read
social
13 ต.ค. 2564 | 12:58 น.
กำนันจรูญ สุขแป้น รวมแรงใจฝ่าฟันวิกฤตโควิดโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
Play
Loading...
โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่หากไม่มีการป้องกันอย่างถูกวิธีแล้ว มีโอกาสติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง และระบบทางเดินหายใจจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็ว การเว้นระยะทางสังคมจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกันก็ทำให้บางคนมองผู้ติดเชื้อด้วยความหวาดกลัว พยายามหลีกเลี่ยงไม่กล้าที่จะเข้าใกล้
แต่สำหรับ กำนันจรูญ สุขแป้น และชาวตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย พวกเขามีความเข้าใจโควิด อีกทั้งมีความเห็นอกเห็นใจผู้ติดเชื้อที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ เลยพยายามที่จะช่วยเหลือทุกคนให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว
“ตอนแรกที่เกิดโควิดเราก็กลัวเพราะยังไม่รู้จักมันดี เราเลยพยายามหาข้อมูล ทำความเข้าใจลักษณะของโรค ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐบอกมา จนเมื่อการระบาดครั้งล่าสุดพี่น้องเราได้รับผลกระทบจำนวนมาก เราไม่อยากเห็นพวกเขาต้องนอนรอเตียงเหมือนในข่าว เลยช่วยกันวางแผนหาวิธีให้พวกเขาได้กลับมารักษาที่บ้านเรา”
จากจุดเริ่มที่มีการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ชาวบ้านตำบลหนองจิกทั้ง 4 หมู่บ้าน ภายใต้การดูแลของกำนันจรูญ สุขแป้น กำนันตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ที่ได้ไปทำงานก่อสร้างกว่า 28 คน ติดต่อมาเพื่อขอเดินทางกลับมากักตัวที่บ้านเกิด
กำนันจรูญเลยได้ปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องรวมไปถึงพระครูพิทักษ์วราทร รองเจ้าคณะอำเภอคีรีมาศ และเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญผล เพื่อหาสถานที่รองรับ เพราะถ้าหากไม่เตรียมการไว้อย่างรัดกุมแล้วอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปทั่วชุมชนได้
หลังปรึกษาหารือทางวัดใหม่เจริญผล ได้เสนอให้ใช้พื้นที่บริเวณวัดกว่า 7 ไร่ เพื่อปรับปรุงเป็นศูนย์พักคอย และทำเป็นสถานที่กักตัวอย่างเร่งด่วน แม้ชาวบ้านบางส่วนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เนื่องจากยังไม่เข้าใจและมีความกังวลว่าเชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายไปตามลมได้
แต่กำนันจรูญได้ตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยร่วมกับชาวบ้านที่เห็นด้วยช่วยกันสร้างที่พักทำเป็นศูนย์พักคอย พร้อมกับได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ทั้ง อาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เตรียมพร้อมสำหรับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกวัน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ประสานเรื่องไฟฟ้า และจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการรองรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัคร ที่เตรียมเฝ้าระวัง ดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้กำนันจรูญได้ค่อยให้ความเข้าใจกับชาวบ้านที่เหลือ เรื่องการแพร่ระบาด การป้องกันดูแลตัวเอง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจไปพร้อมกันด้วย
ศูนย์พักคอยมวลชน วัดใหม่เจริญผล ได้ถูกออกแบบเป็นพื้นที่โซนสีแดง สีเหลือง สีเขียว ตามลำดับความเสี่ยงสูงไปต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่เข้าพักนำเชื้อไปติดกันเอง พร้อมกับให้ทุกคนที่มาพักจัดทำไทม์ไลน์ย้อนหลังอย่างละเอียด โดยมีป้ายสำหรับบอกจำนวนการเข้าออกอย่างชัดเจน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ต้องการจะมาพักคอยให้แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลาสามวัน เพื่อจะได้เตรียมการรับมือไว้เพียงพอ
ทางเจ้าอาวาสวัดใหม่เจริญผล ยังได้เตรียมยาสมุนไพรทั้งกระชาย ฟ้าทะลายโจร และขิง ซึ่งปลูกจากแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ไว้สำหรับทุกคนได้ดื่มหลังอาหารสามมื้อ รวมทั้งจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ที่มาอยู่เวรอีกด้วย
“เราทำศูนย์พักคอย แล้วยังมีการจัดรถไปรับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการกลับบ้าน ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องเราที่ไปขายแรงงานในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้ากลับไปที่บ้านเลยอาจนำเชื้อไปติดเด็กหรือผู้สูงอายุได้ เราเลยต้องทำแผนรองรับให้รัดกุม”
โดยกำนันจรูญได้แบ่งให้ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละชุมชนช่วยกันดูแลลูกบ้านในพื้นที่ของตน ส่วนตัวกำนันเองคอยประสานช่วยเหลือในส่วนที่ดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งการจัดเตรียมพาหนะสำหรับรับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อไม่ให้ปะปนกับกลุ่มอื่น หรือนำผู้ติดเชื้อไปส่งต่อยังโรงพยาบาลกรณีที่มีอาการหนัก
“ถ้าติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงเราไปรับฟรี บางคนก็ช่วยค่าน้ำมันตามกำลังทรัพย์ เราทำทั้งหมดด้วยใจ เพราะอยากให้คนในอำเภอคีรีมาศมีที่พักคอยที่ปลอดภัย อยากให้ทุกคนรอด หายดีแข็งแรงแล้วกลับมาช่วยคนอื่น ๆ ต่อไป”
พาหนะที่ใช้รับผู้ติดเชื้อและผู้ที่ต้องการกลับบ้าน เป็นรถของอาสากู้ภัยวัดใหม่เจริญผลจำนวน 3 คัน ที่คอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนผลัดกันวิ่งไปรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ อยุธยา และชลบุรี แล้วนำมาส่งยังศูนย์พักคอยแห่งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วต้องใช้น้ำมันครั้งละกว่า 5,000 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินบริจาคของทางวัด และประชาชนที่มีจิตศรัทธาร่วมกันทำบุญ
ช่วงเวลาที่ผ่านมาทีมกู้ภัยของอาสากู้ภัยวัดใหม่เจริญผล ต้องแต่งชุด PPE รัดกุม เพื่อไปรับพี่น้องที่ต้องการความช่วยเหลือกลับมาอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อยเพราะรู้ว่านี่เป็นความหวังเดียวของพวกเขาที่จะได้กลับบ้าน
“คนที่จะกลับต้องแจ้งมาที่ผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือคนที่ติดต่อได้ ว่าจะให้ไปรับที่ไหน ก่อนหน้านี้ไปไหนมาก็ต้อวทำไทม์ไลน์ตามจริงแบบละเอียด เพราะไม่อยากให้คนอื่น ๆ ต้องเดือดร้อน”
ด้วยความตั้งใจจริงของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโหมทำงานหามรุ่งหามค่ำด้วยความเต็มใจ จนผู้ที่มาพักที่ศูนย์พักคอยหลายคนหายดีได้กลับบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มเข้าใจแล้วหันมาร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารมาเลี้ยง ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ดูแลที่พัก หรือหาสิ่งของที่จำเป็นมาเพิ่มเติม เพราะทุกคนได้ตระหนักแล้วว่าคนที่กลับมาพักยังศูนย์พักคอยแห่งนี้เกือบทุกคนเป็นญาติพี่น้องหรือคนรู้จักของพวกเขาทั้งนั้น
นอกจากศูนย์พักคอยซึ่งเหมือนเป็นด่านหน้าสำหรับรองรับผู้ที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว งานต่อไปของกำนันจรูญคือการเตรียมพร้อมให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ในระยะยาว เพราะหลายคนที่มานั้นเป็นเสาหลักของครอบครัวที่สูญเสียรายได้เนื่องจากงานที่ทำต้องมาปิดตัวลงจากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น
“เราเตรียมแผนรองรับไว้ล่วงหน้าเพื่อให้พี่น้องเรารอด กลับมาอยู่บ้านต้องมีอาหารกิน ใช้ชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นถุงยังชีพช่วยเหลือระยะสั้นทดแทนรายได้ที่ขาดหายไป และแปลงอาหารปลูกผักเลี้ยงปลา ให้มีอาหารเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว เพราะการทำงานเราต้องไม่ทิ้งประชาชนไว้เบื้องหลัง”
ความอุดมสมบูรณ์ของตำบลหนองจิกที่มีแหล่งน้ำอยู่ตลอดปี และพื้นดินที่เพาะปลูกได้ดี ทำให้ชาวบ้านที่กลับมาบ้านพอที่จะทำการเกษตรเลี้ยงตัวเองได้ช่วงที่มีการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก ซึ่งกำนันจรูญได้เพิ่มเติมว่านอกจากการปลูกผักเพื่อเป็นอาหารแล้ว อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการปลูกพืชสมุนไพรไว้เป็นยารักษาโรค อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจรที่หลายคนเชื่อว่าช่วยรักษาอาการโควิด-19 ได้
ซึ่งการพึ่งพาตัวเองทั้งการปลูกพืชผักสมุนไพรและเลี้ยงปลากินเองนี้ ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการไปจับจ่ายซื้อของในตลาดที่มีคนพลุกพล่านได้อีกทางหนึ่ง
หลังจากเปิดศูนย์พักคอยมากว่าสองเดือน ช่วยให้คนหายจากโควิด-19 กลับไปทำงานได้เพื่อหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เข้าพักลดลงเรื่อย ๆ แต่ศูนย์พักคอยที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของคนในตำบลหนองจิกแห่งนี้ ก็ยังเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องใช้งานอีกครั้ง
“เราภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้อง โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ เราเป็นผู้นำที่อยากให้ทุกคนเปิดใจบอกถึงความเดือดร้อน เพราะเราพร้อมที่จะช่วยเหลือ เป็นเราฝ่ายปกครอง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้ประชาชนทุกคนรอดไปด้วยกัน ที่สำคัญรู้สึกดีใจที่เห็นพี่น้องที่หายแล้วกลับมาช่วยเหลือกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ลืม และทิ้งคนอื่นไว้เบื้องหลัง”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
UNGCNT-UN in Thailand เตรียมจัดงาน GCNT Forum 2024 กระตุ้นเศรษฐกิจ
20 พ.ย. 2567
เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในแบบฉบับยุโรปคลาสสิก ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
20 พ.ย. 2567
5
“ดีพร้อม” ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมสินค้าแฟชั่นไทย เสริมศักยภาพผู้ประกอบการสู่ระดับสากล
20 พ.ย. 2567
4
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
กระทรวงมหาดไทย
นักปกครองท้องที่
ด่านหน้าสู้โควิด19