OneCoin กับปริศนาการหายตัวไปของ ‘รูจา อิกนาโทวา’ นักต้มตุ๋นผู้เรียกตัวเองว่า ‘ราชินีคริปโต’
“ในอีกสองปีจะไม่มีใครพูดถึง Bitcoin อีกต่อไป!”
‘รูจา อิกนาโทวา’ (Ruja Ignatova) กล่าวอย่างมั่นใจต่อหน้าสาธารณชนในวันเปิดตัว ‘OneCoin’ สกุลเงินดิจิทัลตัวใหม่ ในปี 2016 เธอสวมชุดราตรีสีแดงเข้ม ผมยาวสยาย ประดับด้วยต่างหูแวววับ รับกับฉายาที่เรียกตนเองว่า ‘ราชินีคริปโต’ (cryptoqueen)
หนึ่งปีถัดมา รูจาหายตัวไปอย่างปริศนาพร้อมกับเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เธอทิ้งไว้เพียงคำมั่นสัญญา (ที่ไม่เกิดขึ้นจริง) ว่า ‘นักลงทุน OneCoin จะได้เงินเพิ่มเป็นสองเท่า’ และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ารูจาหายไปไหน และอะไรคือสาเหตุการหายตัวไปของเธอ…
Bitcoin Killer ?
ก่อนจะเกิดเรื่องราวกลลวงระดับโลก รูจา อิกนาโทวา คือเด็กสาวหัวดีที่มีดีกรีปริญญาเอกด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยคอนสแตนซ์ (University of Konstanz) เธอเกิดที่เมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย ก่อนจะย้ายไปเยอรมนีพร้อมกับครอบครัวเมื่ออายุได้ 10 ขวบ หลังจบการศึกษา เธอเคยทำงานให้กับบริษัทให้คำปรึกษาชื่อดังอย่าง McKinsey แม้โปรไฟล์บนเรซูเม่จะเป็นเครื่องยืนยันว่าเธอคือหญิงสาวมากความสามารถ แต่รูจากลับมีประวัติคดีฉ้อโกงในปี 2012 เช่นเดียวกัน
หลังจากนั้น เธอได้เริ่มก่อตั้ง OneCoin ร่วมกับ เซบาสเตียน กรีนวูด (Sebastian Greenwood) และ คอนสแตนติน อิกนาตอฟ (Konstantin Ignatov) เมื่อเดือนกันยายน 2014 ก่อนจะขึ้นเวทีประกาศตัวอย่างเป็นทางการในปี 2016
“ฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า [OneCoin] จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งของโลก”
รูจากล่าวด้วยความมั่นใจว่า OneCoin จะสามารถเอาชนะ Bitcoin ได้จนเรียกว่าเป็น ‘Bitcoin Killer’ เลยทีเดียว เพราะเธออ้างว่า OneCoin ทั้งสะดวกกว่า ถูกกว่า และปลอดภัยกว่า ทั้งยังมอบคำสัญญาว่าจะเพิ่มเงินให้สองเท่าสำหรับนักลงทุน OneCoin ทุกคน จากนั้นออฟฟิศ OneCoin ได้ถูกจัดตั้งขึ้นทั่วโลก พร้อม ๆ กับการทุ่มเงินกว่า 4 พันล้านของผู้คนจาก 175 ประเทศ ในช่วงปี 2015 - 2017
คำเตือนและการหายตัวไปของราชินีคริปโต
แม้จะมีหลายองค์กร เช่น สมาคมขายตรงนอร์เวย์ หน่วยงาน Antitrust ของอิตาลี ธนาคารฮังการี ออกมาเตือนผู้คนว่า OneCoin อาจเป็นเพียงกลโกงของรูจา แต่เธอได้ย้ำกับผู้คนในวันเปิดตัวว่า
“เราถูกวิจารณ์หนักมาก เราเป็นเครือข่ายบริษัทการตลาด เราไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลของจริง อะไรก็ตามที่ฉันได้ยิน เราขอบอกต่อผู้กำกับดูแลเลยว่า เราโปร่งใสที่สุด มีอำนาจที่สุด และถูกกฎหมายที่สุดในจำนวนสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมด”
ครั้งหนึ่งที่ Financial Conduct Authority (FCA) ของสหราชอาณาจักรซึ่งมีหน้าที่ควบคุมตลาดการเงินในสหราชอาณาจักร ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับ OneCoin บนเว็บไซต์เมื่อเดือนกันยายน 2016 แต่คำเตือนนั้นกลับถูกลบออกจากเว็บไซต์ในเวลาต่อมา โดย FCA ให้เหตุผลว่า คำเตือนนั้นอยู่ในเว็บไซต์นานพอสมควรแล้ว ขณะที่ผู้สนับสนุน OneCoin ใช้เหตุการณ์นี้เพื่อเป็นหลักฐานว่า OneCoin เป็นการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายและน่าเชื่อถือมากที่สุด
จนกระทั่งตุลาคม ปี 2017 รูจากลับหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย การตรวจสอบพบครั้งล่าสุดคือเที่ยวบินที่เธอเดินทางไปยังเอเธนส์ ช่วงปลายปี 2017 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่เคยมีใครที่สามารถติดตามตัวเธอได้จนถึงปัจจุบัน
ในปี 2019 มาร์ค สก็อตต์ (Mark Scott) ทนายความที่ทำงานให้กับ OneCoin ถูกตัดสินโทษจากข้อหาการฟอกเงิน 400 ล้านดอลลาร์ ขณะที่คอนสแตนติน อิกนาตอฟ น้องชายของรูจาที่ก้าวมาบริหาร OneCoin แทนพี่สาว ได้ถูกจับกุมตัวพร้อมรับสารภาพในข้อหาต่าง ๆ รวมถึงการฟอกเงินและการฉ้อโกง ส่วน OneCoin ได้รับการตรวจสอบแล้วพบว่าสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวไม่เคยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) แต่อย่างใด
เมื่อความจริงถูกเปิดเผย
เมื่อเรื่องราวลวงโลกของรูจาถูกเปิดโปง ได้มีกลุ่มเฟซบุ๊กที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยมีสมาชิกเกือบ 3,000 คน และกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นโดย ‘เจน แมคอดัม’ (Jen McAdam) หนึ่งในคนที่ทุ่มเงินมหาศาลให้กับการลงทุนครั้งนี้
ย้อนไปในช่วงที่ OneCoin เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุน เจน แมคอดัม ได้รับข้อความจากเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนที่เธอไม่ควรพลาด เธอจึงคลิกลิงก์เข้าร่วมการสัมมนาบนเว็บไซต์ของ OneCoin ซึ่งเนื้อหาการบรรยายล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนฝันของสกุลเงินดิจิทัลตัวใหม่ที่คาดว่าจะยิ่งใหญ่กว่า Bitcoin ยิ่งฟังประวัติการศึกษาและการทำงานของรูจา ยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่าการลงทุนครั้งนี้มีความน่าเชื่อถือ และคงมีผลลัพธ์อันหอมหวานในอนาคตอันใกล้
เมื่อการสัมมนาผ่านเว็บไซต์เสร็จสิ้น เจนตัดสินใจลงทุน 1,000 ยูโร ก่อนจะลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งรู้ว่าเธอสามารถเปลี่ยนเหรียญเหล่านี้กลับเป็นเงินยูโรได้ เธอยิ่งเกลี้ยกล่อมให้เพื่อนและครอบครัวของเธอร่วมลงทุนไปด้วยกัน ซึ่งเงินก้อนนั้นมีมูลค่าจนถึงหลักแสนยูโรเลยทีเดียว
เจนตื่นเต้นกับมูลค่า OneCoin ของเธอที่เพิ่มขึ้นบนเว็บไซต์ เธอเริ่มจัดทริปวันหยุด วางแผนชอปปิง และเตรียมใช้เงินที่รอวันงอกเงยตามคำสัญญา
ทว่าช่วงปลายปี 2016 เจนได้รับการติดต่อจากชายแปลกหน้าทางอินเทอร์เน็ต เขาอ้างว่ากำลังศึกษาเรื่อง OneCoin อย่างจริงจังและต้องการพูดคุยกับคนที่เริ่มลงทุนไปแล้ว แม้บทสนทนาผ่านสไกป์คราวนั้นจะเป็นไปอย่างดุเดือด แต่มันกลับเปลี่ยนชีวิตและมุมมองของเธอไปโดยสิ้นเชิง
เพราะคนแปลกหน้าที่ว่านี้ คือ ทิโมธี เคอร์รี (Timothy Curry) ผู้คลั่งไคล้ Bitcoin และศึกษาสกุลเงินดิจิทัลอย่างจริงจัง เขาคิดว่า OneCoin จะสร้าง ‘ชื่อเสีย’ ให้กับคริปโตมากกว่า ‘ชื่อเสียง’ และบอกกับเจนอย่างตรงไปตรงมาว่า OneCoin เป็นคำโกหกคำโตของรูจา แต่เมื่อได้ยินดังนั้น เจนกลับโมโหและตอบไปว่า “งั้นก็พิสูจน์ให้ฉันเห็นสิ!”
ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา เคอร์รีได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีให้เจน ทั้งลิงก์ บทความ และวิดีโอในยูทูบ เธอจึงเริ่มศึกษาข้อมูลเชิงลึก พร้อมกับสอบถามไปยังทีมงานของ OneCoin ว่ามีบล็อกเชนหรือไม่ แต่คำตอบที่ได้รับคือ ‘เธอไม่จำเป็นต้องรู้’ หากเจนยังคงยืนกรานจะขอคำตอบจาก OneCoin ให้ได้ กระทั่งเดือนเมษายน 2017 เจนพบว่า OneCoin ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแต่อย่างใด
ความจริงที่ว่าตัวเลขในเว็บไซต์ OneCoin นั้นไร้ความหมาย ทำให้เธอแทบทรุดลงไปกับพื้น เพราะเธอกับเพื่อนและครอบครัวทุ่มเงินไปหลายแสนยูโรให้กับ OneCoin ด้วยความหวังว่าจะทำให้ชีวิตและการเงินในครอบครัวของเธอดีขึ้น
มากกว่าเรื่องเงินคือความเชื่อ
แม้จะกลายเป็นคดีใหญ่ที่มีเหยื่อจากหลายประเทศทั่วโลก แต่จากสารคดี Money Explained กล่าวว่า ผู้คนที่ถูกโกงครั้งนี้กว่า 40% กลับไม่บอกใครแม้แต่เพื่อนและครอบครัว มีเพียง 20% เท่านั้นที่ออกมาแจ้งความและเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับเจน เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางรายคิดว่า พวกเขาคงไม่มีวันได้เงินคืน ดังนั้นการยื่นเรื่องร้องเรียนคงเปล่าประโยชน์ และบางคนก็ยังคงเชื่อมั่นใน OneCoin อยู่เช่นเดิม
คำถามต่อมาคือ อะไรทำให้คนเชื่อมั่นใน OneCoin ตั้งแต่ต้น ?
หากย้อนไปในวันที่ผู้คนตัดสินใจลงทุนกับ OneCoin บางคนมองว่าพวกเขาอาจจะ ‘พลาด’ โอกาสทองที่เกิดขึ้นในอนาคต หลายคนหลงใหลในบุคลิกภาพและการโน้มน้าวใจของรูจาที่ดูน่าเชื่อถือ มีวิสัยทัศน์ บวกกับโปรไฟล์ด้านการศึกษาและการทำงานของเธอ ทำให้พวกเขาเชื่อได้ยากว่ารูจาจะกลายเป็น ‘นักต้มตุ๋น’
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดึงดูดใจผู้คน ไม่ได้มีเพียงความร่ำรวยที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะหลังจากที่เจน แมคอดัมเริ่มลงทุน และได้เข้ากลุ่มใน WhatsApp เธอมักจะถูกย้ำเตือนว่า เธอเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ครอบครัว’ OneCoin และควรเชื่อมั่นใน OneCoin มากกว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลภายนอก แม้กระทั่ง Google ถึงขั้นบอกว่า “ถ้าคุณมอง OneCoin ในแง่ลบ ก็ไม่ควรจะอยู่กลุ่มนี้”
ไอลีน บาร์เกอร์ (Eileen Barker) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจาก London School of Economics กล่าวว่า แม้เงินอาจผลักดันให้ผู้คนลงทุนตั้งแต่แรก แต่ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ การบรรลุบางสิ่งบางอย่าง คือเหตุผลที่พวกเขายังเชื่อมั่นใน OneCoin บาร์เกอร์มองว่า OneCoin กับลัทธิ Messianic มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ผู้คนเชื่อว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ และไม่ว่าหลักฐานจะเป็นอย่างไร หากลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็กลายเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะยอมรับว่าตนเอง ‘คิดผิด’
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณได้ลงทุนบางอย่าง ไม่ใช่แค่เงินเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อ ชื่อเสียง สติปัญญา ทำให้คุณคิดว่า ‘รออีกสักหน่อย’”
จิตวิทยาการต้มตุ๋น
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการต้มตุ๋นในลักษณะนี้ เพราะสิ่งที่รูจาทำมีชื่อเรียกว่ากลโกงแบบ ‘Ponzi’ ซึ่งตั้งตามชื่อของ ‘ชาร์ลส์ ปอนซี’ ชาวอิตาลีอพยพในยุค 1920 ซึ่งเขาเคยหลอกผู้คนว่าจะเพิ่มเงินลงทุนให้สองเท่า ภายในเวลา 90 วัน แต่แท้จริงแล้วเขากลับเอาเงินของนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายให้กับรายก่อนหน้าแทน
การโกงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงมักจะมีรูปแบบใกล้เคียงกัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการไปตามยุคสมัย และไม่เคยหายไปจากโลกใบนี้ ซึ่งมาเรีย คอนนิโควา (Maria Konnikova) นักเขียนและนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย-อเมริกัน กล่าวว่า
“ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ คุณจะได้พบนักต้มตุ๋นที่ปรากฏตัวขึ้นในช่วงสงครามหรือโรคระบาด หรือช่วงอื่น ๆ ที่น่ากลัวและแปลกใหม่ หรือน่าตื่นเต้นและแปลกใหม่ นั่นคือช่วงที่นักต้มตุ๋นจะเข้ามา แล้วเล่าเรื่องที่คุณอยากเชื่อให้คุณฟัง”
เช่นเดียวกับ OneCoin ที่นับว่าทั้ง ‘แปลกใหม่’ และ ‘น่าตื่นเต้น’ เพราะในช่วงเวลานั้นคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน และยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่ที่รูจาหยิบมาใช้เพื่อกวาดเงินหลายพันล้านไปอย่างปริศนา
นอกจากเรื่องราวของนักต้มตุ๋น มาเรียยังได้ศึกษาถึงลักษณะร่วมของผู้คนที่มักจะถูกโกงทุกยุคทุกสมัย แต่เมื่อศึกษาไปเรื่อย ๆ เธอกลับพบว่า ‘ไม่มีจุดร่วม’ ของคนเหล่านั้น ซึ่งหมายความว่า ‘ทุกคน’ มีโอกาสจะเป็นเหยื่อของกลโกงในรูปแบบที่ต่างกันออกไป เพราะ ‘ความเชื่อใจ’ เป็นธรรมชาติของมนุษย์
“พูดตามวิวัฒนาการแล้ว จริง ๆ เราถูกตั้งโปรแกรมมาให้เชื่อ แต่มันก็อาจแปลว่าเราอาจตกเป็นเหยื่อของคนเลว”
ความเชื่อใจจึงเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ทำให้สังคมเป็นปึกแผ่นและอยู่ร่วมกันได้ ขณะเดียวกันความเชื่อใจเหล่านั้น ก็อาจเป็นช่องว่างให้มนุษย์ทำลายความไว้วางใจของกันและกัน เช่นเดียวกับกลโกงของรูจาในครั้งนี้
แม้จะมีข่าวลือหนาหูว่า รูจาอาจถูกลักพาตัวไปโดยธนาคารที่กังวลว่าเธอจะมาปฏิวัติระบบการเงิน บ้างก็บอกว่าผู้มีอำนาจได้ช่วยเหลือให้เธอหลบซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง บ้างก็บอกว่าเธออาจทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงใบหน้า เพื่อลบเลี่ยงการถูกจับกุม แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังคงเป็นเพียงข่าวลือในม่านหมอกปริศนา
และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 แอคเคานท์ในยูทูบที่ใช้ชื่อว่า Onelife Earth ได้เผยแพร่คลิปของผู้หญิงที่อ้างว่าตนเองคือรูจา และออกมาประกาศตัวว่าเธอพร้อมจะตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการหายตัวไปของเธอ แต่กลับเต็มไปด้วยคอมเมนต์จับผิด เพราะหลายคนมองว่าผู้หญิงในคลิปเป็นเพียง ‘คนหน้าคล้าย’ ที่พยายามแสดงให้เหมือนกับรูจา แถมยังอ่านสคริปต์ตลอดการพูด อีกทั้งสำเนียง น้ำเสียงและบางส่วนของใบหน้ากลับแตกต่างไปจากรูจาอย่างสิ้นเชิง
เรื่องราวของสตรีที่เรียกตัวเองว่าราชินีคริปโตคนนี้ จึงเป็นทั้งบทเรียนราคาแพงสำหรับนักลงทุนหลายคน และยังคงเป็นปริศนาในวงการคริปโตเคอร์เรนซีตั้งแต่ปี 2017 มาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา:
สารคดี Money Explained ตอน Get Rich Quick (เผยแพร่ผ่านช่องทาง Netflix)
https://www.bbc.com/news/stories-50435014
https://markets.businessinsider.com/news/currencies/cryptoqueen-allegedly-started-4-billion-ponzi-scheme-escaped-230000-bitcoin-2021-5
https://www.bbc.com/news/technology-53721017
https://www.youtube.com/watch?v=HpDtxGS7T1g
https://briefly.co.za/105908-ruja-ignatova-where-founder-ponzi-scheme-onecoin.html
ที่มาภาพ:
https://twitter.com/OneCoinCrypto
https://www.youtube.com/watch?v=638_Jpp2Rq8