ตระกูลคริสเตียนเซน : เส้นทาง 63 ปีของ 'LEGO' กว่าจะมาเป็นของเล่น ‘หมื่นล้าน’ ที่คนทั่วโลกหลงรัก
บ่ายวันอาทิตย์อัน (ควรจะ) แสนสดใสในปี 1924 ขณะที่ ‘โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน’ กำลังงีบหลับอยู่ภายในบ้าน กลิ่นควันไหม้โชยฟุ้งมาปลุกให้เขารีบรุดไปยังต้นเพลิง เปลวไฟลุกโชนมอดไหม้โรงงานไม้ของเขาจนไม่เหลือเค้าเดิม
แต่เมื่อสืบสาวถึงมือเพลิงกลับไม่ใช่ศัตรูอาฆาต ทว่าเป็น ‘ก็อดเฟรด เคิร์ก คริสเตียนเซน’ ลูกชายวัยประถมที่เล่นจุดไฟเผาเศษไม้จนลุกลามไปทั้งอาคาร
18 ปีต่อมา เหตุการณ์เดิมเกิดซ้ำ แต่คราวนี้ก็อดเฟรดโตเกินกว่าจะเล่นจุดไฟ และสาเหตุแท้จริงคือไฟฟ้าลัดวงจร โอเลจึงเริ่มคิดว่า ถึงเวลาที่เขาควรจะหาวัสดุติดไฟยากกว่าไม้มาทำของเล่นแทนเสียแล้ว…
ใครจะรู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของตัวต่อ ‘เลโก้’ (Lego) และเด็กชายผู้ (ไม่ได้ตั้งใจ) เผาโรงงานในวันนั้นจะกลายเป็นผู้บริหารเลโก้ในเวลาต่อมา
หากเรื่องราววุ่น ๆ ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะเส้นทางตลอด 63 ปีของเลโก้ ล้วนเต็มไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น หวาดกลัว ราวกับนั่ง ‘รถไฟเหาะ’ ที่บางครั้งพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จ แต่บางคราวพุ่งถลาสู่ความล้มเหลวจนเกือบล้มละลายเลยทีเดียว
ช่างไม้ผู้ตามหาของเล่นที่ไม่ไหม้
ย้อนไปก่อนจะมีตัวต่อพลาสติก ในปี 1911 ‘โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน’ (Ole Kirk Christiansen) ชายชาวเดนมาร์กได้ออกเดินทางไปยังเยอรมนีและนอร์เวย์ เพื่อทำงานเป็นช่างไม้ ก่อนจะเก็บเงินก้อนโตกลับมาเปิดกิจการของตัวเองในเมืองเล็ก ๆ ของประเทศเดนมาร์ก พร้อมกับแต่งงานมีครอบครัว
อาชีพช่างไม้ของโอเลค่อนข้างไปได้สวย แม้จะเกิดไฟไหม้โรงงานเพราะลูกชายพลั้งมือ แต่เขาก็ยังมีเงินเพียงพอจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ จนกระทั่งปี 1930 เดนมาร์กเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ คำสั่งสำหรับทำงานไม้ค่อย ๆ น้อยลงเรื่อย ๆ โอเลจึงผันตัวมาทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กที่ซื้อง่ายขายคล่อง รวมทั้งของเล่นสำหรับเด็กที่ทำจากไม้ ส่วนลูกชายตัวแสบอย่างก็อดเฟรดเองก็ได้ฝึกทำของเล่นไม้ไปพร้อม ๆ กับคุณพ่อ
ก่อนหน้านี้ตลาดของเล่นมักเต็มไปด้วยสินค้าจากเยอรมันและวัสดุที่ทำจากเหล็ก แต่ในช่วงสงคราม เหล็กถูกนำไปผลิตเป็นอาวุธ จึงเปิดช่องให้ของเล่นไม้ฝีมือโอเลกลายเป็นสินค้าสุดฮิต จนเขาตัดสินใจเริ่มทำของเล่นขายเป็นหลัก
แต่ชื่อ ‘โรงงานทำไม้บิลลันด์’ เป็นชื่อที่ไม่ติดหูทั้งเด็กและผู้ปกครอง เขาจึงจัดการประกวดชื่อขึ้น แล้วชื่อที่คว้าชัยชนะครั้งนี้ก็คือ ‘LEGO’ ซึ่งมีที่มาจากอักษร 2 ตัวแรกของคำในภาษาเดนมาร์ก นั่นคือ ‘LEG GODT’ (ไลก์-กอดท์) แปลว่า ‘เล่นกันดี ๆ ล่ะ’ (play well) และในภาษาละติน lego ยังหมายถึงการรวมกัน (put together) อีกด้วย ซึ่งความหมายของชื่อนี้ได้กลายเป็นแก่นหลักของบริษัทที่ต้องการช่วยให้เด็ก ๆ ได้ ‘เล่นกันดี ๆ’ ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นเลโก้กลายเป็นบริษัทของเล่นที่ขายดิบขายดี จนไม่สามารถหาไม้มาผลิตได้ทัน บวกกับเหตุการณ์โรงงานไฟไหม้ในปี 1942 ทำให้โอเลเริ่มคิดได้ว่า เขาต้องหาวัสดุชนิดอื่นมาทำของเล่นแทนไม้ แต่ไม่ใช่เหล็กแบบของเล่นเยอรมัน
ขณะที่เปลวเพลิงครั้งที่สองเริ่มมอดดับไป หลอดไฟบรรจุไอเดียของเขาได้ส่องสว่างขึ้น โอเลนึกถึงตัวต่อ ‘พลาสติก’ ซึ่งมีอยู่แล้วในท้องตลาด เขาจึงออกแบบให้มีสีสันสดใสกว่าตัวต่อคิดดี้คราฟต์ของอังกฤษ แล้ววางจำหน่ายในปี 1949 ก่อนจะตามมาด้วยชุดผังเมืองเลโก้ในปี 1955 แต่ปัญหาหนึ่งที่เขาพบ คือตัวต่อเหล่านี้มักจะร่วงลงมาทุกครั้งที่เริ่มวางซ้อนกัน โอเลจึงเพิ่ม ‘ท่อ’ ใต้ตัวต่อเหล่านี้ แล้วนำไปจดลิขสิทธิ์เลโก้แบบใหม่ในปี 1958 ซึ่งนับเป็นปีเกิดของเลโก้อย่างเป็นทางการ
ใครจะรู้ว่าการเพิ่มสิ่งเล็ก ๆ อย่าง ‘ท่อใต้ตัวต่อ’ จะพาเลโก้ไปสู่ความสำเร็จครั้งใหญ่จนสามารถครองใจผู้คนตั้งแต่รุ่นคุณปู่มาจนถึงรุ่นลูกหลาน โดยพวกเขาสามารถต่อเลโก้ได้มากถึง 950,103,765 แบบไม่ซ้ำกัน แต่ในปีเดียวกันนั้นเลโก้ของเขาได้กลายเป็นมรดกตกทอดมายังลูกชายไปโดยปริยาย เพราะเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังจากจดลิขสิทธิ์ได้ไม่นาน
ของเล่นเพื่อสันติภาพ และความรุ่งเรืองของเลโก้
แม้โอเลจะจากไป แต่เลโก้ได้กลายเป็นของเล่นสุดคลาสสิกที่ผ่านไปกี่สิบปีเด็ก ๆ ก็ยังหลงรัก ‘ก็อดเฟรด เคิร์ก คริสเตียนเซน’ ทายาทรุ่นสองที่เข้ามารับช่วงต่อจึงยกเลิกการผลิตของเล่นไม้ในยุค 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันแสนเรืองรองของตัวต่อพลาสติกอย่างเลโก้ พวกเขาส่งของเล่นชนิดใหม่นี้ไปขายใน 42 ประเทศ และสร้างเลโก้แลนด์ สวนสนุกที่มีผู้เข้าชมกว่า 625,000 คนตั้งแต่ปีแรก
แน่นอนว่าวลี ‘เล่นกันดี ๆ ล่ะ’ ยังคงดังก้องอยู่ในหูของก็อดเฟรด ดังพอ ๆ กับเสียงประท้วงของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ออกมาต่อต้านการผลิตของเล่นแนวอาวุธสงคราม เพราะบาดแผลที่พวกเขาต้องก้าวผ่านเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า ‘สงครามไม่ใช่เรื่องสนุก’ จึงไม่ควรนำรถถัง ปืนกล หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบการทำของเล่นเลยแม้แต่น้อย ก็อดเฟรดและพนักงานในบริษัทจึงตั้งปณิธาณไว้ว่าจะไม่ออกแบบของเล่นแนวอาวุธสงครามเด็ดขาด
และเลโก้ก็ยังคงรุ่งเรืองต่อมาจนถึงยุค 1970 ที่มียอดขายปลีกประจำปีกว่า 300 ล้านเหรียญฯ เมื่อก็อดเฟรดเริ่มอายุมากขึ้น เขาได้ยกกิจการให้ลูกชาย ‘เคลด์ เคิร์ก คริสเตียนเซน’ หนุ่มนักสร้างสรรค์ไฟแรงที่ทำให้เลโก้เริ่มมีสีเขียวออกจำหน่าย รวมทั้งต่อยอดความสำเร็จให้พุ่งสูงขึ้นไปกว่าเดิม นั่นคือการคิดค้น ‘มินิฟิกเกอร์’ เลโก้รูปคนที่สามารถนำไปต่อกับเลโก้ชิ้นอื่น ๆ หรือเมืองของพวกเขาได้
สินค้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คงเป็นชุดปราสาทและท่องโลกอวกาศ โดยชุดปราสาทยังคงคอนเซปต์ ‘เล่นกันดี ๆ ไม่มีอาวุธสงคราม’ เพราะเคลด์ทำเลโก้ปราสาทออกมาเป็นสีเหลืองแทนสีเทา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ นำไปต่อเป็นรถถัง แต่หนึ่งปีถัดมา ไอเดียนี้กลับถูกปัดตกไป แล้วปราสาทของเลโก้ก็กลายเป็นสีเทานับแต่นั้นเป็นต้นมา
ไม่เพียงกิจการของเลโก้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะประชากรในเมืองจากเดิมที่มีเพียงหลักร้อย ได้ค่อย ๆ ขยายไปจนถึงหลักพัน ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนที่เพิ่มมานั้น คือพนักงานของเลโก้ที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ของเล่นแห่งจินตนาการ
หากเลโก้เป็นรถไฟเหาะ ช่วงเวลานี้คงเป็นช่วงที่รถไฟกำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่ฟ้า ทว่าครอบครัวคริสเตียนเซนคือนักประดิษฐ์ผู้สร้างสรรค์ แต่ในแง่ธุรกิจ พวกเขาอาจชะล่าใจไปเล็กน้อย...
โปรดระวังวันหมดอายุ (ลิขสิทธิ์)
ถ้าเลโก้มีคำเตือนเหล่าผู้บริหารและพนักงานอยู่ข้างกล่อง คงจะเป็นคำเตือนว่า‘โปรดระวังวัน (ที่ลิขสิทธิ์) หมดอายุ’ เพราะพวกเขาชะล่าใจไปว่าการทำเลโก้แบบเดิมก็น่าจะทำให้เด็ก ๆ มีความสุข และพ่อแม่ยังอุดหนุนอยู่วันยังค่ำ
แต่โชคร้ายที่เรื่องราวไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เพราะเมื่อลิขสิทธิ์ของเลโก้หมดอายุ แบรนด์ใหม่ ๆ จึงเริ่มออกของเล่นแบบเลโก้มาในราคาที่ถูกขึ้น เลโก้จึงถูกแบรนด์อื่น ๆ เบียดแซงไปอย่างน่าปวดใจ ยิ่งช่วงปี 1990 เกมอย่างเพลย์สเตชันหรือนินเทนโด เริ่มเข้ามาครองตลาด ยิ่งทำให้เลโก้เดินทางสู่ภาวะวิกฤต
แต่ใช่ว่าเคลด์จะไม่พยายามแก้ไขปัญหา เขาลองใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เลโก้เป็นเหมือนหุ่นยนต์ แต่กลับนิยมแค่ในห้องเรียน หรืออีกรุ่นที่ออกมาใหม่ ก็มีเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่ถนัดคอมพิวเตอร์ เพราะพวกเขามักจะเข้าไปแฮกระบบแล้วทำให้เลโก้เคลื่อนไหวอย่างที่ใจต้องการ เคลด์จึงตัดปัญหาโดยจัดการประกวดเลโก้ชุดนี้แทน
ต่อมาในปี 1999 เคลด์ตัดใจจากอุดมการณ์ ‘ไม่ผลิตของเล่นอาวุธสงคราม’ เมื่อต้องพยุงให้บริษัทอยู่รอด เขาตัดสินใจจับมือกับสตาร์ วอร์ส ทำเลโก้ชุดใหม่เพื่อพยุงรายได้ของบริษัท ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย แต่ผลปรากฏว่า ปีแรกเขาผลิตออกมา ‘ไม่เพียงพอ’ ส่วนปีถัดมาพวกเขาผลิต ‘มากเกินกว่า’ ความต้องการของลูกค้า เคลด์ทำอะไรไม่ได้นอกจากก้าวต่อไป เขาพยายามหาวิธีอื่น ๆ อย่างออกไลน์เลโก้รูปแบบใหม่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับพังไม่เป็นท่า
ยุค 1990-2000 สำหรับเลโก้จึงเปรียบเสมือนรถไฟเหาะที่กำลังดิ่งลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ระหว่างนั้นท้องฟ้าและแสงสว่างที่เคยเจิดจ้าค่อย ๆ ดูห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ…
วางเทคโนโลยี เปลี่ยนมาใช้ storytelling
ในช่วงเวลาอันแสนมืดมิด ‘โซเรน’ หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์คนใหม่ของเลโก้ได้ลองหาหนทางที่ฉีกกรอบเดิมออกไปอย่างสิ้นเชิง เขานำเสนอ ‘โบนเฮดส์’ เลโก้ที่หน้าตาเหมือนหัวกะโหลก พร้อมเรื่องราวจากไอเดียของชายที่ชื่อว่า ‘คริสเตียน เฟเบอร์’
คริสเตียนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่หมอยังไม่พบวิธีการรักษา ในช่วงเวลานั้น เขาเสนอไอเดียให้โซเรนลองเปลี่ยนจากฮีโร่บนเกาะ กลายเป็นฮีโร่บนใบหน้าของหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง โดยตัวร้ายคือกองกำลังมาคูตา ซึ่งเปรียบเสมือนเซลล์มะเร็งที่กัดกินใบหน้าของหุ่นยนต์ตัวนี้ ส่วนโบนเฮดส์ คือเลโก้ไบโอนิเคิล (Bionicle) ที่ต้องช่วงชิงหน้ากากทองกลับคืนมา
เนื้อเรื่องทั้งหมดถูกแปลงเป็นทั้งแอนิเมชัน วิดีโอเกม หนังสือ และเลโก้ชุดนี้ก็กลายเป็นของสะสมที่ประสบความสำเร็จจนสามารถคืนชีพให้กับบริษัทได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับอาการของคริสเตียน เฟเบอร์ที่ค่อย ๆ ดีขึ้นตามไปด้วย
แม้ไบโอนิเคิลจะประสบความสำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เคลด์ทุ่มเงินให้กับเลโก้สตาร์ วอร์ส และแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในช่วงปี 2003-2004 ซึ่งกระแสภาพยนตร์สองเรื่องนี้เริ่มขาดช่วงไป รายได้ของเลโก้จึงหายวับไปกว่า 220 ล้านเหรียญฯ กลายเป็นจุดต่ำสุดที่เกือบจะ ‘ล้มละลาย’ เลยทีเดียว
เคลด์ไม่อาจต้านทานวิกฤตซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นได้ เขาจึงตัดสินใจทำเรื่องที่แสนเจ็บปวด หากจำเป็นในช่วงเวลานั้น นั่นคือการก้าวลงจากตำแหน่ง CEO แล้วหาคนที่น่าจะสามารถชุบชีวิตกิจการครอบครัวของเขาได้ นั่นก็คือ ยอร์เกน วิก นุดสตอร์ป
เดิมพันสุดท้ายและการกลับไปยังจุดเริ่มต้น
ในช่วงแรก ๆ ยอร์เกนไม่อาจรับมือได้ไหว จนเคลด์ต้องขายเลโก้แลนด์เพื่อต่อชีวิตให้กับบริษัท ซึ่งพนักงานบางคนเปรียบเทียบว่าเหตุการณ์นี้ราวกับการ ‘ขายเลือดออกจากหัวใจ’ เลยทีเดียว
หลังจากขายเลโก้แลนด์ บรรยากาศหม่นเทาเริ่มเข้าปกคลุมทุกพื้นที่ของบริษัท ยอร์เกนเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบ เขาย้ายโรงงานบางแห่ง ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป และเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญที่สุด นั่นคือ ‘การกลับมายังจุดเริ่มต้น’ โดยพัฒนาตัวต่อเลโก้และระบบเลโก้ซิสเทมอีกครั้ง
โชคดีที่การเดิมพันครั้งนี้ไม่สูญเปล่า ตัวต่อเลโก้ได้กลับมาเฉิดฉายโดยมีเลโก้ซิตี้หลากหลายรูปแบบ ทั้งสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ สนามบิน ไปจนถึงท่าเรือ นับแต่นั้นมาเลโก้จึงกลับมาทำสิ่งเดิมที่ถนัด โดยไม่เน้นการตามกระแสมากจนเกินไป หรือผลิตสิ่งที่ฉีกกรอบจนสูญเสียความเป็นเลโก้ และนั่นทำให้ตัวต่อพลาสติกยี่ห้อนี้ได้กลับคืนสู่ตลาดของเล่นอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยในปี 2014 เลโก้กลายเป็นบริษัทของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมภาพยนตร์เลโก้มูฟวี่ออกมาให้แฟน ๆ ได้รับชมกัน
ถ้าเปรียบช่วงเวลานี้กับรถไฟเหาะ คงเป็นช่วงที่ผ่านความสนุก ตื่นเต้น หวาดกลัว และลุ้นระทึกมาได้ ก่อนจะค่อย ๆ ลงจอดอย่างช้า ๆ เข้าสู่ช่วงเวลาที่ได้ผ่อนลมหายใจอย่างโล่งอก
แม้สุดท้ายเลโก้จะต้องสละอุดมการณ์ของเล่นเพื่อสันติภาพไป แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและยังคงคลาสสิกจนถึงตอนนี้ คงเป็นนวัตกรรม ‘ท่อ’ ใต้ตัวต่อพลาสติกที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถต่อยอดจินตนาการได้อย่างใจ และ ‘เล่นกันดี ๆ’ ตามความหมายเลโก้ที่ตั้งใจไว้เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว
ส่วนอนาคตก็ยังไม่แน่นอนว่า เลโก้อาจแล่นฉิวขึ้นฟ้า หรือดิ่งลงมายังพื้นดินอีกครั้งก็ได้…ใครจะรู้
ที่มา:
สารคดี The Toys That Made Us ตอน LEGO
https://brickipedia.fandom.com/wiki/Ole_Kirk_Christiansen
https://www.famousinventors.org/ole-kirk-christiansen
https://www.lego.com/en-us/aboutus/lego-group/the-lego-group-history/
ที่มาภาพ:
https://www.facebook.com/LEGO/
https://www.legofoundation.com/en/about-us/our-story/