“ปิกา ปิกา ปิกาจู!”
เชื่อว่าใครหลายคนคงเผลอดัดเสียงและใส่จังหวะลงไปในประโยคดังกล่าวกันบ้าง เพราะนั่นคือความคุ้นเคยของผู้ที่รู้จักเกม ‘โปเกมอน’ (Pokémon) และผู้ชื่นชอบ ‘ปิกาจู’ (Pikachu) โปเกมอนตัวสำคัญที่ครองใจคนทั่วโลกมากว่า 20 ปี
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ตัวเล็ก มีหูและหางยาว ทำให้ใครหลายคนคิดว่าปิกาชูเป็นหนูที่รวมร่างกับกระต่าย และมีพลังในการช็อตไฟฟ้า แต่แท้จริงแล้วต้นกำเนิดของปิกาจูไม่ใช่สัตว์ทั้งสองชนิดที่กล่าวมา หากแต่เป็นขนมญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘ไดฟูกุ’ (Daifuku) และ ‘กระรอก’ ที่นักออกแบบกราฟิกอย่าง ‘อัตสึโกะ นิชิดะ’ (Atsuko Nishida) ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างปิกาจูขึ้นมา
ไอเดียเกมในตำนานอย่างโปเกมอนถือกำเนิดมาจากความชอบในการสะสมแมลงช่วงวัยเด็กของนักออกแบบเกมจากบริษัท ‘เกม ฟรีก’ (Game Freak) ที่มีชื่อว่า ‘ซาโตชิ ทาจิริ’ (Satoshi Tajiri) โดยมีเพื่อนนักออกแบบอย่าง ‘เคน ซุงิโมริ’ (Ken Sugimori) พร้อมทีมงานที่รวมไปถึง อัตสึโกะ นิชิดะ มาร่วมกันออกแบบโปเกมอนรุ่นออริจินอลจำนวน 151 ตัว ก่อนที่ปัจจุบันจะถูกพัฒนาขึ้นมากถึง 800 ตัว
“โปเกมอนเป็นเกมที่เหล่าสัตว์ประหลาดจะมาต่อสู้กัน ตอนนั้นผมคิดว่าเพราะพวกมันเป็นสัตว์ประหลาดจึงควรจะดูแข็งแกร่ง แต่ผมก็อยากได้ตัวที่น่ารักบ้างเหมือนกัน”
ซุงิโมริเล่าว่า ในช่วงนั้นนักออกแบบในบริษัทมีจำนวนน้อยมาก และเขาคือผู้ที่รับผิดชอบงานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการออกแบบของเขายังเกิดขึ้นจากมุมมองของผู้ชายทำให้ไม่สามารถสร้างโปเกมอนที่น่ารักอย่างที่ต้องการออกมาได้ สุดท้ายซุงิโมริจึงขอให้นิชิดะ ผู้เคยร่วมงานกับเขามาก่อนในเกมที่มีชื่อว่า ‘Pulseman’ (1994) เข้ามาช่วยออกแบบโปเกมอนไทป์ไฟฟ้า (Electric-type)
นิชิดะเริ่มไอเดียของเธอจากสิ่งที่คล้ายขนมหวานญี่ปุ่นที่เรียกว่า ไดฟูกุ ซึ่งมีลักษณะเหมือนโมจิมีไส้ เธอใส่หูเพิ่มลงไป และตั้งชื่อว่า ‘ปิกาจู’ โดยคำว่า ‘ปิกา’ (pika) เป็นการเลียนเสียงไฟฟ้าช็อตในภาษาญี่ปุ่น ส่วนคำว่า ‘จู’ (chu) คือเสียงที่กระรอกชอบทำ
“ตอนนั้นฉันหมกมุ่นอยู่กับกระรอก ฉันไม่ได้เลี้ยงกระรอกหรอก แต่ฉันก็อยาก เพราะคิดว่าการเคลื่อนไหวของพวกมันดูตลกดี ฉันได้รับแรงบันดาลใจในการให้ปิกาจูเก็บไฟฟ้าไว้ในกระพุ้งแก้มจากการเก็บอาหารไว้ในปากของกระรอก”
เมื่อนิชิดะนำแบบของปิกาจูมาให้ทีมงานดู พวกเขาชื่นชอบรูปร่างและชื่อที่น่ารักของปิกาจูเป็นอย่างยิ่ง ซุงิโมริได้ออกแบบสีของมันเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่ตัวละครไทป์ไฟฟ้ามักจะใช้ หลังจากนั้นนิชิดะจึงออกแบบปิกาจูในร่างที่มีวิวัฒนาการแล้วออกมาอีก 2 ร่าง ได้แก่ ‘ไรจู’ (Raichu) และ ‘โกโรจู’ (Gorochu) ซึ่งร่างสุดท้ายนั้นมีทั้งเขาและเขี้ยวราวกับเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า แต่สุดท้ายโกโรจูก็ถูกตัดทิ้งไปด้วยเหตุผลด้านเทคนิค
“ไม่มีอะไรผิดเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของมัน เราแค่ต้องการสร้างความสมดุลให้กับเกม” ซุงิโมริเอ่ย
‘โคจิ นิชิโนะ’ (Koji Nishino) ผู้ออกแบบเกมโปเกมอนอีกคนยังเล่าเพิ่มเติมว่า พวกเขามีปัญหาเรื่องขนาดของข้อมูลเกม ทำให้จำเป็นต้องประหยัดพื้นที่ และเนื่องจากปิกาจูไม่ใช่หนึ่งในสามตัวละครเริ่มต้น ทำให้การตัดวิวัฒนาการของปิกาจูออกไปไม่ใช่เรื่องที่ยาก
นอกเหนือจากตัวละครที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอดอย่างปิกาจู นิชิดะยังมีส่วนออกแบบโปเกมอนตัวอื่นอีก เช่น 3 โปเกมอนตัวหลักอย่าง ฟุชิกิดาเนะ (Bulbasaur) ฮิโตคาเงะ (Charmander) และเซนิกาเมะ (Squirtle) รวมไปถึง ‘อีวุย’ (Eevee) ในร่างที่วิวัฒนาการแล้ว เช่น ‘กราเซีย’ (Glaceon) ‘เอฟี’ (Espeon) ‘นิมเฟีย’ (Sylveon) และ ‘ลีเฟีย’ (Leafeon)
[caption id="attachment_37476" align="aligncenter" width="538"]
Bulbasaur[/caption]
[caption id="attachment_37477" align="aligncenter" width="560"]
Squirtle[/caption]
[caption id="attachment_37478" align="aligncenter" width="580"]
Charmander[/caption]
[caption id="attachment_37479" align="aligncenter" width="586"]
Glaceon[/caption]
จากแรงบันดาลใจในวัยเด็ก และจินตนาการอันล้ำเลิศของนักออกแบบ รวมไปถึงทีมงานเพียง 10 ชีวิตในบริษัทเกม ฟรีก ทำให้เกมโปเกมอนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างเนิ่นนานมากว่า 2 ทศวรรษ ทั้งยังทำให้ช่วงชีวิตในยุค 90s ของใครหลายคนเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และความทรงจำที่จนถึงตอนนี้ก็ยังน่าคิดถึง
‘โปเกมอน’ (Pokémon) ถือเป็นแฟรนไชส์ที่คืนชีวิตและสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับบริษัทผู้ผลิตอย่าง ‘นินเทนโด’ (Nintendo) ‘ครีเจอร์ส’ (Creatures Inc.) และ ‘เกม ฟรีก’ (Game Freak) โดยชื่อเสียงของโปเกมอนโด่งดังขึ้นตั้งแต่เกมเจเนอเรชันแรกอย่าง ‘Pocket Monsters: Red and Green’ ถูกปล่อยออกมาในปี 1996 และเกิดเป็นแฟรนไชส์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จากวิดีโอเกมไปสู่อนิเมะ มังงะ การ์ดสะสม ของเล่น รวมไปถึงหนังสือ ถึงแม้เวลาจะผ่านไปกว่า 20 ปี แต่ชื่อเสียงของโปเกมอนยังคงโด่งดังข้ามทศวรรษมาสู่ปี 2016 ที่ ‘Pokémon GO’ สร้างปรากฏการณ์พาผู้คนทั่วโลกออกจากเคหสถานไปไล่จับโปเกมอนกันอย่างสนุกสนานและบ้าคลั่ง
“ฉันอยากให้คนทุกวัยได้เล่นเกมนี้ พวกเขาจะได้รู้จักปิกาจู และเกิดการพูดคุยระหว่างผู้คนที่ต่างเจเนอเรชันกัน”
นั่นคือสิ่งที่อัตสึโกะ นิชิดะ ผู้ออกแบบตัวละครปิกาจูและหนึ่งในผู้สร้างโปเกมอนต้องการตั้งแต่เกม Pocket Monsters: Red and Green ถูกปล่อยออกมา ซึ่งความคาดหวังของเธอก็ได้กลายเป็นจริงแล้วตั้งแต่เกมออกวางจำหน่ายครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน
ต้องขอบคุณทีมงานทุกคนที่ร่วมกันสร้างสรรค์เกมในความทรงจำ และมอบความสนุกสนานไม่ใช่แค่กับเด็กยุค 90s แต่รวมไปถึงทุกคนที่ยังคงหลงรักและสนับสนุนโปเกมอนจนถึงทุกวันนี้
[caption id="attachment_37480" align="aligncenter" width="479"]
อัตสึโกะ นิชิดะ[/caption]
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ:
https://nintendo.fandom.com/wiki/Atsuko_Nishida
https://gommunity.mx/atsuko-nishida/
https://pkmn-argentina.com/sitio/atsuko-nishida-disenadora-pikachu-sylveon-tantos-otros/
https://happytify.cc/article/950937
https://pokemon.fandom.com/wiki/Ash%27s_Pikachu
อ้างอิง:
https://bulbapedia.bulbagarden.net/wiki/Atsuko_Nishida
https://nintendo.fandom.com/wiki/Atsuko_Nishida
https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=o3bJ8eX3eU4
https://www.pokemon.com/us/pokemon-news/creator-profile-the-creators-of-pikachu/
https://www.wargamer.com/pokemon-trading-card-game/how-many-pokemon-are-there#:~:text=There%20are%20898%20Pok%C3%A9mon.,Within%20those%2C%2059%20are%20Legendary.