โดราเอมอน: ที่ญี่ปุ่นมี ‘โรคโนบิตะ-ไจแอนท์’ เป็นภาพแทนของ ‘โรคสมาธิสั้น’

โดราเอมอน: ที่ญี่ปุ่นมี ‘โรคโนบิตะ-ไจแอนท์’ เป็นภาพแทนของ ‘โรคสมาธิสั้น’

‘โรคโนบิตะ-ไจแอนท์’ กลายเป็นภาพแทนของโรคสมาธิสั้น สืบต่อเนื่องมาจากโครงเรื่องและตัวละครใน ‘โดราเอมอน’ ซึ่งได้รับความนิยมมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว

เรื่องโดราเอมอนนี่มีมาตั้งแต่ปี ค. ศ. 1969 ซึ่งก็คือเกิน 50 ปีมาแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนพูดถึงเรื่องนี้ในแง่มุมต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าเวลาผ่านไปกี่ปีก็ยังมีเสน่ห์น่าค้นหา ครั้งนี้จะพูดถึงอีกแง่มุมของเรื่องนี้ คือการนำเอาตัวละครเอกอย่างโนบิตะ และ ไจแอนท์ มาตั้งเป็นชื่อโรค ‘โรคโนบิตะ-ไจแอนท์’ มีด้วยเหรอโรคที่ว่านี้... โดราเอมอน: ที่ญี่ปุ่นมี ‘โรคโนบิตะ-ไจแอนท์’ เป็นภาพแทนของ ‘โรคสมาธิสั้น’ จากที่เคยเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับไจแอนท์ใน https://thepeople.co/giant-doraemon-domestic-violence/  ว่าไจแอนท์เป็นตัวละครที่มีแต่ความรุนแรงก้าวร้าวอยู่ในนามสกุล, ในชื่อจริง, และในฉายาว่าไจแอนท์ แล้วยังเติบโตในครอบครัวที่แสดงออกถึงความรักความห่วงใยอย่างไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรงในการทุบตีลูก ทำให้ไจแอนท์โตขึ้นมาไม่ถนัดการแสดงออกถึงมิตรภาพหรือความห่วงใยเท่าไรนัก มีความใจร้อน มุทะลุ หุนหันพลันแล่น มีแนวโน้มจะใช้กำลังในการตัดสินปัญหา ในขณะที่โนบิตะนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างตรงข้ามกับไจแอนท์ จากที่เคยเขียนเรื่องโนบิตะใน https://thepeople.co/nobita-doraemon/ ว่าโนบิตะมีความเฉื่อย, อ่อนแอ, ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นเหมือนเด็กคนอื่นในวัยใกล้ ๆ กัน และให้ภาพลักษณ์ว่าดูคล้ายเป็นคนหัวทึบนั่นเอง แม้แต่คำว่า โนบิ ในชื่อของตัวเอง ก็ยังแปลว่ายืดหรือเหยียด ซึ่งตีความว่าขี้เกียจ เหยียดตัวนอนกลางวันก็ได้ แต่มีจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่ชื่อ ชิบะ ริเอะโกะ (司馬理英子) เลือกใช้ลักษณะมุทะลุหุนหันพลันแล่นของไจแอนท์ และลักษณะเฉื่อยชาของโนบิตะ ในการอธิบายภาวะบางอย่างของเด็กที่มีอาการ ‘โรคสมาธิสั้น (注意欠陥・多動性障害)’ หรือที่การแพทย์เรียกว่า ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) และค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่า การใช้บุคลิกนิสัยใจคอของตัวละครทั้ง 2 ในเรื่องโดราเอมอนมาอธิบายนั้น ทำให้ผู้ปกครองและคนทั่วไปเข้าใจอาการ ADHD ได้ง่าย โดยคุณหมอชิบะเรียกอาการ ADHD แบบนี้ว่า ‘กลุ่มอาการโนบิตะ-ไจแอนท์ (のび太・ジャイアン症候群)’ แม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นคำศัพท์เฉพาะในวงการแพทย์ แต่ว่าในวงสื่อมวลชนทั้งนิตยสารและโทรทัศน์ก็ใช้คำนี้กันมากพอดู รวมทั้งคณะแพทย์ที่รู้จักสนิทสนิมกับคุณหมอชิบะก็ใช้คำนี้ในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการและจัดสัมมนาวิชาการกันอยู่เนือง ๆ จึงจัดว่าเป็นคำที่ฮิตพอตัว อาการของเด็กที่เป็น ADHD นั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มอาการได้ดังนี้คือ

  1. มีอาการขาดสมาธิ เช่น ไม่สามารถมีสมาธิทำอะไรต่อเนื่องนาน ๆ ได้ เช่น ทำการบ้านนาน ๆ ไม่ได้, เรียนหนังสือนาน ๆ ไม่ได้, ทำอะไรไม่รอบคอบ, ไม่สามารถวางแผนทำอะไรที่มีความเป็นกระบวนการหรือมีลักษณะเป็นขั้นเป็นตอนได้, จับจด, วอกแวกง่าย, และมีการใจลอยหรือเหม่อ, ซุ่มซ่าม, ขี้ลืม เป็นต้น
  2. มีอาการซนผิดปกติแบบอยู่นิ่งไม่ได้, นั่งเฉย ๆ ไม่ได้เพราะต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา, หุนหันพลันแล่น, วู่วาม, ใจร้อน, มีความอยู่ไม่สุข, ยุกยิกตลอดเวลา, ชอบพูดโพล่งออกมาแบบไม่มีบริบท, แสดงออกอย่างก้าวร้าว อาจประสบอุบัติเหตุบ่อย ๆ เพราะความซนผิดปกติ 

เด็กที่เป็น ADHD นั้น อาจเป็นแค่กลุ่มอาการที่ 1 หรือกลุ่มอาการที่ 2 อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรืออาจเป็นทั้ง 2 กลุ่มอาการพร้อมกันก็ได้เช่นกัน แล้วแต่กรณีที่แพทย์จะวินิจฉัยพบ เดิมทีนั้น ตัวคุณหมอชิบะเองเรียกทั้ง 2 กลุ่มอาการแบบเหมารวมว่า ‘กลุ่มอาการโนบิตะ-ไจแอนท์ (のび太・ジャイアン症候群)’ แบบไม่ได้แยกว่าใครเป็นโนบิตะ ใครเป็นไจแอนท์ แต่เป็นจิตแพทย์อีกท่านที่ชื่อ โฮะชิโนะ โยะชิฮิโกะ (星野仁彦) ที่นำแนวคิดเดียวกันมาใช้ แต่แบ่งอาการให้ละเอียดขึ้น โดยใช้คำว่า โนบิตะ-งะตะ (のび太型) เพื่อระบุ ADHD กลุ่มอาการที่ 1 ว่าเป็น ‘กลุ่มอาการโนบิตะ’ ที่มีอาการใจลอย, เหม่อ, ซุ่มซ่าม, ไม่กระตือรือร้น คล้ายบุคลิกของโนบิตะในการ์ตูนอย่างมาก และใช้คำว่า ไจแอนท์-งะตะ (ジャイアン型) เพื่อระบุ ADHD กลุ่มอาการที่ 2 ว่าเป็น ‘กลุ่มอาการไจแอนท์’ คือใจร้อนวู่วาม, หุนหันพลันแล่น, บ้าพลัง, ก้าวร้าว, พูดจาโผงผางกระโชกโฮกฮาก เพราะคล้ายกับบุคลิกของไจแอนท์ในเรื่องเช่นกัน การแบ่งกลุ่มอาการ ADHD ออกเป็นชื่อตัวละครทั้ง 2 แบบนี้ ทำให้เหล่าจิตแพทย์ที่ต้องต่อสู้เพื่อเยียวยาเด็ก ๆ ที่มีอาการ ADHD ดังกล่าว สามารถระบุอาการได้ง่ายขึ้น และอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจง่ายขึ้นอีกด้วย รวมทั้งให้ความรู้เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ของญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น เพราะตัวละครโนบิตะและไจแอนท์นั้นเป็นตัวละครที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้จักดีและเข้าใจบุคลิกดีอยู่แล้ว นับว่าเป็นกุศโลบายของคุณหมอทั้ง 2 ท่านที่นำแนวคิดของการ์ตูนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงทั้งต่อวงการแพทย์และต่อสังคมญี่ปุ่น เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่ https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/