22 ก.ย. 2564 | 17:04 น.
2 นาที 50.20 วินาที คือเวลาจากจุดปล่อยตัวถึงเส้นชัยที่ระยะทาง 1500 เมตร ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 31.72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ห่างจากสถิติโลกวิ่ง 100 เมตร ที่มีความเร็วเฉลี่ย 37.58 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพียงแค่หลักหน่วย
โดยสิ่งที่ ประวัติ วะโฮรัมย์ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งจากประเทศไทย แตกต่างจากมนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลก อาจเพียงแค่ความพิการของขา แต่นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มของตำนานเหรียญทองของเขา สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก ประวัติ วะโฮรัมย์ เขาคือนักกีฬาระดับตำนาน ผู้เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองจากพาราลิมปิคที่ซิดนีย์ เมื่อปี 2000 จากวีลแชร์เรซซิ่ง ประเภท T54 ระยะ 10000 เมตร แล้วได้เข้าร่วมแข่งพาราลิมปิกอีกรวม 6 ครั้ง จนเป็นเจ้าของสถิติ 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน และอีก 1 เหรียญทองแดง ถ้าย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ประวัติไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด เขาได้สูญเสียขาทั้งสองข้างจากโรคโปลิโอตอนอายุ 3 ขวบ จากเด็กวัยกำลังซนที่ต้องการวิ่งเล่นออกไปทำความรู้จักโลกกว้าง กลายเป็นเด็กที่สูญเสียความสามารถในการเดิน ในตอนนั้นความเจ็บปวดจากโรคร้าย อาจไม่มากเท่ากับความรู้สึกว่าทำอะไรได้ไม่เท่าเด็กคนอื่น ๆ “ตอนเด็กเราเคยถามตัวเองตลอดเวลาว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ ทำกิจกรรมเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ ได้แต่นั่งมองเพื่อนเล่นกีฬา” จุดเริ่มของตำนาน จากตอนแรกที่เรียนร่วมกับเด็กปกติ ประวัติได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ และที่นี่เอง เขาได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าวีลแชร์เรซซิ่งเป็นครั้งแรก หลังจากนั่งอยู่ข้างสนามดูรุ่นพี่นักกีฬาวีลแชร์ซ้อมอยู่ร่วมปี บวกกับได้รับการชักชวนจากอาจารย์ผู้ฝึกสอน ทำให้ประวัติตัดสินใจลองด้วยตัวเอง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขาคิดว่ากีฬาประเภทนี้ไม่น่าจะยาก แต่ความเป็นจริงแล้ววีลแชร์เรซซิ่งกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น “ความยากตั้งแต่ท่านั่ง เราต้องนั่งคุกเข่าตลอดเวลาจนเป็นตะคริว วันแรกที่ลองซ้อมผมถึงกับมือแตกเพราะเราต้องใช้มือในการบังคับรถอย่างมาก จนกลับมาถามตัวเองว่าจะไปต่อดีไหม แต่พอเห็นรุ่นพี่ที่เขาทำได้ก็คิดว่ากว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาก็ต้องเคยผ่านจุดเดียวกันกับเรามาก่อน ทั้งความเจ็บปวด เมื่อยล้า ถ้าเขาผ่านมาได้แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เป็นแรงบันดาลใจให้เราทนฝึกซ้อมจนทำได้ในที่สุด” ผ่านไปสองเดือนประวัติก็สะสมความชำนาญมากขึ้น จนเริ่มคุ้นเคยแล้วจับทางได้ จากมือที่เคยเจ็บก็ทนได้ดีขึ้น อาการตะคริวค่อยหายไป จนคนกับวีลแชร์สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เขารู้สึกถึงความเป็นอิสระยามที่เคลื่อนตัวไปพร้อมกับมีสายลมเย็น ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสร่างกาย ความเป็นอิสระและการเป็นหนึ่งเดียวกับวีลแชร์ ทำให้เขาเริ่มเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งเขาจะมีโอกาสคว้าเหรียญจากพาราลิมปิกเหมือนเช่นรุ่นพี่นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก “ตอนเด็ก ๆ เราแอบมีความฝันอยู่คนเดียวว่าสักวันหนึ่งจะต้องเป็นแซมป์โลกให้ได้ ผมเป็นคนที่ถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องมีความหวัง มีเป้าหมายและจุดหมายที่ชัดเจน ทำให้ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ฮึดสู้จนกว่าจะถึงจุดหมายในที่สุด” ตารางฝึกซ้อมที่อัดแน่น การวางแผนที่จริงจัง ความมุ่งมั่นและมีวินัยของประวัติ เปลี่ยนคนพิการคนหนึ่งที่เคยเคลื่อนไหวร่างกายด้วยความยากลำบาก ให้เคลื่อนที่ไปพร้อมกับวีลแชร์อย่างคล่องแคล่ว บางวันฝึกซ้อมบนถนนระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร รวมถึงการฝึกฝนร่างกายช่วงบนอย่างหนักหน่วงมากกว่าคนอื่น ๆ จนเขาสามารถข้ามขีดจำกัดทางกาย และก้าวผ่านความคิดที่เคยรู้สึกในใจมาตลอดว่ามีไม่เท่าคนอื่นมาได้ “ถึงเราเป็นคนพิการ แต่เราก็ไม่ยอมหยุดแค่นี้ เราต้องทำอะไรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้ เหมือนอย่างกีฬา เราต้องเล่นให้ดีที่สุดให้คนยอมรับให้ได้” แม้ในบางครั้งวีลแชร์จะล้มจากสภาพถนนที่ไม่พร้อม รวมถึงความเหนื่อยล้าที่สะสมอยู่ทุกวัน แต่เขาก็ยังลุกขึ้นมาซ้อมต่อเนื่องแทบไม่มีวันหยุดพัก เพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่าเขาสามารถทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ รางวัลแห่งความพยายามของประวัติที่ช่วยพิสูจน์ว่าทุกอย่างเป็นไปได้คือเหรียญทองแรกของทัพนักกีฬาพาราไทยจากพาราลิมปิกเกมส์ที่ซิดนีย์ จากวันนั้นที่มีส่วนช่วยเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการพาราไทย วันนี้เขาได้ต่อสู้กับอุปสรรคมากมายด้วยจิตวิญญาณของนักสู้ ตลอดการเดินทางที่ไม่ราบเรียบยาวนานกว่า 20 ปี “จากความรู้สึกที่ได้เหรียญทองครั้งแรกจนถึงวันนี้ เราไม่ได้คิดเลยว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ เราอยู่กับกีฬาวีลแชร์มานานกว่าครึ่งชีวิต ซ้อมหนักแทบทุกวัน ทำให้เราเชื่อว่าถ้าทำเต็มที่แล้วถึงลงแข่งขันจะไม่ได้รางวัลที่หนึ่งก็ต้องได้อะไรกลับมาอย่างแน่นอน” แม้บางครั้งมีชั่วขณะที่เขาเคยคิดจะเลิก เพราะการซ้อมที่หนักหน่วงและความเหนื่อยล้าจนร่างกายแทบประท้วง แต่ทุกครั้งที่หายเหนี่อยเขาก็กลับมาตั้งสมาธิฝึกซ้อมต่อ โดยมีครอบครัวและพ่อแม่เป็นที่ยึดเหนี่ยวยามที่ต้องการกำลังใจ ช่วยให้เขาแบกรับความรับผิดชอบในฐานะนักกีฬาวีลแชร์ทีมชาติไทยต่อไปได้ นอกจากอุปสรรคที่ต้องเอาชนะจิตใจของตัวเองแล้ว ความท้าทายจากคนที่เก่งกว่าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้แม้ว่าเขาจะเป็นเจ้าของสถิติมากมาย แต่ก็จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แก้ไขข้อผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ไม่เคยที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ เหรียญเงินจากการแข่งขันประเภท 1500 เมตร รุ่น T54 ในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว อาจไม่พอให้ประวัติหยุดสถิติตัวเองไว้เพียงเท่านี้ เขาตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนัก ตั้งแต่วันแรกที่ธงพาราลิมปิกที่โตเกียวถูกชักลง เพื่อเตรียมร่างประวัติศาสตร์ครั้งล่าสุดในพาราลิมปิกเกมที่ปารีสในอีกสามปีข้างหน้า “ผมเป็นคนที่ตั้งใจอะไรแล้วต้องไปให้ไกลที่สุด ถ้าวันนี้เรายังทำไม่ได้ วันหน้าเราต้องพยายามจนทำให้ได้ ขออย่างเดียวอย่าเพิ่งยอมแพ้หรือท้อถอยกับอุปสรรคไปก่อน สิ่งที่ยากที่สุดคือความกล้าในการทลายข้อจำกัดและลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ผมเชื่ออยู่ตลอดว่าเมื่อเริ่มลงมือทำ ทุกสิ่งก็เป็นไปได้” ถ้าเริ่มลงมือทำ ทุกสิ่งเป็นไปได้ แม้ว่ากีฬาวีลแชร์เรซซิ่งร่างกายส่วนหนึ่งจะเป็นโลหะและล้อยาง แต่สิ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนยังคงเป็นกำลังแขนและแรงใจ ที่นอกจากจะเพื่อเขียนตำนานหน้าใหม่ให้เป็นเกียรติประวัติตัวเองแล้ว ในวันนี้ราชาเจ้าของสถิติพาราลิมปิกเดินทางมาถึงช่วงอายุ 40 อีกสิ่งหนึ่งที่เขาอยากทำคือการส่งต่อความฝัน ความเชื่อและความพยายามให้คนรุ่นต่อไปลุกขึ้นมาเดินบนเส้นทางเดียวกันกับเขาที่เคยผ่านมาแล้ว “ตอนนี้ผมถือว่าอายุค่อนข้างเยอะแล้ว เลยต้องให้ความสำคัญในการวางแผนฝึกซ้อม และดูแลตัวเองไปด้วย ทุ่มเทให้ได้เหรียญทองกลับมาสักสองเหรียญในการแข่งพาราลิมปิกที่ปารีส เพื่อเป็นตัวอย่างในเรื่องความพยายามให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ ที่กำลังประสบความสำเร็จ แล้วส่งต่อพวกเขาให้ถึงจุดหมายที่พาราลิมปิคที่ปารีสในครั้งหน้านี้”