read
social
10 ก.ย. 2564 | 17:54 น.
มูลนิธิอิสรชน: ‘เพื่อน’ ของ ‘คนไร้บ้าน’ ที่ถูกมองข้ามในยุคโควิด-19
Play
Loading...
เมื่อโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น
ราวกับเรือที่ถูกปล่อยเคว้งกลางน้ำโดยไม่มีสิ่งจำเป็นอย่างไม้พาย ประชาชนหลายส่วนที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานถูกทอดทิ้งให้ออกห่างจากความช่วยเหลือยิ่งกว่าเก่า ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ ซึ่งถูกสะท้อนผ่านมุมมองของ ‘
มูลนิธิอิสรชน
’ กลุ่มเพื่อนผู้ช่วยเหลือ ‘ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’ หรือ ‘คนไร้บ้าน’ ที่ถูกมองข้ามมาอย่างเนิ่นนาน
“วันนี้คนมาสนใจคนไร้บ้านก็เพราะมีคนตายข้างถนน แต่ถามว่าทุกปีมีไหม? มี แต่มันไม่ได้ถูกสะท้อนออกมา หรือคนมองไม่เห็น เพราะกระแสของเรื่องมันไม่ได้ หรือหลายคนยังมีทัศนคติเชิงลบกับคนที่อยู่ข้างถนน หรือคนไร้บ้าน”
‘จ๋า - อัจฉรา สรวารี’ เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของมูลนิที่ช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากว่า 10 ปี เธอเล่าว่า นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ปัญหาด้านทัศนคติคือสิ่งที่น่ากังวลที่สุด เพราะอาจนำไปสู่การเพิกเฉย และการกดทับได้ในเวลาเดียวกัน มูลนิธิอิสรชนจึงดำเนินการช่วยเหลือทั้งในทางปฏิบัติและในเชิงนโยบายมาตลอดภายใต้การทำงานแบบ ‘เพื่อน’
[caption id="attachment_36816" align="aligncenter" width="591"]
'อัจฉรา สรวารี’ เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน
[/caption]
เพื่อนของคนที่สังคมมองข้าม
มูลนิธิอิสรชนเกิดจากกลุ่มคนที่รวมตัวกันหลังเลิกงาน นำโดย ‘นที สรวารี’ นักเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2539 โดยเขาเริ่มทำงานกับเด็กไร้บ้านก่อนจะพบว่า ประเด็นเรื่องผู้ใหญ่ไร้บ้านยังไม่มีหน่วยงานใดลงมาช่วยเหลือ อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกซอกหลืบของสังคม การรวมตัวของนทีและผู้มีอุดมการณ์เดียวกันในวันนั้นจึงกลายมาเป็นความหวังของคนไร้บ้านในวันนี้
อัจฉราเล่าว่า เธอเข้ามาร่วมงานกับมูลนิธิช่วงปี 2550 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน ก่อนที่จะได้ทุนก่อตั้งเป็นมูลนิธิในปี 2554 เพื่อดำเนินงานช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในฐานะเพื่อนของพวกเขา
“คำว่าเป็นเพื่อนคือให้คำปรึกษา ดูแล ช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ให้เป็นตัวเงิน เราไม่ได้คิดว่าจะให้เงินกับคนไร้บ้าน เพราะเขาจะรู้สึกว่า หากทำตัวน่าสงสาร คนอื่นก็จะให้อยู่เรื่อย ๆ หรือบางคนมีศักดิ์ศรี เขาก็ไม่รับ ไม่ขอใคร ดิ้นรนด้วยตัวเอง กินข้าวในถังขยะ หรือกินของที่คนกินเหลือแล้วทิ้ง”
อัจฉรากล่าวว่า การหยิบยื่นเงินให้อาจเป็นการสร้างนิสัยในการพึ่งพาผู้บริจาคมากกว่าการพยายามด้วยตนเอง การไม่ให้เงินจึงถือเป็นกฎเหล็กของทางมูลนิธิ แต่ทางมูลนิธิจะนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่น ปัจจัย 4 การฟื้นฟู การสร้างอาชีพ หรือการพากลับบ้าน
“การเป็นเพื่อนกันคือ ดุได้ เตือนได้ คอยแนะนำ แต่เขาต้องคิดว่า เขาอยากจะพัฒนาตัวเองด้วย แล้วการพัฒนานั้นจะเกิดความยั่งยืน เขาจะไม่กลับมาเร่ร่อนอีก โดยได้กลับคืนสู่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ อาจจะมีงานทำ แต่ไม่ได้กลับบ้าน อยู่บนถนน แต่ไม่ได้เป็นภาระใคร และส่งเงินกลับบ้านได้”
โดยเป้าหมายหลักมูลนิธิอิสรชน คือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน อัจฉรากล่าวว่า คนไร้บ้านคือผลลัพธ์ที่ปลายปัญหาของการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือการศึกษา ซึ่งสังคมไทยยังมีปัญหาเรื่องสิทธิและสวัสดิการในทุกด้าน ตั้งแต่ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งคนธรรมดาที่ไม่มีเงินเก็บ เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นฝุ่นที่ฟุ้งกระจายออกมานอกพรม
โควิด-19 สะท้อนความเหลื่อมล้ำ
อัจฉราและทีมอาสาทำงานในเชิงพื้นที่และนโยบายร่วมกับหลายกระทรวง พวกเขามองเห็นระบบที่ไม่เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวก
“ทุกวันนี้ประชาชนทั่วไปรู้แค่ไหนว่าเรามีสิทธิ์อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นในกลุ่มของคนไร้บ้านก็จะน้อยลงมาอีก หรือเขาอาจจะตามข่าวว่าต้องขึ้นทะเบียนเยียวยา แต่สุดท้ายเขาไม่มีบัตรประชาชน เขาไม่มีโทรศัพท์ เขาก็ถูกลดสิทธิ์ แล้วสิทธิ์ของเขามันหายไปไหน?”
ไม่ใช่แค่สิทธิ์ที่หายไปเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่เมื่อคนไร้บ้านตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์ของพวกเขา ปัญหาเชิงทัศนคติก็ปรากฏขึ้นแทน
“ตลอดการทำงานมากว่า 10 ปี สิ่งที่ต่อสู้ยากที่สุดคือเรื่องทัศนคติ เพราะเขาแต่งตัวแบบนี้ก็จะถูกมองด้วยสายตาที่รังเกียจ เขาก็มีความรู้สึกนะ ขนาดพวกเราปกติ เราไปติดต่องานราชการ เรายังไม่อยากจะไปเลย เราถูกพูดจาไม่ดีใส่ เพราะรัฐไทยหรือราชการไทยโดยส่วนใหญ่จะถือว่าคนเหล่านี้มาขอบริการ แต่ไม่ได้คิดในมุมว่า เขาคือผู้ต้องให้บริการประชาชน”
อัจฉราเสริมว่า แม้ในปัจจุบันภาพของคนไร้บ้านจะปรากฏให้เห็นบนสื่อออนไลน์ จนนำมาซึ่งการช่วยเหลือ แต่ผลที่ตามมานั้นมีสองด้านเสมอ ด้านดีคือมีคนเห็นความเหลื่อมล้ำ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อคนเริ่มบริจาคให้แต่ละกรณี การสืบประวัติอาจไม่ดีพอ และผู้ที่รับเงินไปอาจวางแผนการใช้จ่ายไม่ดีจนเกิดเป็นปัญหา แต่หากจะให้ประชาชนบริจาคให้รัฐ รัฐเองก็ไม่มีความน่าเชื่อพอ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาคือปัญหาเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่หยั่งรากลึกมานาน และถึงแม้โควิด-19 จะแพร่ระบาดมาหลายปี รัฐก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อิสรชนกับการทำงานในช่วงโควิด19
มูลนิธิอิสรชนยังคงแนวทางการทำงานเช่นเดิม คือการลงพื้นที่เป็นหลัก และผลักดันเชิงนโยบาย รวมไปถึงปฏิบัติการตรวจเชิงรุก แจกอาหาร แจกยาฟาวิพิราเวียร์ และช่วยคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน อัจฉราแสดงความเห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐมักจะลงมือทำหลังจากภาคประชาชนเริ่มปฏิบัติก่อนเสมอ
ปัจจุบัน มูลนิธิอิสรชนดำเนินงานทั้งหมดโดยมีทีมงานไม่ถึง 10 คน ซึ่งเป็นอาสาประจำที่คุ้นเคยงาน นอกจากนั้น ในช่วงเวลาปกติจะมีอาสาจร หรือนักศึกษาที่สับเปลี่ยนกันมาทำงานในมูลนิธิราว 100 - 200 คนต่อปี แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงและมีความเสี่ยงสูง ทางมูลนิธิจึงไม่ได้รับอาสาเพิ่ม
นอกจากนี้ การทำงานในช่วงเวลาที่ยากลำบากยังกระทบต่อการระดมทุนของมูลนิธิ จนถึงขั้นทำให้อัจฉราเกือบถอดใจไม่ไปต่อ
“มีช่วงหนึ่งที่ถอดใจจะไม่ทำแล้ว เราทำงานจากเงินบริจาคของประชาชน แต่มันระดมทุนไม่ได้ แล้วก็ไม่มีงบประมาณทางอื่น หรือขอโครงการ เขาก็ไม่ได้มองเห็นความสำคัญของคนไร้บ้าน เขาคิดว่าคนไร้บ้านพัฒนาไม่ได้ เราก็เลยจะถอดใจ แต่คนไร้บ้านเองรวมตัวกันทำผ้าป่าคนเร่ร่อน เพื่อช่วยเหลือคนเร่ร่อน ก็คือชุมชนแถวคลองหลอดนั่นแหละ เขาทำผ้าป่า เพราะอยากให้เราลงมาทำงาน หรือลงมาเป็นเพื่อนกับเขาต่อ”
มูลนิธิยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับองค์กรอาสาอื่น ๆ และหน่วยงานภาครัฐ โดยล่าสุดมีโครงการช่วยเหลือชุมชน ‘ริมคลองหลอด ปลอดโควิด’ เพื่อตรวจเชิงรุก และให้วัคซีน
เมื่อถามถึงปัญหาที่พบบ่อยในการลงพื้นที่ช่วงโควิด-19 อัจฉราเล่าว่า เป็นเรื่องของการประสานและส่งต่อ เนื่องจากเบอร์โทรฯ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 มักจะโทรฯ ไม่ติด หรือโทรฯ ติดก็ไม่มีคนรับ ทำให้การประสานส่งต่อผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก ทางมูลนิธิอิสรชน รวมไปถึงองค์กรภาคประชาชนจึงต้องดิ้นรนกันเอง ทั้งที่จริงแล้วภาครัฐควรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้
“อะไรที่เราพอทำได้อย่างการตรวจเชิงรุกในชุมชน เราก็จะเข้าไปร่วมด้วย เพราะอย่างน้อยก็เป็นเชิงป้องกัน มีเรื่องของถุงปันสุข ในเรื่องของการเยียวยา มีเรื่องของการประเมินสถานการณ์ เคสรับแจ้ง แต่ก็ต้องดูว่าเราทำได้แค่ไหน เราไม่ได้มีรถรับ-ส่ง เราไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง บางอย่างก็ถูกสงวนไว้ หรือทำไม่ได้ เราต้องยอมรับในส่วนนั้น แล้วก็หาช่องทาง หาเครือข่ายคอนเนคชันให้เขาลงมาทำให้แทน”
หนทางที่อยากเห็นในอนาคต
“เรื่องการติดเชื้อของคนที่อาศัยในที่สาธารณะค่อนข้างที่จะน้อย เพราะเขาอยู่ในที่โล่ง ปลอดภัย แต่ว่ามันจะเป็นเชิงทัศนคติที่คนรังเกียจกัน หรือว่าภายนอกเขาสกปรก และเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาด้วยโรคอื่น ๆ แต่บังเอิญว่า ถ้าเป็นโรคอื่น ๆ แล้วติดเชื้อขึ้นมา มันก็เลยแสดงอาการเจ็บป่วยได้เร็ว หรือเสียชีวิตได้”
สิ่งแรกและสิ่งเดิมที่มูลนิธิอิสรชนต้องทำงานร่วมด้วยคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม ต่อมาคือเรื่องการประสานส่งต่อที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในช่วงโควิด-19 มีการจัดตั้งศูนย์พักคอย หรือศูนย์ดูแลสำหรับคนไร้บ้าน และรัฐต้องทำความเข้าใจความต้องการของคนไร้บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด
“เราต้องยอมรับว่า กลุ่มเป้าหมายมีหลากหลาย บางคนยังไม่มีเงินพอจะเช่าบ้าน รายได้รายวันแค่ 300-350 บาท กินก็หมดแล้ว ไหนจะเก็บอีก เพราะฉะนั้น บางคนลดต้นทุนในการเช่าบ้านจึงออกมาอยู่ข้างถนน แต่รัฐใช้การกวาดฝุ่นใต้พรม ไล่เขา ไม่ให้เขานอน ซึ่งรัฐก็ยังจัดการปัญหาไม่ได้ ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
“ณ วันนี้กลายเป็นว่า พอความเหลื่อมล้ำมันเกิดขึ้นเยอะ ภาพที่เห็นคนออกมาอยู่ข้างถนนก็เยอะขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เพราะคนไม่มีกิน คนทำงานไม่ได้ ไม่มีเงินสำรอง ประชาชนไม่มีเงินเก็บ แต่มีหนี้แทน แล้วเขาจะเอารายได้จากไหนกิน เราคาดว่า คนอยู่ในถนนน่าจะเพิ่มมากขึ้น แม้ระบบงานจะเปิดแล้ว”
อัจฉรายังกล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการคือความจริงใจจากภาครัฐ และปฏิบัติการเชิงรุกของผู้มีอำนาจที่มีประสิทธิภาพ เธอเสนอให้ทางภาครัฐยกโปรเจกต์ให้ภาคประชาชนลงมือทำ พร้อมด้วยงบประมาณในการปฏิบัติการ รวมไปถึงเสนอเรื่องการจัดการเชิงนโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะให้ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองเทียบเท่ากับคนอื่น และเธอก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเด็นคนไร้บ้านที่เป็นที่พูดถึงในปัจจุบันจะไม่ใช่แค่การเข้าช่วยเหลือตามกระแส แต่รัฐบาลและสังคมจะให้ความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
“เราคือคนเท่ากัน คนไร้บ้านก็ไม่ได้ต่างจากเรา เราไม่ได้อะไร เขาก็ไม่ได้สิ่งนั้นเหมือนกัน เราได้อะไร เขาก็ควรได้สิ่งนั้นในฐานะพลเมืองเท่ากัน”
ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่
https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ: มูลนิธิอิสรชน
https://www.facebook.com/issarachonfound/
https://youtube.com/c/TheWandererAsia
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
COVID19
โควิด19
มูลนิธิอิสรชน