04 ก.ย. 2564 | 12:35 น.
“ประเด็นของกระบวนการนี้ไม่ใช่การบังคับตัวเองให้กำจัดของไป ที่จริงมันเพื่อยืนยันว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับของแต่ละชิ้นที่คุณมีอยู่”ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้มีทั้งคนที่ทำใจทิ้งได้ลง และคนที่ขอเลือกเก็บเอาไว้ แต่ไม่ว่าจะเลือกอย่างไหน พวกเขาก็ต้องผ่านวิธีการจัดระเบียบของมาริเอะที่เรียกว่า ‘คมมาริ’ ซึ่งวิธีการนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 5 ข้อ หรือ 5 หมวดหมู่ ได้แก่ เสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร โคโมโนะ (Komono) และของที่มีค่าต่อจิตใจ กองเสื้อผ้าที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ ‘บ้านรก ๆ กระทบถึงความสัมพันธ์’ ทุกครอบครัวที่มาริเอะไปหาไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งของที่วางเกะกะ ไม่เป็นที่เป็นทาง อยู่ผิดหมวดหมู่ ล้วนทำให้สมาชิกในบ้านหงุดหงิด และกลายเป็นชนวนของความสัมพันธ์อันย่ำแย่ แต่ในทางกลับกัน การจัดระเบียบสิ่งของรก ๆ เหล่านั้น คือช่วงวลาที่ทำให้สมาชิกในบ้านได้ใช้เวลาอยู่กับตนเอง และรู้จักคนในครอบครัวมากขึ้น ในการจัดระเบียบขั้นแรก มาริเอะจะให้ทุกคนนำเสื้อผ้าทั้งหมดออกมากองรวมกันในที่เดียว เพื่อให้พวกเขา ‘ช็อก’ กับจำนวนเสื้อผ้าเหล่านั้น และได้ลงมือสัมผัสความรู้สึกจุดประกายจากเสื้อผ้าทีละชิ้น เพื่อเลือกว่าจะให้มันอยู่ต่อไปหรือไม่ นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับเรื่องเสื้อผ้า คือเจ้าของมักจะหาของของตัวเองไม่เจอ และก็ต้องโทรฯ หาภรรยาหรือแม่เป็นประจำ เช่นเดียวกับครอบครัวเมอซิเอร์ (ซีรีส์ตอนที่ 3 The Downsizers) หลังจากที่มาริเอะไปเยือนบ้านของพวกเขา สามพ่อลูกก็ได้สัมผัสความเหนื่อยของ ‘แคทริน่า’ ภรรยาและแม่ที่ต้องรับผิดชอบพื้นที่ ‘ส่วนรวม’ เพียง ‘คนเดียว’ เป็นครั้งแรก แคทริน่าร้องไห้ออกมา เพราะความพยายามในการจัดระเบียบบ้านของเธอไม่เคยยั่งยืน เนื่องจากคนในครอบครัวไม่รู้จักวิธีรักษาความเป็นระเบียบเหล่านั้นเอาไว้
“ทุกคนอาศัยอยู่ด้วยกัน ทุกคนจึงต้องดูแลพื้นที่ของตัวเอง ไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง”มาริเอะแนะนำพวกเขาให้รู้จักรับผิดชอบพื้นที่ของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือ พื้นที่ในบ้านไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ ตู้เสื้อผ้า หรือห้องทำงาน ก็จะต้องถูกแบ่งความรับผิดชอบอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ส่วนในหมวดอื่น ๆ ทั้ง หนังสือ เอกสาร และโคโมโนะ (หมวดใหญ่ที่สุดคือ ห้องน้ำ ห้องครัว โรงรถ และของจิปาถะ) มาริเอะก็ให้ใช้วิธีการตามหาความสุขจากสิ่งของเหล่านั้น เพื่อคัดแยกสิ่งของที่จะเก็บและทิ้ง แต่หากสิ่งของเหล่านั้นมีปริมาณเยอะ เธอแนะนำให้แบ่งเก็บแบบแยกกล่อง เพื่อความเป็นระเบียบและความง่ายในการตามหา เมื่อทุกอย่างถูกทำให้มองเห็นอย่างชัดเจน ก็ถึงเวลาของหมวดสุดท้ายคือ ‘ของที่มีค่าต่อจิตใจ’ ที่มาริเอะขอให้ทุกคนนำมันกลับเข้าไปอยู่ใน ‘สถานที่ที่จุดประกายความสุข’ นำความสุขไปอยู่ในจุดที่มีความสุข มาริเอะชื่นชอบความยุ่งเหยิง และตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นบ้านอันไร้ระเบียบของทุกครอบครัวที่เธอไปเยือน แต่นั่นก็เป็นเพราะเธอรู้ดีว่า แต่ละครอบครัวจะได้ใช้เวลาร่วมกันในการจัดระเบียบบ้านของพวกเขาอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน และเธอยืนยันว่า “คู่สามีภรรยาสามารถผูกพันกันลึกซึ้งขึ้นผ่านการเก็บกวาดได้จริง ๆ” หมวดของที่มีค่าต่อจิตใจอาจเป็นอีกหนึ่งหมวดที่เลือกเก็บและเลือกทิ้งได้ยากที่สุดสำหรับใครหลายคน แต่เมื่อเลือกได้แล้วก็ไม่ใช่แค่เก็บสิ่งของเหล่านั้นเอาไว้ในถุงขยะ หรือในกล่องเฉย ๆ เพราะเท่ากับว่าความสุขที่เราเลือกให้อยู่ต่อในอนาคตจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมันในการกระตุ้นความสุขของเราอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย ภาพถ่าย หรือของสะสม มาริเอะแนะนำให้นำความสุขเหล่านั้นไปวางไว้ยังจุดที่เราจะพบความสุขได้ง่ายและมากที่สุด เช่น การเก็บอัลบั้มภาพไว้ในห้องรับแขก เพราะเมื่อเราเหนื่อยหรือท้อ การมองเห็นความสุขย่อมสร้างพลังใจให้ได้มากกว่า สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้บอกกับเราจึงไม่ใช่แค่วิธีการในการจัดระเบียบบ้านเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วการจัดระเบียบไม่ใช่การทำให้สิ่งของในบ้านเหลือน้อยที่สุด แต่เป็นการทำให้ ‘ความสุข’ เหลืออยู่เยอะที่สุดต่างหาก และวิธีการของมาริเอะที่ไม่เคยบอกให้ใครทิ้งอะไรก็ทำให้พวกเขารู้จักเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งการตัดสินใจของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว และการเคารพต่อความทรงจำและความต้องการของตนเอง ทั้งหมดคือเรื่องราวของ มาริเอะ คนโด หญิงสาวผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาถึงหน้าประตูบ้าน และทำให้ความสุขของครอบครัวเปล่งประกายขึ้นอีกครั้งผ่านการจัดระเบียบบ้านของพวกเขา ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่ https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: https://www.netflix.com/title/80209379 อ้างอิง: ซีรีส์ Tidying Up with Marie Kondo รับชมผ่านทาง Netflix