read
social
13 ต.ค. 2564 | 11:28 น.
ร้านกลิ่นหนังสือ: จากครูอาสา สู่เจ้าของร้านหนังสือออนไลน์
Play
Loading...
นี่คือการเดินทางของ ‘เพชร’ เจ้าของร้าน #กลิ่นหนังสือ
ทักษะง่าย ๆ แค่การอ่าน สร้างความสุขมหาศาลให้หลายคน
“เด็กบางคนที่ตอนแรกไม่ยอมแม้แต่จะอ่านเลยสักคำ ตอนนี้เริ่มทำหน้าภูมิใจในตัวเอง บอกครูว่าอ่านได้แล้ว และอ่านได้ถูกต้องจริง ๆ ด้วย
“เด็กบางคน ครูเจอที่ห้องสมุดเสมอ แม้จะอ่านหนังสือไม่คล่อง แต่เด็กที่รักการอ่านย่อมอ่านคล่องขึ้นในสักวันอย่างแน่นอน”
ใครจะรู้ว่าการสร้างโลกใบใหม่ให้กับเด็กบนดอยสูงจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้หญิงเก็บตัวคนหนึ่งมีตัวตนบนโลกออนไลน์ คุณเพชร เจ้าของร้าน #กลิ่นหนังสือ ไม่ต้องการเผยตัว แต่เชื่อแน่ว่าการขายหนังสือของเธอทำให้นักอ่านจดจำทั้งการหยิบเรื่องเล่าของหนังสือมาส่งต่อหรือการห่อหนังสือส่งถึงมือผู้อ่านที่สร้างความประทับใจ
‘กลิ่นหนังสือ’ เกิดขึ้นจากพื้นที่การอ่าน 2 แห่ง คือ ห้องสมุดโรงเรียนบ้านห้วยส้มป่อยในจังหวัดเชียงใหม่ และ The Reading Room ห้องสมุดอิสระแถวสีลม กรุงเทพฯ บวกกับนิสัยรักอ่านตั้งแต่เด็ก แม้บ้านจะอยู่ห่างตัวอำเภอในจังหวัดน่านถึง 30 กิโลเมตร ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือความทันสมัยใด ๆ เข้าถึง แต่โรงเรียนและห้องสมุดคือสเปซซึ่งเติมเต็มช่วงเวลาดี ๆ ของเธอ
“ตอนเด็ก ๆ โรงเรียนที่หมู่บ้านหาหนังสือยากมาก เราไม่ได้อ่านวรรณกรรมดี ๆ หลายอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เจ้าชายน้อยก็ไม่มี หนังสือที่เพชรอ่าน คือการ์ตูนมหาสนุก สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ แค่นี้เลย ต้องรอเก็บเงินไปซื้อในเมือง เล่มละ 10 กว่าบาท สิ่งที่ทำให้เป็นเพชร เป็นร้านกลิ่นหนังสือ ก็คือหนังสือ 10 กว่าบาทเหล่านี้ จะเห็นว่ากลิ่นหนังสือมีวรรณกรรมเยอะมาก เพราะเราอยากชดเชยสิ่งที่เราไม่มี”
ครูอาสาเกื้อฝันเด็ก
“ตอนไปเป็นครูอาสาที่เชียงใหม่ (ปี 2560) เพิ่งเรียนจบสังคมสงเคราะห์ สาขาการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ม.ธรรมศาสตร์ ก็คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ต้องอยู่ประจำตั้ง 4 เดือนกับคนมากมายที่เราไม่รู้จักมาก่อน แต่ไปแล้วเราได้ร้านกลิ่นหนังสือกลับมา หมู่บ้านห้วยส้มป่อยเป็นที่ที่เล็กมาก ๆ แล้วมันก็ทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดมากขึ้นด้วย เราสอนตั้งแต่ ป.1 - ม.3 เลย สอนวิชาศิลปะกับบัดดี้ที่โครงการ ‘ครูอาสาเกื้อฝันเด็ก’ จับคู่ให้อยู่ด้วยกัน มีโปรเจกต์ที่ต้องทำไปพร้อมกันคือวิชาทักษะชีวิต ก็เอาไปบูรณาการกับศิลปะ
“ช่วงนั้นไม่เคยว่างเลย การอยู่ที่นั่นทำให้รู้ว่าเด็กมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนภาษาไทย คือฟังพูดรู้เรื่องแต่อ่านเขียนยังไม่ดี เพชรเลยย้ายเด็ก ๆ ไปเรียนที่ห้องสมุด ถ้าเขามาอ่านหนังสือที่ห้องสมุดน่าจะช่วยพัฒนาการอ่านเขียนของเขาได้โดยไม่ต้องรอเรียนกับครู ตอนนั้นเด็กไม่ค่อยเข้าห้องสมุด เพราะต้องเดินลงบันไดไปอีกอาคาร ถึงแม้ที่นั่นมีหนังสือดี ๆ เยอะมาก”
หลังจากเป็นครูอาสาบนดอยสูงและยืนสบตากับตัวเองในกระจก เธอพบว่าอยากลองเป็นครูที่โรงเรียนในกรุงเทพฯ อีกสักตั้ง กระทั่งพบว่าไม่ใช่ทางที่เธอจะเดิน ระหว่างรอกลับไปบ้านเกิด เธอนำหนังสือที่ตัวเองอ่านมาส่งต่อด้วยการ Blind date ที่ได้เห็นมาจาก The Reading Room พอหนังสือหมดจนต้องซื้อมาเพิ่ม เธอเริ่มเห็นว่างานอดิเรกสามารถสร้างรายได้ได้ ‘กลิ่นหนังสือ’ จึงก่อร่างสร้างตัวขึ้น
“แล้วจะเกิดอะไรต่อ ถ้าเราเข้าใจกันดีขึ้น?”
“คุณมองไม่เห็นเลยหรือ?...เรื่องไม่ได้หยุดเพียงแค่ว่า ‘จะเกิดอะไรต่อ’ คนบางคนโปรดปรานการอ่านตารางการเดินรถไฟ อ่านได้อ่านดีทั้งวัน บางคนก็สนุกกับการสร้างเรือจำลองด้วยก้านไม้ขีดไฟ แล้วจะแปลกที่ตรงไหน ถ้าผมเป็นคนเดียวในโลกที่มีความสุขกับการพยายามทำความเข้าใจในตัวคุณ”
“เป็นงานอดิเรกไปเลยหรือ?” นาโอโกะหัวเราะร่วน
“ช่าย, จะมองในแง่งานอดิเรกก็พอได้ คนปกติสามัญ อาจเรียกว่าสัมพันธ์ฉันเพื่อน หรือความรัก หรืออะไรสักอย่าง แต่ถ้าคุณอยากเรียกว่างานอดิเรก ก็ทำได้เต็มที่”
ดังปรากฏในหนังสือ ‘ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย Norwegian Wood’ หน้า 178 ของ ฮารูกิ มูราคามิ งานอดิเรกของวาตานาเบะคือการอ่านใจหญิงสาวที่เขารู้สึกพิเศษ เช่นเดียวกับงานอดิเรกของคุณเพชรสมัยเป็นครูอาสา เธอชอบนั่งอยู่หน้าเคาน์เตอร์ห้องสมุดและรอคอยการมาถึงของเด็ก ๆ
“ตอนอยู่ห้วยส้มป่อย จะชอบการนั่งที่หน้าเคาน์เตอร์แล้วรอคนเข้ามาพูดคุยกับเรา สัปดาห์แรกเพชรย้ายหนังสือที่เหมาะกับเด็ก ๆ ที่อยู่บนชั้นสูง ๆ มาเรียงหน้าเคาน์เตอร์ ให้เด็กประถมหยิบถึง เรียงในแบบที่เรารู้สึกว่าเป็นระเบียบแต่ไม่ได้เป็นทางการมาก แล้วตั้งใจว่าเด็กที่เข้าห้องสมุดมาคนแรก เพชรจะชวนมาเป็นบรรณารักษ์ วันนั้นก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งเข้ามา หลังจากนั้นเด็กกลุ่มนี้ก็ช่วยเพชรและเป็นบรรณารักษ์ตลอดเทอมที่เพชรอยู่เลย
“เราตั้งกฎการจัดการห้องสมุด ทำแต้มสะสม ตอนนั้นอยู่บนดอย ไม่ได้ลงไปซื้อสติ๊กเกอร์ในเมือง ก็ชวนเด็กมาทำสติ๊กเกอร์น่ารัก ๆ ถ้าใครเข้ามายืมหนังสือก็จะติดสติ๊กเกอร์ให้ เด็ก ๆ ก็มีแรงจูงใจเข้าห้องสมุด เพชรไม่ได้ตั้งกฎว่าเข้ามาแล้วต้องอ่านอะไร อ่านยังไง เด็ก ๆ จะอ่านอะไรก็ได้ ถ้าเขาหยิบมาเล่มหนึ่งแล้วรู้สึกไม่ใช่ เขาก็เปลี่ยนได้ เพชรเทรนบรรณารักษ์ไว้แล้ว เด็กที่ไม่รู้ว่าอยากอ่านอะไร เหมาะกับหนังสือแบบไหน ไม่แน่ใจว่าจะเลือกแบบไหน สามารถถามได้ตลอด จะนอนอ่าน นั่งอ่าน หรือคุยกันสักเล็กน้อยก็ได้ เด็กบางคนก็นอนอ่านบนบันได
“ห้องสมุดไม่ต้องเงียบจนเกินไป อยากให้เด็กรู้สึกว่า การเข้าห้องสมุดเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย มีความสุข พอไม่มีอินเทอร์เน็ต เด็กก็เข้ามาที่ห้องสมุดเยอะมาก เราก็ทำระบบยืม-คืนให้ชัดเจน ก่อนเพชรมาสอน สมุดบันทึกยืม-คืนเขียนแผ่นสองแผ่น ตอนเรามาใช้หมดเป็นเล่มเลย ใช้เยอะมาก จนต้องขึ้นเล่มใหม่”
บรรยากาศในร้าน
พอเป็นการ #ขายหนังสือออนไลน์ จะรอให้คนเปิดประตูเข้ามาเลือกหนังสือ มานั่งคุยกัน ก็ทำไม่ได้แล้ว อะไรล่ะที่ทำให้ลูกค้าติดใจบรรยากาศใน #ร้านหนังสือออนไลน์ ได้
“Instagram มีฟังก์ชันให้ถามคำถาม เราจะใช้ค่อนข้างบ่อย พิมพ์ open ทิ้งไว้ บางทีลูกค้าก็แวะเข้ามาถาม มาขอคำปรึกษา คุยเรื่องทั่วไปหรือปรึกษาปัญหาชีวิตบ้าง เราก็พยายามปรับมาเรื่อยๆ เพราะตัวเองก็เป็นคนโลว์เทค แต่เพชรคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันเหมือนเป็นหน้าร้านจริง ๆ
“#ห่อหนังสือ ที่เราส่งให้ลูกค้าก็ช่วยส่วนหนึ่งนะ มันเหมือนเวลาเราเห็นอาหาร โดยที่ไม่รู้ว่าจานนี้จะอร่อยไหม แต่ถ้าเชฟทำให้หน้าตาดูสวย น่ากิน Stunning อาจทำให้รสชาติอร่อยขึ้น ลูกค้ายังไม่เปิดอ่าน แต่เห็นแพ็กเกจ รวงข้าว ดอกไม้ กระดาษต่างๆ ที่ตั้งใจห่อ เพชรคิดว่าเขารับรู้ได้ว่าร้านทำมาให้อย่างดี ใส่ความตั้งใจ ใส่ใจลงไป มันส่งผลถึงความรู้สึกและรสชาติในการอ่านหนังสือได้”
Online Bookshop ร้านเติบโตคนเติบโต
ในขวบปีที่ 27 ควบการทำร้านหนังสือออนไลน์เป็นปีที่ 3 ตอนนี้เธอมีทีมงานเพิ่มมาอีก 3 คน พร้อมกับการวางแผนที่จริงจังมากขึ้นเรื่องการตลาดและงานขายบนเว็บไซต์ Klinnangsue.co
“ปีที่แล้ว เริ่มตอบแชตลูกค้าไม่ทันจริง ๆ ต้องทำงานหนักมาก มีคนแพ็กหนังสือคนหนึ่ง ที่เหลือคือเรา ต้องดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่จัดซื้อหนังสือ ตอบแชตลูกค้า ติดต่อนักเขียนใหม่ ๆ สำนักพิมพ์ สายส่ง ทำเองเกือบทุกอย่าง ส่งหนังสือเองด้วย ลูกค้าเยอะขึ้น ร้านใหญ่ขึ้น ปีนี้เลยวางแผนว่าจะต้องมีทีมเข้ามาช่วยผ่อนแรง พอเอางานอดิเรกมาเป็นงานประจำก็รู้สึกว่าใช้โซเชียลฯ เยอะมาก ๆ ถ้าได้แอดมินมาช่วยก็จะถอยมานิดหนึ่ง แต่การคุยกับลูกค้าก็ยังเป็นเราอยู่ ถ้าออนไลน์ลงตัว เพชรอาจดูแลในภาพรวมมากขึ้น
“ตั้งแต่เรียนจบมาก็ทุ่มให้กับกลิ่นหนังสือทั้งหมด ยังมีอีกหลายอย่างที่อยากทำ เพราะเราเพิ่งอายุ 27 เอง บางทีก็อยากเขียนหนังสือของตัวเอง อยากมีสำนักพิมพ์ อยากพิมพ์งานแบบที่เราชอบ หรืออาจจะขยับไปทำบล็อกหรือยูทูบ อยากฝึกเล่นดนตรี พอมีทีมก็มีเวลาไปทำอย่างอื่น ได้ไปใช้ชีวิตของตัวเองบ้าง เมื่อก่อนทุกอย่างของกลิ่นหนังสือแทบจะเป็น 24 ชั่วโมงของเรา”
ปัจจุบันยอด Followers ในอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ @klinnangsue มากกว่า 62,000 คน และคุณเพชรยังคงรันกิจกรรมที่น่าสนใจให้ร้านหนังสือออนไลน์เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชีวิตของใครหลายคนอย่างสม่ำเสมอ
หนังสือทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมาไกลถึงเพียงนี้ แล้วชีวิตของคุณมีแรงขับเคลื่อนเป็นอะไร แบ่งปันกันได้นะ
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากเฟซบุ๊กแฟนเพจโครงการครูอาสาเกื้อฝันเด็ก
facebook.com/childsdreamvolunteer
ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่
https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/
เรื่อง: สุพรรณี สงวนพงษ์
ภาพ: ร้านกลิ่นหนังสือ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ASW เปิดศักราช 2568 โตแรง! กวาดยอดขาย 8,320 ล้านใน 3 เดือน รับดีมานด์ภูเก็ต-แนวราบพุ่ง
03 เม.ย. 2568
ของมันต้องลอง! “มาม่าคัพ รสหม่าล่า” เผ็ดร้อนลิ้นชา อยากหม่าล่า ก็มาม่าดิ
03 เม.ย. 2568
TOA กับการผนึกกำลัง JOMOO บุกตลาด Smart Toilet สุดพรีเมียม ชูจุดแกร่งเทคโนโลยีล้ำ ตอบโจทย์ชีวิตเหนือระดับ ขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นมากกว่าสี
03 เม.ย. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
ร้านหนังสือ
klinnangsue
ร้านกลิ่นหนังสือ