‘โอซามุ มัตสึบาระ’ ผู้พา Kinokuniya เดินทางไกล จากแดนอาทิตย์อุทัยสู่สหรัฐอเมริกา
ถ้าหาหนังสือเล่มไหนไม่เจอ เชื่อว่าหลายคนจะได้รับคำแนะนำกลับมาว่า “ลองไปดูที่ คิโนะฯ ไหม ?”
เพราะ ‘Kinokuniya’ นับเป็นคลังหนังสือและนิตยสารที่ค่อนข้างครบครันทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แถมยังมีสินค้าอื่น ๆ อย่างเครื่องเขียนไปจนถึงของเล่น และแม้ภายในร้านจะบรรจุหนังสือภาษาอังกฤษไว้มากโข แต่ชื่อ Kinokuniya ก็พอจะทำให้เราเดาออกว่า ร้านหนังสือแห่งนี้มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนอาทิตย์อุทัย
Kinokuniya ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในย่านชินจูกุของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1927 โดย โมอิจิ ทานาเบะ (Moichi Tanabe) ลูกชายของพ่อค้าขายไม้และถ่านหินเชื้อเพลิงซึ่งทานาเบะยืมชื่อร้าน Kinokuniya มาจากชื่อกิจการของคุณพ่อ
ต่อมา Kinokuniya ได้กลายเป็นร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะขยับขยายสาขาไปอีกหลายประเทศ โดยผู้มีส่วนสำคัญในการพาร้านหนังสือแห่งนี้เดินทางไกลไปยังต่างแดน คือ ‘โอซามุ มัตสึบาระ’ (Osamu Matsubara) อดีตประธานและซีอีโอของบริษัท คิโนะคูนิยะ จำกัด โดยมัตสึบาระตั้งใจจะพาวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ และต้องการเชื่อมต่อผู้คนที่มีพื้นเพหลากหลายผ่านหนังสือภายในร้าน
โดย Kinokuniya นอกญี่ปุ่นสาขาแรก ก่อตั้งขึ้นในปี 1969 ที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะเริ่มเปิดสาขาต่อมาในนิวยอร์ก แล้วขยับขยายไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย และดูไบ (UAE)
แม้หนังสือภายในร้านจะมีหลากภาษาหลายหมวดหมู่เรียงรายกันอยู่บนชั้น แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคต่อการค้นหาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับชวนให้ผู้คนเพลิดเพลินใจไปกับการเดินตามหาหนังสือ หรือแม้แต่การเดินเล่นดูหนังสือหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของ Kinokuniya ที่ครองใจผู้คนจนสามารถขยายสาขาไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเบื้องหลังของเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครในร้านหนังสือแห่งนี้ คือปรัชญาขององค์กรที่เปรียบเทียบการทำร้านหนังสือให้เหมือนกับการทำ ‘ละครเวที’
โดยการแสดงละครเวทีที่ว่านี้จะเริ่มต้นขึ้นทุกครั้ง เมื่อลูกค้าได้ก้าวเข้ามาภายในร้าน ฉะนั้นการสร้างความประทับใจต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบร้านที่เปรียบเสมือน ‘เวที’ ส่วนนักแสดงคือ ‘หนังสือและสินค้า’ ที่ต้องมีผู้กำกับและโปรดิวเซอร์อย่าง ‘พนักงาน’ คอยกำหนดทิศทาง ดูแลให้นักแสดงได้เฉิดฉายออกมาอย่างดีที่สุด ทั้งยังต้องมั่นใจได้ว่าพร็อพต่าง ๆ จะวางไว้อย่างถูกจุด เพื่อให้ผู้ชมซึ่งก็คือ ‘ลูกค้า’ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีที่สุดตั้งแต่ม่านเปิดจนถึงวินาทีสุดท้าย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ Kinokuniya จะเป็นร้านหนังสือสุดเนี้ยบตั้งแต่การออกแบบร้าน การจัดระเบียบหนังสือที่ดูสะอาดตา ไปจนถึงการบริการสุดประทับใจจนกลายเป็นร้านหนังสือในดวงใจของผู้คนทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาจนถึงประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน
ที่มา:
https://mothership.sg/2020/01/kenny-chan-kinokuniya/
https://usa.kinokuniya.com/aboutus
https://www.nytimes.com/1981/12/13/obituaries/moichi-tanabe-owner-of-bookstores-in-japan.html
https://kinokuniya.com.sg/corporate-information/core-values/
https://info.japantimes.co.jp/info/kinokuniya.html
ที่มาภาพ
https://info.japantimes.co.jp/info/kinokuniya.html
https://web.facebook.com/Kinokuniya-ประเทศไทย-220317198054310/
http://www.kinokuniya.com/