‘ป้าฟรุตตี้หอสวนดอก’ ลูกชิ้นยืนกินขวัญใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปี 2564 อาหารสตรีตฟู้ดที่เรารู้จักกันทั่วไปอย่าง ‘ลูกชิ้น’ กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อลิซ่า แบล็กพิงก์ หรือลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ให้สัมภาษณ์รายการหนึ่งว่า เธอคิดถึงลูกชิ้นยืนกินที่บ้านเกิดจังหวัดบุรีรัมย์มากที่สุด ทำให้ร้านลูกชิ้นทอดในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงร้านลูกชิ้นทอดเจ้าอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ครั้งนี้ไปด้วย
เช่นเดียวกันกับร้านลูกชิ้นทอดขวัญใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่าง ‘ป้าฟรุตตี้ ลูกชิ้นทอด’
ความน่าสนใจของร้านป้าฟรุตตี้ คือคุณป้าเจ้าของร้านจะขี่รถเครื่อง หรือรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างออกมาขายบริเวณคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงเวลาดึก ๆ จนเกือบรุ่งสาง เวลาขายไม่แน่นอนนัก แล้วแต่ว่าวันนั้นป้าฟรุตตี้จะมาถึงตอนไหน เตรียมของแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เมื่อมาถึงแล้วจะพบว่า มีทั้งเด็ก ๆ นักศึกษา หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคในโรงพยาบาล ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงคนทั่วไปต่างมาต่อแถวรอซื้อลูกชิ้นทอด และน้ำผลไม้ที่ป้าคั้นสด ๆ มาเอง จนป้าฟรุตตี้เล่าแกมหัวเราะกับเราว่า “ขับมาเห็นยืนต่อแถวกันยาวเหยียด ป้าเกรงใจเขามากที่ให้เขามายืนรอกัน”
‘ป้าฟรุต’ หรือ ‘ป้าฟรุตตี้’ วัย 63 ปีคนนี้เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด เดิมทีป้าฟรุตเคยรับจ้างทำความสะอาดบ้าน แต่เมื่อแต่งงานมีครอบครัวก็เปลี่ยนมาทำอาชีพค้าขาย โดยเริ่มจากการขายผลไม้ก่อน นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกติดปากว่า ‘ป้าฟรุตตี้’
“ตอนแรกเริ่มจากขายผลไม้ก่อน ขายน้ำด้วย เป็นตู้รถพ่วง ตอนหลังเอาลูกชิ้นมาขาย ขายลูกชิ้นดีเลย ส่วนพวกผลไม้ทำไม่ทันก็เลยหยุดไป เหลือลูกชิ้นกับน้ำผลไม้ จะมีน้ำส้มคั้น น้ำมะพร้าว น้ำฝรั่ง ตอนแรกที่ขายน้ำกับผลไม้ก็ไปขายแถวคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขายมาทั้งหมดประมาณ 34 ปีแล้ว แต่ลูกชิ้นขายได้ 10 กว่าปี เอามาอย่างละนิดละหน่อย เพิ่มบางอย่างเข้ามา อะไรขายไม่ดีก็หายไป
“แล้วป้าขายคนเดียว ไม่ได้มีใครช่วย เลยเป็นการขายที่ให้ลูกค้าบริการตัวเอง จะมีน้ำผลไม้วางไว้ให้ใส่ถุง ใส่แก้วเอง มีน้ำแข็งมาให้ เหมือนเป็นกันเอง น้อง ๆ ก็ช่วยป้าไปด้วย รุ่นที่เรียนจบไปแล้วก็ยังแวะมาซื้อกัน ลูกค้าส่วนมากก็เป็นคุณหมอที่เรียนจบไปแล้ว ทำงานก็ยังมาแวะหาเลยเป็นที่รู้จัก มีลูกค้าใหม่มาทุกปี เขาจะบอกต่อกันว่าป้าขายอยู่ตรงนี้นะ”
ป้าฟรุตเล่าว่า เดิมทีไม่ได้ค้าขายเป็นตั้งแต่ต้น จะขายผลไม้ก็ต้องหัดปอกผลไม้ก่อน พอเริ่มรับลูกชิ้นมาขายก็ต้องแกะสูตร ลองผิดลองถูกทำน้ำจิ้ม จนได้มาเป็นน้ำจิ้ม 3 รสชาติของร้านอย่างทุกวันนี้ โดยมีทั้งน้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มสามรส และน้ำจิ้มมะขามที่ป้าเป็นคนทำเองทั้งหมด
ส่วนจุดเริ่มต้นที่ได้มาขายบริเวณคณะทันตแพทยศาสตร์ เกิดจากป้าฟรุตไปทำฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ในคณะชักชวนให้ป้ามาลองขายที่นี่ เดิมทีก็ขายเฉพาะตอนกลางวัน แต่เมื่อขายไปได้สักพัก ลูกค้าเริ่มติดใจ จนนักศึกษาแพทย์เอ่ยปากว่าอยากให้ป้าลองมาขายบริเวณหอพักบ้าง หลังจากนั้นป้าฟรุตจึงเริ่มขายลูกชิ้นใกล้กับหอพักในช่วงเย็น ๆ ไปจนถึงห้าทุ่ม เที่ยงคืน และด้วยความใจดีของป้าฟรุตที่เห็นลูกค้าแวะเวียนมาซื้ออยู่เรื่อย ๆ ป้าฟรุตจึงขยายเวลาเก็บร้านออกไป จนบางวันกว่าจะได้เก็บร้านกลับถึงบ้าน ก็เกือบหกโมงเช้าเลยทีเดียว
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ลูกค้าติดอกติดใจลูกชิ้นร้านป้าฟรุต หลายคนมักจะตอบกลับมาว่าเพราะน้ำจิ้มที่ร้านอร่อย มีของให้เลือกหลายสิบอย่าง โดยมีเมนูขายดีที่สุดคือ ไก่ทอดคาราเกะ ที่ป้าฟรุตบอกว่า เฉพาะไก่ทอดที่นำมาขาย 1 ตู้เต็ม ๆ ก็ประมาณ 10 กิโลกรัมแล้ว ส่วนเมนูอื่นก็มีคละกันไป ครึ่งกิโลกรัมบ้าง 1 กิโลกรัมบ้าง ซึ่งนอกจากอาหารแล้ว ก็ยังมีน้ำผลไม้คั้นสดฝีมือป้าฟรุตที่ถูกอกถูกใจลูกค้าไม่แพ้กัน
นอกจากนั้น ในตอนหลังใครที่เป็นมิตรรักแฟนคลับป้าฟรุตจะพบว่า ป้าได้ทำเพจเฟซบุ๊กของร้านขึ้นมาเพื่อแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะมาขายเวลาไหนบ้าง เพราะระยะหลังป้าฟรุตมีอาการปวดหลัง ปวดเข่ามากขึ้น ทำให้มาขายได้ช้ากว่าปกติ หรือบางวันอาจไม่ได้มาขายเลย จึงต้องอัปเดตให้ลูกค้าทราบผ่านเพจ ‘ป้าฟรุตตี้หอสวนดอก’
“ตอนหลังลูก ๆ ทำเพจให้ ตอนแรกก็ทำไม่เป็น โพสต์ไม่เป็นสักอย่าง ลูกก็บอกให้ลองทำเอง ป้าก็กดเรื่อยเปื่อย อยู่ตรงไหนก็กดถ่ายตรงนั้น ถ่ายรูปก็ยังไม่ค่อยชัด ลูกค้าเขาก็เข้ามาหัวเราะกันเพราะป้าทำไม่เป็น ทำได้แค่นี้ ที่เห็นคนต่อคิวกันเยอะ ๆ เนี่ย ถ้าช่วงสอบจะยิ่งเยอะกว่านี้ คือเป็นเพราะป้าขายดึกด้วย คนอื่นเขาขายหมดแล้วป้าถึงออกมาขาย แล้วแถวนั้นสมัยก่อนยังไม่มีเซเว่น ก็มีป้าขายคนเดียวนี่แหละ แค่แถวหอคนก็เยอะแล้ว บางคนรอไม่ไหวเอากลับไปทอดเองก็มี ช่วงหลังก็ไม่ได้มาขายทุกวันแล้ว บางวันปวดเข่ายืนไม่ไหวก็ไม่ไป ถ้าวันไหนได้นอนเต็มอิ่มก็ไปได้ ช่วงหลังเอาแต่ใจไปหน่อย (หัวเราะ) ไม่สบายนิดหน่อยก็หยุด มีโควิด-19 ด้วย ไปบ้างไม่ไปบ้าง ทำแค่พอกิน
“ถ้าไปทุกวันก็น่าจะมีเงินเหลือเก็บ แต่ลูก ๆ เรียนจบหมดแล้ว ได้มาพอกินก็พอแล้ว แต่ก่อนลูกยังเรียนเรามีแรงไปได้ทุกวัน ตอนหลังมันเวียนหัว แก่แล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อน ถ้าวันไหนไปจะโพสต์ลงเพจ ถ่ายรูปลง มีน้ำถ่ายน้ำ คนที่เคยซื้อจะรู้ว่า รูปนี้คือน้ำหรือลูกชิ้น ป้าก็ถ่ายเดิม ๆ ลูกก็บอกทำไมไม่หัดถ่ายอย่างอื่นบ้าง”
ป้าฟรุตเล่าว่า กระแสลูกชิ้นยืนกินจากลิซ่าก็มีผลทำให้ร้านตนเองขายดีขึ้นเหมือนกัน ในช่วงนั้นมีออแกไนซ์ชวนป้าไปออกบูธขายลูกชิ้น วันนั้นป้าฟรุตลองเปลี่ยนสูตรน้ำจิ้มโดยใส่หอมเจียวลงไปตามแบบฉบับลูกชิ้นยืนกิน ทำให้วันต่อมาเมื่อกลับมาขายที่หอสวนดอกเหมือนเดิม ก็พบว่ามีลูกค้าต่อแถวแน่นและยาวกว่าเดิมมากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่ร้านป้าฟรุตเจ้าเดียว ยังรวมไปถึงร้านลูกชิ้นร้านอื่น ๆ ด้วยที่ป้ามองว่า ได้รับอิทธิพลจากกระแสลูกชิ้นยืนกินในการส่งเสริมการขายไปพร้อมๆ กัน
หลังจากเป็นที่รู้จักในนาม ‘ป้าฟรุตตี้’ ย่างเข้าปีที่ 35 แล้ว เราแอบถามแทนเด็ก ๆ นักศึกษาที่มาฝากท้องร้านลูกชิ้นป้าฟรุตตี้ยามดึกว่า ป้าฟรุตมีแพลนจะเกษียณจากการขายลูกชิ้นหรือไม่ และจะมีลูกหลานมารับช่วงต่อหรือเปล่า ป้าฟรุตตอบว่า ตนเองยังไม่คิดจะเลิกขาย และไม่สามารถตอบได้ว่าจะขายไปถึงเมื่อไร แต่คงจะขายไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลุกเดินไม่ไหว ถึงเวลานั้นก็ค่อยว่ากันอีกที
“ชีวิตไม่แน่ไม่นอน บอกไม่ได้ว่าเราจะมีชีวิตถึงเมื่อไหร่ อยู่ก็ขายไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เจ็บป่วยจนลุกไม่ขึ้นก็ไปอยู่ ถ้าไม่ไหวไม่มีใครทำ ถึงเวลานั้นค่อยว่ากัน ลูกจะทำต่อก็ทำ หลานก็มี ถ้าอยากทำก็ให้ทำ แต่เขาจะทำได้ขนาดไหน เพราะลูกค้าก็ชอบป้าตรงที่ป้าใจดี คุยกับลูกค้าทุกคน เราไปขายของเราก็มีความสุข เห็นลูกค้าแล้วเรามีความสุขมากกว่าอยู่ในบ้าน ไปข้างนอกเจอคนเยอะ ๆ ดีกว่าที่จะมาอยู่บ้าน”
เรื่อง: พิราภรณ์ วิทูรัตน์
ภาพ: พรรณธร พรพนัสศรี