read
social
12 ต.ค. 2564 | 13:43 น.
ผู้ใหญ่ทรรศวรรณ ลิสวน ส่งต่อความรู้ ความเข้าใจ สู่การพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน
Play
Loading...
‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง ที่ว่ากันว่าถูกสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งฉายให้เห็นภาพความอุดมสมบูรณ์ของเมืองสุโขทัยในอดีตกาลได้เป็นอย่างดี
ปี พ.ศ. 2564 คำกล่าวนี้ก็ยังคงเป็นจริง เพราะชาวบ้านในตำบลสารจิตร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กำลังจะผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 ด้วยการใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพื่อพึ่งพาตัวเอง
“เราคิดว่าทางรอดในช่วงโควิด-19 คือการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ควบคู่กับเกษตรทฤษฏีใหม่ โคกหนองนาโมเดล เพราะสิ่งที่จำเป็นที่สุดในตอนนี้คืออาหารและยารักษาโรค ถ้าเราผลิตอาหารได้เอง ปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาโรคได้แล้ว ก็จะทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้อีกทางหนึ่ง”
ผู้ใหญ่นุช-ผู้ใหญ่ทรรศวรรณ ลิสวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ตำบลสารจิตร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ได้เล่าให้ฟังถึงการอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร และที่สำคัญที่สุดคือใช้เพาะปลูกพืชสมุนไพรชั้นดีที่จำเป็นอย่างฟ้าทะลายโจรที่หลายคนเชื่อว่ามีสารสำคัญซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงได้
โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทำให้สมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรเกิดการขาดแคลน โชคดีที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้ให้ชาวบ้านช่วยกันปลูก และผู้ใหญ่นุชมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรไทยเป็นพื้นฐาน ช่วยให้สามารถแปรรูปฟ้าทะลายโจรที่มีความขมบรรจุเป็นแคปซูล ซึ่งเป็นวิธีบรรจุที่สามารถทำเองได้ไม่ยาก เพื่อให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงวิธีการต้มใบสดดื่มควบคู่กับน้ำผึ้งรสหวานแบบง่าย ๆ
“พื้นที่ตรงนี้เดิมเราทำเป็นโคกหนองนาโมเดลมาก่อน ปลูกไม้หลัก ไม้รอง ไม้ล่าง กินหัว กินใบ ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง พอมีโควิดก็ปรับมาปลูกฟ้าทะลายโจรเพิ่ม ทำเป็นคลังยาสำหรับหมู่บ้าน เอาไว้แจกจ่ายไปตามบ้านที่ต้องมีการกักตัว ไม่ต้องไปซื้อราคาแพง เศรษฐกิจแบบนี้อะไรที่ช่วยเหลือกันได้ก็ต้องทำ”
ด้วยที่เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่โคกหนองนา ทำให้บ้านหลังคาแดงของผู้ใหญ่นุชมีการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับการทำเกษตรที่ผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว เห็นได้จากการปลูกพืชผักที่รับประทานได้ไว้มากมาย ไปจนถึงการเพาะเลี้ยงปลาในบ่อซึ่งเป็นแหล่งอาหารคุณภาพดี
แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เป็นทุนเดิม แต่ผู้ใหญ่นุช ได้ย้ำว่าแค่นั้นยังไม่เพียงพอ การจะทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ได้ผลต้องมีการส่งเสริมความรู้ให้กับชาวบ้านได้รับรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ของทำการเกษตรที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“บางทีเขาปลูกแต่ไม่รู้ว่าเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง เราต้องส่งเสริมให้ความรู้ไปด้วย อย่างฟ้าทะลายโจรนอกจากให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกแล้ว เรายังต้องให้เขารู้สรรพคุณทางยา และการแปรรูปเพื่อให้รับประทานได้ง่ายด้วย”
พืชสมุนไพรที่มีประโยชน์อีกหลายอย่างทั้งขมิ้น ป่าช้าเหงา (หนานเฉาเหว่ย) โปร่งฟ้า ไพรเหลือง กระชายขาว ที่ปลูกกระจายอยู่ทั่วบริเวณช่วยยืนยันคำพูดของผู้ใหญ่นุชได้เป็นอย่างดี แล้วเธอยังทำเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านในชุมชนได้เห็น ด้วยการนำเอาสมุนไพรเหล่านี้มาแปรรูปทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำมันนวด ยาดม ที่มีประโยชน์หลายแล้วช่วยสร้างรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน
“เราพยายามพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด และสร้างปัจจัยภายในให้เยอะที่สุด บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องนำเข้า ใช้จากต้นทุนวัตถุดิบที่เรามีอยู่ ซื้อเอาแค่ที่จำเป็น การทำโคกหนองนาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าช่วยแก้ปัญหาได้มากในสถานการณ์แบบนี้”
บ้านไม้ยกพื้นสูงขนาด 2 ห้องนอน ที่ปลูกอยู่บนพื้นที่สูง ติดหนองขนาดย่อม รายล้อมด้วยทุ่งนาและภูเขาแห่งนี้ นอกจากใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรและเพาะปลูกฟ้าทะลายโจรแล้ว โคกหนองนานี้ยังถูกใช้เป็นพื้นที่กักตัวของผู้ที่เดินทางกลับจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยง 13 จังหวัด ตามที่รัฐบาลประกาศอีกด้วย
โดยการรับมือกับกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องทำอย่างเข้มงวด และใช้เจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก นักปกครองท้องถิ่นอย่างผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นด่านหน้าที่คอยคัดกรองควบคุมพื้นที่ของตัวเองให้มีการแพร่ระบาดของโควิดให้น้อยที่สุด รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้กับลูกบ้านอีกด้วย
“ตอนนั้นทางอำเภอศรีสัชนาลัย ให้ทุกตำบลมีสถานที่กักตัว ตำบลสารจิตร ที่เป็นตำบลสุดท้าย ผู้นำชุมชนต่าง ๆ มาประชุมหาสถานที่สำหรับกักตัวถึง 3 ครั้ง ก็ถูกชาวบ้านคัดค้าน ก็เลยเสนอให้เอาบ้านหลังคาแดงของเราที่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่โคกหนองนา มาทำเป็นที่กักตัว เพราะมีพื้นที่กว้างขวางและอยู่ห่างไกลชุมชน”
ผู้ใหญ่นุชเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ที่ต้องกักตัว และต้องหาวิธีลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนในชุมชน เธอจึงได้สละบ้านหลังคาแดงของตนเองเพื่อใช้เป็นที่กักตัวของประชาชน พร้อมทั้งระดมทรัพยากรที่จำเป็นต่าง ๆ ทั้งจากคนในชุมชน หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถูกกักตัวได้มากที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับคือการสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชนได้กลับมารักกันมากขึ้น ช่วยเหลือพึ่งพาและดูแลกันยามทุกข์ยากเดือดร้อน โดยเฉพาะการไม่ตั้งแง่รังเกียจลูกหลานในชุมชนที่กลับมาจากจังหวัดกลุ่มเสี่ยง อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างเข้าใจแล้วช่วยกันป้องกันไม่ให้โรคร้ายแพร่ระบาดต่อไป
ซึ่งผู้ใหญ่นุชบอกว่าเธอใช้เวลาลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด พูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องการแพร่ระบาดให้กับชาวบ้านแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกด้านหนึ่งก็ปรึกษาหารือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งทุกคนก็เข้ามาช่วยเหลือกันอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย จนสุดท้ายสามารถที่จะรับลูกหลานชาวตำบลสารจิตรที่ต้องการกลับจากพื้นที่เสี่ยงได้ทั้งหมด
เมื่อชาวบ้านได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลป้องกันตัวเองทำให้ทุกคน ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน และประสานกับความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
หลังจากชาวบ้านเริ่มเปิดใจ หันมาสามัคคีกัน ไม่ตั้งแง่รังเกียจผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว ทางตำบลสารจิตรเตรียมทำสถานที่กักตัวแห่งที่สองเพิ่มเติม โดยได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนทั้งสละกำลังทรัพย์ กำลังกาย ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนจำนวนมากที่ยื่นมือเอามาช่วย ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจแล้วหันมาช่วยเหลือกันนี้ทำให้ ภาพรวมของชุมชนแห่งนี้ดีขึ้นมาก
ผู้ใหญ่บ้านนุชกล่าวทิ้งท้ายว่า การส่งต่อความรู้จะนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เมื่อทุกคนมีความรู้ก็จะสร้างความเข้าใจทำให้ทุกคนในชุมชนรักสามัคคีช่วยเหลือจนสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
“ในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้คือการสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักสามห่วง สองเงื่อนไข คือการพึ่งพาตัวเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองและชุมชน อยากฝากว่า บ้านเมืองจะมั่นคง ชุมชนต้องเข้มแข็ง ทุกคนต้องร่วมแรงแข็งขัน พร้อมใจยึดมั่นรู้รักสามัคคี มิต้องพลัดถิ่นไกล พ่อยึดให้เป็นวิถี ภาคเพียรตามวิธี ชีวีจะพอเพียง ชุมชนจะมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น