read
interview
10 ก.ย. 2564 | 10:50 น.
‘ศูนย์พักคอยมัสยิดนูรุ้ลยากีน’ จากสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สู่สถานที่พักพิงทางกายของผู้ป่วยโควิด-19
Play
Loading...
ในซอยสุขสวัสดิ์ 14 มัสยิดขนาดสูง 3 ชั้นตั้งตระหง่านอยู่อย่างเงียบงัน ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายยืนคุยกับญาติพี่น้องอยู่ห่าง ๆ โดยมีหน้ากากอนามัยและรั้วของมัสยิดคั่นกลางระหว่างบทสนทนา บริเวณหน้ามัสยิดแวดล้อมไปด้วยร้านรวงไร้ผู้คน เหลือเพียงป้ายที่บ่งบอกว่าเคยเป็นร้านอาหารมาก่อน ส่วนอาคารสอนศาสนาถูกเปลี่ยนเป็นห้องครัวและห้องเก็บของรับบริจาค
นี่คือบรรยากาศของ
‘มัสยิดนูรุ้ลยากีน’
เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ในวันที่แปรเปลี่ยนเป็นศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
“home isolation คือพักอยู่กับบ้านแล้วเดี๋ยวจะมียามา มีอาหารมา แต่ผมดูแล้วชาวบ้านที่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้น้อยมาก ...ก็มีชุมชน มีพวกเรานี่แหละดูแลชุมชนกันเอง… เพราะเราทิ้งไม่ได้ ถ้าให้เขากลับไป เขาก็พาโควิด-19 ไปติดคนอื่นอีกมากมาย เขาสามารถที่จะเสียชีวิตได้เลย ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ช่วยเขา”
‘สุภาพ บูรณะศิล’
ประธานชุมชนมัสยิดนูรุ้ลยากีน เล่าถึงจุดเริ่มต้นการก่อตั้งศูนย์พักคอยแห่งนี้ ซึ่งเคยเกือบจะต้องปิดตัวลง แต่ภายในเวลาราว 1 เดือน สถานการณ์ค่อย ๆ ดีขึ้นจนถึงวันที่มีอาหาร น้ำ ยา และสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอ ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 หลายสิบคน ได้ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนเหลือเพียงหลักหน่วย
และนี่คือเรื่องราวของชุมชนมัสยิดนูรุ้ลยากีนที่ลุกขึ้นมาช่วยกันรับมือกับโรคระบาด ตั้งแต่วันแรกที่เผชิญกับวิกฤต จนถึงวันที่หลายชีวิตได้รอดพ้นจากโควิด-19
เพราะไม่อาจทอดทิ้งพี่น้องในชุมชน
ราวเดือนสิงหาคม 2021 เมื่อเริ่มมีผู้ป่วยโควิด-19 ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การระบาดเริ่มรุนแรงและรวดเร็ว จนกระทั่งชุมชนแห่งนี้มีผู้ป่วยโควิด 63 คน จากกลุ่มเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด 150 คน สุภาพ บูรณะศิล ประธานชุมชนแห่งนี้จึงเริ่มปรึกษากับกรรมการมัสยิด และกรรมการชุมชนเพื่อจะเปลี่ยนมัสยิดที่ว่างเปล่าในช่วงโควิด-19 ให้กลายเป็นศูนย์พักคอยที่รองรับผู้ป่วยจำนวน 60 เตียง จากความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่น รองผู้ว่าฯ ศักดิ์ชัย บุญมา จิรเสกข์ วัฒนมงคล เขตจอมทอง ทางศูนย์ 29 โรงพยาบาลบางปะกอก 9 สน.บางมด และอาสาสมัครอีกหลายชีวิต
“แต่ก่อนเคยประกอบพิธีทางศาสนาที่มัสยิด แล้วก็ช่วงโควิด-19 เยอะ ๆ เขาก็ประกาศให้ปิดมัสยิด แล้วก็ให้มาทำการละหมาดที่บ้าน ก่อนหน้านี้ก็ละหมาดที่บ้านมาพักหนึ่งแล้วครับ ก็ทำให้มัสยิดว่างเปล่า ...เราเลยมีความคิดที่จะเปิดมัสยิดเพื่อเป็นศูนย์พักคอย ให้คนที่ติดโควิด-19 ในชุมชน ได้มาพักอยู่ที่นี่ เพื่อรอโรงพยาบาล รอเตียง
“ตอนแรก ๆ หาที่ตรวจยังหายากเลย เราต้องไปซื้อชุดตรวจมาให้คนที่เราสงสัยกันเอง เราก็ไปซื้ออะไรมาเอง ซึ่งมันใช้งบประมาณทั้งหมดครับ ...แต่เดือนที่ผ่านมา โชคดีที่มีทั้งศูนย์ 29 แล้วก็มีโรงพยาบาลบางปะกอก 9 คอยช่วยเหลือ
“ส่วนหน่วยงานรัฐ ผมว่าเขาก็คอยช่วยนะ แต่เขาก็มีขีดจำกัดของเขา ซึ่งเขาไม่มีงบที่จะมาลงให้ เราก็ต้องต่อสู้กันเอง ซึ่งเราไม่สามารถที่จะปล่อยชาวบ้านในชุมชนของเราแย่ไปกว่านี้ได้”
การก้าวพ้นวิกฤตของศูนย์พักคอยที่เกือบจะปิดตัว
หนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำให้ชุมชนมัสยิดนูรุ้ลยากีนก้าวผ่านวิกฤต คือทีมอาสาสมัครที่เป็นคนในชุมชน บ้างก็ตกงานมาก่อน บ้างก็เคยติดโควิด-19 และกักตัวครบ 14 วัน บ้างก็เป็นชาวบ้านทั่วไปที่มีกำลังหรือความสามารถพอจะช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ
“เหมือนญาติพี่น้องกันทั้งนั้นเลย เพราะเราอยู่กันแบบสันติวิธี คนโน้นช่วยคนนี้ คนนี้ช่วยคนโน้น คอยดูแลกัน มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ”
ส่วนงบประมาณตั้งต้น มาจากการบริจาคของพี่น้องภายในชุมชนและภายนอกชุมชนร่วมกันลงขัน ซึ่งเกือบจะไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
“เขาก็บริจาคมา มียอดประมาณ 100,000 ได้ครับ วันที่หนัก ๆ ก็คือผมจะทำอาหารเลี้ยง 3 มื้อ มื้อละ 120 กล่อง แล้วจะทำให้ทีมงานกินด้วย วันหนึ่งก็ใช้ประมาณ 7,500 - 8,000 บางวันก็ 10,000 บาทก็มี
“พวกเราเปิดมา เพราะว่าเรามีตังค์เป็นแสนก็จริง แต่ว่าเงินหนึ่งแสน ถ้ามองดี ๆ แล้ว เราอยู่ได้ไม่เกินครึ่งเดือน แต่เราก็ยื้อมาจนเป็นเดือนกว่า เพราะว่าเราเซฟให้มากที่สุด ก็มีพี่น้องคนในชุมชน คนนอกชุมชน มาบริจาคมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ผมไม่อยากได้ของบริจาคแล้วครับ ถ้าได้ก็เอานะครับ แต่เราจะไม่ปิด แล้วเราก็จะยื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ หรือว่าให้โควิด-19 หมดไปครับ
“ต้องขอขอบคุณพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นในชุมชน หรือว่านอกชุมชน บริษัทห้างร้าน หรือว่าใครที่ช่วยเหลือมา ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือว่าสิ่งของ ทำให้ศูนย์พักคอยมัสยิดนูรุ้ลยากีนอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง แล้วได้อยู่สู้กับมันไปอีกนานเลย ขอบคุณมาก ๆ ครับ”
ผู้คนที่ตกหล่นจากการเยียวยา
แม้สถานการณ์โควิด-19 ในชุมชนมัสยิดนูรุ้ลยากีนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และเกิน
กำลังการรับมือในระดับชุมชน คือปัญหารายได้ที่ขาดหายไป เพราะบางโรงงานปิดตัวลง หรือบางบริษัทที่ลดเวลาการทำงานโดยไม่มีเงินเยียวยา ทำให้บางครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอจะเลี้ยงปากท้องของสมาชิกภายในบ้าน
“คนหาเช้ากินค่ำมีผลกระทบมาก ๆ ครับ ตกงานอยู่กับบ้านไม่มีอะไรกิน ผมถึงบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลให้คนละ 5,000 ซึ่งผมมองว่า คนที่ได้คือมีโทรศัพท์ คนที่ได้คือเข้าสู่ระบบ แล้วผู้ป่วยติดเตียงล่ะ คนป่วยยากไร้ คนจนไร้ที่พึ่ง แล้วก็คนที่เข้าระบบไม่ได้ล่ะ
“อยากจะให้มองว่า คนที่ลำบากมีอีกเยอะมาก ๆ เลย อย่างน้อย ๆ หนึ่งเลย เขาไม่มีโทรศัพท์ เขาไม่ได้ตังค์แน่นอนเลย ...ถ้าเกิดเป็นไปได้ ผมอยากจะให้ทางหน่วยงานราชการเนี่ย ลองมาเช็กดู แล้วลองมาช่วยดู ต้องขอโทษด้วยนะครับที่ผมพูด แต่ที่พูดเพราะเห็นเขาลำบากเยอะแยะมากมายจริง ๆ ครับ”
ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย ผู้คนในชุมชนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาทำอาหาร ถามไถ่สถานการณ์ และพูดคุยกันอย่างอบอุ่นในอาคารหน้ามัสยิด กระทั่งสิ้นเสียงฝน ผู้ป่วยโควิด-19 สามรายที่หายดีแล้ว ค่อย ๆ ทยอยกันเดินออกมาจากศูนย์พักคอย หญิงสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาอุ้มเด็กน้อยที่เพิ่งหายป่วย แม้จะมีหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า แต่รอยยิ้มและความโล่งใจของเธอได้ส่งผ่านสายตาออกมาอย่างแจ่มชัด เช่นเดียวกับบรรยากาศในชุมชนที่ค่อย ๆ อบอวลด้วยความหวังขึ้นมาทีละน้อย
ศูนย์พักคอยมัสยิดนูรุ้ลยากีนแห่งนี้ จึงนับเป็นภาพการสะท้อนถึงการเกื้อกูลกันของคนในชุมชนท่ามกลางสถานการณ์อันแสนสิ้นหวัง แต่มากไปกว่านั้น ศูนย์พักคอยยังสะท้อนถึงข้อจำกัดของการทำ home isolation และการบริหารจัดการของรัฐที่ยังคงมีผู้คนตกหล่นจากการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
Interview
The People
COVID19
ศูนย์พักคอย
มัสยิดนูรุ้ลยากีน