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกหลานในอนาคตจริง ๆ เหรอ ถ้าสังคมมันดี การศึกษาดี ระบบทุกอย่างมันดี แน่นอนว่าไม่มีใครออกมา แต่ที่มันเกิดผลกระทบใหญ่แล้วคนออกมา มันต้องมีอะไรอยู่แล้ว
“ตอนตัดสินใจเข้าร่วมครั้งแรกคือเราอยากไปฟังก่อนว่าทำไมคนถึงออกมาชุมนุม ว่าเกิดอะไรขึ้นถึงออกมาทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยง เราก็งงอยู่เหมือนกันว่าการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้วยซ้ำ ทำไมถึงต้องเสี่ยง ...ทีนี้พอเราไปครั้งแรกปุ๊บ มันทำให้เรารู้สึกเลยว่า นี่เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรามองเห็นอนาคตบ้าง พอจะให้เรามีความหวังกับประเทศนี้บ้าง คือเราอยู่ต่อไปโดยที่ไม่มีความหวังและความฝันไม่ได้แล้วจริง ๆ
“การออกมาชุมนุมแต่ละครั้ง คือเราทุกคนเหมือนถือเทียนไปคนละเล่ม เทียนนั้นคือความหวัง ความฝัน แล้วเราก็หวังว่าถ้าทุกคนไปจุดรวมกัน พร้อมกัน เปลวเทียนแห่งความหวังนี้มันจะต้องใหญ่ขึ้น
“การที่ออกไปเปล่งเสียง มันเป็นเสียงเล็ก ๆ ก็จริง แต่เมื่อรวมกันมันย่อมดัง เราออกไปเปล่งเสียงความต้องการของเราว่า ประเทศมันควรจะดีขึ้นกว่านี้ไหม ...คืออย่างน้อยไม่ว่าจะเป็นกล้อง หรือไมค์ มันก็ยังหันมาที่มวลชนบ้าง เรายังมีพื้นที่สื่อเล็ก ๆ บ้าง หวังว่าการสื่อของเราออกไปครั้งนั้น ผู้ใหญ่ต้องเห็นอยู่แล้ว แต่เห็นแล้วทำอะไรต่อได้บ้าง เราก็อยากตั้งคำถามนี้กลับไป”
ก่อนจบบทสนทนา เราถามถึง ‘ความหวัง’ ของกิ๊ฟในช่วงเวลาอันแสนหดหู่นี้ กิ๊ฟหยุดคิดไปพักหนึ่งก่อนจะตอบกลับมาว่า
“ถ้าไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง ความหวังมันได้สลายไปแล้ว ตั้งแต่วันที่คุณแม่จากไป มันไปพร้อมความฝันด้วย เพราะสุดท้ายแล้วตัวกิ๊ฟเอง ถ้ามองเป็นรูปธรรม อยากให้คุณแม่กินดีอยู่ดี นอนหลับ ไม่ต้องดิ้นรนในการเอาชีวิตรอดในวัย 60-70 ปี ความหวังนี้มันได้พังไปแล้วจากการเสียคุณแม่ในครั้งนี้
“แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองด้วย ทุกวันนี้มองไปทางไหนมันมีแต่คนที่พังไปหมดเลย ถ้าเปรียบเป็นทะเล ปลาใหญ่ยังเอาชีวิตแทบไม่รอดเลย แล้วปลาเล็กปลาน้อยจะรอดได้ยังไง กิ๊ฟมองเสมอว่าไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหนก็คงจะมีความเดือดร้อน ทั้งทางอ้อม ทางตรง ทุกคนได้รับผลกระทบหมด
“ฉะนั้นในเมื่อมันเกิดแบบนี้ขึ้นแล้ว นี่คือการพิสูจน์การทำงานของรัฐได้แล้วหรือยังว่าล้มเหลวแค่ไหน คนที่ไปม็อบ ไม่มีหรอกค่ะคนที่ชังชาติ เราไม่ได้ชังชาติ เรารักบ้านเมืองของเรา เราอยากเห็นทุกอย่างดีขึ้น แล้วก็อยากให้หยุดพูดว่าก็ไปอยู่ที่อื่นสิ คือมันไม่เมกเซนส์เลย เหมือนบ้านเราไม่สะอาดเราก็ทำความสะอาดแค่นั้นเอง ทำไมเราต้องซื้อบ้านใหม่ด้วย
“สำหรับผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด คือกิ๊ฟมีความเข้าใจมากจากคนที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเอง เพื่อน ๆ รอบข้างหรือว่าเป็นคนที่รับผลกระทบ ก็อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคน ตอนนี้มันก้าวผ่านยากจริง ๆ เพราะว่าเรารับมือกับตัวเอง กับทางครอบครัวเรา เนื่องจากบางคนตกงาน บางคนติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ทำงาน แค่จะกินวัน ๆ หนึ่งยังแทบจะไม่มีเลย เราต้องมารับมือกับรัฐบาลชุดนี้อีก ชีวิตมันก็เลยดูยากไปหมดเลย แต่ทีนี้อยากให้ทุกคนมีความหวังว่า มันต้องดีขึ้นสิ มันต้องดีขึ้นได้ ต่อให้มันจะยากแค่ไหน
“ทุกครั้งที่ไปม็อบหรือร่วมการชุมนุม เรามีความหวังเสมอนะคะ ทุกครั้งที่ออกไป แล้วผลตอบกลับมาจากรัฐบาล มันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่มันคือการคุมขังคนที่ออกไปพูด ฉะนั้นคนที่คุณขังไป คุณขังได้แต่ตัวจริง ๆ แต่อุดมการณ์ต่าง ๆ มันไม่ถูกขังไปด้วย ต่อให้จากไปอีกสักกี่คน อุดมการณ์มันจะถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ และเราเชื่อว่ามันจะมีความหวังเสมอ ว่าเราจะสามารถส่งต่อสังคมที่ดีให้กับลูกหลานของเราในอนาคตได้ต่อไป”